Skip to main content
sharethis

12 ต.ค. 2567 พรรคประชาชนจัดงานเสวนา ‘ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ’ โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคประชาชน เป็นประธานคณะกรรมาธิการ

ประชาไทรวบรวมกิจการของกองทัพจากการเสวนาได้ดังนี้

  • เงินนอกงบประมาณ :​ กองทัพมีธุรกิจราว 277 กิจการที่สร้างรายได้ เช่น สนามกอล์ฟ สนามมวย กิจการน้ำมัน หอประชุม ศูนย์อบรม(โรงแรม) ศูนย์สร้างอาวุธ โรงงานแบตตารี่ โรงงานเภสัชกรรม โรงงานผลิตวัตถุระเบิด รพ.กองทัพ (มีอย่างน้อย 40 แห่ง) รายได้จาก EEC ฯลฯ ซึ่งไม่ต้องนำรายได้เข้ารัฐ
  • ธุรกิจเหล่านี้จะนำเงินเข้า ‘กองทุนสวัสดิการ’ ซึ่งแบ่ง 2 ส่วน คือ 1. สวัสดิการภายในเพื่อดูแลกำลังพล 2. สวัสดิการเชิงธุรกิจที่เปิดให้คนนอกใช้บริการมากกว่า 50% ซึ่งรวบรวมมาได้ 161 กิจการ ในส่วนนี้กฎหมายกำหนดว่าต้องทำข้อตกลงแบ่งเงินกับกรมธนารักษ์เจ้าของที่ดิน ซึ่งเพิ่งจะดำเนินการจริงจังหลังเกิดเหตุกราดยิงที่โคราช ปัจจุบันยังมีกิจการที่ยังทำ MOU แบ่งปันผลประโยชน์กับกรมธนารักษ์ไม่เสร็จอีก 87 กิจการ
  • งบกำไรขาดทุนของกองทุนสวัสดิการเชิงธุรกิจ พบว่า กองทัพอากาศมีรายได้ 807 ล้านบาท หักลบค่าใช้จ่ายเหลือกำไร 69.15 ล้านบาท / กองทัพเรือ มีรายได้ 2,600 กว่าล้านบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วขาดทุน 37 ล้านบาท/ กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก ซึ่งมีกิจการจำนวนมากไม่มีตัวเลขให้ กมธ.
  • กิจการต่างๆ ของกองทัพนั้น นับเป็น ‘เงินนอกงบประมาณประเภทที่ 1’ ซึ่งหลายหน่วยงานก็อาจดำเนินกิจการและมีเงินนอกงบประมาณส่วนนี้ได้ แต่ ‘เงินนอกงบประมาณประเภทที่ 2’ นั้นมีเพียงแต่กองทัพเท่านั้นที่มี นั่นคือ กิจการวิทยุ โทรทัศน์ โครงข่ายคมนาคม นั่นทำให้กองทัพเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 และมีโครงข่ายสัญญาณทีวีดิจิทัล (MUX) มักส์ 2 สถานีที่ให้เอกชนเช่า รวมถึงคลื่นวิทยุ FM/AM รวม 196 คลื่น (มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ 2 เท่า) โดยเป็นของกองทัพบอกเป็นส่วนมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีตัวเลขรายรับรายจ่ายให้ กมธ.
  • ททบ.5 ปี 2560 มีกำไร 180 ล้าน หลังจากนั้นขาดทุนมาโดยตลอด ไม่ทราบสาเหตุ ตัวแทนสถานีชี้แจงว่า 6 ปี ขาดทุนเฉลี่ยปีละ 100 ล้านบาท (ปี 61-66) เมื่อ กมธ.ลองคำนวณเฉพาะ MUX ราคาเช่าในตลาด ระบบ HD อยู่ที่ 10.5 ล้านต่อเดือน ระบบ SD 3.5 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น จึงคาดว่า ททบ.5 มีรายได้รับจ้างถ่ายทอดสัญญา 882 ล้านต่อปี
  • อย่างไรก็ดี เรื่องของททบ.5 มีการตั้งบริษัท RTAE ขึ้นมา ปัจจุบันกองทัพถือหุ้นอยู่ 49% และมีการกู้เงินกันไปมาระหว่างบริษัทกับสถานี ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีหนี้สิ้นราว 1,005 ล้านบาท เรียกว่ามีสถานะ ‘ล้มละลาย’
  • ปี 2547 ครม.ตั้งกรรมการสอบความผิดปกติของ ททบ.5 และ RTAE และมีการส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. โดยใช้เวลา 19 ปี ล่าสุด ป.ป.ช.ปัดตก ไม่พบว่า ผบ.ทบ.เวลานั้นกระทำความผิด
  • การลงทุน : กองทัพมีการลงทุนในบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 8 บริษัทใหญ่ มูลค่า 1,400 ล้านบาท เช่น ธนาคารทหารไทยธนาชาติ, บริษัททางด่วนกรุงเทพ บริษัทเกียรตินาคิน เป็นต้น
  • กองทัพมีการลงทุนในบริษัทจำกัด คือ RTAE (รอยัล ไทยอามร์มี่ เอนเทอไพรส์) และบริษัทอุตสาหกรรมการบิน (TAI) มาราว 20 ปี กรณีหลังนั้นระบุว่าเพื่อส่งเสริมการบินและการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ธุรกิจนี้เริ่มขยายตัว รัฐบาลจึงสนับสนุนโดยลงทุน 51% กองทัพอากาศลงทุน 49% แต่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ 20 ปี ไม่สามารถคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้น
  • ปัญหาข้อกฎหมายในการลงทุนของกองทัพ พบว่า ไม่มีกฎหมายรองรับให้กลาโหมไปดำเนินกิจการในเชิงพาณิชญ์หรือถือหุ้นในบริษัทเอกชน ต้องทำในรูปรัฐวิสาหกิจ หรือให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น แล้วรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพไปกำกับดูแล อย่างไรก็ดี เมื่อกองทัพลงทุนเอง จึงไม่มีใครรู้ข้อมูลว่าบริหารจัดการอย่างไร และนำมาสู่คำถามเรื่องประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรม เพราะอาศัยทรัพยากรของชาติ และมีคำถามว่า รายได้ที่เป็นจริงมีมากกว่ามากใช่หรือไม่ รายได้พวกนี้สนับสนุนสวัสดิการเพียงไหน
  • สนามกอล์ฟกองทัพ ทุกเหล่าทัพชี้แจงว่ามีรวมกัน 57 แห่ง ที่ดินรวมกัน 20,871 ไร่ กระจายทุกภูมิภาค แต่กมธ.ตรวจสอบพบเพิ่มจากที่แจ้งอีก 4 แห่งในจังหวัดชลบุรี
  • แบ่งออกเป็น กองทัพเรือมีสนามกอล์ฟ 4 สนาม ที่ดิน 2,354 ไร่ กองทัพอากาศ 13 แห่ง ที่ดิน 4,470 ไร่ กองทัพบก 40 แห่ง ที่ดิน 14,470 ไร่
  • โรงไฟฟ้าสัตหีบ กองทัพเรือมีกำลังทางเรือ 70% อยู่ที่สัตหีบ และมีการตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน แต่กองทัพเรือไม่ได้ผลิตไฟเอง รับไฟจาก EGAT มาขายต่อให้ประชาชนใกล้เคียง สร้างรายได้ปีละ 1600-1800 ล้าน ได้กำไร 100-200 ล้าน
  • กำไรจากการขายไฟถูกใช้ไปในหลายกิจการซึ่งมีความเหมาะสม เช่น การฝึกวิชาชีพให้ทหารเกณฑ์, ศูนย์เดย์แคร์รับเลี้ยงเด็ก, การประกันชีวิต-อุบัติเหตุให้กำลังพลชายแดน แต่บางสวัสดิการไม่เหมาะสม เช่น ปล่อยกู้กำลังพลเพื่อโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบ ตรงนี้ใช้ธนาคารจะดีกว่า
  • กองทัพเรือเคยขอให้ กฟภ.ถ่ายโอนกิจการไปดูแลส่วนของการขายไฟให้ประชาชน แต่กองทัพเรือเรียกเก็บเงินที่ลงทุนไป 2,000 ล้านบาท และการที่ต้องโอนกิจการก่อนหมดสัปทาน (ปี 2588) อีก 4,000 ล้าน
  • กิจการน้ำมัน ‘ลุ่มแอ่งฝาง’ ในอำเภอฝาง อยู่ในความดูแลของกองทัพ  มาตั้งแต่ปี 2499 สำรวจเอง เจาะเอง กลั่นเอง ใช้เอง และไม่ต้องส่งเงินคืนคลัง โดยมีวัตถุประสงค์ “สำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน”
  • ลุ่มแอ่งฝางครอบคลุม 6 จังหวัด เป็นพื้นที่นอกกฎหมายปิโตรเลียมที่รัฐไม่ต้องสัมปทาน แต่ให้ ‘ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ’ ของกองทัพจัดการ โดยไม่ต้องรายงานจำนวนน้ำมันว่าผลิตได้เท่าไร คำถามคือ มีปริมาณน้ำมันใต้ดินเท่าไร ขุดขึ้นมาแล้วเท่าไร กลั่นออกไปเท่าไร ขายออกไปได้เท่าไร
  • ตามข้อมูลที่ชี้แจงอยู่บ้าง กองทัพผลิตน้ำมันมาแล้ว 68 ปี มีน้ำมันดิบหลายลุ่มแอ่งกระจายตัวอยู่ ฝางมีคุณภาพมากที่สุด ตามการชี้แจงของศูนย์พัฒนาปิโตรเลียวภาคเหนือฯ กองทัพขุดมาใช้แล้ว 16 ล้านบาเรลล์ จากหลุมทั้งหมดประมาณ 300 หลุม น่าจะสำรวจเพื่อขุดเจาะใช้ได้อีก 11 ปี
  • ปริมาณสำรองแอ่งฝางมี 63 ล้านบาร์เรล มีกำลังการผลิตวันละ 800 บาเรลล์ต่อวัน เปรียบเทียบภาพรวมน้ำมันดิบของประเทศซึ่งผลิตได้วันละ 80,000 บาเรล เรียกว่าผลิตได้ 1% ของทั้งประเทศเท่านั้น
  • ศูนย์นี้เคยรายงานกรมเชื้อเพลิงฯ ว่าปริมาณน้ำมันดิบปีที่ขุดเจาะได้น้อยที่สุดคือ 3 แสนบาร์เรลต่อปี หากคำนวณราคากลางตลาดโลก 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะได้ 500 ล้านบาทต่อปี หากคำนวณทั้ง 68 ปีจะเป็นเงิน 34,000 ล้านบาท กรณีเป็นเอกชนดำเนินการจะต้องเสียค่าภาคหลวง 12.5% ของรายได้ ดังนั้น เราสูญเสียค่าภาคหลวงจากกองทัพ 4,250 ล้านบาท
  • กองทัพระบุว่าไม่ได้ทำการพาณิชย์ เพียงสำรองไว้ใช้ภายใน แต่ปรากฏว่าน้ำมันที่กลั่นได้ถูกนำออกไปขายให้ลูกค้าหน่วยงานทหารด้วยกัน, น้ำมันเตา ผลิตภัณฑ์อื่นนำไปขายให้เอกชนภายนอก ที่เหลือขายออกไปต่างประเทศ ลาว เมียนมา จีนตอนใต้ สาเหตุที่ต้องส่งไปในประเทศเหล่านั้นเพราะน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นที่ฝางไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีค่ากำมะถันสูงเกินเกณฑ์ เทียบเท่ายูโร1 ปัจจุบันมาตรฐานกำหนดเป็นยูโร5 ทำให้ศูนย์ต้องการงบประมาณเพิ่มไปสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ที่มีเทคโนโลยีดีขึ้น ทำแผนเสนอรัฐบาลไว้แล้ว 400 ล้าน ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่าไม่ควรอนุมัติเพราะกองทัพสามารถส่งนำ้มันดิบตัวเองออกไปกลั่นยังโรงกลั่นเอกชนภายนอกที่มีขีดความสามารถได้มาตรฐานดีกว่า
  • ยังมีการสะสมทุนจากกิจการพลังงานแล้วนำเม็ดเงินไปลงทุนสร้างโรงแรม 2 แห่ง คือ ปิโตรโฮเทลเชียงใหม่ แถวช้างคลาน อ้างว่าเป็นศูนย์ฝึกบุคลากรในด้านพลังงาน แต่ติดตามจากเพจจะพบว่าใช้เป็นที่อบรมจริยธรรมและศีลธรรม และยังเปิดขายแพ็คเกจทัวร์และห้องพักต่อคนทั่วไปอีกแห่งใช้ที่ดินราชพัสดุ วิวสวยที่สุดของชายหาดทะเลระยอง มูลค่า 770 ล้าน ชื่อ สิรินพรา รีสอร์ต จังหวัพระยอง อ้างว่าฝึกอบรมบุคลาการด้านพลังงาน เพจก็มีการเปิดขายห้องพัก ขายแพ็คเกจทัวร์ ท่องเที่ยวครบวงจร ราคาห้องสูงสุด 33,000 บาท ปัจจุบันกำลังปรับรูปแบบเป็นสวัสดิการทางธุรกิจ
  • 5.8 ล้านคือที่ดินที่กองทัพถือครองจากกรมธนารักษ์ ซึ่งคิดเป็น 45% ของที่ดินราชพัสดุทั้งหมด
  • 6.5 ล้านไร่คือ ที่ดินที่กองทัพถือครองจากทุกส่วนราชการ โดยในจำนวนนี้ 91% เป็นของกองทัพบก ทั้งนี้ งานเขียนของ อ.กานดา นาคน้อย ใน 77 จังหวัด มีเพียงอ่างทองที่ไม่มีพื้นที่ทหาร
  • ใน กทม.กองทัพถือครองที่ดินราว 20,000 ไร่ ขณะที่ใน กทม.มีชุมชนแออัด 600 กว่าแห่ง ประชากร 1.46 แสนครัวเรือน
  • ค่ายทหารทั่วประเทศ 107 แห่งตั้งเขตเมือง 69 แห่งตั้งพื้นที่ชนบท
  • 150,000 ล้านบาท คือ มูลค่าที่ดินสนามกอล์ฟกองทัพ ส่วนโรงแรม 17 แห่ง มีมูลค่า 11,000 ล้าน (ที่ดินราว 1,000 ไร่)
  • ข้อพิพาทระหว่างกองทัพประชาชนมีเยอะมาก การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่จริงจัง เช่น กมธ.ที่ดินฯ ที่ตรวจสอบหนองวัวซอโมเดลพบว่า รัฐบาลทำงานเชิงรับ รอกองทัพบอกว่าพร้อมให้ประชาชนเช่าเมื่อไร ประชาชนบางส่วนได้ประโยชน์เหมือนกัน หากบุกรุกจริงก็จะได้เช่า แต่ก็มีคนที่มาอยู่ก่อนทหารที่มีปัญหา เพราะมีเอกสาร สค.1 ว่ามาบุกเบิกตั้งแต่ 2476 มาก่อนค่ายทหาร
  • สนามมวยจากเดิมมี 6 แห่ง เหลือ 2 แห่ง สนามมวยลุมพินีใหญ่ที่สุด และ ไม่ส่งงบการเงินให้ กมธ.ค่าตั๋วของสนามมวยลุมพินีราคาตั้งแต่ 700-10,000 บาท ไม่มีการเปิดเผย MOU ที่ทำกับเอกชน ‘วัน แชมเปี้ยนชิพ’ เป็นโปรแกรมที่มีคนดูจำนวนมากทั่วโลก เท่าที่กองทัพเปิดเผยพบว่า ค่าเช่าจัดงาน 2 วัน 300,000 บาท ขณะที่เอกชนซื้อสปอตโฆษณา 350,000 บาทต่อนาที ถือว่าค่าเช่าถูกมากราวกับทำการกุศล
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กองทัพให้เช่าพื้นที่เปิดร้านค้ามากมาย มีจำนวนมากไม่ได้ทำสัญญากับกรมธนารักษ์​ โดยมีตลาดอย่างน้อย 18 แห่ง
  • ค่าทหารปัจจุบันมี 107 ค่าย มีนโยบายปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว กองทัพบกชี้แจงว่าโครงการ ‘Army land’ โปรแกรมสถานที่ท่องเที่ยวของกองทัพมี 307 แห่งทั่วประเทศ
  • สนามยิงปืนมี 21 แห่ง
  • ฯลฯ

ในส่วนข้อเสนอนั้นวิทยากรแต่ละคนมีข้อเสนอเฉพาะในส่วนของตนที่นำเสนอ โดยมีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าเป็นผู้สรุปข้อเสนอในภาพรวมว่า เมื่อพูดถึง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ​​นั้นมีเป้าหมายดังนี้ 1.รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ กองทัพโปร่งใสตรวจสอบได้ 2.กองทัพมีประสิทธิภาพ มีสมถนะการรบสูง

ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึง กองทัพพาณิชย์ หรือธุรกิจต่างๆ ของกองทัพ โดยมีข้อเสนอสรุปได้ดังนี้

  • หลายกิจการ​ควรถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่น หรือหน่วยงานที่เชี่ยวชาญกว่าบริหารจัดการเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ศูนย์ประชุมกองทัพบก รามอินทรา โอนให้ธนารักษ์​พัฒนาสินทรัพย์, โรงไฟฟ้าสัตหีบโอนให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, ธูปเตมีย์ ให้อบจ.ปทุมธานี ดูแลสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุด, โรงงานเภสัชกรรมทหาร ให้องค์การเภสัชกรรม
  • เงินนอกงบประมาณประเภท 2  (วิทยุ/โทรทัศน์/ทีวีดาวเทียม) ในส่วนคลื่นวิทยุ เก็บไว้เฉพาะภารกิจหลักของกองทัพ เช่น กองทัพเรือต้องมีสถานีริมชายหาดเพื่อให้ใช้คลื่นสื่อสารไปทางทะเลได้ นอกนั้นให้ กสทช.เอาไปเปิดประมูล ส่วน ททบ.5 มีทางเลือกให้เป็นอย่าง NBT, MCOT ทีวีรัฐสภา รายการความมั่นคงผลิตแล้วสามารถแปะในช่องต่างๆ ได้ นี่ไม่ใช่ข้อเสนอสุดโต่ง ในอดีตมีกิจการกองทัพมากมายที่ปิดไป หากขาดทุนยาวนานและไม่สามารถปรับตัวได้แล้ว เช่น องค์กรฟอกหนัง องค์กรแบตตารี่
  • การลงทุนในบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ควรขายหุ้นทิ้งให้หมดแล้วคืนเงินให้รัฐ ส่วนที่ลงทุนในบริษัทจำกัด 49% เช่นบริษัทอุตสาหกรรมการบิน ก็สามาราถนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วรัฐขายหุ้นให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 25% ซึ่งจะไม่ใช่สัดส่วนที่มีอำนาจบริหาร แต่การมีหุ้นไว้จะทำให้มีโอกาสถ่ายโอนควารู้ เทคโนโลยีอากาศยานกัน ส่วน RTAE ถือเป็นหนี้สูญแล้ว ต้องยอมรับข้อผิดพลาดในอดีต ขาของกองทัพบกแทงหนี้สูญ ปิดบัญชี ขาของเอกชนก็ปิดบริษัทไป
  • ที่ดิน 5.8 ล้านไร่นั้นมากเกินไป กองทัพถือควรครองที่ดินเฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินภารกิจหลักเท่านั้น ที่ดินไม่กี่ยวข้องให้นำคืนกระทรวงคลัง เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนได้ทำกิน หรือพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

“ทั้งหมดเราจะลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ทรัพย์สินที่ได้มาเอามาบริหารโดยมืออาชีพจะได้มูลค่าเพิ่ม ซึ่งเราประเมินว่า อย่างน้อยรัฐไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท ต่อปี” ธนาธร กล่าว

ธนาธรกล่าวว่า หากทำเช่นนี้ กองทัพจะเล็กลง มุ่งที่ภารกิจหลัก มีสมาธิไม่ไขว้เขว ที่สำคัญกองทัพจะได้รับการยอมรับจากประชาชน

“ในการเป็น กมธ. เราพบว่า ผู้บริหารในกองทัพหลายคนเข้าใจ และพร้อมให้ความร่วมมือ พวกเขาไม่ใช่คนเลวร้าย เขาไม่ใช่คนริเริ่มโครงการเหล่านี้ด้วยซ้ำ เราพูดเรื่องพวกนี้ เราพูดด้วยความเข้าใจ .. นี่ไม่ใช่ต้องการหักหาญจองล้างจองผลาญกองทัพ แต่เราต้องการทำให้กองทัพอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตย สอดคล้องกับยุคสมัย มีภารกิจหลักคือสร้างกองกำลังเพื่อป้องกันประเทศไทยเมื่อวันที่จำเป็นต้องใช้” ธนาธรกล่าว

 

หมายเหตุ ผู้นำเสนอบนเวทีได้แก่

• รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ - ภาพรวมที่ดินและธุรกิจกองทัพ  
• สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี - ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร  
• เชตวัน เตือประโคน - สนามกอล์ฟทหารมีไว้ทำไม? 
• จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ - ธุรกิจชิล ๆ สากกะเบือยันเรือรบ  
• อนาลโย กอสกุล - ติดๆ ดับๆ ไฟฟ้าสัตหีบเพื่อความมั่นคงของใคร?  
• เบญจา แสงจันทร์ - ขุมทรัพย์ธุรกิจพลังงาน  
• พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ - เจ้าที่ดิน (Landlord) ที่ดินของรัฐในมือกองทัพ 
• ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ข้อเสนอ ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม    

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net