Skip to main content
sharethis

 


รายงานโดย : "ประชาไท" ศูนย์ใต้


 


 


 


บทบาทของนักศึกษามุสลิมจาก 3 จังหวัดภาคใต้ เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น เมื่อเกิดปรากฏการณ์การชุมนุมยืดเยื้อ 5 วัน ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2550 ที่นำโดย "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน"


 


อันที่จริงบทบาทนักศึกษามุสลิม ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่บทบาทที่ว่านั้น อยู่ที่นักศึกษามุสลิมที่ออกไปศึกษายังต่างแดน


 


จึงไม่แปลกที่การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2550 ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ได้หยิบยกปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาพิจารณา


 


หนึ่งในหลายประเด็นที่มีการพูดถึง คือการติดตามดูแลเยาวชนมุสลิมภาคใต้ ที่เดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ


 


สิ่งที่ พล.อ.สุรยุทธ์ย้ำในระหว่างการแถลงข่าวหลังการประชุม คือการปรับการศึกษาในภาพรวมทั้งหมด


 


"...การศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ถ้าพื้นฐานไม่ดีพอจะเรียนต่อวิชาชีพ เช่น แพทย์ หรือวิศวกรไม่ได้ เราต้องปรับหลักสูตรการศึกษา ให้สอดรับกับความจำเป็น และความต้องการของเยาวชนที่จะเรียนต่อ ซึ่งเราต้องการให้ศึกษาต่อในประเทศมากกว่าต่างประเทศ"


 


การศึกษาต่อในต่างประเทศของมุสลิมชายแดนใต้ มักมุ่งหน้าไปยังประเทศมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เยาวชนเหล่านี้เกือบทั้งหมด ล้วนไปเรียนต่อด้านศาสนา น้อยรายนักที่จะศึกษาเฉพาะด้านวิชาชีพ


 


จะเห็นได้ว่า แต่ละปีมีนักเรียนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเรียนต่อด้านศาสนาในต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ปากีสถาน อินโดนีเซีย หรือแม้แต่ในประเทศมาเลเซียเอง โดยแต่ละปีมีทุนการศึกษาจากประเทศมุสลิมมอบให้นักเรียนไทย บางทุนให้เฉพาะมุสลิม หลายแหล่งทุนก็ให้กับคนทั่วไป


 


ทุนที่มีอยู่นี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะทุนสนับสนุนผู้เรียนศาสนาเท่านั้น แต่ยังให้กับผู้เรียนด้านวิชาชีพด้วย


 


ผู้ที่รับทุนมีทั้งจากส่วนกลาง และจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย อัล - อัซฮาร์ ประเทศอียิปต์ ปีละ 80 ทุน เป็นต้น


 


สำหรับกรณีที่สภาความมั่นคงแห่งชาติได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากขณะนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังร่างยุทธศาสตร์ในการดูและส่งเสริมนักศึกษาไทยในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการดูแลเรื่องการศึกษาในต่างประเทศในภาพรวมทั้งหมด แบ่งออกเป็น 3 ช่วง นั่นคือก่อนเดินทางไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ระหว่างเรียนและหลังจากจบการศึกษากลับมาอยู่ในประเทศไทย


 


ไม่เพียงเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติเท่านั้น ที่หยิบยกเรื่องการศึกษาในต่างประเทศของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลปัญหาในพื้นที่โดยตรง ก็ได้หยิบเรื่องนี้มาเป็นภารกิจสำคัญส่วนหนึ่งด้วย


 


ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในเขตเศรษฐกิจเฉพาะกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 19 - 20 เมษายน 2550 ที่โรงแรม บีพี สมิหลาบีช รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ระบุว่าขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับนักเรียนไทยที่อยู่ในต่างประเทศมากขึ้น


 


มีการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยให้นักศึกษาไทยเข้ารวม เช่น กิจกรรมในวันสำคัญของชาติ รวมทั้งวันสำคัญทางศาสนา ผลที่ได้รับคือความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ระหว่างสถานทูตไทยกับกลุ่มนักศึกษามุสลิมที่เรียนอยู่ในประเทศดังกล่าว


 


ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอขอให้จัดตั้งหน่วยงานดูแลนักศึกษากลุ่มนี้โดยตรง เช่น ตั้งกงสุลหรือตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายการศึกษาขึ้นมารองรับ


 


ประเด็นที่มีการสะท้อนออกมาในที่ประชุมคราวนั้น ที่ยังเป็นปัญหาให้รัฐบาลต้องนำไปขบคิดหาทางออก ได้แก่ ประเด็นที่นายประดิษฐ์ รสิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายและแผนการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและกีฬา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายการศึกษา ระบุว่า…


 


เมื่อมีการจัดโครงการหรือกิจกรรมในต่างประเทศ นักศึกษามุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ค่อยเข้าร่วม พร้อมกับยกตัวอย่างนักศึกษาไทยในประเทศอินโดนีเซีย


 


"ผมได้มีโอกาสไปถามปัญหานักศึกษาที่เรียนอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย พบว่านักเรียนไทยที่นั่นไม่ได้ไปเรียนเฉพาะสายศาสนาอย่างเดียว ขณะที่เราคิดว่าไปเรียนเฉพาะศาสนาเท่านั้น ส่วนใหญ่ไปด้วยทุนของตัวเอง และมีที่ไปแบบไม่ถูกตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย"


 


ที่เป็นเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานไหนเข้าดูแลให้ความช่วยเหลือ จึงทำให้รัฐขาดข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษามุสลิมไทยในต่างประเทศเป็นอย่างมาก เรื่องนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังจัดทำยุทธศาสตร์ดูแลนักศึกษามุสลิมไทยในต่างประเทศทั้งระบบ เริ่มจากเดินทางไปหาข้อมูลที่ประเทศอียิปต์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550


 


ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ที่ผ่านมามีการส่งทูตทหารไปได้ แต่เหตุใดจึงไม่มีการส่งทูตทางการศึกษา หรือเจ้าหน้าที่กงสุลดูนักศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งที่จริงน่าจะต้องมีหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะไปทำงานในเชิงบวก


 


สิ่งที่นายประดิษฐ์ระบุว่าเป็นปัญหาก็คือว่า เมื่อครั้งไปที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น ปรากฎว่าไปหาเด็กไม่เจอ ก็เลยจัดงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นทุนการศึกษาเรียกร้องความสนใจให้นักศึกษาเข้ามา


 


ทว่า การให้เงินแบบทุนการศึกษา ไม่สามารถทำได้ เพราะติดปัญหาระเบียบและกฎหมาย จึงจัดให้เป็นเงินทุนสำหรับการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาแทน ตั้งอยู่ที่สถานทูตไทยในอินโดนีเซีย


 


"เมื่อทำได้ดังนั้น ทำให้มีนักศึกษาติดต่อเข้ามา ทำให้เราได้เจอเด็กที่นั่นจนได้ เราพบว่ามีเยอะมาก แต่พวกเขาไม่แสดงตนคนที่เข้ามาติดต่อ เราก็ให้พวกเขาสะท้อนมุมมองต่อรัฐ พบว่า แย่สุดๆ โดยเฉพาะกรณีที่มีเด็กคนหนึ่งจากอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เขากลับไปบ้าน วันหนึ่งเพื่อนชวนไปเที่ยว เจอด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ (ทหาร) ควบคุมตัวเขา โดยบอกว่าจบจากอินโดนีเซียต้องก่อการร้ายแน่ เลยจับตัวพาไปให้ตำรวจ ตำรวจที่นั่นรู้จักเขาดีก็เลยปล่อยตัวไป กรณีนี้เลยกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่เสียอีก"


 


ด้วยเหตุนี้ จึงได้เสนอกับนักศึกษากลุ่มนั้นไปว่า ถ้าจะจัดระเบียบเรื่องนี้จะทำอย่างไร เพื่อให้กลุ่มนักศึกษาจากอินโดนีเซียได้มีพื้นที่เพื่อแสดงตนเอง ถ้าตั้งสำนักงานปัญญาชนมุสลิมประจำอำเภอจะได้หรือไม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะไม่กล้า เพราะเหมือนกับเป็นหน้าด่านที่พวกเขาต้องเจอกับเจ้าหน้าที่รัฐ อีกอย่างยังไม่มั่นใจในระบบของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งระบบของฝ่ายตรงข้ามรัฐด้วยเช่นกัน


 


"จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่า มีคนที่เรียนในประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 2,000 คน แต่เข้ามาติดต่อกับทางการเพียง 200 คน เท่านั้น ซึ่งเป็นคนที่ต้องการเทียบวุฒิการศึกษา จุดประสงค์เพื่อต้องการไปสมัครเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต ซึ่งเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อให้มีวิชาครู ครบตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยขณะนี้มี 2 คนกลับมาแล้ว กำลังมีบทบาทสูงยิ่งอยู่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่" เป็นข้อมูลจากปากของนายประดิษฐ์


 


อันเป็นโจทย์ใหญ่ ที่รัฐไทยจะละเลยทำเฉยไม่ได้อีกต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net