Skip to main content
sharethis

ประชาไท—14 ก.ค. 2549 เครือข่ายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชน ร่วมกับชมรมเชียงใหม่ฮักฝั่งปิง ต้านไม่เอาพนังกั้นสองฝั่งแม่น้ำปิง ชี้เป็นการแก้ไม่ถูกจุด เตรียมจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ"น้ำท่วมเจียงใหม่ เยียะจะใดแก้" ก่อนรวมพลเดินเท้าเข้าร่วมรายการ ITV Hot News พบประชาชน เรื่องวิกฤตน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่


 


ตามที่เมืองเชียงใหม่ได้ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมาหลายครั้งติดต่อกัน จนกระทั่งองค์กรหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายฝ่ายได้ออกมาเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหากัน โดยทางภาครัฐได้ออกมาเสนอแนวทางให้มีโครงการสร้างพนังกั้น 2 ฝั่งแม่น้ำปิงในเขตพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่


ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สร้างความคลางแคลงใจต่อภาคประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า โครงการสร้างพนังป้องกันน้ำท่วม แต่เดิมนั้น เคยมีการเสนอมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยก่อนหน้านั้น ได้มีการเสนอเงินงบประมาณ 6 ล้านบาท ในระยะทางรวม 11 กิโลเมตร กระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ โครงการดังกล่าวกลับมีการหยิบยกมานำเสนอขึ้นใหม่ และได้มีการขยายระยะทางก่อสร้างเพิ่มเป็น 19.4 กิโลเมตร ในวงเงินงบประมาณเพิ่มสูงถึง1,385 ล้านบาท


 


โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เสนอแบบพนังทั้งหมด 5 แบบ มีทั้งการปรับเป็นสวนสาธารณะ 3 ระดับ 2 ระดับ เขื่อนริมน้ำ ปรับปรุงเขื่อนเดิม และปรับปรุงยกระดับถนน แต่ในภาคประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ต่างพากันออกมาคัดค้านไม่เอาด้วย กับการสร้างพนังกั้นน้ำปิง โดยเฉพาะชุมชนในย่านฟ้าฮ่าม ย่านวัดเกตุ ถึงกับมีการขึงป้ายคัดค้านการสร้างแนวพนังกั้นน้ำปิงกันตามริมฝั่ง และสะพานข้ามแม่น้ำปิงกันอย่างต่อเนื่อง


 


นายสืบสวัสดิ์ สนิทวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชน กล่าวว่า จริงๆ แล้ว การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่นั้น มีหลายวิธีที่จะป้องกันไม่ให้น้ำท่วม แต่ดูเหมือนว่าภาครัฐจะจำกัดทางเลือกไว้ โดยมองเพียงด้านเดียวเท่านั้น และยังเป็นแนวทางที่จะสร้างปัญหาใหม่ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น กรณีที่น้ำท่วมเกินความสูงของพนัง จะทำให้น้ำที่ไหลเข้าท่วมไม่สามารถระบายกลับลงแม่น้ำได้ เมื่อระดับน้ำลดลง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในตัวเมืองยาวนานขึ้น


 


"และที่สำคัญ น้ำไม่ได้ท่วมเมืองเชียงใหม่ทุกปี และท่วมครั้งละ 2-3 วัน แต่หากมีการสร้างพนัง เราจะมีกำแพงคอนกรีตตามแนวแม่น้ำให้ดูชั่วลูกชั่วหลายเช่นนั้นหรือ"


 


ด้าน นางพาที ชัยนิลพันธุ์ ประธานชุมชนบ้านวัดเกตุ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการสร้างพนังกั้นปิง เพราะนอกจากทำลายทัศนียภาพของสองฝั่งปิงแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า


 


"สาเหตุหนึ่งที่น้ำท่วมอย่างหนัก ก็คือ ลำเหมืองเก่าแก่หลายแห่งในเขตเมืองถูกถมหายไปหมด ทั้งที่เมื่อก่อนจะเป็นทางระบายน้ำในเขตเมืองได้อย่างดี ตอนนี้กำลังเสนอเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นขุดลอกลำเหมืองกันขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ถ้ามีการสร้างพนังกั้นน้ำ เชื่อว่าชาวบ้านจะออกมาคัดค้านอย่างแน่นอน"


 


ล่าสุด กลุ่มชาวบ้านในนามเครือข่ายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชน ร่วมกับชมรมเชียงใหม่ฮักฝั่งปิง ได้เตรียมจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ"น้ำท่วมเจียงใหม่ เยียะจะใดแก้" ขึ้นที่ พุทธสถานเชียงใหม่ ในวันเสาร์ที่ 15 ก.ค.นี้ เพื่อร่วมกันถกปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนาตั้งแต่เวลา 13.00 เป็นต้นไป


 


โดยในงานดังกล่าว มี ผศ..สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วสันต์ จอมภักดี รองคณะบดีคณะวิศกรรมศาสตร์ มช. จะได้มาพูดถึงประเด็นด้านกฎหมายและบทเรียนการสร้างพนังกั้นน้ำที่จังหวัดอื่น


 


นอกจากนั้นจะมี พระมหา ดร. บุญช่วย สิรินฺธโร รองอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(มจร.) เชียงใหม่ พูดถึงเรื่อง จิตวิญญาณของเมืองเชียงใหม่ และ โบสถ์คริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ และมัสยิดอัต-ตักวา จะพูดถึงมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และประเด็นน้ำท่วมซ้ำซากที่ไม่ได้มาจากน้ำปิง


 


ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า หลังจากจบการเสวนาดังกล่าวแล้ว กลุ่มเครือข่ายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบภาคประชาชน ร่วมกับชมรมเชียงใหม่ฮักฝั่งปิง จะพากันพร้อมเดินขบวนเคลื่อนไปทีบริเวณไนท์บาซาร์ เพื่อร่วมรายการ ITV Hot News พบประชาชน เรื่องวิกฤติน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยในงานดังกล่าว มีนายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนายนิคม พุทธา จากโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน เข้าร่วมวงเสวนา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net