รายงาน : เรียนรู้ ‘โฉนดชุมชนฉบับชาวบ้าน’ กับ โฉนดชุมชนฉบับรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอน 2)

 

 
 
ปัญหาที่ดินในเขตภาคเหนือนั้น ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่มีวันแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงลงไปได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากเป็นปัญหาที่ซ้อนทับหมักหมมมานานหลายสิบปี
 
ซึ่งในงานวิจัยวิทยานิพนธ์ เรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน’ ของ ‘กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น’ ได้ระบุไว้ชัดว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาที่ดินทำกินส่วนหนึ่งเนื่องมาจากข้อจำกัดของสภาพภูมิศาสตร์ของภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่จะปกคลุมไปด้วยภูเขาสูง มีพื้นที่ดอนและพื้นที่ราบที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกอยู่เพียง 67.5 ล้านไร่ หรือร้อยละ 37.6 ของพื้นที่ทั้งหมด
 
สาเหตุอีกส่วนหนึ่งเนื่องมาจาก การกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน
 
ดังสถิติการถือครองที่ดินในช่วง พ.ศ. 2510 แสดงให้เห็นว่าชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือตอนบน มีขนาดการถือครองที่ดินเฉลี่ยน้อยกว่า 5 ไร่ ต่อครัวเรือนเท่านั้น
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดลำพูน จากสถิติได้ชี้ให้เห็นว่าเนื้อที่สำหรับทำการเกษตรที่ชาวนาชาวไร่สามารถถือครองได้มีเพียง ร้อยละ 12.54 ของพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัด และมีจำนวนถือครองที่ดินเฉลี่ยครัวเรือนละไม่เกิน 5 ไร่ 
 
ชุมชนบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งได้รับผลพวงแห่งปัญหานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ชาวบ้านไร่ดง จึงเป็นส่วนหนึ่งของกงล้อในการเรียกร้อง เคลื่อนไหว ปฏิบัติการยึดที่ดินของนายทุน แล้วเข้าไปจับจองทำการเกษตรกรรมกัน โดยยึดหลัก ‘การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน’
 
เมื่อเราย้อนกลับไปดูด้วยหัวใจที่เป็นธรรม เราจะรู้ต้นสายปลายเหตุจริงๆ ว่าเหตุใดชาวบ้านกลุ่มนี้ถึงต้องปฏิบัติการยึดที่ดินเช่นนั้น
 
ว่ากันว่า ในช่วงปี 2533-2540 เป็นยุคที่รัฐบาลในขณะนั้นมองทุกอย่างเป็นการค้า ที่ดินหลายแปลง ในหลายๆ พื้นที่ หลายจังหวัดในเขตภาคเหนือ จึงถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลรวมทั้งกลุ่มนายทุนหมายตาเอาไว้ เพื่อการเก็งกำไร ด้วยดวงตาอันกระหายและโลภ
 
ซึ่งจากรายงาน สรุปไว้อย่างน่าตกใจว่า ตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปี 2540 พบว่า การถือครองที่ดินภาพรวมได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินอย่างชัดเจน กล่าวคือ คนมากกว่าร้อยละ 90 ถือครองที่ดินจำนวน 1 ไร่ต่อคน ในขณะที่คนร้อยละ 10 ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ต่อคน                        
 
และที่สำคัญคือ การถือเฉลี่ยต่อครอบครัวในภาคเหนือกลับเหลือเพียง 2 ไร่ต่อครอบครัวเท่านั้น         
 
ในงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ระบุไว้ว่า หลังจากที่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ มีนโยบายพัฒนาสนามรบให้กลายเป็นสนามการค้า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การขยายตัวของอุปสงค์ที่ดินในหลายๆ ด้าน อาทิ ด้านการเกษตรเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เหมืองแร่ และธุรกิจพัฒนาที่ดิน ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย สวนเกษตร บ้านจัดสรร และอาคารชุด ทำให้ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้น
 
จากข้อมูล ระบุว่า ชุมชนหลายแห่งในย่านถนนสายเชียงใหม่ – หางดง – สะเมิง ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ต้องสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรม เพราะที่ดินร้อยละ 48.83 ของพื้นที่สำหรับทำการเกษตรของทั้งสองจังหวัด ถูกขายและครอบครองโดยคนนอกหมู่บ้าน ซึ่งไม่ได้เป็นเกษตรกร หรือไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร
 
มีเพียงร้อยละ 33.3 เท่านั้น ที่มีการขายที่ดินให้กับญาติหรือเพื่อนบ้าน แต่สุดท้ายก็จะถูกขายต่อให้กับคนภายนอกหมู่บ้านอีกทอดหนึ่ง  
 
เมื่อหันมามองที่ดินในลำพูน มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2537 ที่ดินในจังหวัดลำพูน เปลี่ยนไปอยู่ในมือของคนภายนอกพื้นที่ ประมาณ ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง
 
การสะสมที่ดินของนายทุนจากภายนอก เพื่อการซื้อขายและเพื่อการเก็งกำไร ได้ทำให้มีการละทิ้งที่ดินให้รกเรื้อเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่สามารถขายต่อได้ในราคาที่พอใจก็จะปล่อยทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าไว้
 
“ที่ดินผืนนี้ แต่เดิมนั้นมันเคยเป็นของชาวบ้านมาก่อน...” นายวันรบ อินทวงศ์ ตัวแทนชาวบ้านไร่ดง กล่าวย้ำ
 
วันรบ อินทวงศ์
ชาวบ้านไร่ดง
 
 
และนี่คือข้อมูลอันเป็นกรณีตัวอย่าง ที่รายงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ได้สอบถามจากปากชาวบ้าน... ว่าทำไมที่ดินของชาวบ้านจึงหลุดมือ ไปตกอยู่ในมือของนายทุน แล้วทำไมชาวบ้านถึงรวมตัวกันยึดที่ดินผืนนั้นมาทำการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน
 
 
แต่เดิมนั้น ที่ดินในเขตบ้านไร่ดง บ้านแม่อาวน้อยและบ้านหนองสมณะใต้ จำนวน 426 ไร่ เป็นที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรมมาก่อน เพราะอดีตที่ดินผืนนี้มีสภาพเป็นป่าบางปีจึงมีชาวบ้านเข้าไปทำนาน้ำฟ้า หรือเข้าไปปลูกผักไว้กิน แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
 
ต่อมา ประมาณ40 – 50 ปีก่อน ราวประมาณปี พ.ศ.2500 บรรพบุรุษของตระกูลนันทขว้าง ได้ถากถางพื้นที่บางส่วนโดยจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านไร่ดง บ้านแม่อาวช่วยปรับพื้นที่ หลังจากนั้น ได้นำต้นมะม่วง-หิมพานต์และมันสำปะหลังมาปลูก ขณะนั้นชาวบ้านหลายคนได้ไปรับจ้างทำงานปลูกพืชทั้งสองชนิด แต่ปลูกได้ไม่นานก็หยุด ที่ดินผืนดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งไว้และไม่มีคนในครอบครัวนันทขว้างเข้ามาดูแลหรือเข้ามาใช้ประโยชน์ เพราะได้หันไปทำสัมปทานป่าไม้แทน
 
เมื่อชาวบ้านเห็นว่าที่ดินผืนดังกล่าวถูกทิ้งร้างมานานมากกว่า 40 ปี ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่สามารถทำการเกษตรได้ การปล่อยให้ทิ้งร้างเท่ากับสูญเสียประโยชน์และมูลค่าของการผลิตไปโดยเปล่าประโยชน์ ที่สำคัญพื้นที่ที่รกไปด้วยป่าวัชพืชมักทำให้เกิดไฟป่าที่ไหม้ลุกลามเข้ามายังสวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ประกอบกับเงื่อนไขความต้องการที่ดินเพื่อการปลูกพืชพาณิชย์ และแรงกดดันด้านประชากรที่เพิ่มขึ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ชาวบ้านมีความคิดและเริ่มที่จะเข้าไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าว
 
ดังนั้น เดือนพฤศจิกายนปี 2543 ชาวบ้านในหมู่บ้านไร่ดง บ้านแม่อาวน้อยและบ้านหนองสมณะใต้ที่มีชายเขตของหมู่บ้านติดกับพื้นที่ดังกล่าวจึงรวมตัวกันจำนวน 282 ครอบครัว ร่วมกันถากถาง เพื่อปรับพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกพืช แต่หลังจากเข้าถากถางได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ที่ดินจำนวน 426 ไร่ ที่ไม่เคยมีผู้ใดมาอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของทั้งทางพฤตินัยด้วยการเข้ามาทำประโยชน์และทางนิตินัยด้วยการแสดงหลักฐานการครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ถูกสมาชิกในตระกูลนันทขว้างเข้ามาอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ และอ้างว่าได้ครอบครองโฉนดที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่มีการแสดงหลักฐานให้กับชาวบ้านได้เห็นแต่อย่างใด                                                                                             
 
แม้ว่า บุคคลในตระกูลนันทขว้างจะได้ดำเนินการทางกฎหมายด้วยการฟ้องร้องข้อหาบุกรุกทรัพย์สินผู้อื่นกับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านยังคงทำการเพาะปลูกในที่ดินผืนดังกล่าวต่อไป พร้อมกับทำการตรวจสอบการได้มาและความถูกต้องของการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ที่ตระกูลนันทขว้างได้กล่าวอ้าง
 
นายสังวาล กันธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบของชาวบ้านร่วมกับเอ็นจีโอ พบว่าการปล่อยที่ดินทิ้งร้างจำนวน 426 ไร่ของตระกูลนันทขว้าง นั้นเกี่ยวข้องกับการค้าและการเก็งกำไรที่ดินที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ของจังหวัดลำพูนในช่วง พ.ศ. 2533 – 2540 เพราะปรากฏว่า ในปี 2533 มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารสิทธิจากหนังสือแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) หรือ ใบรับรองการครอบครองชั่วคราว (น.ส.2) มาเป็น หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ (น.ส.3ก.) ทำให้ตระกูลนันทขว้างมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย                                                                                                                                
 
แต่เมื่อทำการตรวจสอบในตอนหลัง พบว่า มีเพียง 290 ไร่เท่านั้น ที่มีเอกสารสิทธิหรือโฉนด                                 
ส่วนที่เหลืออีก 136 ไร่ นั้นเป็นเพียงการอ้างสิทธิครอบครอง โดยไม่มีหลักฐานมายืนยันและรับรองการได้มา
 
และเช่นเดียวกับกรณีนายทุนบุกรุกที่ดินสาธารณะของชุมชน ซึ่งชาวบ้านค้นพบว่า มีพิรุธในกระบวนการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น จากการตรวจสอบ น.ส.3ก. เลขที่ 703  มีชื่อ นางศรีไทย นันทขว้าง เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านแม่อาวน้อย หมู่ 3  ต.นครเจดีย์ พบว่ามีการนำเอา ส.ค. 1 จากบ้านหมู่ 7 ตำบลมะกอก มาเป็นหลักฐานในการขอออก น.ส.3 ก ทั้งที่ทั้งสองหมู่บ้านอยู่ห่างกัน ไม่มีเขตแดนติดต่อกันและไม่เคยปรากฏว่าทั้งสองหมู่บ้านนี้เคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันมาก่อน                                                                                      
จากกรณีข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า แรงกระตุ้นของการค้าและการเก็งกำไรที่ดินที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2533 ส่งผลให้นายทุนที่ดินต้องใช้กระบวนการทุจริต เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารสิทธิที่กฎหมายรับรอง เป็นเครื่องมือในการปั่นราคาที่ดินและเพิ่มมูลค่าการซื้อขายให้กับที่ดิน                                              
 
แต่เมื่อธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และการค้าที่ดินเริ่มหดตัวลงในช่วงปลาย 2539 -2540 ราคาการซื้อขายที่ดินก็ได้ลดต่ำลง แรงซื้อขายที่ดินในตลาดที่ดินเริ่มลดถอยลงจนถึงขั้นหยุดชะงัก ที่ดินที่ถือครองไว้ไม่สามารถขายต่อได้ในราคาที่พอใจ ที่ดินเหล่านั้นจึงถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า ไม่มีการทำประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต                                                                                                                 
 
ซึ่งสวนทางกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เนื่องจากมีความต้องการที่ดินเพื่อทำการผลิตของชาวบ้านที่เกิดขึ้นด้วยความจำเป็นของชาวบ้านที่จะต้องอาศัยที่ดินเพื่อทำการผลิต ให้ชีวิตมีความมั่นคงและอยู่รอด กับสภาพความเป็นจริงของจำนวนที่ดินที่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า และข้อเท็จจริงของการครองครองและการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิเหนือที่ดินของนายทุนรายใหญ่ในจังหวัด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในสามหมู่บ้าน คือ บ้านไร่ดง บ้านแม่อาวน้อยและบ้านหนองสมณะใต้ต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับนายทุนเจ้าของที่ดิน เพื่อความมั่นคงและการดำรงชีพไปพร้อมกับต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน
 
 
-เรียบเรียง จากวิทยานิพนธ์ เรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูนของ กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็นรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2549
 
 
แน่นอน เมื่อเราศึกษากรณีตัวอย่าง บ้านไร่ดงและบ้านใกล้เคียงนี้แล้ว ทำให้เรามองเห็นว่า ปัญหาที่ดิน นั้นส่วนใหญ่มาจากความล้มเหลวของรัฐบาล อันเป็นความล้มเหลวทางนโยบายที่เห็นได้อย่างชัดแจ้ง
 
กระนั้น การลุกฮือ กดดัน บุกยึดที่ดินของชาวบ้านกลุ่มนี้ ยังคงทำให้สังคมทั่วไปรู้สึกกังขาพร้อมกับตั้งคำถามกันไปต่างๆ นานา
 
“ชาวบ้านมีสิทธิอะไร ทำไมถึงเข้าไปบุกยึดที่ดินของนายทุน”
 
“ไปยึดของเขาได้ยังไง ทั้งที่นายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกมายืนยันว่าเป็นที่ดินของนายทุนผืนนี้มีใบเอกสารสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
 
“ทำไมจึงมีการขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน”
 
นายรังสรรค์ แสนสองแคว แกนนำชาวบ้านไร่ดง พยายามอธิบายให้เราฟังถึงสาเหตุเริ่มต้นของเกษตรกรที่เข้าไปปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ในช่วงท้าย ซึ่งไม่นับเหตุการณ์การขับเคลื่อนชุมนุมก่อนหน้า ตั้งแต่ครั้งเคยเข้าร่วมสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ปี พ.ศ.2517 
 
“เราพยายามเปิดประเด็นให้กับสังคมเข้าใจถึงสาเหตุเหล่านี้ว่า...ทำไมชาวบ้านถึงเข้าไปยึดที่ดินเหล่านี้ เมื่อก่อนมันก็เกิดคำถามจากชาวบ้านหรือจากส่วนราชการเหมือนกันว่า ที่ดินเขามีใบเอกสารสิทธิแล้ว ไปยึดของเขาทำไม แล้วมันก็เกิดคำถามอย่างนี้ ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ เราก็เลยเปิดประเด็นให้สังคมเข้าใจว่า ที่พวกนายทุนนี้ทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ แล้วที่ซื้อไว้แล้วเก็งกำไร จนกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล”
 
 
รังสรรค์ แสนสองแคว
แกนนำชาวบ้านไร่ดง
 
 
แล้วที่สังคมบอกว่า ใช้สิทธิอะไรถึงไปยึดที่ดินของเขาได้!?
 
“ถ้าสังคมถามแบบนั้น เราก็อธิบายเรื่องกฎหมาย อย่างเช่นกฎหมายมาตรา 6 คือที่ดินแปลงไหนที่ปล่อยทิ้งร้าง ถ้าเป็น น.ส.3 ถ้าปล่อยทิ้งร้างนานเกิน 5 ปี ก็เอาที่ดินเป็นของรัฐ รัฐสามารถเอาคืนมาได้ ถ้าเป็นโฉนดถ้าปล่อยทิ้งร้าง 10 ปี ซึ่งมันก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แล้วทำไมรัฐถึงเข้าไม่จัดการ ทำไมมาโทษชาวบ้านอย่างเดียวว่าไปยึดของเขา...”รังสรรค์ แสนสองแคว อธิบายให้เห็นถึงตัวบทกฎหมายและช่องโหว่ของกฎหมาย
 
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้อธิบายให้กับสังคมได้ ซึ่งการอธิบายก็มีหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่เป็นฝ่ายของชาวบ้าน หรือนักวิชาการที่เข้าใจปัญหาชาวบ้าน เข้าใจเรื่องการกระจุกตัวของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระก็มาช่วยชาวบ้านอธิบายแทนด้วย ซึ่งตอนหลัง กลุ่มคนที่บอกไม่เห็นด้วย บอกว่า ที่ดินเขามีใบ เอาของเขาทำไม ตอนหลังกระแสเรื่องนี้ไม่มีแล้ว เข้าใจแล้ว และก็เห็นด้วยกับเรา เพราะเราตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าที่ดินเหล่านี้มันออกเอกสารโดยไม่ชอบ โดยเฉพาะพื้นที่ๆ มันทิ้งร้างไม่เกิดประโยชน์
 
“คือที่ดินมันต้องมาทำประโยชน์ แต่นี่ปล่อยรกร้าง ไม่เกิดประโยชน์เลย มันก็เกิดปัญหา ส่วนหนึ่งชาวบ้านที่นี่เขาไม่มีที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่ บางคุ้ม มีเนื้อที่ไม่ถึงไร่ พวกเขาอาศัยอยู่กันตั้งสามสี่ครอบครัว เอาหลังคาเบียดชนกัน มันก็อธิบายได้ว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของหมู่บ้านไร่ดง แล้วไม่มีการทำประโยชน์ พวกเราจึงเห็นว่าน่าจะเอามาทำประโยชน์ ยิ่งตอนหลัง เมื่อเรามีการตรวจสอบที่ดินทิ้งร้างเหล่านี้มีการออกเอกสารผิดโดยไม่ชอบ ที่ดินผืนนี้ก็เลยตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งเราก็สามารถอธิบายชุมชนหมู่บ้านเราได้ เรื่องนี้ก็จบไปแล้ว”
 
นี่คือเสียงของตัวแทนชาวบ้านไร่ดง ที่พยายามเน้นย้ำอธิบายความหมายและคุณค่าของที่ดิน ว่า ที่ดินต้องมีไว้ทำกินทำประโยชน์ ไม่ใช่ใช้เป็นสินค้า หรือเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา.
 
 
ที่มาข้อมูล
-เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กรณีบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน,กรกฎาคม 2552
-สัมภาษณ์ชาวบ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน,กรกฎาคม 2552
-วิทยานิพนธ์ เรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน’ ของ ‘กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น’ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2549

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท