Skip to main content
sharethis

'สหพันธ์ญี่ปุ่นแห่งองค์กรผู้เสียหายจากระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน' หรือ 'นิฮง ฮิดังเกียว' ซึ่งเป็นองค์กรของญี่ปุ่นที่เป็นตัวแทนผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ - ส่วน 'ฮั่น กัง' นักเขียนสตรีชาวเกาหลีใต้ ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม


ที่มาภาพ: NHK WORLD-JAPAN

สหพันธ์ญี่ปุ่นแห่งองค์กรผู้เสียหายจากระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน หรือนิฮง ฮิดังเกียว ซึ่งเป็นองค์กรของญี่ปุ่นที่เป็นตัวแทนผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ต.ค. 2567

องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2499 โดยให้การสนับสนุนแก่ผู้เสียหายทั่วญี่ปุ่นและรณรงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นดีขึ้น

สมาชิกขององค์กรรณรงค์ให้มีการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกด้วย และเดินทางเยือนหลายประเทศเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา

มิมากิ โทชิยูกิ หนึ่งในประธานร่วมของนิฮง ฮิดังเกียว รับชมการถ่ายทอดสดการประกาศรางวัลที่ศาลากลางเมืองฮิโรชิมา

การได้รับรางวัลดังกล่าวแทบจะทำให้เขาพูดไม่ออก มิมากิกล่าวว่า "มันดูเหลือเชื่อ ช่างเหลือเชื่อ"

มิมากิระบุว่า รางวัลนี้มีความหมายอย่างมากสำหรับทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของนิฮง ฮิดังเกียว รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และว่า เขาต้องการไปเยี่ยมหลุมศพของผู้เสียชีวิตเพื่อบอกข่าวดีนี้

มิมากิกล่าวอีกว่า องค์กรของเขาจะยังคงเรียกร้องให้มีการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์และให้โลกเกิดสันติภาพที่ถาวร

นายกรัฐมนตรีอิชิบะ ชิเงรุของญี่ปุ่น ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่ประเทศลาว ยกย่องกลุ่มดังกล่าวที่มีความมุ่งมั่นมายาวนานต่อการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้า

นายอิชิบะกล่าวว่า “การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับองค์กรที่ทำงานมาหลายปีเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง”

ส่วนนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือ UN แสดงความยินดีกับกลุ่มดังกล่าวบนบัญชีทวิตเตอร์หรือ X โดยเขียนว่า ตนจะไม่มีวันลืม "การประชุมกับกลุ่มฮิบากูชะตลอดหลายปีที่ผ่านมา" และเสริมว่า "การทำงานอย่างไม่ย่อท้อและการฟื้นตัวได้เป็นแก่นกลางของขบวนการเคลื่อนไหวปลดอาวุธนิวเคลียร์ระดับโลก UN ยืนหยัดเคียงข้างกลุ่มฮิบากูชะด้วยความภาคภูมิใจ"

นอกจากนี้ ยังมีการส่งคำกล่าวแสดงความยินดีจากยุโรปด้วย นางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวถึงงานของกลุ่มนี้ว่า "ไม่อาจประเมินค่าได้" อย่างไรก็ตาม เธอเตือนว่า "ภาพความน่ากลัวของฮิโรชิมาและนางาซากิยังคงส่อเค้าต่อหน้ามนุษยชาติ"

ปีเตอร์ ฟอน เด็น ดุนเง็น ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านสันติศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ดในอังกฤษ กล่าวว่า รางวัลดังกล่าวถือเป็น "ข่าวดีมาก" และว่ารางวัลนี้ควรเป็นสัญญาณเตือนให้ตื่นตัว

ก่อนหน้านี้ ดุนเง็นเคยเสนอชื่อนิฮง ฮิดังเกียวให้ได้รับรางวัลโนเบล เขากล่าวว่า “เราได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับระเบิดแล้ว และด้วยเหตุผลบางอย่าง มันไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป แต่มันควรจะเป็นเรื่องสำคัญ”

ดาเนียล เฮิกส์ตา รองผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ หรือ ICAN กล่าวว่า เขา "ตื่นเต้นสุด ๆ" กับข่าวนี้

ICAN ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2560 เฮิกส์ตากล่าวว่า นิฮง ฮิดังเกียว เป็นที่มาของแรงบันดาลใจสำหรับ ICAN

เขาเสริมว่าการประกาศนี้ “ไม่สามารถมาในเวลาที่ดีกว่านี้ได้อีกแล้ว” และ “สิ่งที่นิฮง ฮิดังเกียว ได้แสดงให้เราเห็น และทำไมรางวัลนี้จึงมีความสำคัญมาก ก็คือ ผู้คนและผู้นำทางการเมืองจำเป็นต้องได้รับแรงบันดาลใจในการดำเนินการ”

ปีหน้าจะครบรอบ 80 ปีของการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ เฮิกส์ตากล่าวว่า ICAN จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไปกับนิฮง ฮิดังเกียว เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์

ด้านประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพกล่าวว่า เขาต้องการส่งสารถึงผู้นำทางการเมืองทุกคนในโลกว่า มนุษยชาติและอาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้

เยอร์เกน ฟรีดเนส กล่าวเรื่องนี้กับ NHK ที่กรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ต.ค. โดยคณะกรรมการเลือกสหพันธ์ญี่ปุ่นแห่งองค์กรผู้เสียหายจากระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน หรือนิฮง ฮิดังเกียว องค์กรของญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวแทนผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้

เมื่อถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของคณะกรรมการ ฟรีดเนสกล่าวว่าคำให้การของผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูที่เรียกกันว่า ฮิบากูชะ มีส่วนสำคัญในการสร้างสิ่งที่คณะกรรมการเรียกว่า "ข้อห้ามด้านนิวเคลียร์"

คำดังกล่าวหมายถึงบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ว่า อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในทางศีลธรรมและไม่ควรนำมาใช้อีก

ฟรีดเนสอ้างถึงการที่รัสเซียคุกคามยูเครน โดยระบุว่า ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ก็เป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติเช่นกัน

เขาเตือนว่าหากข้อห้ามด้านนิวเคลียร์ลดลง อาจนำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในที่สุด

ฟรีดเนสชี้ว่า ปีหน้าจะครบรอบ 80 ปีนับตั้งแต่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

เขาชื่นชมความพยายามของฮิบากูชะว่าเป็น "ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติ" ในการทำให้แน่ใจว่า จะไม่มีการใช้อาวุธเหล่านี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ฟรีดเนสเรียกร้องให้ผู้นำโลกรับฟังเรื่องราวความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของฮิบากูชะ และเสริมว่า "ไม่ควรมีมนุษย์คนใดต้องประสบกับสิ่งที่พวกเขาเคยเจอประสบการณ์จากอาวุธนิวเคลียร์"

'ฮั่น กัง' นักเขียนสตรีชาวเกาหลีใต้ ได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเวรรณกรรม


ฮั่น กัง (Han Kang) นักเขียนสตรีชาวเกาหลีใต้ ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเวรรณกรรม ประจำปี 2567 | ที่มาภาพ: han-kang.net

ฮั่น กัง นักเขียนสตรีชาวเกาหลีใต้ ได้รับการประกาศให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเวรรณกรรม ประจำปี 2567 จากพลังการสร้างสรรค์งานเขียนที่เผยถึงความเจ็บปวดในอดีตและความเปราะบางของชีวิตมนุษย์

ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนประกาศให้ ฮั่น กัง นักเขียนชาวเกาหลีใต้ วัย 55 ปี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2567 จากงานเขียนอันเป็นเอกลักษณ์และทรงพลัง ที่เผยให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดในอดีตและความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงการเชื่อมโยงระหว่างร่างกายกับจิตใจ การมีชีวิตอยู่และความตาย งานเขียนเชิงทดลองที่ไม่ต่างจากบทกวีของเธอถือเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของวรรณกรรมร่วมสมัย

ฮั่น กัง เป็นนักเขียนชาวเกาหลีใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลวรรณกรรม เธอเริ่มอาชีพงานเขียนตั้งแต่ปี 2536 ด้วยการมีผลงานบทกวีและร้อยกรองตีพิมพ์ในนิตยสาร Literature and Society ผลงานบทประพันธ์เรื่องแรกของเธอคือเรื่องสั้นชื่อว่า Love of Yeosu ในปี 2538 ก่อนจะสร้างชื่อจากการได้รับรางวัล Man Booker International Prize จากนวนิยายเรื่อง The Vegetarian ในปี 2559 ซึ่งเป็นผลงานประพันธ์ชิ้นแรกของเธอที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และช่วยให้เธอมีชื่อเสียงในวงกว้างจนถึงระดับโลก


ที่มาเรียบเรียงจาก NHK WORLD-JAPAN [1] [2] [3] | สำนักข่าวไทย 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net