Skip to main content
sharethis

กสม. วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ "สารวัตรกานต์" เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอแนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ พร้อมตรวจสอบกรณีร้องเรียนตำรวจเมืองพัทยาจับกุมพนักงานบริการ ชี้เป็นการเลือกปฏิบัติ แนะ ตร. กำหนดแนวปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมายปรับเป็นพินัย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งข่าวเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ว่านายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 34/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ “สารวัตรกานต์” เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน มี.ค. 2566 จากผู้ร้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบิดาและมารดาของพันตำรวจโท กิตติกานต์  แสงบุญ  หรือ สารวัตรกานต์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 สารวัตรกานต์ สังกัดศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งปฏิบัติภารกิจเข้าระงับเหตุกราดยิง ใช้อาวุธปืนยิงตกจากชั้น 2 ของบ้านพัก บริเวณซอยสายไหม 56 แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสายไหม (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 ในวันเกิดเหตุไม่เป็นไปตามยุทธวิธีที่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับหลักสากล และหลักสิทธิมนุษยชน และผู้ถูกร้องที่ 2 สอบสวนคดีด้วยความล่าช้า ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ได้วางหลักไว้ว่าบุคคลจะถูกจับหรือควบคุมตัวโดยอำเภอใจมิได้ และมีผลผูกพันให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม นอกจากนี้หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายได้วางแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาถึงความได้สัดส่วนของการใช้กำลังกับภัยคุกคามที่ต้องเผชิญหน้าโดยเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนไว้ด้วย

กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็นดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์การเสียชีวิตของสารวัตรกานต์หรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงสารวัตรกานต์โดยอ้างความจำเป็นเพื่อการป้องกันตัว เนื่องจากถูกสารวัตรกานต์ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ เป็นการกระทำที่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ อย่างไรก็ตามเมื่อผลชันสูตรพลิกศพพบว่า กระสุนปืนของผู้ถูกร้องที่ 1 ถูกบริเวณร่างกายของสารวัตรกานต์ รวม 8 นัด ประกอบกับผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีภาวการณ์รับรู้ไม่ปกติ ไม่มีตัวประกัน หากปล่อยเวลาให้ทอดยาวออกไปผู้ก่อเหตุก็ต้องอ่อนเพลีย การที่เจ้าหน้าที่เร่งรัดเวลาเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้อาการของผู้ก่อเหตุกำเริบ และการให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ออกคำสั่งย้ายผู้ก่อเหตุไปทำหน้าที่เจรจา ทั้งที่ทราบว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ก่อเหตุในครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ไม่ได้สัดส่วนตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำโดรนและหุ่นยนต์ตรวจการณ์เข้าไปปฏิบัติงานภายในพื้นที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่พบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ได้บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะเข้าไปในบ้านเพื่อควบคุมตัวสารวัตรกานต์ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จึงเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ไม่บันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสายไหม (ผู้ถูกร้องที่ 2) ซึ่งได้รับคำร้องทุกข์กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นทางคดีเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นจำเลยหรือไม่ สอบสวนคดีโดยล่าช้า หรือไม่นั้น เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ทำการสอบสวนคดีอันเป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการสอบสวนแบ่งออกเป็น 3 คดี ได้แก่ (1) สำนวนคดีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งมีการเสนอรายงานการสอบสวนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเสนอต่อศาลให้สอบสวนการตาย และต่อมาศาลอาญามีคำสั่งแล้วว่าสารวัตรกานต์ถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ (2) สำนวนคดีอาญาที่กล่าวหาสารวัตรกานต์ในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ และพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียทรัพย์ และยิงปืนในที่สาธารณะโดยใช่เหตุ ซึ่งคดียุติลงเพราะผู้ต้องหาเสียชีวิต และ (3) สำนวนคดีอาญาที่กล่าวหาผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป

กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้สอบสวนคดีที่เกิดขึ้นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ อันถือว่าเป็นการสอบสวนอย่างถูกต้องแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาในรายละเอียดการสอบสวนคดีที่มีผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้ต้องหา พบว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับฟังและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้แจ้งความคืบหน้าของการสอบสวนให้ผู้เสียหายทราบ ซึ่งถือว่าเป็นการสอบสวนอย่างเป็นธรรมแก่คู่กรณี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ใช้ในการสอบสวนจนกระทั่งสรุปสำนวน ก็อยู่ภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะพิจารณาต่อไปได้ แสดงให้เห็นว่าการสอบสวนคดีมิได้ล่าช้า จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 2 กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สารวัตรกานต์มีอาการคลุ้มคลั่ง หวาดระแวง เครียด และไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ เข้าข่ายป่วยทางจิต มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้กันมิให้ประชาชนเข้าไปในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุแล้ว รวมถึงไม่มีบุคคลใดตกเป็นตัวประกัน การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ระยะเวลาเจรจาต่อรอง ปิดล้อมพื้นที่ และใช้แก๊สน้ำตากดดันสารวัตรกานต์ เพียง 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติการภายในบ้านของสารวัตรกานต์ เป็นการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์วิกฤติที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับหลักการ และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรอง เนื่องจากใช้เวลาน้อยเกินไป ทั้งที่ควรใช้เวลาให้นานขึ้นจนกว่าสารวัตรกานต์จะอ่อนเพลียและหมดแรงลงไป เพื่อไม่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ควบคู่ไปกับการหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ยุทธวิธีระงับเหตุที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของสารวัตรกานต์ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตรวจสอบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1) รวมถึงให้เร่งพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่ 233/2566 เพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และให้จัดอบรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับหลักการบริหารเหตุการณ์วิกฤติและการเจรจาต่อรอง แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเผชิญเหตุก่อน รวมทั้งให้จัดนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาและประเมินสุขภาพจิตประจำปีให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสภาพจิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน ให้รีบบริหารจัดการด้วยการให้การรักษาและการเปลี่ยนหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้มีการก่อเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และให้พิจารณากำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารเหตุการณ์วิกฤติและการเจรจาต่อรองเป็นการเฉพาะเพื่อรองรับการปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกันกับกรณีนี้

2. กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนตำรวจเมืองพัทยาจับกุมพนักงานบริการในความผิดฐานค้าประเวณีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แนะ ตร. กำหนดแนวปฏิบัติเมื่อพบผู้กระทำผิดให้สอดคล้องตามกฎหมายปรับเป็นพินัย

นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ต.ค. 2566 จากผู้เสียหายหลายรายที่เป็นกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริการระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี (ผู้ถูกร้อง) ปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มผู้เสียหายในหลายกรณี เช่น เลือกจับกุมกลุ่มผู้เสียหายมากกว่าผู้หญิง จับกุมในขณะที่ยังไม่ได้ทำความผิด หรือไม่ให้ใบเสร็จรับเงินค่าปรับ จึงขอให้ตรวจสอบและขอให้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายหลังพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้ความผิดฐานค้าประเวณีเป็นเพียงโทษปรับทางพินัยไม่ใช่โทษทางอาญา รวมทั้งผลักดันให้มีการยกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ด้วย

จากการศึกษาและตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ความผิดฐานเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนน หรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อค้าประเวณี อันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ผู้ให้บริการต้องมีพฤติการณ์ที่ครบองค์ประกอบความผิด 6 ประการ ได้แก่ (1) ผู้กระทำ (2) การกระทำ เช่น เข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว หรือรบเร้า (3) วัตถุแห่งการกระทำ คือ บุคคล (4) สถานที่กระทำ เช่น ตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือที่อื่นใด (5) เจตนาพิเศษ คือ เพื่อการค้าประเวณี และ (6) ลักษณะการกระทำ คือ เปิดเผยและน่าอับอาย/เป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน โดยเป็นความผิดที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และหลังจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ใช้บังคับ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบันทึกวิดีโอขณะควบคุมผู้ต้องหาทุกครั้ง และรายงานการควบคุมตัวไปยังพนักงานอัยการและนายอำเภอท้องที่ที่มีการควบคุมตัวในทุกประเภทคดี อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องส่งไฟล์วิดีโอไปด้วย และในทางปฏิบัติเมื่อสิ้นสุดคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะลบไฟล์วิดีโอที่บันทึกไว้

เมื่อพิจารณาการจับกุมบุคคลตามความผิดฐานการค้าประเวณีก่อนพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ใช้บังคับ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจจับกุมและเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ทั้งในกรณีที่มีผู้แจ้งการกระทำความผิดและในกรณีพบความผิดซึ่งหน้า และเมื่อผู้ต้องหายินยอมชำระเงินค่าปรับ พร้อมทั้งลงลายมือชื่อแล้วให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37

ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บังคับใช้ ได้กำหนดให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 อยู่ในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ต.ค. 2566 ทำให้ความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นความผิดทางพินัย ไม่ถือเป็นความผิดอาญาและความผิดทางปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจปรับเป็นพินัย คือ เจ้าหน้าที่ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มิใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจนำตัวผู้กระทำความผิดไปบันทึกถ้อยคำที่สถานีตำรวจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น แต่ยังมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและแจ้งไปยัง สค. ซึ่ง สค. จะแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัยตามความผิดฐานค้าประเวณีไปยังภูมิลำเนาหรือที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้กระทำผิด อย่างไรก็ดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ สค. ยังไม่มีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในกระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหากพบผู้กระทำความผิดดังกล่าว ทั้งยังมีข้อกังวลว่าการส่งเอกสารแจ้งปรับเป็นพินัยโดย สค. ไปยังที่อยู่ตามภูมิลำเนาของผู้กระทำผิดอาจเป็นการเปิดเผยอาชีพซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล

กรณีตามคำร้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือน ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ของกลุ่มผู้เสียหาย จึงยังอยู่ในหน้าที่และอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้อง ชี้แจงเหตุผลการจับกุมกลุ่มผู้เสียหายว่า มีพฤติการณ์สวมเสื้อสายเดี่ยวและยืนบริเวณใต้ต้นมะพร้าวริมชายหาด บางครั้งเดินหายออกไปกับนักท่องเที่ยวชายประมาณ 30 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ขณะที่คำชี้แจงของกลุ่มผู้เสียหายระบุว่าไม่ได้มีพฤติการณ์รบเร้านักท่องเที่ยวและในบางครั้งขณะที่ผู้ถูกร้องจับกุมไม่มีผู้มาติดต่อขอซื้อบริการด้วย กสม. เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะขัดแย้งกัน แต่เมื่อนำการกระทำดังกล่าวมาเทียบเคียงกับองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ จะเห็นได้ว่ามาตราดังกล่าวไม่ได้กำหนดเรื่องการแต่งกายและช่วงเวลาในการกระทำความผิดไว้เนื่องจากถือเป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียหายมีพฤติกรรมรบเร้าเข้าชักชวนนักท่องเที่ยวจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่สาธารณชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามีการค้าประเวณีจริงหรือไม่ เพราะยังไม่ได้สอบข้อเท็จจริงจากผู้ซื้อบริการเป็นหลักฐาน ในชั้นนี้ จึงรับฟังได้ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนกรณีร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกปฏิบัติ จับกุมผู้ต้องหาที่เป็นกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศมากกว่าผู้หญิง นั้น เมื่อพิจารณาจากสถิติการจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำความผิดฐานค้าประเวณี ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย. – ต.ค. 2566 ที่มีการร้องเรียน ปรากฏว่าผู้ถูกร้องจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ แต่มีการเรียกค่าปรับจากกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศบางคนในอัตราสูงคือ 1,000 บาท ซึ่งแตกต่างกับการปรับผู้ต้องหาหญิงซึ่งปรับในอัตรา 20 - 100 บาท โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศบางส่วนลักทรัพย์นักท่องเที่ยว จึงปรับในอัตราสูงเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้กระทำความผิดอีก กสม. เห็นว่าการกระทำความผิดถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ไม่อาจนำเพศสภาพมาตัดสินความผิดบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ กรณีดังกล่าวจึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องประสงค์ให้ กสม. ผลักดันให้มีการยกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 นั้น ผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. มีความเห็นว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเลือกปฏิบัติและไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง อีกทั้ง การขายบริการเกิดจากความสมัครใจของผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ในกรณีนี้ผู้ขายกลับมีความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 กสม. ได้จัดประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 โดยภาคีเครือข่ายมีมติในเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติ ให้คณะรัฐมนตรี พรรคการเมือง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เพื่อคุ้มครองเสรีภาพ ในการประกอบอาชีพโดยสมัครใจและไม่ผิดกฎหมาย โดยได้เสนอมติดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 อย่างไรก็ดี ทราบว่า ปัจจุบัน พม.ได้มอบหมายให้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนประเด็นห่วงใยซึ่งอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมในวงกว้าง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

(1) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการและแสวงหาข้อเท็จจริง เมื่อพบผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บไฟล์วิดีโอที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ ตร. จัดทำแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 5 เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

(2) ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพิจารณาทบทวนแก้ไขระเบียบว่าด้วยการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับและควบคุมการแจ้งการควบคุมตัว และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว พ.ศ. 2566 โดยกำหนดให้ผู้จับกุมและควบคุมตัวต้องส่งไฟล์วิดีโอเพื่อประกอบการพิจารณาของพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมทั้งกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการจัดเก็บและลบไฟล์วิดีโอกรณีคดีอาญาเลิกกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบพฤติการณ์จากวิดีโอดังกล่าวประกอบการพิจารณาได้

(3) ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ออกระเบียบหรือกำหนดแนวทางการแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยต้องไม่ส่งหนังสือคำสั่งไปที่อยู่ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร เพราะอาจเป็นการเปิดเผยอาชีพที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net