Skip to main content
sharethis

สมศรี หาญอนันทสุข


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) 


 


ท่ามกลางการถกเถียงว่าร่างรัฐธรรมนูญควรจะมีการบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วยกับพระสงฆ์ที่ออกมากดดัน สสร.ในเรื่องนี้ และยังไม่เห็นความจำเป็นด้วยทัศนะต่างๆนานา จุดหนึ่งที่น่าจับตามองในเรื่องที่พระสงฆ์ควรทำแต่ไม่คิดจะทำก็คือ การเรียกร้องมิให้มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือให้นำคำว่าการลงโทษประหารชีวิตออกไปจากรัฐธรรมนูญไทยและสังคมไทย ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์โดยตรง แต่กลายเป็นว่าการลบคำว่าลงโทษประหารชีวิตออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญของปี 2550 ดังกล่าวเป็นความริเริ่มและความต้องการของฆราวาสที่เป็นทั้งพุทธและมุสลิมที่นั่งอยู่ใน สสร.ชุดนี้ มันจึงทำให้ภาพการเคลื่อนไหวสองอย่างนี้ช่างขัดแย้งกัน พอๆกับความขัดแย้งของสังคมพุทธที่คลั่งจตุคามรามเทพที่วัดต่างๆพยายามผลิตขึ้นมายัดเยียดความเป็นอวิชชาให้กับสังคมไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา 


 


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีในระดับหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ระบุเรื่องโทษประหารชีวิตไว้ในเนื้อหาดังที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าปี 2540 ที่เขียนไว้ในมาตรา 31 ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ.....แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฏหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม....."  เมื่อได้ตัดประโยคนี้ออกไป วิญญูชนหลายคนคงจะดีใจและยินดีที่ได้ยินคุณวิชา มหาคุณ ออกมาพูดในลักษณะที่ต้องการเห็นความคืบหน้าของสังคมไทยที่จะต้องแสดงถึงความศิวิไลย์ มีเหตุมีผล และเชื่อว่ารัฐบาลในชุดต่อไปจะขานรับให้เรื่องนี้นำไปสู้การไม่มีโทษประหารฯอีกต่อไป (หากร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของเสียงส่วนใหญ่) 


 


การนำไปสู่หนทางที่จะให้มีการยกเลิกการเข่นฆ่าอย่างถูกกฏหมายไม่ใช่เรื่องที่ไทยคิดเรียนแบบต่างประเทศดังที่หลายคนเข้าใจ แต่ประเทศไทยต่างหากที่จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องการยกเลิกโทษประหารของสังคมโลก เพราะเราเป็นประเทศที่รักสันติทั้งทางศาสนาและวัฒนธรรม และไม่สอนใช้กฏแห่งกรรมของศาสนาพุทธมาบิดเบือนให้คนไทยคิดอาฆาตมาตรร้ายล้างแค้น แต่จะมุ่งเน้นการลงโทษผู้กระทำผิดหรืออาชญากรสถานหนักด้วยการลงโทษตลอดชีวิตแทน โดยจะไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลได้อย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนในคณะรัฐบาลเอง 


 


ก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันมาแล้วว่า ไม่มีข้อพิสูจน์จากการทำวิจัยทั่วโลกทั้งสองครั้งของสหประชาชาติ ที่สามารถบ่งบอกได้ว่าการลงโทษประหารชีวิตจะช่วยลดคดีอาชญากรรมลงได้ เพราะประเทศที่มีคดีอาชญากรรมสูงขึ้น หรือลดลง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวแปรจากการดำรงโทษประหารไว้ แต่การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในบางประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวอื่นๆที่สำคัญกว่า ดังนี้คือ 


 


1.   ปัจจัยทางเศรษฐกิจ  สังคมและชุมชนที่ไม่เข้มแข็ง ไม่มีภูมิคุ้นกันเพื่อป้องกันคนในชุมชนไม่ให้ทำผิด การตกงานและการศึกษาต่ำ  ทำให้คนระดับล่างยอมตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้าขนาดใหญ่ ยอมที่จะทำผิดเพื่อแลกกับเงิน  (ไม่ว่าจะขายทุกวันเพียงวันละไม่กี่เม็ดหรือขนกันเป็นล้านเม็ดก็ตาม) จะเห็นได้ว่าผู้ที่ค้ายาจะเป็นคนยากจนมากกว่าผู้ที่มีการศึกษา ฐานะดี


2.   รัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีนโยบายสกัดกั้นการติดยาเสพติด (demand) และการค้ายาเสพติด (supply) อย่างจริงจัง ยังไม่มีการปราบคอรัปชั่นของคนในสังคมควบคู่กันไป ไม่มีระบบตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรงถึงขั้นจำคุก ยังมีการผูกติดอยู่กับระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนอย่างเหนี่ยวแน่น เมื่อเป็นเช่นนี้ จะให้มีการฆ่าตัดตอนอีกกี่ครั้งก็ช่วยขจัดยาเสพติดไม่ได้ เพราะการปราบแบบทำยอดให้ได้ศพเท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ขจัดรากเหง้าของกระบวนการค้ายาเสพติดแต่อย่างใด


3.   รัฐบาลปล่อยให้คนทำผิดกระทำการอยู่ได้นานๆจนเข้าใจกันว่า การค้ายาเสพติดเป็นความผิดเล็กน้อยที่ทำกันได้เหมือนการเล่นการพนัน, หรือเหมือนการค้าประเวณี


4.   ไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงพอในการตรวจจับการขนยาเสพติด  สอดส่องดูแลในจุดคนเข้าเมืองที่สนามบินหรือตามชายแดน และน่านน้ำ  หลายประเทศยังใช้คนในการตรวจตรา ค้นหาเป็นหลัก และคนเหล่านี้ไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กลับเป็นผู้รับเงินแล้วปล่อยให้ยาเสพติดเข้าออกได้อย่างเสรี


5.   ขณะนี้ผู้ติดยาเสพติดได้กลายเป็นผู้ค้ายาเสพติดอย่างง่ายดาย (ผู้เสพเป็นผู้ค้า)เพราะรัฐ ครอบครัว และโรงเรียน ปล่อยให้ผู้ติดยา กลายเป็นผู้ค้ายากันอย่างทั่วหน้าไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่ สังคมที่ขาดความอบอุ่น   หันไปสนับสนุนความคลั่งไคล้กับความเจริญทางวัตถุอย่างไม่หยุดยั้ง ย่อมทำให้คนต้องการเงินอย่างยับยั้งไม่อยู่เช่นกัน


2.                   รัฐต้องทำความจริงให้ปรากฏ ด้วยการศึกษาอย่างเฉลี่ยวฉลาดว่าเหตุใดประเทศที่พัฒนาและยังไม่พัฒนากว่าครึ่งโลกยกเลิกโทษประหารไปแล้ว โดยสังคมของเขาอยู่ได้ และประเทศเหล่านั้นมีวิธีการจัดการปัญหาด้วยการใช้การลงโทษจำคุกตลอดชีวิต   ทั้งนี้รัฐควรจะดูแบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศในยุโรปทุกประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union) มีข้อบังคับว่าจะต้องยกเลิกโทษประหารเสียก่อน เพราะถือว่าการที่รัฐบาลยังประหารชีวิตนักโทษซึ่งถือเป็นประชาชนคนหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ ซึ่งรัฐไม่ควรทำแบบเดียวกับที่อาชญากรทำ รัฐบาลไทยซึ่งต้องการปฏิรูปการเมือง ควรศึกษาจากกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มเป็นบวก มิใช่คอยแต่ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ที่มีปัญหาการเมืองเข้ามาแทรกแซง และใช้โทษประหารเพื่อเล่นงานคนผิวดำเป็นหลัก คนอเมริกันจำนวนมากก็ค้านโทษประหารอย่างหนักหน่วง และมีหลายรัฐแล้วในอเมริกาที่ยกเลิกโทษประหารในที่สุด


 


3.  การมองว่าการรักษาชีวิตของผู้ที่ทำผิดอย่างรุนแรงเป็นเรื่องเปลืองงบประมาณของรัฐและเป็นการให้โอกาสกากเดนสังคมมากเกินไป  การมองในลักษณะนี้เป็นการมองในด้านเดียว  เพราะรัฐบาลในระบบประชาธิปไตยมีหน้าที่ที่จะทำให้คนในสังคมทุกฝ่ายมีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง รวมทั้งข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย  ทั้งนี้เพื่อ


 


1.   ให้โอกาสผู้กระทำผิดคดีอาชญากรรมรุนแรงทุกคดีมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีเฉกเช่นคดีอื่นๆ ไม่ว่าคนเหล่านี้จะกระทำผิดติดตัวครั้งแรกหรือครั้งแล้วครั้งเล่าหรือทำผิดเพราะอาการทางจิตก็ตาม สังคมไม่ควรด่วนตัดสินว่าคนเหล่านี้คนชั่วแต่กำเนิด  และไม่มีข้อพิสูจน์ทางพันธุกรรมได้ว่าคนใดเป็นคนชั่วหรือดี แต่แรกเกิด 


2.  เพื่อให้โอกาสเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ค้ายาเสพติดรายใหญ่รายย่อยนับหมื่นคนที่อาจจะถูกจับและถูกประหารเสียเองในอนาคต ได้มีโอกาสรับโทษเพื่อรับการกล่อมเกลาให้เป็นคนดีของสังคม  


เป็นการให้โอกาสศาล อัยการ และราชทัณฑ์ เอง เพื่อให้สามารถแก้ตัวได้ทันทีที่รู้ว่าตนเองตัดสินคดีผิดพลาด  เพราะการจำคุกนักโทษโดยไม่ประหารชีวิตเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะนำผู้บริสุทธิ์ออกมาสู่อิสรภาพได้ แล้วนำผู้ที่กระทำผิดจริงๆ เข้าคุก ซึ่งเป็นการให้โอกาสรื้อฟื้นคดี ให้เวลาแก้ตัวแก่ผู้ถูกตัดสินและผู้ตัดสินลงโทษเองด้วย   คงไม่มีใครปฏิเสธว่า  วิจารญาณของมนุษย์จะเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป   ไม่มีประเทศใดในโลกที่ศาลไม่เคยนำผู้บริสุทธิ์เข้าคุก และหรือประหารผิดคน   


4 เป็นการให้โอกาสตัวรัฐบาลเองเพื่อพิสูจน์วิสัยทัศน์ และวุฒิภาวะ ของสังคมนั้นๆ ให้เห็นว่ารัฐบาลมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้  โดยไม่จำเป็นต้องคร่าชีวิตคน  สังคมไทยต้องการเห็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง ทำงานหนัก มีความทันสมัย รักความเป็นธรรม และพึ่งพิงได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นต้องเป็นผู้นำที่กล้า ชี้ผิด ชี้ถูก จนทำให้ประชาชนสามารถแยกแยะปัญหาและคิดตามได้  โดยไม่ลงไปคลุกคลี ผสมโรงกับกระแสสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอยู่แล้ว  เพื่อให้รุนแรงยิ่งขึ้น 


 


4. หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้การจำคุกตลอดชีวิต  เป็นการลงโทษที่สาสม และหนักหน่วง ในสายตาของคนไทยได้  นั่นหมายความว่าประเทศไทยเราขาดประสิทธิภาพในการทำงานของกระบวนการยุติธรรม และการประชาสัมพันธ์ เพราะประชาชนจำนวนมากในโลก เขารู้สึกได้แล้วว่าการที่ถูกจำกัดเสรีภาพให้อยู่ในที่แคบๆตลอดชีวิตนั้นคือการทำโทษที่ทรมานทั้งกายและใจเป็นที่สุด ไม่มีมนุษย์คนใดอยากจะพลัดพรากจากครอบครัว หรือถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างแน่นอน และการจำคุกตลอดชีวิตนั้นเป็นการลงโทษอย่างแท้จริง ไม่ใช่การล้างแค้น เพื่อความสาสมใจ หรือเพื่อสร้างกระแสนิยมจากสาธารณชน


 


5.                   การประหารชีวิตไม่เพียงแต่เอาชีวิตของนักโทษ เท่านั้น แต่เป็นการพรากจิตวิญญาณของพ่อ แม่ และลูก ภรรยาและสามีของผู้ถูกประหารไปด้วย ความเจ็บปวดของครอบครัวผู้ค้ายาไม่ได้ต่างจากความเจ็บปวดของครอบครัวผู้ที่ติดยาหรือผู้ถูกข่มขืนอย่างแน่นอน  ไม่มีผู้ใดเจตนาให้สมาชิกในครอบครัวเป็นอาชญากร  หรือเป็นผู้ติดยา แต่ผู้ที่มีส่วนทำให้คนเหล่านี้ต้องทำผิด คือสังคมรอบข้างที่เขาอยู่ และสิ่งยั่วยุที่ยัดเยียดให้เขาต้องหาทางออกด้วยการค้ายาและติดยา ซึ่งสังคมจะต้องรับผิด ชอบร่วมกัน มิใช่โยนความผิดให้คนใดคนหนึ่ง  


 


6.   สังคมต้องยอมลงทุน กับคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นนักโทษประหารที่มี ไม่ถึง 0.5 % ของนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อแลกกับการสร้างคุณธรรม ศีลธรรม และเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นการปลูกฝังความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประชาชน   ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างความ รู้สึกว่าจะต้องฆ่าสังหารผู้ค้ายาเสพติดยังจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความชอบธรรมในการทำวิสามัญฆาตรกรรม หรือจัดตั้งหน่วยล่าสังหารอีกด้วย


  


ข้อสังเกตทั้ง 6 ข้อนี้ ขอเสนอต่อรัฐบาลชุดต่อไปและกระบวนการยุติธรรมให้ทบทวนเพื่อยุติการมีโทษประหารชีวิต พร้อมๆกับสนับสนุนให้มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อมูลที่ชัดเจน ผู้เขียนยืนยันว่ารัฐควรจะทำหน้าที่ยกเลิกการกระทำเช่นนี้ได้เองโดยไม่ต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ เพราะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรม เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำให้ปรากฏ ซึ่งรัฐบาลในเกือบทุกประเทศที่ยกเลิกโทษนี้ไปแล้ว ก็ไม่ได้มาจากมติของเสียงส่วนใหญ่เช่นกัน 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net