Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


อรรถจักร สัตยานุรักษ์



 


ความเปลี่ยนแปลงในเขตพื้นที่ที่เราเคยเรียกเพื่อทำความเข้าใจง่ายๆว่า "สังคมชนบท" นั้นเกิดขึ้นอย่างไพศาลและลึกซึ้ง และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อทุกส่วนในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หากเราไม่ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชนบทให้ดี สังคมไทยก็จะไร้ศักยภาพที่จะเผชิญหน้าหรือแก้ไขปัญหาหลายประการได้เพราะไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจนเป็นพื้นฐาน


 


การรับรู้ "สังคมชนบท" มักจะถูกทำให้มีความหมายเท่ากับ "สังคมชาวนา" ที่มีฐานการผลิตที่สำคัญได้แก่การทำการเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนา  การรับรู้สังคมชนบทเช่นนี้จะประกอบด้วยการให้ความหมายว่าเป็นสังคมที่ " โง่ จน เจ็บ"  และนำมาสู่การวางนโยบายในการทำงานกับพื้นที่เช่นนี้แบบที่เป็นลักษณะของการสงเคราะห์ตลอดมา


 


การรับรู้และให้ความหมายแก่ชนบทเช่นนี้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามขีดเส้นแบ่งสังคมสมัยใหม่กับสังคมจารีตประเพณี และเน้นว่าแนวทางการพัฒนาประเทศมีแนวทางเดียวเท่านั้น คือการทำให้สังคมจารีตประเพณีค่อยๆหมดไปและพัฒนาสู่สังคมสมัยใหม่มากขึ้น


 


แม้ว่าเราจะพัฒนาประเทศมาเนิ่นนานแล้ว และผลกระทบจากการพัฒนาก็เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นแล้วก็ตาม แต่น่าประหลาดใจที่ การรับรู้และให้ความหมายแก่สังคมชนบทยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


 


การที่สังคมไทยไม่รับรู้ความเปลี่ยนแปลงและยังคงยึดมั่นความหมายของสังคมชนบทอย่างเดิมทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายมิติด้วยกัน ที่สำคัญ ได้แก่ การรับรู้และให้ความหมายเช่นนี้ก็จะทำให้การวางแผนในการจัดสรรงบประมาณไปสู่พื้นที่ "ชนบท" นั้นล้มเหลวเพราะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าจะใช้งบประมาณนั้นไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใดขึ้นมา


 


หากเราจะเข้าใจ "สังคมชนบท" ให้ชัดเจนขึ้น น่าจะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงคำเรียกหรือคำที่ให้ความหมายแก่ "ชนบท" เสียใหม่


 


ในที่นี้ ขอเสนอการเรียก "ชนบท" เสียใหม่ว่าเป็นสังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ที่ยังมีการผลิตด้านเกษตรอยู่


 


เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตเกษตรกรรมอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว  รายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำงานนอกภาคการเกษตร  แต่สิ่งที่ต้องคิดกันต่อไป ก็คือ ไม่ใช่เพียงแค่คนในพื้นที่ชนบทออกเดินทางไปทำงานหาเงินสดนอกพื้นที่เท่านั้น  หากแต่ระบบการผลิตในพื้นที่ชนบทเองก็ไม่ใช่การผลิตด้านเกษตรกรรมอย่างเดิมอีกต่อไป


 


ระบบการผลิตในพื้นที่ชนบทไทยได้กลายมาเป็นส่วนประกอบของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ขยายตัวเข้าไปในชนบทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  การผลิตพืชพันธ์ใหม่ๆที่ชาวบ้านไม่เคยมีความรู้ทำให้ต้องพึ่งพิงความรู้จากคนของบริษัทได้ทำให้ชาวบ้านเองมีสถานะเป็นเพียงแรงงานรับจ้างผลิตสิ่งของหรือสินค้าการเกษตรให้แก่บริษัทใหญ่  การทำมาหากินของชาวบ้านได้กลายมาเป็นส่วนชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ในหลายรูปแบบ เช่น เป็นแรงงานรับจ้างประกอบสินค้าให้แก่นายจ้างจากในเมือง  การปลูกข้าวโดยมากแล้วก็กลายเป็นการจ้างงานในรูปแบบการพันธะสัญญาซื้อขายแรงงานทั่วไป


 


การผลิตด้านการเกษตรที่เป็นน้ำมือของชาวบ้านในลักษณะดั้งเดิมนั้นลดลงจนแทบจะหมดสิ้น  แม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์การทำการเกษตรแบบผสมผสานหรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ก็พบว่าสัดส่วนของชาวบ้านที่ทำอย่างจริงๆนั้นมีน้อยเต็มที


 


ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทำให้เกิดลักษณะของสังคมชนบทไทยที่แตกต่างไปจากเดิม  โดยที่ลักษณะของชนบทไทยในวันนี้เป็นภาพสะท้อนการตกเป็นเบี้ยล่างของระบบการผลิตสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง


           


หากเราสามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้ถึงลักษณะของสังคมชายขอบการผลิตสมัยใหม่ที่ยังมีการผลิตการเกษตรอยู่ ก็น่าจะทำให้เรามองเห็นได้ว่าปัญหาของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวคืออะไร และเราจะช่วยกันสรรค์สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอย่างไรเพื่อที่จะทำให้สังคมไทยไม่เกิดความเข้าใจกันผิดและนำไปสู่ความไม่เข้าใจกันในท้ายที่สุด


 


สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ที่ยังมีการผลิตด้านเกษตรอยู่เป็นสังคมที่ต้องการการบริการจากรัฐในรูปแบบใหม่  ประการแรก คนในสังคมเช่นนี้ เข้าสู่การผลิตสมัยใหม่อย่างที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐเลย กฎหมายประกันสังคมหรือกฎหมายที่ใช้กับแรงงานประจำทั่วไปไม่สามารถครอบคลุมถึงแรงงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการและอยู่ชายของของระบบการผลิตสมัยใหม่นี้ได้  สังคมชายของของการผลิตสมัยใหม่จึงเป็นพื้นที่ที่นายทุนสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐใดๆ


 


ประการที่สอง สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ต้องการระบบการเงินที่ไหลเวียน เพราะการไหลเวียนของระบบเงินตราที่มากขึ้นย่อมหมายความถึงโอกาสของแรงงานนอกระบบจะได้รายได้มากขึ้นตามไปด้วย  อาจจะกล่าวได้ว่าพวกเขาไม่กังวลเรื่องเงินเฟ้อเท่ากับภาวะเงินฝืด แต่สภาวะเงินฝืดและเงินเฟ้อในเวลาเดียวกันเช่นที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้ทำร้ายพวกเขามากกว่าชนชั้นกลางในเขตแกนกลางของการผลิตสมัยใหม่มากมายนัก ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องคิดถึงมาตรการของการเงินที่ทำให้เงินไหลลงสู่พื้นที่ชนบทใหม่นี้ให้เหมาะสมมากกว่าการให้เงินเข้าบัญชีคนละสี่ห้าร้อยบาท


 


ประการที่สาม การบริการจากรัฐจำเป็นต้องเน้นให้สวัสดิการที่เท่าเทียมและเสมอภาคของประชาชน นโยบายสวัสดิการของแรงงานนอกระบบเหล่านี้จำเป็นต้องเสมอกับผู้ประกันสังคม เพราะต้นทุนของความเสี่ยงในการประกอบอาชีพแรงงานนอกระบบนั้น ตัวแรงงานเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงไว้เพียงลำพัง


 


ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทมาสู่สังคมชายขอบของการผลิตสมัยใหม่ที่ยังมีการผลิตด้านเกษตรอยู่ เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสังคมไทย และเราทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องร่วมกันถักสานการรับรู้และการให้ความหมายแก่ชนบทใหม่นี้ให้ชัดเจนขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในการรับรู้ที่เกิดขึ้น และแสวงหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net