Skip to main content
sharethis

ประชาชน นักการเมือง หน่วยงานและองค์กรต่างร่วมรำลึก 51 ปี 14 ตุลา ประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุคนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา คือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ


ที่มาภาพ: NBT Connext

14 ต.ค. 2567 คณะกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ครบรอบ 51 ปี โดยมีการทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ 14 รูป บริเวณด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมี นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยญาติวีรชน ร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่วีรชนผู้กล้า 14 ตุลา

จากนั้นมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา ทั้ง พุทธ อิสลาม และคริสต์ จากนั้นจะมีการวางพวงมาลา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนนายกรัฐรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ , นางอังคณา นีละไพจิต สมาชิกวุฒิสภา(สว.) และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคเป็นธรรม และคณะก้าวหน้า

นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), เครือข่ายสลัม 4 ภาค ,ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ,นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และตัวแทนเยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า เนื่องในวาระครบรอบ 51 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยผู้รักในเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ แม้ว่าการต่อสู้ในวันนั้นต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ และชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ได้ย้ำเตือนให้เราได้ตระหนักภัยร้ายแรงของการปกครองแบบเผด็จการ ขณะเดียวกันได้ประจักษ์ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถือว่าคนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา นั่นคือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้อง

ด้านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง กล่าว ในนามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและพลังของผู้มีอุดมการประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประเทศชาติปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความสามัคคีความปรองดองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและใช้แนวทางสันติวิธีในการหาทางออกร่วมกันโดยรับฟังเสียงข้างน้อย และเคารพความเห็นต่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้แสดงออก ตามความคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และช่วยกันจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีแต่ความรัก ความสมานฉันท์ตลอดไป

ด้านนายณัฐพล เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาชน  กล่าวภายหลังการวางพวงหรีดในพิธีรำลึกเหตุการณ์ 51 ปี 14 ตุลา 2516 ว่า ในวันนี้ (14 ต.ค.) ครบรอบ 51 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 นอกจากจะมารำลึกถึงผู้สูญเสียจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังเป็นการรำลึกถึงวัตถุประสงค์และเหตุผลของการออกมาเรียกร้อง ว่าต้องการผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน การมีรัฐบาลที่สามารถถ่วงดุล ตรวจสอบได้ โดยพรรคฝ่ายค้านและประชาชนทุกคน ซึ่งเหตุการณ์ 14 ตุลา ยังสะท้อนภาพปัจจุบันได้ อาทิ รัฐธรรมมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่เชื่อว่าไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง และทุกภาคส่วนที่มีอำนาจ ทั้งฝ่าย บริหาร ประธานรัฐสภา รวมถึง พรรคการเมือง สามารถ ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมกัน และเชื่อว่าจะผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่วมกันให้เสร็จทันเลือกตั้งในสมัยหน้าอย่างน้อยๆ ทำให้เรัฐบาลมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจริง ๆ

ด้าน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถพูดได้ว่ามีประชาธิปไตยสมบูรณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองภายใต้วงจรรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพ สู่ตุลาการรัฐประหารและนิติสงคราม โดยเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลยังมีความไม่แน่นอนสูง

ในประเด็นนโยบายประชานิยม ดร. อนุสรณ์ชี้ว่า แม้จะมีทั้งผลบวกและผลลบต่อการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ในกรณีของไทยซึ่งเป็นประชานิยมแบบอ่อน ๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ

เรียกร้องให้มีการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับ "ขบวนการประชาธิปไตย" เพื่อผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน บนหลักการประชาธิปไตย พร้อมทั้งสร้างค่านิยมประชาธิปไตยและสันติธรรมให้หยั่งรากลึกในสังคมไทย

รศ.ดร.อนุสรณ์ เน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรม จะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอนาคต

ทั้งนี้นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา ชี้แจงว่า อนุสรณ์สถานแห่งนี้ใช้งานมา 23 ปีเต็ม จึงจะมีการปรับปรุงอนุสรณ์สถานใหม่ เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ ที่เป็นสาธารณะ ให้ทุกคนเข้าใช้พื้นที่นี้สามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์คุณค่า และเป็นพื้นที่ของประชาชนทุกคน โดยตั้งงบประมาณไว้ 50 ล้านบาท วันนี้มีผู้บริจาคเข้ามาแล้ว 20 ล้านบาท ยังต้องการอีก 30 ล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดว่าจะร่วมกันทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของประชาชนได้ก็ยินดี

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: NBT Connext [1] [2] | สำนักข่าวไทย 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net