Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนิรโทษกรรมฯ จี้​พรรคร่วมรัฐบาล และ กมธ.นิรโทษกรรม เร่งกระบวนการออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีการเมือง และมาตรา 112 ให้มีการชะลอการดำเนินคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมาย และผู้ต้องหาทางการเมืองต้องได้รับสิทธิการประกันตัว

 

16 พ.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก 'แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม' รายงานวันนี้ (16 พ.ค.) เวลาประมาณ 12.08 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเข้ายื่นหนังสือถึงพรรคร่วมรัฐบาล และ ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม​ เพื่อขอให้เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคดีความทางการเมือง​ ที่มีทีท่าว่าจะมีการต่อเวลาศึกษาและพิจารณาแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ​จนทำให้​ ‘บุ้ง’​ เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง ต้องอดอาหาร เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย​ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้​เธอเสียชีวิตเมื่อ 14 พ.ค. 2567

โดยในแถลงการณ์ยังได้มีการย้ำเตือนถึงจุดยืนของรัฐบาลที่ว่า​ "รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ในระบอบประชาธิปไตยอัน มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการฟื้นฟูหลัก นิติธรรม​ (rule of law) ที่เข้มแข็ง โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ” รวมไปถึงยังได้มีข้อเรียกร้องถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 4​ ข้อดังนี้

1. ตรวจสอบการเสียชีวิตของ เนติพร ให้เกิดความโปร่งใส​ และชัดเจนโดยเร็ว

2. ดำเนินการใดๆ ให้ผู้ต้องขังซึ่งคดียังไมถึงที่สิ้นสุด ได้รับสิทธิในการประกันตัว

3. ชะลอการดำเนินคดีการจับกุมคุมขังบุคคลในคดี​การเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน สั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคําร้อง ไม่อุทธรณ์​ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคําร้อง ถอนอุทธรณ์​ และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ

4. เร่งรัดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนโดยรวมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุแห่งคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. ... ได้เสนอต่อรัฐสภาและอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายนิรโทษกรรมยังได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าการหาข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตของ ‘บุ้ง’​ เนติพร​ และยังยืนยันว่าจะผลักดันข้อเรียกร้องและอุดมการณ์ที่เธอได้ฝากไว้ในวาระสุดท้ายอย่างถึงที่สุด​

เว็บไซต์ the active รายงานว่า วันนี้มี สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ และกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล เสียใจ​ และเกินกว่าคำว่าเสียใจ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ก้าวล่วง​ฝ่ายตุลาการ ส่วนรายละเอียดทราบอยู่ว่ากรณีที่ถูกถอนประกัน เพราะอะไร สิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็คุยกันว่าไม่สบายใจ​ ส่วนที่ตั้งคำถามว่าการศึกษา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ถูกขยายออกไปเรื่อยๆ​ เมื่อไรจะเสร็จ ในฐานะที่ตนเป็นโฆษกกรรมการชุดนี้ บ่ายวันนี้ก็จะประชุม และยืนยันว่าไม่ได้มีความล่าช้า แต่ขณะนี้อยู่ในการปิดสมัยประชุมสภาฯ

ส่วนที่ระบุว่าการนิรโทษกรรมไม่รวมผู้ต้องหาในคดี ม.112 และ ม.​110 นั้น สมคิด ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด โดยมีกรรมาธิการฯ ส่วนหนึ่ง​ซึ่งเป็นความคิดของบุคคล ไม่บอกว่าพรรคใดคัดค้าน​ ที่จะเอาฐานคดีใน ม.​112 มาด้วย แต่ยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียด ในแนวทาง ตนเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย

"เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยไม่พูดถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเลย เพราะพรรคเพื่อไทยมีบาดแผลจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ ที่เจ็บปวดมาแล้ว ถ้าบอกว่าเห็นด้วยกับ ม.112 ฝ่ายที่ไม่ชอบก็จะบอกว่า เห็นไหมทำเพื่อนายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ เราพูดไม่ได้​ เพราะจุดนี้​ แต่เสียงว่าอย่างไร​ เราเอาด้วย​ เราไม่คัดค้าน เอาเสียงส่วนมากว่าอย่างไร​ เราก็เอาด้วย​ วันนี้พรรคเพื่อไทยเสนอให้ศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม​ เพื่อให้ทุกฝ่ายตกผลึกให้เร็วขึ้น​ ถ้าหากปล่อยแต่ละฝ่ายไป​ ก็จะไม่จบ วันนี้เราเชิญทุกฝ่ายมา​ แต่จะจบแน่นอนก่อนสภาฯ เปิด" สมคิด กล่าว 

ส่วนรายละเอียดที่ทางกลุ่มฯ เรียกร้อง​นั้น สมคิด ยืนยันว่าได้ตกลงกับแกนนำแล้ว​ วันอังคารหน้า (21 พ.ค. 67) ขอให้มาทวงถามในรายละเอียดได้​ ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร​

"เกินกว่าที่จะบอกว่าเสียใจ​ ที่คนเสียชีวิต​ พูดไม่ออก​ มันจุกอก​ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้มีความสบายใจ​ และก็จะเดินเรื่องนี้ต่อ ผมพึ่งวางโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ว่า​ หากรับเรื่องแล้วให้แจ้งว่าจะเอาอย่างไรต่อซึ่ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยากให้เสร็จภายในปีนี้ด้วยความตั้งใจจริง ไม่ได้ต่อเวลาเพราะอะไร และขณะนี้ อ.ยุทธพร อิสระชัย กำลังเคลียร์คดี ฐานความผิด เพราะฉะนั้นเราจะเอาไปทั้งหมด​ ส่วนรายละเอียดเรื่อง ม.112 ยังไม่ได้คุย​ ยืนยันว่าถ้าคุยก็ยังไม่จบ ต้องเอาคดีฐานใหญ่ ๆ ออกไปก่อนผิด พ.ร.บ.ชุมนุม จะต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด จึงอยากเรียนทุกคนที่มาว่าผู้แทนรัฐบาล เราตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้" รองเลขาฯ นายกฯ ฝ่ายการเมือง กล่าว 

ขณะที่ เมื่อเวลา 16.41 น. กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ได้แจ้งว่า วันที่ 17 พ.ค. 2567 เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภาฝั่งเกียกกาย กลุ่ม ศปปส. นำโดยอานนท์ กลิ่นแก้ว จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา คัดค้านกรณี รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ นำเรื่องการเสียชีวิตของเนติพร เข้า กมธ.นิรโทษกรรม เพื่อหวังล้างพิษผู้ต้องหามาตรา 112

ภาพประชาสัมพันธ์จากกลุ่ม ศปปส.

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ปัจจุบัน มีต้องขังทางการเมืองจำนวนทั้งสิ้น 43 ราย โดยแบ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวนอย่างน้อย 16 ราย คดีที่ยังไม่สิ้นสุด 27 ราย คดีเยาวชน 1 ราย และในจำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดียังไม่สิ้นสุด มีการยื่นประกันตัวมาแล้ว 45 ครั้ง ระหว่าง ม.ค.-เม.ย. 2567 แต่ไม่มีใครได้รับการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเลยสักคนเดียว
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net