Skip to main content
sharethis

เสวนาโต๊ะกลม เสนอยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง ชี้ละเมิดสิทธิประชาชน ซ้ำตรวจสอบผู้ใช้อำนาจไม่ได้ เสนอกฎหมายเฉพาะ ตั้งคณะกก.กลาง สอบเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ต้องหา-เยียวยาทันท่วงที ค้าน พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุม คนงานเผยไม่มีก็แย่พอแล้ว

ไอลอว์ http://ilaw.or.th (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชนชน) ร่วมกับคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดสัมมนาหัวข้อ “อำนาจประชาชนพิชิตอำนาจรัฐ” เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค เพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง การยุติการซ้อมทรมานในสังคมไทย และการคุ้มครองสิทธิการชุมนุม ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องแนวทางการใช้อำนาจรัฐจัดการประชาชน โดยมีจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเป็นผู้ดำเนินรายการ

 
 
--1--
มติร่วมยกเลิกกฎหมายความมั่นคง
 
ประทับจิต นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า เมื่อใดที่ใช้กฎหมายเหล่านี้ก็ไม่ต่างจาก พ.ร.บ.ปราบปรามคอมมิวนิสต์ โดยเธอได้รับจดหมายร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่สีแดงซึ่งระบุว่า พวกเขาได้รับจดหมายจากหน่วยเฉพาะกิจให้ไปรายงานตัวและเข้ารับการอบรม 20 วัน ซึ่งแม้ว่าตามรัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิเลือกว่าสมัครใจเข้าร่วมหรือไม่ แต่จดหมายไม่เปิดโอกาสให้เลือก เหมือนว่าหากไม่ไปจะเจอปัญหา อาจเจอหมายจับไม่รับประกันความปลอดภัย ซึ่งทำให้ชาวบ้านกังวล เพราะไม่สมัครใจ โดยบางคนก็อายุมาก 60-70 ปี บางคนก็เป็นผู้พิการ
 
ประทับจิต กล่าวเสริมว่า กฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึกหรือ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่เปิดให้มีการละเมิดสิทธิ สนับสนุนการใช้อาวุธ ปิดล้อม จับกุม คุมขัง วิสามัญฆาตกรรม บังคับให้บุคคลสูญหาย มากขึ้น ไม่เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ตามชายแดนภาคต่างๆ ก็ยังคงใช้ประกาศใช้อยู่ โดยหลายครั้งใช้จัดการความแตกต่างหลากหลายทางความคิดและชาติพันธุ์ โดยยุคที่มีการประกาศสงครามยาเสพติด ก็มีการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ชายแดนทางภาคเหนือ ทำให้ชนเผ่าลาหู่ในไทยถูกทรมาน ถูกบังคับให้หายไป
 
"จากมุมสังคมวิทยา กฎหมายพิเศษเหล่านี้ยืนอยู่บนฐานประการเดียวคือ ความคิดเรื่องชาตินิยมสุดโต่ง ดังนั้นจึงไม่สามารถจัดการกับความเป็นจริงของสังคมเรื่องความแตกต่าง ไม่ว่าทั้งความคิดและชาติพันธุ์ได้" ประทับจิตกล่าวและว่า โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ขณะที่มีการประกาศใช้กฎหมายเหล่านี้ แต่ปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ในสังคม อาทิ การศึกษา ความยากจน ยาเสพติด กลับถูกละเลยและไม่มีนโยบายมาแก้ไข
 
"กฎหมายเหล่านี้อยู่บนฐานความสงบในแบบราบคาบ ไม่มีความแตกต่างเลย" เธอระบุและตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตว่าจะจัดการกับปัญหาทุนข้ามชาติที่เข้ามาอย่างไร เพราะ พ.ร.บ.ความมั่นคงไม่สามารถรับมือสถานการณ์แบบนี้ได้ รวมถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมด้วย
 
ประทับจิต แสดงความเห็นว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงร้ายแรงกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก เพราะขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกต้องขอหมายจับจากศาล แต่ พ.ร.บ.ความมั่นคงไม่มีบทบัญญัติชัดเจน และอนุญาตให้ใช้ดุลยพินิจของคน ซึ่งหากใช้ดุลยพินิจของผู้ปฎิบัติงานระดับล่างหรือพื้นที่ชายแดน ก็ไม่แน่ใจว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงจะเอื้อให้เกิดการซ้อมทรมานมากขึ้นหรือไม่ โดยเธอได้ยกตัวอย่างกรณีตากใบว่า เมื่อมีการไต่สวนการตาย ศาลประกาศว่า ผู้ตาย ตายขณะเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย แต่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามที่กฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษกำหนด นั่นแปลว่าไม่ได้เกินหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จึงไม่มีความผิด
 
เธอกล่าวว่า กังวลว่าการสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยจะมีหน้าตาอย่างไร โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งคนคุ้นชินกับกฎหมายพิเศษเหล่านี้ พวกเขาแทบไม่รู้จักประชาธิปไตย เพราะไม่แม้แต่จะสามารถรวมตัวกันได้ ไม่รู้ว่าจะมีส่วนร่วมกับรัฐอย่างไร นี่เป็นปัญหาที่ต้องใส่ใจ ไม่ใช่สนใจแต่กับเกมการเมืองปัจจุบัน
 
ประทับจิต บอกว่า ความท้าทายอีกเรื่องคือ ความปลอดภัยของคนในพื้นที่ โดยมีผลสำรวจว่า ประชาชนในพื้นที่ที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎหมายเหล่านี้มีอัตราส่วน 50-50 โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนพุทธในพื้นที่ก็รู้สึกอุ่นใจภายใต้กฎหมายแบบนี้ และเราคงไม่สามารถละเลยได้ว่า ถ้าเราไม่เอากฎหมายเหล่านี้แล้วจะเอาอะไร รวมถึงมีคำถามด้วยว่า ต้องเอาทหารออกนอกพื้นที่หรือไม่
 
พุทธณี กางกั้น คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า รัฐใช้มาตรการทางจิตวิทยา เหมือนยุคคอมมิวนิสต์ โดยให้มีการอบรม 20 วันแก่คนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็น "สีเทา" โดยอาจเป็นผู้ที่ถูกมองว่า มีส่วนร่วมกับแนวคิดอุดมการณ์ แต่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง เพียงแต่ให้ความช่วยเหลือบางประเด็น คล้ายการดาวะห์ เข้าใจศาสนามิติผิด ถ้ามาอบรมก็จะเข้าใจมากขึ้น ซึ่งนั่นก็อาจจะดีกับกลุ่มที่เป็นสีเทา ที่จะได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่วิธีเลือกว่าใครคือสีเทานั้นก็มีปัญหา เพราะบางทีมีสีขาวอยู่ด้วย
 
สำหรับการนำเอา พ.ร.บ.ความมั่นคง เข้ามาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น พุทธณีกล่าวว่า ภาคประชาชนยังไม่มั่นใจว่าจะใช้แทนกันได้ดีกว่า หรือใช้ได้จริงไหม อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่อาจจะมองต่างไป เนื่องจากมีโอกาสได้มีส่วนร่วมได้ซักถามในรายละเอียดของกฎหมาย
 
อาดือนัน สุและเลาะ เจ้าหน้าที่คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ปัตตานี กล่าวว่า เขาเคยเข้ารับการอบรม 20 วัน โดยมองว่า นี่เป็นความต้องการของเจ้าหน้าที่ ที่จะเปลี่ยนรูปแบบจากการควบคุมตัวมาเป็นการเปลี่ยนทัศนคติ อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่าเป็นการเรียกไปประชุมอบรม ให้ความรู้ โดยความสมัครใจ ไม่บังคับ แต่เขามองว่า เป็นการกดขี่ทางจิตใจ โดยเฉพาะพื้นที่แตกต่างทางวัฒนธรรม เพราะมักมีเจ้าหน้าที่ไปเชิญถึงบ้านและบอกว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างหากไม่ไป
 
 
เน้นใช้สิทธิเสรีภาพ ปชช.เป็นตัวตั้ง
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงมีปัญหาเรื่องอำนาจบริหารด้านความมั่นคงที่ผูกขาด โดยนายกฯ เพียงคนเดียวสามารถประกาศใช้ได้ทันที จากนั้น จะตั้งผู้บัญชาการกองทัพบก กับเสนาธิการกองทัพบกมาเป็นผู้ช่วยดำเนินงาน ขณะที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้นผ่านการกรองชั้นหนึ่ง เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจะเห็นว่า กฎหมายความมั่นคงจะทำให้นายกฯ ใช้อำนาจได้โดยตรงและไม่ถูกตรวจสอบ และกองทัพบกมีอำนาจมากขึ้นในกิจการความมั่นคง
 
สอง การตัดสินใจใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้เต็มไปด้วยข้อความที่คลุมเครือและขึ้นกับการวินิจฉัยของนายกฯ เองค่อนข้างเยอะ โดยกรณีที่คิดว่าอาจเกิดความไม่มั่นคงขึ้น นายกฯ ก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงได้
 
"การละเมิดสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก หรือว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก?" ศิโรตม์ตั้งคำถามและว่า ถ้าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก หมายความว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพจะเกิดได้ต่อเมื่อมีเหตุที่ชัดเจนจริงๆ แต่กรณี พ.ร.บ.ความมั่นคง แม้ไม่มีเหตุที่ชัดเจน แต่มีการคาดเดาว่าจะเกิดเหตุ ก็ประกาศ พ.ร.บ.นี้ได้ นี่คือป้ญหาและโยงสู่เรื่องของปัญหาทางการเมืองซึ่งเกิดจากผลของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เช่น เมื่อคนเสื้อแดงชุมนุม ก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงทันที ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งชุมนุมไม่มีการประกาศใช้
 
สาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ พูดถึงเรื่องที่ในสถานการณ์ปกติอาจไม่เป็นปัญหา แต่ในสถานการณ์การเมืองไทยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา อาจก่อให้เกิดปัญหาการเลือกใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิได้ โดยมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง บอกว่า กิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านความมั่นคงให้ กอ. รมน. มีอำนาจตัดสินใจได้ โดยหนึ่งในเรื่องที่ กอ.รมน.สามารถตัดสินใจได้ คือเมื่อเกิดเหตุที่ต้องรักษาไว้ซึ่ง ชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ หรือการสร้างความรักสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้ถูกหยิบมาทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองค่อนข้างเยอะ และเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน เขายกตัวอย่างว่า เมื่อมีสองฝ่ายขัดแย้งกัน เราจะบอกได้อย่างไรว่า ฝ่ายไหนสามัคคีหรือไม่ การตีความว่าใครพิทักษ์สถาบันต่างๆ ไม่มีมาตรฐาน ทำให้เปิดช่องให้รัฐทำอะไรเยอะมาก
 
นอกจากนี้ ศิโรตม์วิจารณ์ว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงให้อำนาจไปที่กองทัพบกเยอะมาก โดยไม่มีตัวแทนของภาคอื่นๆ ไปเกี่ยวข้องเลย ไม่ว่า ตัวแทนภาคการเมือง รัฐสภา หรือภาคสังคม หมายความว่ากระบวนการตัดสินใจของที่ประชุมนี้จะเป็นการตัดสินใจของคนที่คิดคล้ายๆ กัน ทำให้เป็นปัญหาค่อนข้างสูง
 
ทั้งนี้ ศิโรตม์ เสนอว่า ควรยกเลิกกฎหมายทั้งสามฉบับ รวมถึงที่มีเนื้อหาคล้ายกัน เพราะกฎหมายเหล่านี้ทำงานบนความคิดของรัฐว่า รัฐรู้ว่าอะไรดีกับเรา อะไรเป็นภัยความมั่นคงสำหรับเรา คนที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้มักจะเริ่มต้นโดยดูเหตุผลของรัฐก่อนว่าทำไมต้องมีกฎหมายนี้เช่น มีคนก่อการร้ายจริงไหม มีคนซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงจริงไหม ซึ่งเขามองว่า ในฐานะพลเมือง เราต้องเอาสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเป็นตัวตั้งก่อน ไม่ใช่เอาเหตุผลของรัฐมาเป็นตัวตั้ง
 
เขาตั้งคำถามว่า รู้ได้อย่างไรว่า ถ้าใช้วิธีประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาเรื่องพวกนี้ไม่ได้ หรือการบอกว่า การใช้วิธีรุนแรงจะสร้างสถานการณ์ปกติขึ้นมาได้นั้นมีคำอธิบายอะไรรองรับ หรือเป็นความเชื่อที่คิดไปเองจากการถูกปลูกฝังว่า ความรุนแรงแก้ปัญหาได้
 
"กฎหมายลักษณะนี้ไม่มีความจำเป็น มันนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของคน ให้อำนาจฝ่ายบริหาร นำไปสู่เรื่องแย่ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วที่ไม่มีฐานของความคิดที่ชัดเจนอะไรรองรับเลย" ศิโรตม์กล่าว
 
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจ ผู้อำนวยการโครงการ “เวทีเปิดเพื่อการสนทนาเพื่อประชาธิปไตย” (openthaidemocracy.com)  ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีผู้มองว่าการออกกฎหมายความมั่นคงของรัฐเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะรัฐมีอำนาจจัดการ แต่เขากลับมองว่า การออกกฎหมายความมั่นคงสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการจัดการความขัดแย้ง รัฐไม่มีน้ำยาและกลัวจึงนำเครื่องมือทรงอานุภาพมาจัดการแทน
 
ประดิษฐ์ ดาวมณี ประชาชน แสดงความเห็นว่า ควรยกเลิกกฎหมายทั้งสามฉบับ เพราะตัวกฎหมายยังมีความคลุมเครือ และไม่ตั้งต้นที่การแก้ปัญหาของประชาชน คนระดับล่างไม่ได้ประโยชน์ หากแต่แก้ปัญหาของผู้ปกครองเอง นอกจากนี้ หลายครั้งที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง รัฐจะบอกว่าหากเป็นคนดีก็จะไม่เดือดร้อน แต่ปัญหาคือบ้านเราให้คนออกกฎหมายขู่ชาวบ้านเล่นๆ ได้หรือไม่ ซึ่งเขาเห็นว่าไม่ได้
 
เสนอต้องมี กม.ดูแลสังคมโดยรวม แต่ต้องไม่ให้อำนาจรัฐเกินเลย
ขณะที่ ไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.) เห็นต่างว่า ยังคงต้องมีกฎหมายเพื่อดูแลสังคมโดยรวม แต่ไม่ควรให้อำนาจรัฐเกินเลยจนตรวจสอบไม่ได้ โดยกฎหมายเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่นในอดีต มีกฎหมายต้านคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันก็เป็นเรื่องภัยคุกคามจากการก่อการร้าย เพียงแต่จะมีกฎหมายแบบไหน ใช้อำนาจอะไรกับภาวะไม่ปกติ อะไรบ้างที่เรียกว่าภาวะไม่ปกติที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคมไทยก็ต้องมานิยามกัน เพราะที่ผ่านมา ประชาชนไม่เคยมีส่วนในการนิยามว่าอะไรคือความมั่นคง หรือภัยคุกคาม มีแต่รัฐที่มีอำนาจในการนิยาม
 
อย่างไรก็ตาม ไพโรจน์ เน้นว่า ไม่ว่าสถานการณ์ปกติหรือไม่ กฎหมายเหล่านี้จะละเมิดสิทธิในชีวิต อาทิ กักขัง ทรมาน ฆ่าไม่ได้ หลักการเรื่องสิทธิยังต้องคงไว้
 
เพ็ญวดี แสงจันทร์ นักกฎหมายจากมูลนิธิดวงประทีป เห็นด้วยกับไพโรจน์ว่า อาจยังต้องมีกฎหมาย แต่ต้องอธิบายว่า ความมั่นคงที่ว่าเป็นแบบไหนอย่างไร สถานการณ์แบบใดที่ทหารเข้ามาจัดการได้ หรืออะไรบ้างที่ทหารไม่ควรเข้ามาจัดการ เพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน เหมือนกับการรักษามะเร็งด้วยคีโมบำบัด ที่บางคนเสียชีวิตเพราะคีโมฯ ไม่ใช่ด้วยมะเร็ง
 
ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การนิยามคำว่า ความมั่นคง ต้องไม่ "ตีเช็คเปล่า" ให้ถูกตีความโดยนายกฯ หรือชนชั้นนำเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากการถกเถียงอย่างกว้างขวาง แล้วระบุให้ชัดเจน รวมถึงไม่ควรให้อำนาจอยู่ที่ดุลยพินิจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะด้วย
 
จอน สรุปว่า จากการพูดคุยมีสองแนวทาง โดยส่วนใหญ่เสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ทั้งหมด เพราะอนุญาตให้ทหารเข้ามามีบทบาทจัดการเรื่องในประเทศซึ่งเป็นปัญหาสังคม แและยังตรวจสอบได้ยาก มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงบางครั้งยังใช้กฎหมายปกติได้ การมีกฎหมายเหล่านี้ทำให้รัฐหาทางออกแบบง่ายๆ ในการจัดการปัญหา แทนการสร้างความสงบด้วย ดังนั้น ไอลอว์จะร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมายเหล่านั้นในเว็บ หากใครเห็นด้วยก็ขอให้ช่วยกันเซ็นชื่อเพื่อนำไปผลักดันต่อไป นอกจากนี้ อาจมีการร่างกฎหมายความมั่นคงในมุมมองของภาคประชาชนขึ้นมาอีกฉบับด้วย
 
 
--2--
เปิดประสบการณ์เหยื่อฆ่าตัดตอนช่วงสงครามยาเสพติด
 
การซ้อมทรมานไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มาเล่าประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการสูญเสียบุตรหลานอันเกิดจากการนโยบายทำสงครามยาเสพติดในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเกียรติศักดิ์ จากกาฬสินธุ์ระบุว่า ในคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติด ดูจากสภาพศพแล้วก็มีการซ้อมทรมานเช่นกัน ในช่วงนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายสงครามยาเสพติด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ก็ประกาศให้กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดสีขาวปลอดยาเสพติดเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย แล้วก็มีการจับกุมรวมถึงการฆ่าตัดตอนกันเป็นจำนวนมาก 
 
เกียรติศักดิ์ เล่าว่า ลูกชายของตนเองนั้นถูกฆ่ารัดคอ โดยก่อนหน้านั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยไม่ทราบข้อหา ผู้ปกครองก็ไม่รู้ วันเกิดเหตุแฟนของบุตรชายได้กลับมาหาหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับมือถือที่ถูกยึดไปที่บ้าน เมื่อกลับไปที่สถานีตำรวจอีกครั้งก็ไม่พบลูกชายของตนแล้ว คนในครอบครัวพากันตามหาตั้งแต่ 4 โมงเย็น จนถึง 1 ทุ่ม จากนั้นญาติจึงโทรแจ้งว่ามีคนพบศพเสียชีวิตในสวนสาธารณะ
 
“จะให้ประชาชนอย่างผม คิดว่าหายเพราะอะไร ตายเพราะอะไร ใครทำ..... เราประชาชน ตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้ หน่วยงานต่างๆ ทำแล้วก็เก็บหลักฐานหมด ปิดข่าวหมด ประชาชนอย่างผมจะเข้าไปตรวจสอบได้ไหม ไม่มีอำนาจตรงนี้ อยากให้มีกฎหมายตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ประชาชนมีส่วนรู้เห็นด้วย” เกียรติศักดิ์กล่าว
 
ชาวบ้านกาฬสินธ์อีกคนหนึ่งเล่าว่า หลายชายของตนเองอาย 17 ปีถูกฆ่าแขวนคอ ดูจากสภาพศพมีการซ้อม ก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัวขณะเล่นตระกร้อ โดยไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับ อีกทั้งยังควบคุมตัว 3 วันโดยไม่แจ้งผู้ปกครอง หลังจากนั้นตำรวจได้เป็นผู้ประกันตัวออกไป วันรุ่งขึ้นก็ศพเป็นศพ
 
“ดิฉันเข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ 13 หน่วยงาน ขั้นสุดท้ายต้องถวายฎีกา จึงมีชีวิตรอดจนทุกวันนี้ จึงได้เป็นคดีพิเศษ และมีชีวิตรอด” ชาวบ้านคนดังกล่าวระบุ
 
ตัวแทนจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมาย เพราะไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกาย แต่มันเป็น “วัฒนธรรมองค์กร” นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมเสวนาเสนอด้วยว่า ให้มีกล้องวงจรปิดในห้องสอบสวนด้วย และให้เจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจ และมีการใช้ความรุนแรงเป็นประจำ ต้องเข้าการอบรม วิเคราะห์จิตใจ
 
 
เสนอกฎหมายเฉพาะ ตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ต้องหา-เยียวยาทันท่วงที
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ขณะนี้มีนักกฎหมายและภาคประชาชนกำลังมีการยกร่างกฎหมายต้านการซ้อมทรมาน เนื่อจากเห็นว่าแม้มีข้อกฎหมายห้ามทำร้ายร่างกายในกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แต่การให้อำนาจพิเศษเจ้าหน้าที่ในกฎหมายพิเศษก็เปิดโอกาสให้การซ้อมทรมานเกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ว่าจะในภาคใต้ หรือภาคเหนือที่มีการประกาศกฎอัยการศึก
 
“หลักการร่างกฎหมายนี้ เกิดจากการมองเรื่องความเป็นมนุษย์ สิทธิในชีวิต ร่างกายของประชาชนจะถูกละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะฉุกเฉินแค่ไหน หรือภาวะสงครามก็ตาม” จันทร์จิรา กล่าว
 
จันทร์จิรากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เรามักต้องเผชิญกับทัศนคติของสังคมว่า การปกป้องสิทธิคนส่วนใหญ่ในการละเมิดคนส่วนน้อยนั้นเป็นสิ่งทำได้หรือไม่ หลักการของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีบทบาทของการคุ้มครอง กฎหมายนี้จึงเน้นที่บทบาทเจ้าหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองสิทธิ แทนที่จะทรมานเพื่อเอาข้อมูลจากเหยื่อ เพราะผลกระทบในการใช้ทรมานมีทั้งทางร่างกายและจิตใจของเหยื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้บริสุทธิ์ กระบวนการยุติธรรมในกาารต่อสู้คดีก็เป็นเรื่องยากและไม่สามารถเข้าถึงได้ ถ้าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ สุดท้ายอาจต้องติดคุกฟรี นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบในภาพใหญ่ เพราะอนาคตของกระบวนการยุติธรรมจะบิดเบี้ยว
 
ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายฯ ชี้แจงต่อว่า ร่างกฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการทรมาน โดยเสนอให้มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักสิทธิมนุษยชน เป็นคณะกรรมการในการป้องกันและตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ รวมถึงบทบาทช่วยเหลือผู้ถูกทรมานได้อย่างทันท่วงที สร้างการเยียวยาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ การมีคณะกรรมการแยกมาต่างหากเพื่อความเป็นอิสระในการตรวจสอบ ยกตัวอย่างเช่น กรณีกรณีใช้ไฟฟ้าช็อตอวัยวะเพศผู้ต้องหาที่อยุธยาซึ่งเป็นข่าวใหญ่ช่วงหนึ่ง กรณีนี้มีใบรับรองแพทย์ชัดเจนว่าถูกทรมานให้รับสารภาพ แต่เมื่อถึงกระบวนการของศาลบอกว่าเป็นเรื่องนี้ต้องพิจารณาแยกต่างหากเป็นอีกคดีหนึ่ง ท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกกล่าวหาก็เริ่มการข่มขุ่คุกคามพยาน จากที่ญาติได้แจ้งความไว้ก็ต้องยอมไม่เอาความในที่สุด และเมื่อไปถอนคำร้องทุกข์ก็ถูกตำรวจแจ้งความจับว่าแจ้งความเท็จ
 
“ระบบแบบนี้มีปัญหาและต้องการอำนาจอื่นในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกทีหนึ่ง จึงต้องมีร่างกฎหมายนี้ กำหนดคณะกรรมการอิสระ การพิจารณาคดี การเยียวยาซึ่งล้วนแต่มีรายละเอียดมาก จึงเห็นว่าต้องแยกออกมาเป็น พ.ร.บ.ต่างหาก ไม่ควรแก้ไปในกฎหมายอาญา เชื่อว่าถ้ามี พ.ร.บ.แยกต่างหาก จะทำให้เจ้าหน้าที่มีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นในการละเมิดสิทธิผู้อื่น” จันทร์จิรากล่าว
 
ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ กรรมการที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ กล่าวว่า ในกฎหมายอาญาก็ห้ามการซ้อมทรมานผู้ต้องหาอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม เนื่องจากโครงสร้างองค์กรตำรวจไม่เปิดโอกาสให้คนภายนอกตรวจสอบการปฏิบัติงาน จึงขอเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรตำรวจโดยให้ประชาชนและศาลเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งต้องกระจายอำนาจ กระจายการตรวจสอบในทุกระดับ โดยเสนอว่าควรยกเลิกการบริหารแบบ ผบ.ตร. ที่มีอำนาจคนเดียวคุมทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) กลางและมีคณะกรรมการแต่ละพื้นที่ด้วย
 
“ถ้าปรับปรุงโครงสร้างตำรวจไม่ได้ ก็จะแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ได้” ศ.นพ.วิฑูรย์ และว่า อย่าไปเสียเวลากับการเขียนกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายสำคัญกว่า เพราะกฎหมายเรามีมากมาย เรื่องต่างๆ ที่อยากจะประกันสิทธิให้ประชาชน แต่บังคับใช้ไม่ได้จริง
 
พุทธณี กางกั้น คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า สหประชาชาติมีอนุสัญญาต่างหากว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานซึ่งประเทศไทยก็เป็นภาคี เรื่องนี้เป็นประเด็นสากล เพราะทั่วโลกมีการซ้อมทรมานกันอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ในทางสากลเห็นว่าการต่อต้านทรมานควรเป็นกฎหมายเฉพาะ เพราะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ ทุกหน่วยงานก็อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งการตรวจสอบ การพิสูจน์เป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น ภาระการพิสุจน์ควรเป็นผู้ถูกกล่าวหา
 
“ถ้าเราจะร่างกฎหมายนี้อาจดูกฎหมายจากประเทศไทยเอเชียก็ได้ ที่ศรีลังกา ระบุโทษเจ้าหน้าที่ที่ทำอย่างนั้นและมีเจ้าหน้าที่ที่ถูกจำคุกแล้วด้วย” พุทธณีกล่าว
 
ประทับจิต กล่าวเสริมว่า เราสามารถรณรงค์เรื่องนี้ควบคู่กับการรณรงค์ให้รัฐลงนามอนุสัญญาต่อต้านการทำให้บุคคลสูญหายไปด้วย ขณะที่เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร กล่าวว่า นอกจากผลักดันร่างกฎหมายแล้ว ต้องช่วยให้ความรู้ และสร้างวัฒนธรรมเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย เพราะสังคมไทยดูไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องนี้ แม้กระทั่งในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การลงรูปผู้ต้องหาในหน้าหนังสือพิมพ์
 
จอน กล่าวสรุปว่า เป็นที่ชัดเจนว่าที่ประชุมเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการมีกฎหมายเฉพาะในการคุ้มครองผู้ต้องหากจากการซ้อมทรมาน มีระบบการตรวจสอบ ระบบการเยียวยาเป็นพิเศษ ซึ่งรายละเอียดคงต้องหารือกันอีกครั้ง และสามารถติดตามความคืบหน้าได้ในเว็บไซต์
 
 
--3--
ค้านกฎหมายควบคุมการชุมนุม
 
จอน กล่าวนำประเด็นเสวนาหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม” โดยระบุว่า คาดว่าหัวข้อนี้น่าจะไม่มีประชาชนฝ่ายไหนคัดค้านเนื่องจากไม่ว่าจะแดงหรือเหลืองก็คงต้องการเสรีภาพในการชุมนุมทั้งนั้น ประเด็นก็คือถ้าหากรัฐบาลจะออกกฎหมายมาควบคุมการชุมนุมน่าจะมีกฎหมายประชาชนออกมาดักหน้าไว้ก่อนหรือไม่ อย่างไรก็ตามเขาแสดงความเห็นว่าเสรีภาพในการชุมนุมในขณะนี้ถูกลิดรอนไปเป็นอันมากไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงหรือการเล่นงานแรงงานที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
 
ชี้ยังไม่มีกม.คุมการชุมนุมคนงานก็อ่วมจะแย่
จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกกระทำจากรัฐในการชุมนุมของคนงานที่ผ่านมาว่า ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการชุมนุมออกมาชัดเจน แต่การชุมนุมของคนงานก็เผชิญกับอะไรหลายๆ อย่างแล้วการออกมาชุมนุมของคนงานก็เพื่อปากท้อง แต่รัฐทำไมต้องใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมด้วย 
 
อย่างเช่นปี 2542 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย คนงานถูกนายจ้างปิดโรงงานคนงานเลือกที่จะชุมนุมหน้าโรงงาน ตอนนั้นแกนนำสหภาพถูกหมายเรียก 14 คนข้อหาบุกรุกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งกลางวันและกลางคืน แทนที่คนงานจะได้ต่อสู้กับนายจ้างเท่านั้นแต่ยังต้องมีรัฐ กับเจ้าหน้าตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
 
ในปี 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการใช้สเปรย์พริกไทยกับคนงานที่มาชุมนุมเพียงแค่คนงานจะเดินขบวนไปที่บ้านคุณทักษิณที่จรัญสนิทวงศ์ก็จะเห็นว่าทุกยุคสมัยไม่ว่าเป็นรัฐบาลชุดไหนก็ตามจะใช้ความรุนแรงกับการชุมนุมของคนงานเสมอ
 
ในปี 2549 มีการประกาศกฎอัยการศึก คนงานไม่สามารถให้ความรู้กับสมาชิกสหภาพได้ไม่สามารถออกมาเรียกร้องสิทธิได้ ไม่สามารถเรียกร้องกับนายจ้างได้ เพราะในกฎอัยการศึกจะระบุไว้เลยว่าห้ามเรียกร้องอะไรทั้งสิ้นจากนายจ้างอันนี้ก็ชัดเจนว่าทหารได้เข้ามาควบคุมการชุมนุมที่หน้าโรงงานและสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกันหลังหกโมงเย็น
 
ในปี 2550 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญกับคนทั้งประเทศ แต่ออกรับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงที่ประกาศกฏอัยการศึกแล้วอย่างนี้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีความชอบธรรมจริงไหม 
 
ต่อมาในปีนี้คนงานไทรอัมพ์ 1,959 คนที่ถูกเลิกจ้างต้องการไปยื่นหนังสือเรียกร้องความยุติธรรมจากการเลิกจ้างของนายจ้าง ต่อนายกรัฐมนตรีที่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลแต่เจ้าหน้าที่ก็ใช้เครื่อง LRAD ซึ่งเป็นเครื่องความถี่เสียงที่ใช้ทำลายระบบประสาทคนงาน และนั่นเป็นการทดลองใช้เครื่องมือนี้ครั้งแรกกับผู้ชุมนุมโดยไม่มีการเจรจาก่อนการใช้ เพียงแค่คนงานต้องการยื่นหนังสือและทวงถามนโยบายกับนายกรัฐมนตรี ทั้งที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าการเลิกจ้างคนงานในโรงงานเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ที่จะนำมาพิจารณาและในขณะเดียวกันเครื่อง LRAD นี้ยังไม่ถูกรับรองว่าสามารถใช้ควบคุมผู้ชุมนุมได้ ทั้งนี้ทราบภายหลังว่าเครื่องมือชนิดนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในสภาวะสงครามในอิรักเพื่อควบคุมผู้ชุมนุมในตอนนั้นและนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาซึ่งการทดลองครั้งนั้นก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอันมาก เพราะว่ามันสามารถใช้ควบคุมมวลชนได้จริงทั้งที่คนงานมีแค่ผู้หญิงกับเด็ก
 
จิตรากล่าวว่านอกจากนั้นแล้ว ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับกับผู้นำสหภาพด้วยข้อกล่าวหาว่าก่อการชุมนุมสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองและปิดล้อมสถานที่ราชการ คนงานในวันนั้นแค่พันกว่าคนจะสามารถปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็มีนายตำรวจยศพลตำรวจตรีคนหนึ่งได้กล่าวกับคนงานด้วยคำหยาบคายและข่มขู่ว่าจะออกหมายจับอีกด้วย คนงานได้ถามย้อนกลับเกี่ยวกับความผิดตามกฎหมายของนายจ้างที่ไม่จ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างว่าทำไมไม่จับนายจ้างก็ได้รับคำตอบว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเขาในวันนั้นแต่หน้าที่ของเขาคือการสลายการชุมนุม
 
หลังจากการชุมนุมที่หน้าโรงงานไม่มีความคืบหน้าใดๆ คนงานจึงย้ายมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงานซึ่งถือว่าเป็นกระทรวงที่จะปกป้องคนงานได้ดีที่สุดอธิบดีกรมสวัสดิการแรงงานฯ กล่าวว่า การชุมนุมของคนงานสร้างความเลอะเทอะให้แก่กระทรวงและสร้างความหวาดกลัวให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในกระทรวงกลัวว่าคนงานจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ในช่วงมาทำงานและเลิกงานตอนเย็น
 
รวมถึงก่อนหน้านี้รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกกระทรวงจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม และต้องจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีเพราะฉะนั้นคนงานจึงต้องย้ายออกจากพื้นที่เป็นการด่วนมิฉะนั้นจะเอาหมายจากศาลแพ่งมาคุ้มครองและถ้าหมายศาลออกมาแล้วยังไม่ย้ายออกก็จะให้ตำรวจมาจับออกไป ทางคนงานได้เข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่กระทรวงจึงได้ตกลงให้จัดนิทรรศการร่วมกัน
 
จิตราสรุปว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการชุมนุมคนงานก็แทบจะชุมนุมอะไรไม่ได้เลยนอกจากนั้นหมายจับต่างๆ ที่ออกมาเล่นงานแกนนำสหภาพก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้นมิหนำซ้ำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกลับกล่าวว่าหมายจับจะถูกยกเลิกก็ต่อเมื่อคนงานเลิกชุมนุม
 
เพ็ญวดี แสงจันทร์ นักกฎหมายจากมูลนิธิดวงประทีปเสนอให้ร่างกฏหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเช่นการอำนวยความสะดวกด้านสถานห้องน้ำน้ำดื่มอาหารเป็นต้นทั้งนี้หากการชุมนุมเป็นไปโดยสงบผู้มาชุมนุมควรลงชื่อร่วมชุมนุมและมีองค์กรที่จะคุ้มครองว่าบุคคลเหล่านั้นต้องไม่เป็นผู้สูญหายเหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งหากเกิดการสูญหายระหว่างการชุมนุมต้องมีกระบวนการติดตามที่ชัดเจนและผู้ที่มาชุมนุมต้องไม่ถูกจับซึ่งน่าจะร่างกฏหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองโดยที่ไม่ต้องรอให้รัฐบาลร่างกฏหมายควบคุมการชุมนุมเสร็จ
 
 
เผย พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุม อยู่ในขั้นกฤษฎีกา
ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 กฎหมายควบคุมการชุมนุมนั้นถูกยื่นเข้าสู่ ครม. แต่ว่านายกฯ มีบัญชาว่าให้ฝ่ายกฤษฎีกาไปตรวจร่างกฎหมายก่อน และมีมาตราหนึ่งในนั้นกำหนดให้ ผบ.ชน.เป็นคนอนุญาตให้มีการชุมนุมได้ในร่างกฎหมายฉบับนั้นมีการพูดถึงสองสามเรื่องที่เกี่ยวกับการชุมนุมคือ
 
หนึ่งการชุมนุมต้องมีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันซึ่งดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเล็กน้อยเพราะเดิมต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน สอง ต้องมีผู้รับผิดชอบการชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุม ซึ่งผู้จัดการชุมนุมจะผูกพันไปถึงเรื่องโทษที่จะได้รับหากมีการทำผิดเกิดขึ้นและการชุมนุมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีผู้จัดการชุมนุมและสามสถานที่ชุมนุมผู้ชุมนุมต้องอยู่ห่างจากสถานที่ต่างๆ ดังนี้เขตพระราชวังไม่เกิน 500 เมตรอยู่ห่างจากเขตโรงพยาบาล 200 เมตรสามารถชุมนุมได้แต่ห้ามปิดล้อมสถานที่ราชการเช่นทำเนียบเป็นต้นเมื่อก่อนคือห้ามเข้าใกล้สถานที่ราชการเกิน 2 กิโลเมตร
 
สำหรับผู้มีอำนาจอนุญาตให้การชุมนุมที่กรุงเทพฯ คือ ผบ.ชน. ในต่างจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและนายก อบจ. เป็นรองประธานข้อสังเกตคือพี่น้องที่จะออกมาชุมนุมก็ลำบากเพราะส่วนมากก็ขัดแย้งกับราชการเป็นหลักอันนี้มีอุปสรรคแน่ส่วนเรื่องการลงโทษผู้ชุมนุมจะมีการลงโทษแน่นอน
 
ประภาสตั้งข้อสังเกตด้วยว่าหากผ่านกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับนี้ออกมาการชุมนุมจะเกิดขึ้นได้ยากมากเนื่องจากอำนาจต่างๆจะอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นส่วนใหญ่หากจะย้อนดูกฎหมายการชุมนุมเหล่านี้คือมันเกิดขึ้นมาหลังจากการปิดล้อมบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ของ นปช. และกฎหมายนี้เป็นที่ถูกหยิบออกมาใช้ทางการเมืองมากกว่า แต่การชุมนุมขนาดใหญ่กฎหมายไม่สามารถเข้าไปจัดการได้
 
ข้อสังเกตคือ การออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อจัดการกับการชุมนุมขนาดใหญ่ แต่ว่าผลบังคับใช้ของมันก็ไปกระทบกับคนเล็กคนน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนจน เช่น สมัชชาคนจน หรือคนงาน ซึ่งมองว่าการออกกฎหมายแบบนี้มันก็เหมือนการเกาไม่ถูกที่คันและกระทบการเมืองบนท้องถนนที่คนที่เดือดร้อนออกมาเพราะต้องการให้รัฐตอบสนองความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นต่อตนเอง ถ้าต้องฟันธงกฎหมายแบบนี้ไม่มีจะดีกว่าและกฎหมายการชุมนุมที่ระบุในรัฐธรรมนูญคนที่ผลักมากที่สุดก็คือคนเล็กคนน้อยอันนี้ก็คือสิ่งที่ควรปกป้องเอาไว้
 
ด้าน จอน กล่าวเพิ่มเติมว่าสมัยรัฐบาลคุณทักษิณพยายามจะออกร่าง พ.ร.บ.ทางหลวงห้ามชุมนุมบนทางหลวงทุกสายข้างถนนก็ไม่ได้บนสะพานลอยก็ไม่ได้ก็อาจจะชุมนุมได้ที่สวนลุมพินีหรือสวนจตุจักรนั่นเป็นวิธีหนึ่งพอมาสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คือผู้ชุมนุมต้องขออนุญาตการชุมนุมจากผู้ที่ตนกำลังจะต่อต้าน
 
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่ไอลอว์กล่าวถึงเครื่องมือที่ใช้ควบคุมผู้ชุมนุมว่าในหลายๆ ประเทศก็มีการเอาเครื่องมือต่างๆ มาใช้เพื่อปราบปรามการชุมนุมอย่างเช่นในอิรักก็มีการใช้เครื่อง LRAD แต่ว่ามันมีเครื่องมือที่มีคลื่นเสียงเหมือนเครื่อง LRAD แต่รุนแรงกว่าและน่ากลัวกว่าเช่นการปราบปรามการชุมนุมที่อิสราเอลด้วยคลื่นเสียงซึ่งเครื่องมือปราบปรามต่างๆ เหล่านั้นถูกนำมาใช้นานแล้วและยังคงมีการใช้จนถึงปัจจุบันเช่นระเบิดกลิ่นเหม็นและเครื่องที่ทำให้เกิดการคันหรือระคายเคืองเป็นต้นขณะที่เครื่องมือบางชนิดก็ได้รับการยอมรับแต่บางชนิดก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเป็นอันมาก
 
อย่างไรก็ตามเขามองว่าหากการชุมนุมยังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและรัฐสามารถปราบปรามให้การชุมนุมสงบลงได้โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่คัดค้านการนำอาวุธปราบปรามการชุมนุมแบบใหม่ๆมาใช้กับผู้ชุมนุมก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ
 
ไพโรจน์ พลเพชร ประธาน กป.อพช. กล่าวว่าหลังจากที่สังคมไทยเผชิญหน้ากับการชุมนุมที่ยาวนานกินเวลาหลายปีมันทำให้คนไทยตื่นตระหนกและเริ่มตระหนักเกี่ยวกับกฎหมายที่จะออกมาควบคุมหรือจำกัดการชุมนุมซึ่งการชุมนุมในประเทศไทยตามความเห็นของตนเองแล้วเข้าใจว่าสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ หนึ่ง การชุมนุมที่เปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐซึ่งการชุมนุมนี้เป็นการชุมุมที่มีขนาดใหญ่และนำไปสู่ความรุนแรงทุกครั้งในสังคมไทย สอง การชุมนุมเพื่อปรับหรือคัดค้านนโยบายรัฐซึ่งการชุมนุมประเภทนี้เกิดขึ้นบ่อยมากแทบจะทุกวันได้
 
การร่างกฎหมายเพื่อใช้ควบคุมการชุมนุมทางการเมืองโดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่ามันไม่สามารถใช้ควบคุมได้ เพราะทั้งสองขั้วก็มีอำนาจพอกันจากประสบการณ์มาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามที่มีมวลชนในการชุมนุมเป็นแสนคนการควบคุมหรือจำกัดย่อมเป็นไปได้ยากมาก แต่ว่าการออกกฎหมายฉบับนี้มันจะกระทบต่อการชุมนุมขนาดเล็กของพี่น้องประชาชนส่วนหลักการในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการชุมนุมน่าจะมีอยู่ประมาณ 3-4 หลักการคือ
 
หนึ่ง สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธจริงๆ จะต้องได้รับการคุ้มครองซึ่งทางผู้ชุมนุมก็ต้องชัดเจนในจุดนี้เหมือนกัน คือต้องปราศจากอาวุธจริงๆ ไม่ใช่สงบแต่มีอาวุธต่างๆ อยู่ในมือเต็มไปหมดหรือมีการปลุกระดมในที่ชุมนุมเพื่อให้ไปฆ่าฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นมันไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ
 
สองรัฐควรให้ความคุ้มครองผู้ชุมอยู่ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง คือการอำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่ซึ่งข้อนี้รัฐก็ทำอยู่แล้ว และ สอง คือคุ้มครองผู้ชุมนุมจากคุกคามของฝ่ายตรงข้ามเพราะการปะทะกันของสองฝ่ายที่ตรงข้ามกันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยมา
 
สาม จำกัดการชุมนุม เช่น การจำกัดสถานที่ชุมนุมบางที่ไม่สามารถชุมนุมได้และต้องมีระยะเวลาการชุมนุมที่แน่นอนซึ่งคนอื่นๆ ต้องใช้ที่สาธารณะเหมือนกัน มันเกิดคำถามขึ้นมามากมายว่ารัฐจะจัดการยังไงหากที่ที่ถูกใช้ชุมนุมจะต้องใช้ประโยชน์อย่างอื่นพร้อมกันทั้งสองฝ่ายจะใช้สิทธิ์ด้วยกันได้ไหม เช่น ตำรวจจะอ้างอยู่เสมอว่ามีการปิดถนน ในขณะเดียวกันคนอื่นจะให้ถนนยังไง สิ่งเหล่านี้ตำรวจหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลการชุมนุมควรเข้ามาจัดการดูแล ซึ่งที่ผ่านมาผู้ชุมนุมจะใช้วิธีปิดถนนบางช่วงไม่ปิดบางช่วง
 
สี่ การจำกัดการใช้อำนาจรัฐต่อการสลายการชุมนุมเช่นสามารถใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมได้เลยหรือไม่ หากจะใช้อาวุธจำเป็นต้องมีการเตือนก่อนหรือไม่ อาวุธอันไหนสามารถได้หรือไม่ สามารถใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมได้ มีขั้นตอนในการใช้อาวุธเหล่านั้นหรือไม่หรือขึ้นอยู่กับว่าหากไม่ชอบผู้ชุมนุมกลุ่มไหนก็สามารถใช้อาวุธได้เลย แต่หากชอบกลุ่มไหนการใช้อาวุธก็อาจจะมีขั้นตอนบ้างซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมาก
 
ไพโรจน์มองว่าเรื่องเหล่านี้มันไม่น่าจะต้องเป็นกฎหมายแต่ควรจะเป็นการจัดการของเจ้าหน้าที่มากกว่าซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอ้างเรื่องการปฏิบัติเสมอว่า ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติยังไงเพราะในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่จะขึ้นต่อฝ่ายการเมืองอยู่แล้วแล้วต้องดูว่าการชุมนุมนั้นๆ เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองหรือไม่มันจึงทำให้เกิดปัญหาดังนั้นควรจะมีหลักการบางอย่างให้เขาปฏิบัติได้แม้จะเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายแต่ก็เชื่อว่าจะต้องมีคนผลักดันให้มีกฎหมายเนื่องจากตอนนี้มีกฎหมายอยู่ในสภาแล้วซึ่งถูกเสนอมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 โดยพรรคที่เปลี่ยนชื่ออยู่เรื่อยมาและร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่แย่ที่สุดต่อการชุมนุมร่างกฎหมายที่อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวถึงนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ร่างและเสนอต่อครม.แล้วส่วนอันสุดท้ายเป็นร่างกฎหมายที่นักวิชาการกำลังศึกษาอยู่ในนามของคณะปฏิรูปกฎหมายดังนั้นจะเห็นว่ามีร่างกฎหมายที่แน่นอนอยู่แล้ว
 
จากการศึกษาร่างกฎหมายทั้งสามฉบับนี้แนวคิดในแต่ละฉบับถูกปรับเปลี่ยนไปพอสมควรแต่ว่าหลักใหญ่ก็อยู่ในสี่ข้อที่กล่าวมาในมุมมองส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายแน่ เพราะว่ามีรัฐธรรมนูญอยู่แล้วแต่จำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อการชุมนุมอย่างชัดเจน
 
จากนั้น จอนกล่าวว่า โดยสรุปผู้เข้าร่วมไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ฝ่ายกฤษฎีกากำลังตรวจร่างอยู่เพราะจะเป็นการเลือกปฏิบัติรวมถึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนเล็กคนน้อยซึ่งทางไอลอว์เห็นว่าควรมีการรณรงค์ต่อต้านกฏหมายที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net