Skip to main content
sharethis

ยืนยันชื่อแรงงานไทยเสียชีวิตที่อิสราเอล เป็นชาวบุรีรัมย์

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานจาก นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้รับแจ้งการเสียชีวิตของแรงงานไทย

ทราบชื่อ คือ นายนิสันต์ มีรัมย์อายุ 42 ปี ภูมิลำเนาเป็นชาว จบุรีรัมย์ ได้เสียชีวิตในคิบบุตซ์ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอล เบื้องต้นคาดว่าเสียชีวิตจากการระเบิดของกระสุนซึ่งตกอยู่ในบริเวณที่ทำงานในไร่แอปเปิ้ลทั้งนี้ พบว่า ผู้เสียชีวิตเดินทางไปทำงานในอิสราเอลด้วยตนเอง ช่วงวันที่ 6 พ.ค. 2567

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 13/10/2567

รมว.แรงงาน ตั้งเป้าส่งคนไทยทำงานต่างประเทศทะลุ 2 แสนคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ในปี 2568 ว่า กระทรวงแรงงานตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะต้องจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศไม่น้อยกว่า 100,000 คน แต่ที่เพิ่มเติมคือพยายามทำให้ทะลุเป้านี้ โดยได้คุยกับอธิบดีกรมการจัดหางานจะต้องมีบันไดไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย เพื่อให้ภายใน 5 ปี ข้างหน้าจะสามารถส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศไทยถึง 200,000 คนให้ได้ เพื่อลดการขาดดุลจากกรณีมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ตอนนี้ตัวเลขราวๆ 5 ล้านคน ซึ่งแรงงานคนหนึ่งคิดค่าแรงเป็น 10,000 บาทต่อเดือน หรือ 120,000 บาทต่อปี ถ้า 5 ล้านคน คิดเป็นเงิน 600,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากไทยสามารถส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ต่างประเทศได้อย่างน้อยคือ 200,000 คน อาจจะมีเงินเข้ามามากกว่าปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่ามีเม็ดเงินรายได้ส่วนนี้อยู่ประมาณไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท

“ธนาคารแห่งประเทศไทย เก็บตัวเลขไว้ว่าเงินรายได้จากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศมีมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นเราจึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ และนำเงินกลับเข้ามาสู่ประเทศไทย เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่เราจ่ายให้กับแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยกว่าปีละ 600,000 ล้านบาท ถ้าเราสามารถขยับให้เกิดความสมดุลได้ ผมเชื่อว่าประเทศเราจะได้ประโยชน์มากที่สุด” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่าเบื้องต้นได้มีการเดินหน้าเจรจากับหลายๆ ประเทศเพื่อส่งแรงงานไป อย่างช่วงฤดูเก็บผลไม้ป่าของประเทศฟินแลนด์ และสวีเดนนั้น ตนพร้อมอธิบดีกรมการจัดหางานได้มีการเจรจาโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของฟินแลนด์เรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดจ้างและค้ำประกันค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ระยะเวลาทำงาน 3 เดือนครึ่ง ไม่เกิน 4 เดือน เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ป่าในแต่ละปีแรงงานจะมีรายได้ถึง 250,000 บาท ส่วนประเทศสวีเดน ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันในการจัดส่งแรงงาน และมองว่าเรามีการค้ามนุษย์ เอาเปรียบแรงงานนั้น ในเดือนพ.ย.นี้ ตนพร้อมด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางานจะเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลสวีเดน เรื่องการส่งแรงงาน ซึ่งคิดว่าที่ดีที่สุดคือการจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐ คือ กรมการจัดหางานจะเป็นผู้ส่งแรงงานไปเอง รัฐบาลเป็นผู้จัดการเรื่องค่าแรงว่าจะได้ต่อเดือนเท่าไหร่ อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าที่ฟินแลนด์ให้คือไม่น้อยกว่า 50,000 บาทหรือไม่

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังพยายามเจาะตลาดแรงงานเข้าไปในอีกหลายๆ ประเทศ เช่นเมื่อครั้งที่ตนไปประชุมแรงงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็มีการเจรจาทวิภาคีกับประเทศอิตาลี ซึ่งรับว่า จะบรรจุการเรื่องเปิดรับแรงงานไทยเป็นการเฉพาะ ให้สามารถเข้าไปทำงานที่อิตาลีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้เข้าสู่สภา รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอียู เพราะเราพยายามเจรจาให้ได้มากที่สุด เพราะการทำงานที่ยุโรปจะได้ค่าแรงสูงกว่าประเทศในแถบเอเชีย ทั้งนี้ นอกจากได้เงินเพื่อนำกลับมาดูแลครอบครัวแล้ว ยังหวังว่าแรงงานไทยจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน เทคโนโลยีจากการทำงานต่างเพื่อนำกลับมาพัฒนากรทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 12/10/2567

แรงงานไทยเสียชีวิต 1 คน เหตุสู้รบ 'อิสราเอล - เลบานอน'

11 ต.ค. 2567 เมื่อเวลาประมาณ 16.50 น. ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา เกิดเหตุยิงจรวดต่อสู้รถถัง (anti-tank missile) เข้าไปยังนิคมเกษตร Yir'on ทางเหนือของอิสราเอลติดชายแดนเลบานอน ซึ่งเป็นเขตปิดทางทหาร (closed military zone) ทำให้แรงงานไทย 1 รายเสียชีวิต และอีก 1 รายได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง

สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอแจ้งว่า หากมีพี่น้องแรงงานไทยที่ยังอยู่ในเขตปิดทางทหาร หรือพื้นที่เสี่ยงอันตรายอื่น ๆ สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอขอรับความช่วยเหลือในการย้ายออกจากพื้นที่ ตามหมายเลขโทรศัพท์ดังนี้

ฝ่ายกงสุล โทร +972 546368150 +972 503673195

ฝ่ายแรงงาน โทร. +972 9-954-8431+972 54-469-3476

ไอดีไลน์ 0544693476

*เขตปิดทางทหาร (closed military zone) ในขณะนี้ 11 แห่ง ได้แก่ เมืองเมตูลา (Metula), มิซกาฟ อัม (Misgav Am), คฟาร์ กิลอาดี (Kfar Giladi), โดเวฟ (Dovev), ซิฟออน (Tziv'on), มาลเกีย (Malkia), รอช ฮานิกรา (Rosh Hanikra), ชโลมิ (Shlomi), ฮานิตา (Hanita), อดามิn (Adamit), และอาหรับ อัล-อรามเช (Arab al-Amshe) โดยเป็นพื้นที่ห้ามพักอาศัยหรือทำงาน

ที่มา: Thai PBS, 11/10/2567

ก.แรงงาน-อีอีซี รับลูก ‘พิพัฒน์’ ลดอุบัติเหตุในที่ทำงาน แรงงานกว่า 2.6 ล้านคน ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพัฒนา สภาพแวดล้อมการทำงานอย่างเป็นระบบ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมี นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. ลงนามบันทึกข้อตกลง กับ ดร. ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรม เอส.ดี. อเวนิว บางพลัด กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวได้จัดมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบการในกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2567 และโครงการพัฒนาสถานประกอบกิจการตามมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมีสถานประกอบกิจการที่ได้รับโล่ประกาศ 101 แห่ง และได้รับใบประกาศเกียรติคุณ 38 แห่ง

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 คือ “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจ แรงงานไทยมั่นคง”

“ขอชื่นชมความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทํางาน และขอแสดงความยินดีที่ได้ร่วมประกาศเกียรติคุณกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทํางานให้เป็นศูนย์กระทรวงแรงงานมุ่งสร้างเกาะป้องกันและดูแลความปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่าสถานประกอบการแต่ละแห่งจะมีการเตรียมความพร้อมหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้ใช้แรงงานเรียบร้อยแล้ว แต่ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการเสริมให้ สสปท. เข้าไปวิเคราะห์และพิจารณามาตราการนอกเหนือจากที่สถานประกอบการมีเพื่ออุดช่องโหว่ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเป็นการป้องกัน เราต้องสร้างเกราะป้องกันและยกคุณภาพชีวิตของพนักงานในพื้นที่อีอีซีกว่า 2.6 ล้านคน และลดการเกิดอุบัติเหตุให้เกิดน้อยที่สุดหรือกลายเป็นศูนย์ โดยไทยถือเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน มีการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเลที่อีอีซีมุ่งเน้น หากเราเตรียมความพร้อมแล้วจะสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายนันทชัย กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพการทำงานของผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย สสปท.จะเข้าไปทำการวิจัยและวิเคราะห์แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์โครงการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ปี 2024 มีผู้เข้าร่วมจำนวน 1,797 แห่ง ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ จำนวน 1,722 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ดร. ธัชพล กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้จัดหางานและพัฒนาทักษะให้กับแรงงานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีสถานประกอบการทั้งหมดราว 12,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคบริการ ที่ยังมีความต้องการแรงงานอยู่ต่อเนื่อง

“ความต้องการแรงงานในพื้นที่อีอีซีมีมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีแรงงานเพิ่มอีกราว 1 ล้านคน ต้องขอขอบคุณกระทรวงแรงงานที่สนับสนุนความร่วมมือ นอกจากนั้นแล้ว เรายังมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การยกระดับเศรษฐกิจประเทศ ควบคู่กับยกระดับคุณภาพผู้ใช้แรงงานหรือประชาชนในพื้นที่อีอีซีด้วย” นายธัชพล กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 10/10/2567

แรงงานสูงอายุไทยเผชิญความท้าทาย การส่งเสริมงานยังไม่เพียงพอหากภาครัฐไม่เร่งพัฒนาปรับนโยบาย

สถานการณ์ประชากรสูงอายุในประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อประเทศกลายเป็น "สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์" โดยในปี 2566 มีผู้สูงอายุมากกว่า 12.9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในกลุ่มนี้ มีผู้สูงอายุที่ยังคงอยู่ในวัยทำงานมากกว่าร้อยละ 37.55 แม้รัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุ แต่การขับเคลื่อนยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้จัดการประชุมเชิงนโยบายเพื่อหารือและนำเสนอ "ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ" เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2567 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ โดยข้อเสนอแนะสำคัญได้ชี้ชัดถึงความท้าทายที่ไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ระบบนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องยังคงขาดการรองรับและสนับสนุนในระดับที่เพียงพอ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มแรงงานสำคัญที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านความยืดหยุ่นและความพร้อมในระบบแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีหลักประกันทางสังคม “ความท้าทายของนโยบายการส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ” พบว่า การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุต้องมุ่งเน้นที่การสร้างระบบสนับสนุนอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่การขยายโอกาสในการจ้างงานเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลผู้สูงอายุเพื่อให้สามารถจับคู่กับงานที่เหมาะสมกับศักยภาพของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุยังคงเผชิญกับปัญหาค่าตอบแทนต่ำ และขาดความมั่นคงในการจ้างงาน แม้จะเป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางในด้านเกษตรและการค้า แต่ก็ยังต้องพึ่งพางานนอกระบบที่ไม่มีความเสถียร

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ต้องทำงานเพื่อความอยู่รอดยังคงพบกับปัญหาในด้านทัศนคติของสังคมที่มองว่าผู้สูงอายุไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไขควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจทางนโยบาย เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการประกันสังคม การลดหย่อนภาษีสำหรับสถานประกอบการที่จ้างแรงงานสูงอายุ และการขยายอายุเกษียณเพื่อให้ผู้สูงอายุมีโอกาสในการทำงานได้นานขึ้น และอีกประเด็นที่สำคัญคือการพัฒนาเชิงนโยบายในระดับท้องถิ่น นอกจากการพัฒนานโยบายในระดับชาติแล้ว ท้องถิ่นต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยควรมีการสร้างเครือข่ายและแพลตฟอร์มระดับชุมชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในวิสาหกิจชุมชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานจากที่บ้าน ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในการเดินทางและลดค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ

พญ.ลัดดา ดําริการเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางปัจจัยที่ท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคม แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสการทำงานให้กับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ผู้แทนจากหลายหน่วยงานได้มีการอภิปรายและเสนอแนะแนวทางเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดการข้อมูลผู้สูงอายุ การส่งเสริมการจ้างงาน การฝึกทักษะ รวมถึงสิทธิประโยชน์และมาตรการจูงใจต่าง ๆ สรุปมาตรการเร่งด่วนที่ต้องเร่งจัดการเพื่อส่งเสริมการทำงานสำหรับผู้สูงอายุได้ดังนี้

1. การจัดการฐานข้อมูลและการจัดหางานสำหรับผู้สูงอายุ การเชื่อมโยงและการพัฒนาฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสถานะและความต้องการของผู้สูงอายุ เป็นข้อเสนอที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม เนื่องจากจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกแบบนโยบายและมาตรการที่ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการจับคู่งาน เช่น "Smart Job" จะช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุและตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานนอกระบบ เช่น งานภาคเกษตรและธุรกิจส่วนตัว

2. สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจในการทำงาน ประเด็นเรื่องสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมสำหรับผู้สูงอายุเป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ โดยมีข้อเสนอให้ขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์ชราภาพตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป พร้อมทั้งเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรับบำนาญบางส่วนในขณะที่ยังคงทำงานได้ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้สถานประกอบการที่สนับสนุนการฝึกทักษะให้ผู้สูงอายุสามารถนำค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะมาหักภาษีได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่นำตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้

3. การฝึกทักษะและการพัฒนาแรงงานสูงอายุ การฝึกทักษะ (Up-skill) และการเปลี่ยนทักษะ (Reskill) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก โดยผู้แทนจากหลายฝ่ายมองว่าผู้สูงอายุควรได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือการสร้างความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในอาชีพต่าง ๆ เช่น การฝึกทักษะการเงิน หรือการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถหางานได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการจับคู่งานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุในแต่ละช่วงวัยและทักษะที่มีอยู่

4. การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการทำงานในชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นแนวทางที่ได้รับการส่งเสริมอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องโอกาสการทำงาน การรวมกลุ่มเพื่อแบ่งปันทรัพยากรและเทคโนโลยี เช่น การใช้เครื่องจักรในการเกษตร จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้หน่วยงานท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ

แนวทางการพัฒนาและการสนับสนุนผู้สูงอายุเหล่านี้เป็นการก้าวไปข้างหน้าสำหรับการสร้างสังคมที่พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ โดยมีการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในทุกระดับ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

ที่มา: แนวหน้า, 7/10/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net