Skip to main content
sharethis

คดีชายข้ามเพศชาวโรมาเนียนำไปสู่คำตัดสินสำคัญ ศาลยุติธรรมยุโรปสั่งประเทศสมาชิกอียูต้องยอมรับการเปลี่ยนเพศทางกฎหมาย แม้จะดำเนินการในประเทศสมาชิกอื่น ชี้การปฏิเสธเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ คาดส่งผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วยุโรป

ศาลยุติธรรมยุโรปตัดสินให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องรับรองเพศสภาพทางกฎหมาย ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะเปลี่ยนเพศทางกฎหมายที่ใดก็ตามในประเทศสมาชิกของยุโรป

คำตัดสินดังกล่าวนี้มีขึ้นหลังจากที่ อาริอัน มีร์ซาราฟี-อาฮี ชายข้ามเพศชาวโรมาเนียได้ฟ้องร้องรัฐบาลโรมาเนียเนื่องจากรัฐบาลโรมาเนียไม่ยอมรับการเปลี่ยนชื่อและเพศสภาพของเขา จากที่ก่อนหน้านี้เขาได้เปลี่ยนเพศทางกฎหมายในสหราชอาณาจักร สมัยที่สหราชอาณาจักรยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป

กล่าวคือ มีร์ซาราฟี-อาฮี ได้เปลี่ยนชื่อหน้าของเขาและคำนำหน้าเมื่อปี 2560 หลังจากที่อาศัยอยู่ในอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2563 เขาก็ได้รับการรับรองเพศสภาพทางกฎหมายว่าเป็นชาย

ศาลยุติธรรมยุโรปได้ตัดสินว่า การที่โรมาเนียไม่รับรองเพศสภาพของ มีร์ซาราฟี-อาฮี นับเป็นการ "ขัดต่อกฎหมายของสหภาพยุโรป" เนื่องจากมีร์ซาราฟี-อาฮี ได้เปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตนเองตามกฎหมายในประเทศสมาชิกอียูประเทศอื่นแล้ว ถ้าหากประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่งไม่ยอมรับเพศสภาพของเขา ก็จะนับเป็นการผิดกฎหมายที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงนับเป็นการลิดรอน "สิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัย"

ศาลยุติธรรมยุโรประบุในคำตัดสินว่า เพศสภาพก็เหมือนกันชื่อหน้าของบุคคล นับเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับอัตลักษณ์ตัวตนของบุคคลนั้นๆ การไม่ยอมรับเพศสภาพของบุคคลส่งผลให้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างเพศสภาพตัวตนภายในของคนๆ นั้น กับการสะท้อนภาพตัวตนของพวกเขาจากโลกภายนอก เป็นการสร้างความยากลำบากให้กับบุคคลนั้นๆ ที่ต้องคอยพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังสร้างความไม่สะดวกทั้งในแง่วิชาชีพการงาน ทางราชการ และในชีวิตส่วนตัวด้วย

โรมาเนียเป็นประเทศที่มีทัศนคติค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศรวมถึงกลุ่มคนข้ามเพศมักจะเผชิญกับปัญหาและการกีดกันเลือกปฏิบัติได้ แต่ในช่วงระหว่างปี 2543-2563 ก็มีพัฒนาการมากขึ้นในประเด็นความหลากหลายทางเพศ เช่น การยกเลิกการทำให้การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีการเสนอและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติทั่วประเทศ และมีกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมจากความเกลียดชังหรือเฮทไครมต่อคนรักเพศเดียวกัน

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในโรมาเนียก็ได้รับการมองเห็นเพิ่มมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะมีการจัดงานไพรด์ประจำปีในบูคาเรสต์ งานสัปดาห์ไพรด์ในเมืองทิมิโซอารา และเทศกาลภาพยนตร์เกย์ที่คลุจ-นาโปกา

ทว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาโรมาเนียก็เริ่มถดถอยลงเรื่อง LGBTQ+ เช่นในเดือน มิถุนายน 2563 โรมาเนียได้ทำการแบนการเรียนการสอนเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีในทุกที่ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยกเลิกคำสั่งแบนในปลายปีนั้น ต่อมาในปี 2565 วุฒิสภาโรมาเนียก็ออกกฎหมายแบนสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "การโฆษณาชวนเชื่อคนรักเพศเดียวกัน" ในโรงเรียน และในปีเดียวกันก็ออกกฎหมายแบนการพูดคุยหารือกันเรื่องการรักเพศเดียวกันและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในพื้นที่สาธารณะด้วย ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนโรมาเนีย

กฎหมายแบนการพูดคุยและการเรียนการสอนเรื่อง LGBTQ+ ทำให้ชาวโรมาเนียมากกว่า 15,000 ราย เดินขบวนประท้วงเมื่อเดือน มิถุนายน 2565 ขณะที่กลุ่มด้านความหลากหลายทางเพศ สมาคมอิลกายุโรป IlGA-Europe ได้จัดให้โรมาเนียอยู่ในตำแหน่งท้ายตารางในเรื่องการคุ้มครองสิทธิความหลากหลายทางเพศ คือ อันดับที่ 26 จากกลุ่มประเทศอียูทั้งหมด 27 ประเทศ สูงกว่าแต่ประเทศเดียวคือโปแลนด์

คดีครั้งประวัติศาสตร์

ILGA-Europe แถลงถึงคำตัดสินของศาลอียูว่า เป็น "คดีครั้งประวัติศาสตร์" ในเรื่องของการรับรองเพศสภาพในยุโรป โดยการให้ประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งในที่นี้คือโรมาเนีย ต้องทำการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายรับรองเพศสภาพของประเทศสมาชิกอียูอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้คือสหราชอาณาจักรในอดีตตอนที่ยังไม่ได้ออกจากการเป็นสมาชิกอียู

ILGA-Europe ระบุว่า เมื่อก่อนหน้านี้ การที่โรมาเนียไม่รับรองเพศสภาพของ มีร์ซาราฟี-อาฮี นั้น นับเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นคนที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และภายใต้ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังมีโอกาสส่งผลต่อ มีร์ซาราฟี-อาฮี อย่างมาก จากการที่ มีร์ซาราฟี-อาฮี เคยถูกจำกัดการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่โรมาเนียมาก่อน เนื่องจากหนังสือเดินทางระบุเพศสภาพไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของ มีร์ซาราฟี-อาฮี

"เนื่องจากรัฐโรมาเนียปฏิเสธที่จะรับรองเพศสภาพและปรับข้อมูลในเอกสารใหม่ ทำให้ผมกลายเป็นเหยื่อของการกีดกันเลือกปฏิบัติที่สนามบินโรมาเนีย" มีร์ซาราฟี-อาฮี กล่าว

มารี-อิเลน ลุดวิก เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายยุทธศาสตร์คดีความของ ILGA-Europe ระบุในแถลงการณ์ว่า "คำตัดสินนี้จะส่งผลบวกอย่างมาก เป็นการเพิ่มการคุ้มครองทางกฎหมายต่อคนข้ามเพศทุกคนในอียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบางประเทศในอียู เช่น โรมาเนีย ที่ยังไม่ได้วางโครงร่างกฎหมายสำหรับการรับรองเพศสภาพอันเป็นไปตามมาตรฐานศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป"


เรียบเรียงจาก
EU member states must recognise gender identity changes, top court rules, Pink News, 04-10-2024
Romania's refusal to recognise a transgender man's identity violates his rights, says EU's top court, Euro News, 04-10-2024
Romanian transgender man’s landmark case requesting that Romania acknowledges his UK gender recognition referred to the Court of Justice of the European Union, ILGA-Europe, 03-03-2023
 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/LGBT_rights_in_Romania

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net