Skip to main content
sharethis

iLaw จัดกิจกรรม “สว. 67 สมัครเพื่อเปลี่ยน จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้” ท่าแพเชียงใหม่ ส่งเสียงและพลังให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสมัครสว. มาสมัครให้ได้มากที่สุด แม้จะเห็นความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการทั้งการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง”  ระหว่างจัดกิจกรรมมีการจุดเทียนไว้อาลัยให้กับ 'บุ้ง เนติพร' ด้วย

20 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (19 พ.ค.) เวลา 17.00 น. ที่ลานท่าแพ เชียงใหม่ iLaw จัดกิจกรรม “สว. 67 สมัครเพื่อเปลี่ยน จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้”  เพื่อร่วมส่งเสียงให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสมัครสว. มาสมัครให้ได้มากที่สุดพร้อมกับส่งพลังไปถึงผู้สมัครสว. แม้จะเห็นความไม่ชอบมาพากลในการสรรหาสว. ระบบใหม่ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” ที่ถูกออกแบบไว้เอื้อให้กับคนบางกลุ่ม  จึงจำเป็นที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสมัครสว. ให้มากที่สุด

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เปิดโต๊ะคลินิกให้คำปรึกษาการเตรียมตัวสมัครสว. พร้อมแจกใบความรู้ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัครสว. ไทม์ไลน์การเลือกสว. และขั้นตอนวิธีการคัดเลือก ต่อด้วยกิจกรรมลาบสว. ชุดเก่าส่งต่อให้กับสว. ชุดใหม่ มีการพูดคุยเกี่ยวกับการสมัครสว. เล็กน้อย ก่อนที่จะมีการจุดเทียนไว้อาลัยให้กับบุ้ง – เนติพร นักกิจกรรมทางการเมือง ที่เสียชีวิต ขณะที่คุมขังในเรือนจำ พร้อมอ่านบทกวี โดย ธีราภรณ์ พุดทะสี

เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งคว้าง

บนท่ามกลางดวงดาวและผู้คน

อุดมการณ์จะสร้างสรรค์เพื่อมวลชน

ต้องมลายดั่งสายลมบนดวงดาว

ทั้งความฝัน ความคิด จินตภาพ

คงเป็นรูปมายาหลอนให้ลุ่มหลง

หวังจะสร้างเปลี่ยนแปลงใหม่แก่สังคม

เป็นแค่ฝันลมลมไปวันวัน

เหล่าหมู่มิตรผองเพื่อนที่แข่งขัน

หวังสร้างฝันวันใหม่กับไพร่ฟ้า

ล้มอริปริดอธรรมเพื่อประชา

ต่างร้างลาหนีห่างหรือจากไป

เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งคว้าง

บนดวงดาวกว้างใหญ่อันไพรศาล

ในตาเราคงมืดมนอนธการ

ที่หวังเห็นการใต้ฟ้าเราเท่ากัน

คือตาชูผู้ชี้เสรีสิทธิ์

คือศาลสถิตยุติธรรมนำสมัย

คือหลักประกันประชาธิปไตย

มิใช่อภิชนคนชั้นฟ้า

ครุยที่สวมนั้นมาจากภาษี

รถที่ขี่เงินใครให้หรูหรา

ข้าวที่กินดินที่ย่ำบ้านงามตา

ล้วนแต่เงินของมหาประชาชน

มิได้อวตานมาโปรดสัตว์

แต่เป็นลูกจ้างรัฐตั้งแต่ต้น

ให้อำนาจแล้วอย่าหลงทะนงตน

ว่าเป็นคนเหนือคนชี้เป็นตาย

เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์

ใช่ต้องลมเพียงนิดก็ล้มหงาย

ยิ่งเสาสูงใจต้องสูงเด่นท้าทาย

ใช่ใจง่ายเห็นเงินแล้วเออออ

ต้องเปิดโลกทัศน์อย่างชัดเจน

ใช่ซ่อนเร้นอ่านตำราแต่ในหอ

ออกบัลลังก์นั่งเพลินคำเยินยอ

เลือกเหล่ากอมากองห้องทำงาน

ตุลาการคือหนึ่งอธิปไตย

อันเป็นของคนไทยไพร่ชาวบ้าน

มิใช่ของใครผู้หนึ่งซึ่งดักดาน

แต่เป็นตุลาการของประชาชน

ฉะนั้นพึงสำนึกในมโนทัศน์

ใช่ด้านดัดมืดดับด้วยสับสน

เปื้อนราคินกินสินบาทคาบสินบน

แล้วแบ่งคนชนชั้นบรรชาชี้

ตื่นเถิดตุลาการ

ตื่นเถิดตุลาการ

จงคิดอย่างอิสระ

รับภาระอันหนักหนาทำหน้าที่

หากรับใช้ใบสั่งดั่งการี

ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย

ตุลาการเช่นนี้อย่ามีเลย

 

จากนั้นเป็นช่วงของวงเสวนา “จะได้อะไรจากระบบใหม่ที่เลือกกันเอง” และกิจกรรมฟังเสียงคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีสิทธิสมัครสว. และไม่มีสิทธิเลือกสว. จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายชาติพันธุ์ปลดแอก, นักสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลาย, นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสหภาพแรงงานบาริสต้าเชียงใหม่ อีกทั้งมีการแสดง Performance Art “ข้าพเจ้าคือผู้ยิ่งใหญ่” ก่อนถ่ายภาพร่วมกันโดย “ชูสองมือ” รับฝากความหวังและพลังใจ และปิดท้ายด้วยดนตรีจากทิฆัมพร

ภาณุพงศ์ ไชยวรรณ์ ผู้ร่วมกิจกรรมกล่าวถึงความสำคัญของการสมัครสว. ว่า ด้วยการออกแบบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การยกร่างได้มาซึ่งสว. จาก 20 กลุ่มอาชีพและเลือกกันเองนี้นะ อันนี้มันมีเจตนารมณ์แฝงไว้ว่าเขาไม่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม อยากจะล็อกกันเฉพาะในกลุ่ม การล็อกเฉพาะในกลุ่มและกันประชาชนมามีส่วนร่วมด้วยการออกแบบคัดเลือกสว. ด้วยระบบนี้ ตั้งแต่ต้องมีเงิน 2,500 ถึงจะไปอยู่ในวงจรนี้ได้ ซึ่งตรงนี้ก็เท่ากับกีดกันประชาชน และอีกเรื่องนึงก็คือมันทำให้ระบบการจัดตั้งของกลุ่มผู้นำหรือกลุ่มพรรคการเมืองมีความเป็นไปได้สูงโดยอาศัยกลไกอำนาจรัฐและการเลือกตั้งสว. ครั้งนี้มันไปอาศัยระบบในอำเภอ ระบบผู้ว่าราชการมาเป็นผอ.การเลือกตั้ง ซึ่งแบบนี้มันเอื้อต่อกลุ่มนักการเมือง ถ้าประชาชนไหลเข้าไปสมัครเยอะๆ มันจะทำลายระบบนี้ทันทีเลย เพราะฉะนั้นการรณรงค์ของ iLaw เพื่อจะให้ประชาชนที่มีอายุ 40 ไม่ว่าจะจุดยืนทางการเมืองอะไรก็แล้วแต่ต้องไม่ใช่เครื่องมือของนักการเมืองอันนี้มันจะทำให้ระบบที่เขาวางไว้ทำได้ยากขึ้น

หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมและผู้ลงสมัครสว. กล่าวถึงความสำคัญของการสมัครสว. ว่า สว. เป็นสภาสูง ซึ่งในประเทศไทยยังมีระบบสองสภาอยู่ เพราะฉะนั้นผู้ที่หมดวาระไปก็ต้องมีการเลือกแทนชุดเก่า แต่ถามว่าในระบบของสภาเดี่ยวกับสองสภาประเทศที่เจริญแล้วเขาจะไม่มีสภาสูงเขาไม่ต้องใช้สองสภาเขาจะใช้สภาเดียว เพราะฉะนั้นการที่สว. ชุดใหม่จะเข้าไป อะไรที่ไม่จำเป็นหรือกฎหมายอะไรที่จะทำให้ประเทศด้อยลงหรือว่าไม่พัฒนาไปมากกว่านี้เราก็จะไปปรับเปลี่ยนและก็ช่วยกันดูในเรื่องกฎหมาย สว. มีความจำเป็นมาก เพราะว่าพี่มาด้านกฎหมายและก็ให้การดูแลในเรื่องการทำงานของรัฐสภาด้วย ในเรื่องของสส. ว่ากฎหมายที่ผ่านมาสว. ก็ต้องรับรองกฎหมายด้วย เพราะฉะนั้นสว. ก็มีความจำเป็นมากๆ ที่จะไปกลั่นกรองกฎหมายอีกครั้งนึง

ส่วนความยุ่งยากจะอยู่ที่ค่อนข้างจำกัดสิทธิของผู้ลงเลือก เพราะว่ากฎระเบียบต่างๆ ก็คือว่าจำกัดเฉพาะในกลุ่มล็กๆ และก็ไม่สามารถรู้จักคนที่เราจะเลือกได้ เนื่องจากว่ากฎระเบียบเขาให้มีการเลือกในกลุ่มกันเอง ซึ่งอาจจะพอรู้จักกันและก็มีเอกสารมาล่วงหน้า แต่ในระบบการเลือกไคว้เขาจะให้เราไปอ่านเอกสาร ณ จุดเลือกเลย เขาไม่ใช้คำว่าเลือกตั้งนะ สว.ใช้คำว่าเลือกถ้าสส. เลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการที่เราใช้เวลา 10-20 นาที ในการไปอ่านประวัติของแต่ละคนที่อยู่ต่างวิชาชีพกับเรายากมากที่เราจะได้คนที่มีคุณสมบัติที่แท้จริงเข้าไปสู่สภาตรงนี้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราอาจจะเกิดการไม่เลือกเลยเสียสิทธิ์ไปเลยหรืออาจจะไปเลือกคนที่เราไม่ได้รู้จักจริงๆ เข้าไปด้วยเวลาที่จำกัดมากๆ

และกล่าวต่อว่าแม้จะรู้ว่าการสรรหาสว. ผิดแปลก แต่อยากเชิญชวนให้คนไปร่วมโหวตในครั้งนี้ เพราะเราจำเป็นจะต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะว่าตอนนี้ผู้มีสิทธิ์เลือกก็ไม่ใช่ประชาชนอยู่แล้วเป็นผู้ที่สมัครกันเองและยังมีคนสมัครน้อยอีก เพราะฉะนั้นมันก็จะกลายเป็นตัวแทนของกลุ่มคนเล็กๆ มาก ซึ่งเราก็จะหาคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก

สำหรับ เหมือนฝัน สุนันต๊ะ และน้ำพระทัย รอดสุวรรณ์  ผู้เขียนและถ่ายภาพข่าวชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท ซึ่งมาจาก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net