Skip to main content
sharethis

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เผยกองทัพอิสราเอล ประกาศเพิ่มเขตปิดทางทหาร บริเวณชายแดนทางตอนเหนือของอิสราเอลเพิ่มอีก 5 แห่ง ขอให้แรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อพยพออกโดยทันที - ทราบชื่อแล้วแรงงานไทยเสียชีวิตที่อิสราเอล เป็นชายชาวบุรีรัมย์อายุ 42 ปี

13 ต.ค. 2567 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Royal Thai Embassy, Tel Aviv (ทุกเรื่องเมืองยิว)’ ว่า วานนี้ (12 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นอิสราเอล 20.00 น. กองทัพอิสราเอล (IDF) ได้ประกาศ เพิ่มเขตปิดทางทหาร (closed military zone) อีก 5 แห่งในทางตอนเหนือของอิสราเอล ติดชายแดนเลบานอน ได้แก่ ซาริท (Zarit) โชเมรา (Shomera) ชตูลา (Shtula) เนตยา (Netuya) และเอเวน เมนาเคม (Even Menachem) เพิ่มเติมจากรอช ฮานิกรา (Rosh Hanikra) ชโลมิ (Shlomi) ฮานิตา (Hanita) อดามิท (Adamit) อาหรับ อัล-อรามเซ (Arab al-Aramshe) เมตูลา (Metula) มิซกาฟ อัม (Misgav Am) คฟาร์ กิลอาดี (Kfar Giladi) โคเวฟ (Dovev) ซิฟออน (Tziv'on) และมาลเกีย (Malkia) โดยให้เป็นเขตห้ามทำงานหรือพักอาศัย  จึงขอแจ้งว่า หากมีพี่น้องแรงงานไทยที่ยังอยู่ ในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ย้ายออกทันที โดยสามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อขอรับความช่วยเหลือในการย้ายออกจากพื้นที่

ทราบชื่อแล้วแรงงานไทยเสียชีวิตที่อิสราเอล เป็นชายชาวบุรีรัมย์อายุ 42 ปี

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2567 ว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีแรงงานไทยเสียชีวิต 1 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ว่า ตนและผู้บริหารกระทรวงแรงงานขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่สูญเสีย ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตทางกระทรวงแรงงานจะทำการตรวจสอบข้อมูลให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่นอน เพราะวันนี้ยังเป็นข้อมูลบางกระแสว่าเป็นพื้นที่ที่ปิดไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ แต่ทำไมคนงานไทยถึงเข้าไปทำงานในพื้นที่ตรงนั้นได้ จึงขอตรวจสอบกับทาง PIBA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของแรงงาน แรงงานคนไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ PIBA เป็นผู้ดูแล เราก็ต้องตรวจสอบอย่างชัดเจนว่าที่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตนั้นไม่ใช่เกิดจากการที่มีการยิงระเบิดเข้ามา ซึ่งอาจเป็นอุบัติเหตุจากระเบิดที่ตกค้างและระเบิดขึ้นมา ส่วนรายละเอียดทั้งหมดปลัดกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางานจะตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ต่อไปตามขั้นตอน

“ในส่วนของผู้เสียชีวิตกระทรวงแรงงานจะมาดูว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง และที่สำคัญไปทำงานผ่านกระทรวงแรงงานหรือไม่ ผ่านกรมการจัดหางานหรือไม่ ซึ่งเราขอตรวจสอบรายละเอียดตรงนี้ก่อน เมื่อตรวจสอบได้ว่าผู้เสียชีวิตมีครอบครัวอยู่ที่ไหนเราจะให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือ 5 เสือแรงงานในพื้นที่ลงไปพบเพื่อช่วยเหลือครอบครัวอย่างเต็มที่”

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้รับทราบรายงานจาก นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ว่าเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2567 ได้รับแจ้งการเสียชีวิตของแรงงานไทยอย่างไม่เป็นทางการจาก PIBA รวมทั้งแหล่งข่าวท้องถิ่นว่า แรงงานไทยที่เสียชีวิตทราบชื่อคือ นายนิสันต์ มีรัมย์ อายุ 42 ปี ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เสียชีวิตในคิบบุตซ์ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล เบื้องต้นคาดว่าเสียชีวิตจากการระเบิดของกระสุนซึ่งตกอยู่ในบริเวณที่ทำงานในไร่แอปเปิล

ทั้งนี้ ฝ่ายแรงงานฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลของแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเว็บไซต์ PIBA พบว่า ผู้เสียชีวิตเดินทางไปทำงานในอิสราเอลด้วยตนเอง ช่วงวันที่ 6 พ.ค. 2567 โดยหากมีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอิสราเอลและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จะรายงานให้ทราบต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่อิสราเอล เราจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดูแลพี่น้องแรงงานไทยอย่างดีที่สุด

ทางด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทย ล่าสุดได้รับรายงานจาก นายอำนาจ เข็มเพชร รักษาราชการแทนแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ว่า เมื่อเวลา 16.00 น. พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และนายเทิดพันธ์ ครอบทอง นายอำเภอกระสัง ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัว นายนิสันต์ แรงงานไทยที่เสียชีวิตแล้ว ที่บ้านใน ต.กันทรารมย์ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ พบว่า ครอบครัวมีขวัญและกำลังใจดี และฝากขอบคุณมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ นายอำเภอกระสัง และอาสาสมัครแรงงาน ที่ห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการส่งศพกลับมาบำเพ็ญกุศลนั้น เบื้องต้นรอพิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันการเสียชีวิตจากทางการอิสราเอล ก่อนจะเดินเรื่องส่งร่างกลับมาประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านเกิด และประสานเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net