Skip to main content
sharethis


 


แล้วสงกรานต์ชุ่มฉ่ำใจก็ผ่านไป


 


แต่ช่วงนั้น ชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มหนึ่ง กำลังง่วนอยู่กับการอำนวยความสะดวกให้กับอำนวยความสะดวกให้กับนักดำน้ำสำรวจปะการัง สำรวจพื้นที่ใต้ทะเลลัดเลาะตามแนวเขตประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดห้ามการทำประมงอวนลาก อวนรุนที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทุกชนิดในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งในจังหวัดกระบี่


 


ซึ่งเป็นประกาศที่ฉบับใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2550 โดยห้ามใช้เครื่องมือประมงดังกล่าวจาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตรจากชายฝั่ง(ทั้งที่เป็นแผ่นดินใหญ่และเกาะ)


 


ข้อมูลที่ได้จากการดำน้ำ นอกจากจะใช้เผยแพร่ต่อสาธารณะชนแล้ว ยังจะใช้เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งในการต่อสู้คดีในศาลปกครอง


 


อันเป็นคดีที่กลุ่มชาวประมงอวนลาก 36 ราย จากจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช ขอให้เพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะประมงอวนลากอวนรุนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อมูลทางวิชาการไม่เพียงพอ รัฐมนตรีลงนามเพราะถูกกดดันจากสมัชชาคนจน ทำให้ชาวประมงอวนลากและอวนรุนไม่มีพื้นที่ทำการประมง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกลดลง 


 


อีกทั้ง ประกาศดังกล่าวไม่ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ เพราะเป็นปลาที่ย้ายถิ่นมาจากที่อื่น มาตรการเดิมเช่น แนวเขต 3,000  เมตรและการปิดอ่าวเป็นการอนุรักษ์ที่เพียงพออยู่แล้ว หากประกาศใช้อาจส่งผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกหรือจีดีพี(ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) และธุรกิจต่อเนื่องจากประมงเช่น โรงน้ำแข็งและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โดยพวกเขาได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา


 


การดำน้ำสำรวจใต้ทะเลครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำสื่อมวลชนติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประมงชายฝั่งอันดามัน ลัดเลาะแนวเขตห้ามการทำประมงอวนลาก อวนรุนฯ 5,400 เมตร จากชายฝั่ง เพื่อศึกษาสภาพทรัพยากรธรรมชาติ ข้อเท็จจริง และวิถีชีวิตชาวประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้านในพื้นที่ด้วย โดยเจ้าภาพร่วมจัดโครงการ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ และศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน


 


ในการดำน้ำนั้น มีนักดำน้ำอาสาสมัครจากเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน หรือ Save Andaman Network จำนวน 5 คน โดยบางคนก็เป็นราษฎรในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวพังงานั่นเอง


 


โดยพื้นที่ดำนำสำรวจมีสองแห่ง รวม 4 จุด ใช้เวลา 2 วัน คือวันที่ 12 และ 13 เมษายน 2551 ประกอบด้วย บริเวณนอกชายฝั่งเกาะปู อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และพื้นที่ระหว่างเกาะไหงกับเกาะปอ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ โดยทั้งสองพื้นที่ อยู่ในเขตชายฝั่งจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวพังงาตอนล่าง


 


ผลการดำน้ำสำรวจใน 2 จุดแรกนั้นล้มเหลว เนื่องจากน้ำขุ่น ทำให้มองไม่เห็นสภาพพื้นที่ใต้ทะเลได้ ขณะที่จุดที่สองซึ่งอยู่ห่างจากจุดแรกประมาณ 3 กิโลเมตร นอกจากน้ำขุ่นแล้ว แสงยังน้อยลงด้วย เนื่องจากค่อนข้างเป็นเวลาเย็น แต่จากการคลำของนักดำน้ำพบว่า จุดที่หนึ่งลึกประมาณ 20 เมตร คลำเจอกแนวหิน ขณะที่มีนักดำน้ำบางคนคลำเจอทรายและโคลน ส่วนจุดที่สองคลำเจอแผ่นหินกว้างประมาณ 4 ตารางวา และเจอกัลปังหา


 


ดังนั้นการดำน้ำสำรวจทั้งสองจุด จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นแนวปะการังหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวประมงพื้นบ้านที่จับปลาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ยืนยันว่าเป็นแนวหินปะการัง เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่


 


ในการดำน้ำจุดที่สองนี่เอง ปรากฏการณ์ขณะที่กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงที่นำนักดำน้ำมุ่งหน้าไปยังจุดดำน้ำจุดที่สองนั้นพบว่า มีเรือประมงอวนลาก 2 ลำ หรือเรียกว่าเรืออวนลากคู่ อยู่ห่างกันประมาณ 200 - 300 เมตร กำลังลากอวนลากอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย โดยลากมุ่งหน้าเข้าหาฝั่งเกาะปู แต่เมื่อยิ่งขับเรือเข้าไปใกล้ขึ้น และจอดเรือบริเวณที่จะดำน้ำ ซึ่งอยู่ค่อนข้างแนวหลังเรืออวนลากทั้งสองลำนั้น ปรากฏว่า เรือประมงอวนลากทั้งสองลำได้หันหัวเรือกลับ แล้วมุ่งหน้าออกนอกฝั่ง โดยได้มีการกู้อวนขึ้นเรือไปด้วย


 


นายภาคภูมิ วิธารติรวัฒน์ หนึ่งในคณะดำน้ำ บอกว่า สภาพน้ำใต้ทะเลที่ขุ่นมาก อาจเพราะมาจากการลากอวนของเรืออวนลากทั้งสองลำดังกล่าวก็เป็นได้ เนื่องจากจุดดำน้ำอยู่ใต้กระแสน้ำ นอกจากนี้น้ำขุ่นอาจมีสาเหตุมากจากคลื่นลมแรง กระแสน้ำแรง กวนตะกอนใต้ทะเลให้ฟุ้งกระจายได้ รวมทั้งสายสมอเรือเลื่อนก็อาจทำให้น้ำขุ่นได้ เนื่องจากนักดำน้ำจะเกาะสายสมอเรือดำลงไปใต้ทะเล หรืออาการตกใจของนักดำน้ำเองก็อาจทำให้น้ำขุ่นได้เช่นกัน


 


สำหรับเรืออวนลากทั้งสองลำดังกล่าวนั้น นายนายอาหลี ชาญน้ำ ประธานเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่ระบุว่า ได้ตรวจสอบโดยวัดพิกัดจากจุดลอยลำของเรืออวนลากทั้งสองลำแล้ว พบว่าอยู่ห่างจากฝั่งเกาะปู ประมาณ 5 ไมล์ทะเล ยังไม่ได้เข้าไปในเขต 3 ไมล์ทะเลหรือ 5,400 เมตร แต่ก็ยังอยู่ในเขตอ่าวพังงา ซึ่งประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับปี 2541 เรื่องกำหนดเขตหวงห้ามทำประมงอวนลากอวนรุนในอ่าวพังงาไว้ด้วย นั่นก็แสดงว่าเรืออวนลากทั้งสองลำทำผิดกฎหมายแล้ว


 


โดยบริเวณดังกล่าว เครื่องวัดความลึกโดยใช้คลื่นสะท้อน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เครื่องซาวด์ ที่ติดตั้งบนเรือประมงที่บรรทุกนักดำน้ำ ระบุว่าจุดที่เรือจอดทอดสมออยู่นั้น มีความลึก 15.3 เมตร แต่สภาพความลึกโดยเฉลี่ย กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ร่วมอยู่ในการสำรวจบอกว่า ประมาณ 20 เมตร


 


ลุงชาวประมงพื้นบ้านเกาะปูคนหนึ่งบอกว่า ปกติเรืออวนลากที่เข้ามาลากอวนใกล้กับเกาะปูจะมีอยู่ 6 ลำหรือ 3 คู่เวียนเข้ามา ส่วนใหญ่จะเข้ามาตอนกลางคืน เพราะตรวจจับยาก แต่ชาวประมงพื้นบ้านก็มีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว ถ้าเรืออวนรุนรุกล้ำเข้ามาในเขตห้ามอวนลาก ก็จะแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดกระบี่ทันที แต่พวกเรืออวนลากเขาก็มีเครื่องดักฝังวิทยุสื่อสารอยู่ด้วย เขาก็จะรู้ทันที และกว่าที่เรือตรวจการณ์ของจังหวัดจะมาถึงเขาก็แล่นออกนอกเขตไปแล้ว


 


วันต่อมา คณะนักดำน้ำพร้อมชาวประมงพื้นบ้านรวม 13 ลำเรือ ได้เดินทางไปยังบริเวณรอยต่อแนวเขต 5,400 เมตร จากชายฝั่งบริเวณเกาะไหง กับเกาะปอ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ เพื่อดำน้ำสำรวจอีกสองจุด ห่างระหว่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร โดยจุดแรกลึกประมาณ 20 เมตร พบกองหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่ากองหินปะการังโต๊ะคำ พบซากอวนลากตาเล็กหลายขนาด ตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป หลายชิ้น โดยนักดำน้ำระบุว่า ไม่สามารถดึงออกมาได้ เนื่องจากติดอยู่กับกองหิน


 


นอกจากนี้ยังพบปะการังอ่อน สายกัลปังหาเป็นพวง และกัลปังหาพัด มีทั้งสีเขียว แดง ขาว และยังพบหายมุก หอยแตรัม และปลาสวยงามหลายชนิด โดยชาวประมงพื้นบ้านระบุว่าบริเวณดังกล่าวเป็นแนวปะการังประมาณ 1 ไร่เศษ และพบเรืออวนลากเข้ามาลากอวนบ่อยครั้ง จนบางครั้งมีการล้ำเข้าไปในเขตห้ามอวนลากอวนรุน 5,400 เมตร ด้วย


 


ดังที่มีข่าวว่ามีอาสาสมัครชาวประมงพื้นบ้านจากอำเภอเกาะลันตาร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าจับกุม เรือประมงอวนลากบุกเข้ามาทำประมงอวนลากในเขตหวงห้ามตามประกาศดังกล่าว บริเวณเกาะไหงและเกาะกวงใกล้ชายฝั่งเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้ประสานกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังและอำเภออื่นๆ  ในจังหวัดกระบี่เพื่อปิดล้อมพื้นที่ไว้ด้วย


 


พวกเขาบอกว่า แน่นอนหากบริเวณไหนที่อวนลากเข้ามา แนวปะการังใต้ทะเลจะถูกทำลายทำหมด เพราะอวนลากจะลากถึงพื้นทะเล กวาดหมดทุกสิ่งทุกอย่างไป บริเวณที่อวนลากผ่านจะสังเกตได้ว่านำทะเลจะขุ่นมาก เพราะหากเป็นพื้นทราย อวนลากก็จะกวาดลึกลงไปใต้พื้นทรายถึง 1 เมตร หญ้าทะเลก็จะถูกทำลายไปด้วย แต่ถ้าเป็นกองหินอวนก็จะข้ามไปได้ เพราะมีห่วงลักษณะเหมือนล้อยางดึงผ่านไปได้ ส่วนปะการังก็จะหักเสียหาย ขณะที่ตาอวนก็จะถี่มาก เพื่อให้จับสัตว์น้ำได้มากที่สุด


 


ส่วนจุดที่สอง ลึกประมาณ 20 เมตร พบเป็นเพียงพื้นทรายปนซากเปลือกหอยละเอียดเป็นบริเวณกว้าง


 


นายภาคภูมิ บอกด้วยว่า แนวปะการังที่พบ อาจไม่สวยงามเท่ากับแหล่งปะการังท่องเที่ยว แต่ก็มีมีความสำคัญต่อระบบนิเวศใต้ทะเล เนื่องจากแนวปะการังเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ


 


000


 


ส่วนกรณีกลุ่มชาวประมงอวนลากจากจังหวัดภูเก็ตฟ้องศาลปกครองนั้น กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดกระบี่ และในพื้นที่อื่น รวมทั้งสาขาอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับทะเลได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อร้องสอดรายชื่อขอเป็นผู้ถูกฟ้องร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องในคดีนี้


 


โดยขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อได้แล้ว กว่า 1,000 ชื่อ โดยหมายให้นายอาหลี ชาญน้ำ นายมานิตย์ ดำกุล นายกสมาคมประมงพาณิชย์จังหวัดกระบี่ และนายประสพ สมาธิ นักกฎหมายจากศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจในการขอยื่นคำร้องสอดขอเป็นผู้ถูกฟ้องร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแหละสหกรณ์ คาดว่าจะยื่นคำร้องได้ภายในสัปดาห์ปลายเดือนเมษายน 2551


 


นายอาหลี บอกว่าสำหรับผู้ที่ร้องสอดด้วย ไม่เพียงเฉพาะประมงพื้นบ้านเท่านั้น ยังมีชาวประมงพาณิชย์ด้วย แต่ไม่ใช่อวนลาก เพราะในจังหวัดกระบี่ไม่มีเรือประมงอวนลากแล้ว และยังมีสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เพราะทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งและแนวปะการัง เพราะหากถูกทำลายไป ไม่เพียงทรัพยากรประมงเท่านั้นที่ถูกทำลายไป การท่องเที่ยวก็ถูกทำลายไปด้วย


 


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดกระบี่ ก็ได้รวมตัวกันกว่า 2,000 คน เพื่อแสดงพลังและเดินรณรงค์ปิดอ่าวไปตามเขตเทศบาลเมืองกระบี่ พร้อมถือป้าย ให้กำลังใจนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการต่อสู้คดีกับกลุ่มประมงอวนลาก


 


พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีการขยายแนวเขตห้ามการทำประมงอวนลากในพื้นที่จังหวัดที่เหลืออีกหลายจังหวัดด้วย ซึ่งนายสมศักดิ์ รับหนังสือและกล่าวขอบคุณ พร้อมสนับสนุนการขยายแนวเขตห้ามการทำประมงอวนลากออกไปจากเดิมอีก


 


ระฆังยกต่อไปดังแล้ว ศึกรอบอนุรักษ์ธรรมชาติปะทะทุนนิยมบริโภค

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net