Skip to main content
sharethis

ผอ.กสม.ภาคใต้ลงพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี รับฟังปัญหาการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมประสาน ตร. เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ด้านตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เรียกร้องเร่งรัดการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน หวั่นความล่าช้าอาจนำไปสู่ความรุนแรง เผยตั้งแต่ปี 2553 สมาชิกถูกลอบสังหารมาแล้ว 4 ราย

องค์กร Protection International (PI) แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มอบหมายให้  สุเรนทร์ ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่  ชุมชนคลองไทรพัฒนา ตำบลไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี  หลังจาก กสม.ได้รับหนังสือร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขอให้หามาตรการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนในการปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยและความเสี่ยงว่าจะถูกลอบสังหาร รวมทั้งต้องเร่งรัดในการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน กรณีชุมชนคลองไทรพัฒนา ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้  (สกต.) ด้วย

ทั้งนี้สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ประกอบด้วยชุมชน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชนสันติพัฒนา ชุมชนก้าวใหม่และชุมชนน้ำแดง ที่ผ่านมาผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ถูกข่มขู่คุกคามจากทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด และสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ถูกลอบสังหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 4 ราย และพยายามถูกลอบสังหารแต่สามารถเอาชีวิตรอดมาได้อย่างหวุดหวิดจำนวน 2 ราย ซึ่งทุกกรณีไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แม้บางกรณีจะทราบถึงผู้กระทำความผิดก็ตาม

เปิดไทม์ไลน์การข่มขู่คุกคามระลอกใหม่

ล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์ข่มขู่คุกคามระลอกใหม่เกิดขึ้นและดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและชุมชนของผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิชุมชนคลองไทรพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก โดยเหตุการณ์เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2567 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนาได้รับโทรศัพท์ข่มขู่อย่างต่อเนื่องจากชายคนหนึ่ง ทั้งการขอเจรจา การให้ออกจากพื้นที่ การอ้างว่ามีความสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่นและหัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสมาชิก สกต. มีความกังวลต่อความปลอดภัยของตนเอง ครอบครัว และชุมชน จึงเดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกทั้งสมาชิกของ สกต. ยังถูกกลุ่มบุคคลชายและหญิงพร้อมรถแม็คโครเข้ามาทำลายที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจนพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้ง ๆ ที่พื้นที่พิพาทนั้น สกต. และสมาชิกของ สกต. ต่อสู้ เรียกร้อง ผลักดันกันทางนโยบายร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จนได้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนนำร่อง และขณะนี้อยู่ในระหว่างการเร่งรัดให้รัฐบาลดำเนินการจัดสรรพื้นที่ให้กับสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบและเรียกร้องด้านสิทธิในการเข้าถึงที่ดินดังกล่าว

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกระบี่ ได้ลงพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา เพื่อตรวจสอบพื้นที่พิพาท โดยผลการตรวจสอบระบุว่าพื้นที่พิพาทอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2567 สมาชิกชุมชนคลองไทรพบป้ายห้ามบุกรุกในพื้นที่พิพาท ซึ่งไม่ทราบที่มาของการติดตั้งป้ายดังกล่าว

ปัญหาที่ความล่าช้าของรัฐในการจัดสรรพื้นที่ในรูปแบบโฉนดชุมชนยิ่งจะทำให้ความเสี่ยงและการถูกข่มขู่คุกคามต่อผู้หญิงและนักปกปองสิทธิมนุษยชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรภรคใต้ (สกต.) ยิ่งจะทวีความรุนแรงและต่อเนื่องมากขึ้น เพราะจากสถานการณ์ล่าสุดที่กล่าวไป รวมทั้งมีข่าวลือในพื้นที่ว่าการตั้งค่าหัวแกนนำที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่ ยิ่งทำให้เกิดความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมีสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ถูกลอบสังหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553  จนถึงปัจจุบัน จำนวน 4 ราย และพยายามถูกลอบสังหารแต่สามารถเอาชีวิตรอดมาได้อย่างหวุดหวิดจำนวน 2  คน ซึ่งกรณีทั้งหมดก็ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แม้บางกรณีจะทราบถึงผู้กระทำความผิดก็ตาม หากรัฐบาลเร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินหรือปักแนวเขตพื้นที่โฉนดชุมชนนำร่องดังกล่าวก็จะช่วยลดความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ลงได้

โดยสุเรนทร์ ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ใช้เวลาในการลงพื้นที่ครั้งนี้ราว 3 ชั่วโมงก่อนโดยได้ร่วมรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งเดินดูรอบบริเวณพื้นที่ที่เกิดการข่มขู่คุกคามก่อนที่จะเดินทางกลับ

ตัวแทน สกต.ระบุโฉนดชุมชนยังไม่คืบ ส่วนเรื่องความปลอดภัยยังไร้การช่วยเหลือ จี้ กสม. คุยหน่วยงานแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ชูศรี โอฬาร์กิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวถึงการมาลงพื้นที่ของกสม.ในครั้งนี้ว่า เราได้สะท้อนปัญหาให้กับตัวแทน กสม.ที่มาในครั้งนี้ฟังในสองส่วนคือ ส่วนของโฉนดชุมชนที่ยังเป็นปัญหากับพวกเรา คือ ยังไม่มีระเบียบรองรับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเตะถ่วงกันอยู่ เราอยากให้กสม.ประสานในเรื่องนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขปัญหาให้เราอย่างชัดเจนซึ่งกสม.ก็รับปากว่าจะไปดำเนินการให้ นอกจากนี้ในส่วนที่สองที่พวกเราถูกข่มขู่คุกคามเราได้ถามไปว่า กสม.จะดูแลเราอย่างไร เพราะในขณะนี้เราได้แจ้งสถานการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้นกับพวกเราไปหมดแล้วกับทั้งสถานีตำรวจภูธรชัยบุรีและทางจังหวัดแต่ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็นิ่งเฉยหมด

“ถ้าหน่วยงานทุกหน่วยงานนิ่งเฉย พวกเราก็ถูกละเมิดมากเท่านั้น และเราต้องการให้กสม.คุยกับทางสปก.ทั้งสองฝั่งทั้งทางกระบี่และสุราษฎร์ธานีรวมถึงผู้ว่าราชจังหวัดและสถานีตำรวจภูธรชัยบุรีให้ลงมาปักป้ายให้เราให้ชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นพื้นที่ของชุมชน ส่วนไหนเป็นพื้นที่ของ สปก. ให้ทำให้เขตของเราชัดเจน เพราะที่ผ่านมา สปก.ทั้งสองฝั่งบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะมาแก้ปัญหาในเรื่องทะเลาะวิวาทที่พวกเรามีข้อพิพาทกัน  เราได้บอกให้ กสม.ไปคุยทั้งสามหน่วยงานให้มาปักป้ายให้เราให้ชัดเจน เพราะถ้าไม่มีการปักป้ายพื้นที่แนวเขตที่ดินให้ชัดเจนเราก็จะโดนคุกคามอยู่แบบนี้ กสม.ก็รับปากว่าจะไปคุยในเรื่องนี้ให้ ก็ต้องรอดูการทำงานของกสม.ต่อไปว่าหลังจากรับฟังปัญหาของพวกเราแล้วจะแก้ไขปัญหาให้พวกเราในเชิงรุกได้หรือไม่อย่างไร เพราะสิ่งที่เราคาดหวังจาก กสม.คือการทำงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิงรุกทันที”  ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ระบุ

ผอ.กสม.ใต้ ประสานสภ.ชัยบุรีจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชัยบุรีลาดตระเวนในพื้นที่พร้อมขอให้มีการติดตั้งตู้แดง

ขณะที่สุเรนทร์ กล่าวภายหลังจากลงพื้นที่เสร็จสิ้นแล้วว่า เบื้องต้นได้ฟังข้อมูลจากสกต.แล้วเห็นว่าสถานการณ์มีความน่าเป็นห่วง ซึ่งหลังจากรับฟังเรื่องราวแล้วเราได้เดินทางไปพบกับผู้กำกับสภ.ชัยบุรีเพื่อสะท้อนสภาพปัญหาข้อเท็จจริงให้ฟังและได้ขอให้มีแนวทางที่จะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขในเรื่องนี้  โดยเบื้องต้นผู้กำกับสภ.ชัยบุรีรับปากว่าจะจัดเจ้าหน้าสายตรวจเข้าไปลาดตระเวนในพื้นที่และเรายังได้เสนอให้มีการติดตั้งตู้แดงในพื้นที่ด้วยซึ่งสภ.ชัยบุรีก็รับปากว่าจะดำเนินการให้  นอกจากนี้ในส่วนของประเด็นอื่นๆ นั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนส่วนกลางได้มีการส่งหนังสือไปทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในการที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างเป็นระบบอีกช่องทางหนึ่งแล้วด้วย การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นเพียงการไปประสานเบื้องต้นและเป็นการไปแจ้งสถานการณ์และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net