Skip to main content
sharethis
 
 
 
จี้ฟันตำรวจ นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี แกนนำเครือข่ายคัดค้าท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เอาผิดทางวินัยกับตำรวจจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้าโรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่เมื่อปี 2545 หลังพบปะภาคเอกชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2552 โรงแรมบีพี แกรนด์ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
 
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลงหาดใหญ่ พบปะภาคเอกชน5 จังหวัดชายแดนใต้ รับฟังข้อเสนอแนะสรุปได้ 16 ประเด็น แจงประเด็นแลนด์บริจด์เชื่อมอ่าวไทย – อันดามัน ยันใต้ตอนบนไม่เกิดแน่ ชี้ทำแล้วต้องครบทั้งระบบ ท่าเรือและอุตสาหกรรม ถามคนใต้จะเอาหรือไม่เอา ทำแล้วกระทบยุทธศาสตรการท่องเที่ยวหรือไม่ พร้อมสั่งสภาพัฒน์ รวมแผนทั้งระบบเอามาให้คนใต้ตัดสินใจ    
 
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 31 ตุลาคม 2552 โรงแรมบีพี แกรนด์ทาวเวอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย พล.ท.วิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เดินทางมาพบภาคเอกชนชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ
 
ในที่ประชุมตัวแทนภาคเอกชนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจากสภาอุตสาหกรรม หอการค้า และองค์กรภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว ได้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะซึ่งมีอย่างหลากหลายตามลำดับ โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาภาคใต้ โดยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กส์
 
โดยหนึ่งในนั้นคือนายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาสงขลา ที่ขอให้รัฐบาลดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ เช่น สะพานเศรษฐกิจสงขลา – สตูล หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล รถไฟรางคู่สู่ภาคใต้ โครงการมอเตอร์เวย์สายสะเดา-หาดใหญ่-สงขลา และโครงการบ่อนคาสิโนในจังหวัดสงขลา ส่วนนายสมชาย ตันศรีสกุล ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล เสนอว่า จังหวัดสตูลมีป่าชายเลนมาก การทำโครงการใหญ่ติดอยู่กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ตนต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนถนนสตูล – เปอร์ลิส โดยให้มีการขุดเจาะอุโมงค์ และก่อสร้างท่าเรือปากบารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งสะพานเศรษฐกิจสตูล - สงขลา
 
ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอให้รัฐบาลให้ผ่อนปรนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคเอกชน และเร่งหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีก 3,000 ล้านบาทให้ภาคเอกชน และสิทธิพิเศษแก่นักลงทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งควรจะได้รับกว่านักลงทุนในจังหวัดสงขลาและสตูลที่มีเหตุการณ์ไม่สงบน้อยกว่า
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า เรื่องสะพานเศรษฐกิจนั้นมีหลักคิดอยู่ว่า จะต้องมีท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งของภาคใต้ คือ อ่าวไทย และทะเลอันดามัน แล้วเชื่อมโดยการมีถนน ทางรถไฟ ท่องส่งก๊าซหรือท่อส่งน้ำมัน แล้วก็ต้องมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบริเวณทั้ง 2 ฝั่ง โดยที่ผ่านมามีการศึกษาแนวสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทั้งสองฝั่งอยู่หลายแนว ซึ่งขณะนี้ขอตอบตรงๆ ว่าสะพานเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ไม่เกิดแน่นอน
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวสุดท้ายที่มีการศึกษาก็คือแนวสตูล – สงขลา ซึ่งอาจจะออกไปที่อำเภอสิงหนคร หรืออำเภอจะนะ แต่ตอนนี้ก็มีเสียงของคนบางส่วนคัดค้านแล้ว ดังนั้นแนวตอบไปอาจต้องลงไปถึงจังหวัดปัตตานี
 
“เรื่องท่าเรือนำลึกปากบารา เมื่อวาน(30 ตุลาคม 2552) มีการนำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการสิงแวดล้อมแห่งชาติซึ่งผมเป็นประธาน ประเด็นก็คือว่า เรื่องที่มีการขอให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่เป็นปัญหา แต่อยู่ที่ว่าถ้าทำสำเร็จแล้วจะคุ้มค้าหรือไม่ถ้าไม่ได้สร้างทางรถไฟเข้าด้วย และเมื่อมีท่าเรือแล้วก็ต้องมีสินค้าขนส่งผ่านท่าเรือ ประเด็นก็อยู่ที่ว่าพี่น้องจะเอาอุตสาหกรรมหรือไม่ หรือถ้าต้องการแล้วจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับการท่องเที่ยว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
“ถ้ามาแล้วคนต่อต้าน แล้วทำต่อไม่ได้แล้วจะมีประโยชน์อะไร ทำแล้วจะกระทบกับยุทธศาสตร์ในเรื่องการท่องเที่ยวหรือไม่ ตรงนี้ผมให้ทางสภาพัฒน์(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.) ไปทำมาให้เห็นภาพทั้งหมด แล้วเอามาถามพี่น้องว่า ท่าจะเอาอย่างไร ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะจะทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเลย เรื่องนี้ต้องทำให้ชัดเจนก่อน จะลุยไปเลยไม่ได้ แต่ไม่ชะลอ ต้องค่อยๆพิจารณาไป แต่ไม่ใช่การซื้อเวลา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
ส่วนประเด็น อื่นๆ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้นำภาคเอกชนที่มาเสนอปัญหาและแนวทางการพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 16 ประเด็น รัฐบาลพยายามน้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนามาใช้ในพื้นที่ชายแดน จนทำให้สถานการณ์ลดลง แต่ลดลงไม่มาก แต่เหตุความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลพยายามใช้การเมืองนำ การพัฒนาและความยุติธรรมมาใช้ จนทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องทำงานหนักและเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ยิงมัสยิด ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสสืบทราบตัวคนร้ายแล้วกำลังติดตามจับกุม
 
“รัฐบาลได้ทำงานหนักเพื่อแก้ปัญหาเหตุการณ์ในชายแดนภาคใต้ ด้วยการปรับปรุงกลไกองค์กร ศอ.บต. คิดว่าคงจะเสร็จสมบูรณ์ในสมัยประชุมสภาสมัยหน้า สาระหลักๆให้สภาเข้ามารับผิดชอบ และภาคเอกชนเข้าไปเป็นกรรมการเพิ่มมากขึ้น และดำเนินงานด่านการต่างประเทศ เราได้ทำอย่างต่อเนื่อง ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียที่จะผนวกการพัฒนาร่วมกันในพื้นที่ภาคใต้ของไทยกับภาคเหนือของมาเลเซีย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ด้านการท่องเที่ยว เรื่องกล้องวิจรปิดที่กำลังมีปัญหาและได้ยกเลิกสัญญาไปแล้ว ยังมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายอยู่ แต่การดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดกำลังดำเนินการอยู่ เช่นการเดียวกับสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องได้รับสูงกว่า ส่วนการขนส่งระบบราง จะต้องขอความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะหัวรถจักรกำลังติดต่อกับประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผลิตหัวรถจักรรายใหญ่ ตนให้ความมั่นใจกับภาคเอกชนรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ และจะพยายามผลักดันโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาภาคใต้
 
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินออกจากโรงแรมได้มีกลุ่มประชาชนคนรักรถไฟได้มาชูป้ายเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยรถไฟและสร้างรถไฟรางคู่ แต่คัดค้านการปฏิรูปรถไฟ ขณะเดียวกันได้มีกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เข้ายื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการเอาผิดทางวินัยกับตำรวจจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้าโรงแรมเจบี อำเภอหาดใหญ่เมื่อปี 2545 ด้วย
 
ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังวัดหงส์ประดิษฐาราม อำเภอหาดใหญ่ เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายวินัย เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลาเขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่20 ตุลาคม 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net