Skip to main content
sharethis

 



เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ประกาศจุดยืนพร้อมทำหนังสือถึงยูเอ็นให้ผลักดันรัฐไทยคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยตามปฏิญญากติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับยูเอ็น ย้ำรัฐไทยต้องหยุดรุกรานและละเมิดสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้


วันนี้ (9 ส.ค.) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กว่า 23 ชนเผ่า อาทิ กะเหรี่ยง อาข่า ขมุ คะฉิ่น มอญ ไททรงดำ ปะหล่อง ญัฮกุร ลีซู ลาหู่ ลัวะ ม้ง มอแกน อูรักลาโว้ย มลาบรี ฯลฯ รวมกว่า 500 คนได้เดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พร้อมกับการเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง โดยเริ่มเดิมบริเวณหอประชุม ม.เชียงใหม่ ไปถึงบริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ก่อนจะมีการประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พร้อมกับได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติด้วย


โดยในหนังสือถึงเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นั้น ระบุว่า สืบเนื่องมาจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยผู้แทน 23 ข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้แก่ กะเหรี่ยง ขมุ คะฉิ่น ชอง ไททรงดำ ไทลื้อ-ไทยอง ไทยวน ไทใหญ่ ไตหย่า บีซู ปะหล่อง(ดาระอั้ง) ม้ง เมี่ยน มลาบรี มอญ มอแกน มอแกลน อุรักละโว้ย ญัฮกุร ลีซู ลาหู่ ลัวะ และอาข่า ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551 ขึ้น เพื่อรณรงค์วันชนเผ่าพื้นเมืองและเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตลอดจนนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับและข้อมูลภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 - 9 สิงหาคม 2551 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ นั้น เครือข่ายฯ ขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยมายังท่าน เพื่อดำเนินการให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังต่อไปนี้


1. ผลักดันให้รัฐบาลไทย สร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามปฏิญญา กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ รวมทั้งเสนอให้ประเทศไทยยกเลิกข้อสงวนที่ลงนามในอนุสัญญาทุกฉบับที่ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง


2. ให้องค์การสหประชาชาติ สร้างกลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ให้ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมสิทธิในการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการส่งเสริมสิทธิการพัฒนา สิทธิทางภาษาและวัฒนธรรมโดยเฉพาะการใช้ภาษาประจำเผ่า (Mother Tongue) และการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางการศึกษาและสิทธิทางสุขภาพ อีกทั้งขอให้ยกเลิกการอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม ยุติการกดขี่แรงงาน และการละเมิดสิทธิอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม


3. องค์การสหประชาชาติ ต้องผลักดันให้รัฐบาลไทยมีนโยบาย แผนงานและมาตรการสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความจำเป็นที่แท้จริงของตนเองโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ตลอดจนสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


นอกจากนั้น ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของไทย โดยระบุว่า รัฐบาลไทยต้องสร้างมาตรการและกลไกคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามปฏิญญากติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติทั้งหมดที่เกี่ยวข้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมือง และจะต้องยอมรับ เคารพ และส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ในทุกรูปแบบ


ทั้งนี้ ทางเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ยังย้ำให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองฯ ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ เป็นกรณีเร่งด่วนด้วย คือ 1.รัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหากรณีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยทันที ซึ่งได้แก่ การรุกรานและทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน บ้านวังใหม่ หมู่ 12 ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ในพื้นที่อุทยานดอยหลวง,การจับกุมชาวบ้านกรณีที่ดินอยู่อาศัย และที่ทำกิน (สปก.) บ้านใหม่หนองผึ้ง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, การจับกุมชาวบ้าน และการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎร์ของ อ.แม่แตง เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ, การแย่งชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม และเปลว(สุสาน) บ้านหินลูกเดียว บ้านแหลมหลา บ้านหาดทรายแก้ว ต.ไม้ขาว อ.เมือง จ.ภูเก็ต, การแย่งชิงพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของชาวมอแกน บ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และการรับรองสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่ของบรรพบุรุษของชุมชนมอแกนที่ประสบภัยสึนามิ  บ้านทุ่งหว้า ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา


เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ระบุอีกว่า ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามข้อเรียกร้องข้างต้น ขอให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง ดำเนินคดี  ทำลายทรัพย์สิน อพยพ รื้อถอน โยกย้าย จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามหลักการข้างต้นจะแล้วเสร็จ อีกทั้งกรณีที่ได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้วให้ดำเนินการถอนฟ้องทางคดีโดยเร็ว






 


คำประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย


และเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง 


ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี 2548 - 2557 เป็นปีทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลกระยะที่ 2 และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้มีการรับรอง "ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง" เพื่อรณรงค์ให้ประเทศภาคีสมาชิกรวมทั้งประเทศไทย ได้กำหนดแผนนโยบายและกิจกรรมรณรงค์ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองในแต่ละประเทศ นั้น


เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 23 ข่าย ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดให้มีงาน "มหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551" ขึ้น ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2551 ณ บริเวณหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นั้น พวกเราขอประกาศเจตนารมณ์ เนื่องในโอกาสดังกล่าว ดังนี้


1. รัฐบาลไทยต้องยอมรับ เคารพ และส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์


ตลอดจนขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งให้มีนโยบายและแผนงาน มาตรการและกลไกคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามปฏิญญากติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติ โดยเปิดโอกาสให้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อรองรับการปฏิบัติตามเงื่อนไขปฏิญญา กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพันด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและคำประกาศองค์การสหประชาชาติที่ได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2548 - 2557 เป็นทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก ระยะที่สอง รัฐบาลไทยต้องรับรองวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย" ซึ่งตรงกับวันชนพื้นเมืองสากล และต้องสนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง    นอกจากนี้รัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหากรณีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยทันที และในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามข้อเรียกร้องข้างต้น ขอให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง ดำเนินคดี  ทำลายผลอาสิน อพยพ รื้อถอน โยกย้าย จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามหลักการข้างต้นจักแล้วเสร็จ กรณีที่ได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้วให้ดำเนินการถอนฟ้องทางคดีโดยเร็ว


2. เราขอเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติ ต้องผลักดันให้รัฐบาลไทย สร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ให้เป็นไปตามปฏิญญา กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติ และขอเรียกร้องให้สหประชาชาติได้


ดำเนินการสร้างกลไก เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและทั่วโลก รวมทั้งตรวจสอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม การจำกัดสิทธิการพัฒนาและการเข้าถึงบริการของรัฐ การกดขี่แรงงาน และกรณีอื่นอย่างเป็นรูปธรรม


3. เราขอประกาศว่า "เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" จะรณรงค์ ประสานงาน ติดตามตรวจสอบและผลักดันให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สามารถปฏิบัติได้จริงและเกิดความเป็นธรรมในการดำรงชีพและรักษาวิถีชีวิตความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทยที่เท่าเทียม สืบไป 


ด้วยจิตสมานฉันท์และศรัทธาในทุกวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษยชาติทุกเผ่าพันธุ์


เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


ประกาศเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย วันเสาร์ ที่ 9 สิงหาคม 2551


 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


 


 






 


เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


           268/10 หมู่บ้านอรพิณฑ์ ถ,ทุ่งโฮเต็ล


           ,วัดเกต อ.เมือง จ,เชียงใหม่ 50000


              โทรศัพท์/โทรสาร 0-5324-6414


 


ที่ พิเศษ 020/2551


9 สิงหาคม 2551


เรื่อง      ขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย


เรียน     เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ


สืบเนื่องมาจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยผู้แทน 23 ข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้แก่ กะเหรี่ยง ขมุ คะฉิ่น ชอง ไททรงดำ ไทลื้อ-ไทยอง ไทยวน ไทใหญ่ ไตหย่า บีซู ปะหล่อง (ดาระอั้ง) ม้ง เมี่ยน มลาบรี มอญ มอแกน มอแกลน อุรักละโว้ย ญัฮกุร ลีซู ลาหู่ ลัวะ และอาข่า ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551 ขึ้น เพื่อรณรงค์วันชนเผ่าพื้นเมืองและเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตลอดจนนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับและข้อมูลภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 - 9 สิงหาคม 2551 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ นั้น เครือข่ายฯ ขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยมายังท่าน เพื่อดำเนินการให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังต่อไปนี้


1. ผลักดันให้รัฐบาลไทย สร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามปฎิญญา กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติ เช่น ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ รวมทั้งเสนอให้ประเทศไทยยกเลิกข้อสงวนที่ลงนามในอนุสัญญาทุกฉบับที่ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง


2. ให้องค์การสหประชาชาติ สร้างกลไกตรวจสอบการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ให้ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมสิทธิในการจัดการที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการส่งเสริมสิทธิการพัฒนา สิทธิทางภาษาและวัฒนธรรมโดยเฉพาะการใช้ภาษาประจำเผ่า (Mother Tongue) และการเข้าถึงบริการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางการศึกษาและสิทธิทางสุขภาพ อีกทั้งขอให้ยกเลิกการอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม ยุติการกดขี่แรงงาน และการละเมิดสิทธิอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม


3. องค์การสหประชาชาติ ต้องผลักดันให้รัฐบาลไทยมีนโยบาย แผนงานและมาตรการสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความจำเป็นที่แท้จริงของตนเองโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ตลอดจนสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


จึงเรียนมาเพื่อขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องใน "วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและสากล


ขอแสดงความเคารพอย่างยิ่ง 


 


(นายจอนิ  โอ่โดเชา)


ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551


ผู้แทนเครือข่ายขนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


 


 






 


เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย


                                                ๒๖๘/๑๐ หมู่บ้านอรพิณฑ์ ถ,ทุ่งโฮเต็ล


             ,วัดเกต อ.เมือง จ,เชียงใหม่ ๕๐๐๐๐


                  โทรศัพท์/โทรสาร ๐-๕๓๒๔-๖๔๑๔


ที่ พิเศษ ๐๑๙/๒๕๕๑


๙ สิงหาคม  ๒๕๕๑


เรื่อง   ขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย


เรียน  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี


สิ่งที่ส่งมาด้วย     คำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ๑ ชุด


สืบเนื่องมาจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วยผู้แทน ๒๓ ข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้แก่ กะเหรี่ยง ขมุ คะฉิ่น ชอง ไททรงดำ ไทลื้อ-ไทยอง ไทยวน ไทใหญ่ ไตหย่า บีซู ปะหล่อง (ดาระอั้ง) ม้ง เมี่ยน มลาบรี มอญ มอแกน มอแกลน อุรักละโว้ย ญัฮกุร ลีซู ลาหู่ ลัวะ และอาข่า ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๑ ขึ้น เพื่อรณรงค์วันชนเผ่าพื้นเมืองและเฉลิมฉลองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตลอดจนนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองได้รับและข้อมูลภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๗ - ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ นั้น เครือข่ายฯ ขอเรียนมายัง ฯพณฯ เพื่อขอเสนอข้อเรียกร้องเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ดังต่อไปนี้


๑. รัฐบาลไทยต้องสร้างมาตรการและกลไกคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามปฎิญญา กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติ เช่น ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลยกเลิกข้อสงวนที่ลงนามในอนุสัญญาทุกฉบับที่ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง


๒. เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและคำประกาศองค์การสหประชาชาติที่ได้ประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ - ๒๕๕๗ เป็นทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก ระยะที่สอง รัฐบาลไทยต้องรับรองวันที่ ๙ สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย" ซึ่งตรงกับวันชนพื้นเมืองสากล และต้องสนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง


๓. รัฐบาลไทยต้องยอมรับ เคารพ และส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนขจัดอคติและการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ในทุกรูปแบบ


๔. รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ดังนี้


๔.๑ ให้เด็กชนเผ่าพื้นเมืองทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทย ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน


๔.๒ ให้ส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทางสังคม ตลอดจนการจัดการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์


๔.๓ รัฐต้องสนับสนุนและมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาทางเลือกของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยโดยไม่จำกัดเพศและวัย ตลอดจนต้องจัดทำนโยบายภาษาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาแม่(Mother Tongue) และภาษาท้องถิ่นอย่างมีรูปธรรม


๔.๔ รัฐต้องคืนสิทธิการจัดการทรัพยากรให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย รวมทั้งรัฐต้องยกเลิกโครงการและนโยบายที่มีผลกระทบและก่อความเสียหายต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง 


๔.๕ รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมสิทธิชุมชน ทั้งสิทธิและอำนาจในการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม สร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  รวมถึงรัฐต้องมีมาตรการทางนโยบายและกฎหมายรองรับในการบัญญัติระเบียบสิทธิชุมชนระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง


๔.๖ รัฐต้องยุตินโยบายการท่องเที่ยวที่มีผลกระทบ และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนเผ่าพื้นเมือง และต้องส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต จารีตประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง


๔.๗ รัฐต้องมีมาตรการให้ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยทุกภาคส่วน สามารถเข้าถึงการบริการของรัฐ ทั้งทางด้านการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการพื้นฐาน 


๔.๘  รัฐต้องให้การคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน สร้างหลักประกันสังคม ตามกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ตลอดจนหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสากล


๔.๙  รัฐต้องคุ้มครองพื้นที่ทำกิน อยู่อาศัย และพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ให้เป็น "พื้นที่พิเศษเพื่อการปกป้อง คุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง" โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต จารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน


๕. ข้อเสนอกรณีเร่งด่วน


๕.๑ รัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหากรณีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยทันที ดังนี้


(๑) การรุกรานและทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน บ้านวังใหม่ หมู่ ๑๒ ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ
จ.ลำปาง ในพื้นที่อุทยานดอยหลวง


(๒) การจับกุมชาวบ้านกรณีที่ดินอยู่อาศัย และที่ทำกิน (สปก.) บ้านใหม่หนองผึ้ง ต.อินทขิล
อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่


(๓) การจับกุมชาวบ้าน และการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎร์ของ อ.แม่แตง เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ


(๔) การแย่งชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม และเปลว(สุสาน) บ้านหินลูกเดียว บ้านแหลมหลา บ้านหาดทรายแก้ว ต.ไม้ขาว อ.เมือง จ.ภูเก็ต


(๕) การแย่งชิงพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยของชาวมอแกน บ้านทับตะวัน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า
จ.พังงา


(๖) การรับรองสิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่ของบรรพบุรุษของชุมชนมอแกนที่ประสบภัยสึนามิ  บ้านทุ่งหว้า ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา


๕.๒ ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามข้อเรียกร้องข้างต้น เราขอให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการข่มขู่ คุกคาม จับกุม คุมขัง ดำเนินคดี  ทำลายผลอาสิน อพยพ รื้อถอน โยกย้าย จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามหลักการข้างต้นจักแล้วเสร็จ กรณีที่ได้จับกุมดำเนินคดีไปแล้วให้ดำเนินการถอนฟ้องทางคดีโดยเร็ว


เราขอประกาศว่า "เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" จะติดตามข้อเรียกร้องข้างต้นต่อรัฐบาลไทย ให้มีการดำเนินการปฏิบัติโดยเร่งด่วนต่อไป


จึงกราบเรียน เพื่อเสนอข้อเรียกร้องเนื่องใน "วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและสากล"


 


ขอแสดงความเคารพอย่างสูง


(นายจอนิ  โอ่โดเชา)


ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๑


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net