Skip to main content
sharethis

วานนี้ (30 ก.ย.52) สมัชชาคนจนกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ออกแถลงการณ์ “ชดเชยห้วยละห้า คือหน้าที่ของรัฐบาลทุกชุด” สรุปความคิดเห็นจากการประชุมแกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล จำนวน 65 หมู่บ้าน ที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน อ.พิบูลย์มังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับความเดือดร้อนได้รับทั้งผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ปัญหาจากนโยบายป่าไม้ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาประมงพื้นบ้านในภาคใต้ ปัญหากลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน ปัญหาของชุมชนเมือง และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ที่รวมอยู่ในกลุ่มสมัชชาคนจน

โดยแถลการณ์ระบุว่า ความเดือดร้อนที่มีล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม จนลุกลามขยายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การพัฒนาเป็นที่มาของ “ความยากจน” อันหมายถึง การจนสิทธิ การจนโอกาส การจนรายได้ การจนอำนาจ ทั้งนี้ทางสมัชชาคนจนได้พยายมเรียกร้องเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลมาแล้วหลายรัฐบาล และแทบทุกรัฐบาลมักได้รับคำสัญญา การรองรับว่าจะแก้ไขปัญหาในหลายกรณีปัญหา และเช่นเดียวกันสิ่งเหล่านี้ก็มักถูกเพิกเฉย ละเลยการปฏิบัติมาแล้วหลายกรณีปัญหาเช่นกัน

ทำให้ยังไม่สามารถไว้วางใจว่าการแก้ไขปัญหาเขื่อนห้วยละห้า ซึ่งรัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติงบกลางปี  2552  รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำนวน  4,948,217  ล้านบาท  เป็นค่าเสียโอกาสในการทำประโยชน์ในที่ดินให้แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวน  3  ราย  คือ  นางไฮ  ขันจันทา  นายเสือ  พันคำ  และนายฟอง  ขันจันทา จนกว่าเงินที่รัฐบาลอนุมัติจะถึงมือของชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนห้วยละห้า และเพื่อให้การแก้ไขดังกล่าวได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดเตรียมสถานที่ เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการจ่ายเงินค่าชดเชยในครั้งนี้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเดินทางมาจ่ายเงินดังกล่าวที่ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูล

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 29 กันยายน ถึงการเตรียมการเดินทางไปพบกับยายไฮ ขันจันทา ชาวบ้าน จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลกรณีได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างฝายห้วยละห้าว่า กำลังมอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจัดเวลา เพราะตั้งใจที่จะเดินทางไปมอบเงินให้กับยายไฮด้วยตนเอง แต่ถ้าหากจะมีการมอบเงินชดเชยให้ไปก่อนตนก็ไม่มีปัญหาแต่อยากจะเดินทางไปพบด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สมัชชาคนจนยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านจากเขื่อนห้วยละห้า เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาบางส่วนของสมัชชาคนจนเท่านั้น ซึ่งกรณีปัญหาอื่นๆ เช่น กรณีปัญหาป่าไม้ กรณีป่าที่ดินทำกิน กรณีกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กรณีปัญหาประมงพื้นบ้าน และกรณีปัญหาเขื่อนอีกหลายเขื่อน ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

“พวกเราจึงเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสะสาง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเหล่านี้ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนห้วยละห้า จึงจะถือว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน” แถลงการณ์ระบุ

 

 

 
แถลงการณ์สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล
“ชดเชยห้วยละห้า คือหน้าที่ของรัฐบาลทุกชุด”
 
พวกเราซึ่งประกอบไปด้วย แกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล จำนวน 65 หมู่บ้าน ได้ประชุมกันที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน พวกเราได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับพวกเรา รวมถึงความเดือดร้อนของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาของพี่น้องประมงพื้นบ้านภาคใต้ ปัญหากลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน ปัญหาของชุมชนเมือง และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ที่รวมอยู่ในกลุ่มสมัชชาคนจน
 
เรายังได้วิเคราะห์กันอย่างเข้มข้นถึงการไขปัญหาเหล่านี้โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา รวมถึงการแก้ไขปัญหาของพวกเราโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเราเห็นพ้องรวมกันว่า
 
1. ความเดือดร้อนของพวกเรา ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม จนลุกลามขยายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การพัฒนาจึงเป็นที่มาของ “ความยากจน” อันหมายถึง การจนสิทธิ การจนโอกาส การจนรายได้ การจนอำนาจ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย
 
เวทีกลางของผู้ประสบชะตากรรม อันเนื่องมาจากการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ละเลยภาคเกษตรกรรม แนวทางดังกล่าวได้ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ ทรัพยากรธรรมชาติตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ที่ดินอันเป็นปัจจัยหลักของเกษตรกรถูกแย่งชิง นโยบายการประกาศใช้พื้นที่ป่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน การสร้างเขื่อนต่างๆ ได้ทำลายทรัพยากรและชุมชน คนหนุ่มสาวถูกสภาพเศรษฐกิจบีบรัดให้ต้องเข้ามาขายแรงงานในเมือง เกิดแหล่งชุมชนแออัดและถูกละเลยจากรัฐเช่นเดิม เหล่านี้แหละพวกเราคือ สมัชชาคนจน
 
2. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พวกเราได้เรียกร้องผลักดันการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่อรัฐบาลมาแล้วหลายรัฐบาล และแทบทุกรัฐบาล พวกเรามักได้รับคำสัญญา ที่เป็นข้อตกลง บันทึกการเจรจา และรวมถึงมติคณะรัฐมนตรีรองรับการแก้ไขปัญหาหลายกรณีปัญหา และเช่นเดียวกัน ข้อตกลง บันทึกการเจรจาและมติคณะรัฐมนตรี มักถูกเพิกเฉย ละเลยการปฏิบัติมาแล้วหลายกรณีปัญหาด้วยกัน
 
3. การแก้ไขปัญหาเขื่อนห้วยละห้า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 4.9 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเสียโอกาสให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนห้วยละห้านั้น พวกเรายังมิอาจวางใจได้ว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จวบจนกว่าเงินที่รัฐบาลอนุมัติจะถึงมือของชาวบ้านผู้เดือดร้อน
 
4. ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อให้การแก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้านห้วยละห้า ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พวกเรา (ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล) ยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดเตรียมสถานที่ เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการจ่ายเงินค่าชดเชยในครั้งนี้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเดินทางมาจ่ายเงินดังกล่าวที่ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูล
 
สมัชชาคนจนยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านจากเขื่อนห้วยละห้า เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาบางส่วนของสมัชชาคนจนเท่านั้น ซึ่งกรณีปัญหาอื่นๆ เช่น กรณีปัญหาป่าไม้ กรณีป่าที่ดินทำกิน กรณีกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กรณีปัญหาประมงพื้นบ้าน และกรณีปัญหาเขื่อนอีกหลายเขื่อน ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข พวกเราจึงเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสะสาง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเหล่านี้ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากเขื่อนห้วยละห้า จึงจะถือว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน
 
ด้วยจิตคารวะ
สมัชชาคนจน
ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน อำเภอพิบูลย์มังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
30 กันยายน 2552
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net