Skip to main content
sharethis


 


ถึงแม้ว่าชื่อเสียงของ "จอร์จ โซรอส" จะโด่งดังในทางลบจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้กองทุนเก็งกำไร หรือ เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) และถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ฟองสบู่แตกจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2540 เป็นต้นมา


 


หากวาทะหนึ่งของโซรอสที่ออกมาตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาคือตัวการที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจในแถบเอเชียล่มสลาย คือประโยคที่ว่า "เศรษฐกิจแบบฟองสบู่ไม่ได้เติบโตขึ้นมาลอยๆ เพราะมันเกิดจากพื้นฐานความเป็นจริง (ทางเศรษฐกิจ) ที่จับต้องได้ แต่ความจริงชุดนั้นถูกบิดเบือนจนกลายเป็นความเข้าใจผิดๆ"


 


เมื่อพิจารณาจากคำพูดดังกล่าว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่พ่อมดการเงินอย่างโซรอสสามารถเจาะเข้ามาทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างสะดวกดายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่นักธุรกิจไทยส่วนหนึ่งใช้ข้อมูลภายใน (Insider) ฉวยโอกาสซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า "สวอป" ค่าเงินบาทกันอย่างเป็นกอบเป็นกำโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย


 


หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จอร์จ โซรอส มิได้สะดุ้งสะเทือนกับคำกล่าวหาใดๆ แต่ยังคงมุ่งหน้าลงทุนเก็งกำไรและดำรงตำแหน่ง "กูรู" ด้านการเงินต่อไป ซึ่งในขณะเดียวกันโซรอสก็เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการบริหารองค์กรการกุศลที่ให้ทุนสนับสนุนเพื่อการสร้างสังคมที่เปิดกว้าง ที่ใช้ชื่อว่าOpen Society Institute อีกทางหนึ่ง


 


หากความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นการออกมาต่อต้านรัฐบาลการกลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำครั้งที่สองของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อปี 2547 ซึ่งแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่โซรอสก็ยังแสดงจุดยืนชัดแจ้งด้วยการทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายของบุชมาตลอดนับแต่นั้น


 


สาเหตุที่พ่อมดการเงินอย่างโซรอสต้องออกมาต่อต้านรัฐบาลบุช เป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศที่เน้นการก่อสงคราม ซึ่งเขาเคยบอกกล่าวกับผู้สื่อข่าวของวอชิงตันโพสต์ด้วยว่า


 


"การที่บุชตัดสินใจบุกอิรัก ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งยังเป็นการชี้นำชาวอเมริกันไปในทิศทางผิดๆ"


 


และถึงแม้ว่า จอร์จ โซรอส จะเป็นชาวยิวในฮังการีที่รอดพ้นมาจากเงื้อมมือของนาซี สามารถหลบหนีจากฮังการีเข้าไปในประเทศอังกฤษในปี 2490 ก่อนจะย้ายเข้าไปตั้งรากฐานในสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นมหาเศรษฐี แต่เขาก็ประกาศจุดยืนของตนมาตลอดว่าการก่อสงครามไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น


 


ล่าสุด โซรอสได้เขียนบทความวิพากษ์การตัดสินใจก่อสงครามในตะวันออกกลางที่อิสราเอลและสหรัฐฯ เป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเขามองว่าสงครามครั้งนี้คือความผิดพลาด รวมถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายก็เต็มไปด้วยจุดอ่อนมากมาย โดยบทความดังกล่าวใช้ชื่อที่แสนจะตรงไปตรงมาว่า ความผิดพลาดของสงครามการก่อการร้าย (The Error of War on Terror)


 



ภาพจาก www.aljazeera.info 


 


ความคิดเห็นของโซรอสที่ปรากฏในบทความดังกล่าวระบุว่าความล้มเหลวของอิสราเอลในการปราบปรามความเคลื่อนไหวของกองกำลังฮิซบอลเลาะห์มีจุดอ่อน ดังนี้คือ


 


1.) แม้กลุ่มเป้าหมายของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายคือกองกำลังติดอาวุธที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายส่วนมากกลับเป็นพลเมืองของชาติที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่และทนทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ครั้งนี้แทน และถึงแม้ว่าอิสราเอลจำเป็นต้องตอบโต้ต่อการโจมตีของขบวนการก่อการร้ายเพื่อปกป้องตนเองจากการคุกคามจากขีปนาวุธจริงๆ แต่อิสราเอลควรจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของพลเรือนที่เกิดขึ้นจากการก่อสงครามของตนด้วย


 


สืบเนื่องจากความเสียหายของประชากรผู้เคราะห์ร้ายชาวเลบานอน ส่งผลให้สังคมมุสลิมและทั่วโลกต่างลุกขึ้นมาต่อต้านอิสราเอลและเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ โดยเปลี่ยนจากผู้รุกรานสู่ความเป็นวีรบุรุษผู้ต่อต้านการกดขี่ข่มเหง


 


2.) การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นมีเพียงปฏิบัติการทางการทหาร แต่ตัดขาดจากการใช้กลยุทธ์การต่อรองทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง


 


อิสราเอลถอนทัพออกจากเลบานอนและฉนวนกาซาเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงการเจรจาต่อรองทางการเมืองใดๆ กับรัฐบาลเลบานอนหรือแม้แต่ตัวแทนของปาเลสไตน์ ผลที่ตามมาก็คือ การก่อร่างสร้างตัวของกองกำลังฮิซบอลเลาะห์และฮามาสยิ่งทวีความเข้มแข็งขึ้น


 


แนวคิดเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่อยู่บนพื้นฐานการมองสถานการณ์ที่ปราศจากเรื่องการเมือง เนื่องมาจากการที่รัฐบาลบุชได้พยายามแบ่งแยกการเป็น "เขา" ออกจาก "เรา" อยู่เสมอ รวมถึงการปฏิเสธไม่รับรู้ว่าการกระทำของสหรัฐฯ และอิสราเอลมีส่วนทำให้กองกำลังต่างๆ ต้องแสดงพฤติกรรมเช่นที่เป็นอยู่ออกมา


 


3.) กองกำลังที่เคลื่อนไหวด้านการเมืองอาจใช้กลยุทธ์การก่อการร้าย แต่นโยบายการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายกลับไม่แยกแยะว่าจุดมุ่งหมายของกองกำลังแต่ละกลุ่มนั้นแตกต่างกัน


 


นโยบายดังกล่าวล้มเหลว เพราะไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างกลุ่มกองกำลังฮามาส, ฮิซบอลเลาะห์, อัลกออิดะห์ หรือแม้แต่กองกำลังทหารมาห์ดีของอิรักออกจากกันได้


 


ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องใช้การรับมือที่ต่างกัน เพราะกองกำลังต่างๆ แสดงเจตจำนงและข้อเรียกร้องที่ต่างกัน


 


ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ไม่ควรจะถูกจัดให้เป็นกองกำลังก่อการร้าย เพราะทั้งสองกลุ่มมีรากฐานปัญหาที่หยั่งรากลึก ซึ่งทำให้เกิดปัจจัยในการลุกขึ้นมาต่อต้านแตกต่างจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ จึงเห็นได้ชัดเจนว่านโยบายของอิสราเอลนั้น "ผิดพลาด"


 


4.) เมื่อมาห์มุด อับบาสได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ เขากล่าวว่า อิสราเอลควรจะสร้างความมั่นคงให้กับปาเลสไตน์และควรจัดให้มีการปฏิรูปองค์กร


 


เมื่ออิสราเอลถอนตัวจากฉนวนกาซา อดีตผู้ว่าการธนาคารโลก "เจมส์ วูล์ฟเฟนสัน" พูดถึงการเจรจาเรื่องแผนการพัฒนาปาเลสไตน์ 6 แผน กับตัวแทนประเทศมหาอำนาจ (รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ) เพื่อหารือกันเรื่องนโยบายการพัฒนาประเทศในแถบตะวันออกกลาง


 


แผนการพัฒนาทั้งหก รวมถึงการเจรจาเพื่อปลดปล่อยฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์, เสนอให้มีการเปิดท่าอากาศยานและท่าเรือของกาซา, เปิดพรมแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศอียิปต์, ปลดปล่อยตัวเองออกจากเงื้อมมือของอิสราเอล และรวมปาเลสไตน์เข้ากับกลุ่มประเทศอาหรับ


 


อย่างไรก็ตาม แผนการทั้งหมดไม่ประสบความสำเร็จใดๆ


 


ประธานาธิบดีบุชผลักดันให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปาเลสไตน์ แต่เมื่อผลปรากฏว่าตัวแทนของกองกำลังฮามาสได้รับชัยชนะ บุชก็สนับสนุนให้อิสราเอลกดดันรัฐบาลใหม่ของปาเลสไตน์ด้วยการตัดเงินช่วยเหลือและเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีแทน


 


ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีอับบาสแห่งปาเลสไตน์ จึงได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังฮามาส และสัญญาว่าจะร่วมมือต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในรัฐบาล


 


เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวทางนโยบายของผู้นำประเทศมหาอำนาจที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เบาบางลงได้ ตรงกันข้ามกลับเป็นการขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้น และนโยบายไม่ได้เกิดประโยชน์อย่างที่ต้องการ


 


อิสราเอลในขณะนี้ตกอยู่ในอันตรายเสียยิ่งกว่าตอนที่มีการลงนามก่อตั้งประเทศในสนธิสัญญาออสโลเสียอีก และสหรัฐอเมริกาก็ปลอดภัยน้อยลงนับตั้งแต่ประธานาธิบดีบุชประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย


 


จอร์จ โซรอส กล่าวเพิ่มเติมในบทความว่าอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักรู้ว่านโยบายของอเมริกาในวันนี้คือการสร้างแรงต่อต้านให้เกิดขึ้น และคงจะไม่มีจุดจบสำหรับวัฏจักรแห่งการก่อความรุนแรง ตราบใดที่ยังไม่มีการคำนึงถึงเรื่องรากฐานทางการเมืองที่เหมาะสมในการตอบปัญหาความขัดแย้งในปาเลสไตน์  และในความเป็นจริง ขณะนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการต่อรองในเรื่องดังกล่าว


 


อิสราเอลต้องตระหนักให้ดีว่าการใช้กำลังทหารเข้ายับยั้งความรุนแรงนั้นไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหา เพราะชาวอาหรับเริ่มที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของตนผ่านสมรภูมิรบได้แล้ว แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็พร้อมเสมอสำหรับการเจรจาประนีประนอม


 


เสียงข้างมากกล่าวว่าอิสราเอลไม่ควรต่อรองเรื่องใดๆ ในขณะที่ตกอยู่ในสถานะอ่อนแอ แต่โซรอสมองว่านั่นคือความคิดที่ผิด เพราะสถานะของอิสราเอลมีแนวโน้มว่าจะอ่อนแอยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังคงต่อต้านโดยใช้วิธีการเดิมเป็นระยะเวลานาน


 


เช่นเดียวกับที่ฮิซบอลเลาะห์อาจจะพึงพอใจกับรสชาติแห่งชัยชนะ (ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากซีเรียและอิหร่าน) ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเข้มแข็งจนไม่อยากต่อรองอีกต่อไป


 


อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความแตกต่างที่ต้องคำนึงถึงระหว่างฮิซบอลเลาะห์และฮามาสเช่นกัน นั่นก็คือชาวปาเลสไตน์เรียกร้องหาสันติภาพ การปลดปล่อยจากความเจ็บปวด การปลอดจากทหาร และพูดถึงเรื่องการเมืองมากขึ้น โดยรัฐบาลฮามาสจะต้องรับผิดชอบต่อความปรารถนาเหล่านี้


 


จึงยังไม่สายเกินไปสำหรับอิสราเอลที่จะสนับสนุนประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส ของปาเลสไตน์


 


เพราะนั่นแหละคือหนทางที่จะนำไปสู่ความปรองดองกัน


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net