Skip to main content
sharethis

'เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน' เผยจดหมายเปิดผนึกจากผู้ลี้ภัยชาวพม่า "เสียงจากผู้ลี้ภัย: ความหวังท่ามกลางความทุกข์ การเรียกร้องความเข้าใจ และความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในสังคมไทย"

14 ต.ค. 2567 ท่ามกลางกระแสการประท้วงและการปลุกปั่นที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มชาตินิยมบางกลุ่มในประเทศไทย Thailand Migration Reform Consortium - เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของผู้ลี้ภัยชาวพม่าคนหนึ่งถึงสังคมไทย เพื่อขอความเข้าใจและโอกาสในการสร้างชีวิตใหม่ จดหมายฉบับนี้เผยให้เห็นถึงความทุกข์ยากที่ชาวพม่าต้องเผชิญในบ้านเกิด ความหวังที่พวกเขามีต่อประเทศไทย และความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทย

ผู้เขียนจดหมายเล่าถึงสถานการณ์อันเลวร้ายในพม่าที่ทำให้พวกเขาต้องลี้ภัย ทั้งการกดขี่จากรัฐบาลทหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารในปี 2564 พร้อมทั้งเรียกร้องให้สังคมไทยมองพวกเขาในฐานะเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่ภัยคุกคาม โดยย้ำว่าผู้ลี้ภัยหลายคนมีความรู้ความสามารถที่พร้อมจะช่วยพัฒนาประเทศไทย หากได้รับโอกาส โดยรายละเอียดในจดหมายมีดังต่อไปนี้

เรียนเพื่อนคนไทย

ผมได้เขียนจดหมายฉบับนี้ในฐานะผู้ลี้ภัยจากพม่า ซึ่งผมเป็นหนึ่งในหลายคนที่ต้องพลัดถิ่นจากการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าอันมีชื่อเรื่องความโหดร้ายและได้เข้ายึดครองแผ่นดินเกิดของเรา เราได้หลบหนีมายังประเทศไทยเพื่อขอลี้ภัย เพื่อความปลอดภัย และเพื่อโอกาสที่จะสร้างชีวิตใหม่ เรารู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งสำหรับโอกาสที่ได้อาศัยอยู่ที่ประเทศไทยและประสบการณ์ที่เป็นมิตรจากคนไทยหลาย ๆ คน

อย่างไรก็ตาม ผมได้เฝ้าสังเกตด้วยความกังวลถึงการประท้วงและการปลุกปั่นที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มชาตินิยมที่ไม่เป็นมิตรบางกลุ่มในประเทศไทยที่ดูเหมือนจะโกรธแค้นต่อการมีอยู่ของแรงงานชาวพม่า ผมอยากขอวิงวอนเพื่อนบ้านคนไทยให้มองเราในฐานะเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ใช่ในฐานะภัยคุกคาม แต่เป็นเพื่อนบ้านที่มีความสามารถและสามารถมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย รวมถึงเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องการขอความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจจากท่าน

พวกเราชาวพม่าได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากผลกระทบจากลัทธิชาตินิยมแบบสุดโต่ง โดยทหารพม่าได้ใช้ความรู้สึกจากกระแสชาตินิยมนี้เป็นอาวุธเพื่อกดขี่ชนกลุ่มน้อยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ขบวนการต่อต้านชาวโรฮิงญาได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศของเรา ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกในสังคม ทำให้เกิดเหตุการณ์ทารุณกรรมอันโหดร้ายในปี 2560 ที่ทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คนต้องลี้ภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ ขณะที่ยังมีชาวโรฮิงญาอีกเป็นจำนวนมากถูกประหัตประหารภายในประเทศ หมู่บ้านพวกเขาถูกเผาทำลาย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน

การแบ่งแยกชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยออกจากสังคมอย่างเป็นระบบ ได้สร้างความแตกแยกที่หยั่งรากลึกในสังคมของเรา และขณะนี้เรากำลังเห็นวิธีการนี้ถูกนำมาใช้โดยกองทัพพม่าอีกครั้งในการปราบปรามประชาชน ตั้งแต่การก่อรัฐประหารโดยกองทัพพม่าในปี 2564 ทำให้มีผู้ถูกจับกุมและคุมขังเกือบ 50,000 คน เสียชีวิตมากกว่า 5,700 คน หลายคนถูกทรมานและถูกละเมิด เมืองและหมู่บ้านหลายแห่งถูกทำลายด้วยการโจมตีทางอากาศ ปืนใหญ่ และการโจมตีทางบก กองทัพยังใช้ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและพายุไซโคลนล่าสุดเป็นเครื่องมือในการโจมตีประชาชนและผู้อพยพภายในประเทศ

ผู้ลี้ภัยพม่าหลายคนที่แสวงหาที่พักพิงในประเทศไทยมีวิชาชีพเป็นครู แพทย์ วิศวกร เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และนักศึกษาที่เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านเผด็จการทหาร แต่เนื่องจากไม่มีเอกสารที่ถูกต้อง เราจึงไม่สามารถหางานที่เหมาะสมกับทักษะของเราได้ หลายคนต้องเผชิญกับหมายจับที่ออกโดยทหารพม่าอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากถูกจับกุมในประเทศไทยและส่งกลับประเทศพม่า พวกเขาจะต้องเสี่ยงต่อการถูกทรมานหรือถูกประหารชีวิตโดยทหารพม่า รายงานต่าง ๆ ชี้ว่าเยาวชนที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยถูกบังคับเกณฑ์ทหารโดยกองทัพพม่าทันทีที่พวกเขาถูกส่งกลับไป

ชาวพม่าตามแนวชายแดนต้องอยู่อย่างหวาดกลัวต่อการบุกค้นที่อยู่อาศัยและธุรกิจโดยตำรวจ ซึ่งมักจะค้นหาแรงงานพม่าที่ไม่มีเอกสาร ความหวาดกลัวต่อการถูกจับกุมและผลักดันกลับประเทศนี้ได้เพิ่มความเครียดและบาดแผลทางจิตใจที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนในหมู่บ้านหรือในเมือง เช่น อำเภอแม่สอด พวกเขาได้รับผลกระทบทางใจในรูปแบบต่าง ๆ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเราเกิดขึ้นด้วยต้นทุนที่สูง และการใช้ชีวิตหลบ ๆ ซ่อน ๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเรา

น่าเศร้าที่สุขภาพจิตของผู้ลี้ภัยในแม่สอดถูกทำลายด้วยความวิตกกังวลและความเครียดจากการพลัดถิ่น ความไม่แน่นอน และประสบการณ์ความรุนแรงและการประหัตประหารในอดีต แม้จะมีความยากลำบากเหล่านี้ เราไม่อยากให้คนไทยมองว่าเราเป็นภาระ พวกเราหลายคนต้องการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ต้องการนำทักษะและแรงงานของเราเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยและพม่า สิ่งที่เราอยากขอสังคมไทยคือโอกาสที่จะได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดำรงชีวิตโดยไม่ต้องหวาดกลัว และสร้างชีวิตใหม่ของเราด้วยความปลอดภัย

ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมีทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ที่หนีการประหัตประหารโดยเผด็จการทหาร การเดินทางมายังประเทศไทยเป็นประสบการณ์ครั้งแรกสำหรับพวกเราบางคน ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับรู้ถึงเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับคนไทยซึ่งอยู่ในท้องถิ่น เราต้องการเน้นย้ำว่าพวกเราไม่เคยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือไม่เคารพวัฒนธรรมหรือประเพณีของไทย

เราตั้งใจที่จะเป็นผู้มาเยือนที่ดีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีศาสตราจารย์และอาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 40 คนในชุมชนชาวพม่าที่แม่สอดซึ่งมีคุณวุฒิสูงและยินดีสอนนักเรียนชาวไทย ขณะเดียวกันก็สามารถมอบโอกาสให้เยาวชนชาวพม่าได้ศึกษาร่วมกับพวกเขา นักดนตรีชาวพม่าบางคนก็ได้อาสาสอนดนตรีในโรงเรียนไทย แสดงให้เห็นว่าสังคมของเราสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กันได้ นอกจากนี้ยังมีครูจำนวนมากและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณวุฒิ รวมถึงแพทย์และทันตแพทย์หลายสิบคนที่ยินดีให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน

ผมจึงขอเรียกร้องให้เพื่อนร่วมชาติชาวพม่าของผมให้ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้และชื่นชมประเพณีไทย รวมทั้งปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยความเคารพและเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ การทำเช่นนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพี่น้องชาวไทยอันจะเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ของเราและช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผมขอวิงวอนให้พี่น้องชาวไทยยังคงแสดงความเมตตาและความอดทนกับพวกเรา ความเอื้อเฟื้อและความเข้าใจของท่านได้สร้างความแตกต่างอย่างมากแก่พวกเรา และด้วยการสร้างความอบอุ่นนี้ไปยังผู้ลี้ภัย ท่านได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและความสามัคคีระหว่างสังคมของเรา

จดหมายฉบับนี้คือการร้องขอด้วยใจจริงถึงภราดรภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ เราแบ่งปันความฝันเดียวกันเกี่ยวกับสันติภาพ เสรีภาพ และศักดิ์ศรี ด้วยการสนับสนุนของท่าน พวกเราเชื่อว่าเราสามารถบรรลุอนาคตที่สดใสกว่านี้ ไม่เพียงแต่กับพม่าเท่านั้น แต่กับประเทศไทยและภูมิภาคโดยรวม

 

หมายเหตุ: จดหมายฉบับนี้แปลจากข่าวสดภาษาอังกฤษ คำแปลอย่างไม่เป็นทางการโดย เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน (TMR)  

ที่มา: https://www.khaosodenglish.com/opinion/2024/10/12/a-letter-to-concerned-thais-from-a-burmese-refugee/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR2J_6ztwu1RdkB0h_ZHq_8iZH-bwsFI73ika9LcCdYvGXcCEKmdhrZPkc8_aem_C_y2z70T6mGu_15WU5ghSg

#จดหมายจากผู้ลี้ภัยชาวพม่า

#ALETTERTOCONCERNEDTHAISFROMABURMESEREFUGEE
แชร์เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/share/p/HzjWxsD2BgEkZbwM/ 
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net