Skip to main content
sharethis

เลขา กกต.ยกคำพิพากษาศาลวินิจฉัยสมัคร สว. ไม่ตรงกลุ่มอาชีพไม่ผิด ชี้คนละส่วนยื่นแจ้งเท็จ เสี่ยงผิดรู้อยู่แล้วไม่มีสิทธิแต่ลงสมัคร ลุยสอบคุณสมบัติผู้สมัคร 4 หมื่นคน - iLaw เรียกร้อง กกต. ต้องตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัคร และผู้ที่ได้รับเลือกก่อนประกาศผลอย่างเป็นทางการ หากขาดคุณสมบัติต้องตัดสิทธิ


นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) | ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค Sawaeng Boonmee 

29 มิ.ย. 2567 มติชนออนไลน์ และ ไทยโพสต์ รายงานตรงกันว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค เกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกสมัครเป็นเท็จ รับจ้างสมัคร คดีที่น่าสนใจในการเลือกลงกลุ่ม มีเนื้อหาระบุว่า ศาลฎีกาได้มีคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ ลต สว 185/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ลต สว 169/2567 ว่า

“การที่ผู้คัดค้าน (ผอ.เลือกระดับระดับอำเภอ) รับสมัครผู้ซึ่งประกอบอาชีพทำนาเกลือเป็นไปตามที่ผู้สมัครดังกล่าวประสงค์เข้ารับเลือกในกลุ่มที่ 5 ซึ่งผู้คัดค้านได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครแยกเป็นรายกลุ่มตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 อันเป็นการดำเนินการตามความประสงค์ของผู้สมัคร ซึ่งเป็นการปฏิบัติอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้าน จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้อง (ผู้สมัครที่ไปร้องที่ศาลฎีกา) จะยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง”

นายแสวงระบุต่อว่า เมื่อพิจารณาแล้วพอจะคเนได้ว่า สิทธิการรับสมัคร เป็นคนละส่วนกับเอกสารสารรับสมัครเป็นเท็จ หรือ เอกสารสารประกอบการสมัคร (สว.3) เป็นเท็จ เช่น ในใบ สว. 3 บอกว่าทำนาเกลือ แต่ในความเป็นจริงเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ได้ทำนาเกลือแต่อย่างใด ลักษณะนี้จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เป็นต้น กรณีเอกสารรับสมัครด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ กกต. ต้องตรวจสอบผู้สมัครทุกรายทั้ง 4 หมื่นกว่าคน ถ้าพบว่ามาสมัครด้วยการการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 74 รู้ว่าตนไม่มีสิทธิแต่ก็มาสมัครรับเลือกตั้ง อนึ่ง กรณีการรับจ้างสมัคร แม้เอกสารการรับสมัครถูกต้องสมบูรณ์ แต่ถ้ารับจ้างมาสมัครก็เป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากด้วย

iLaw เรียกร้อง กกต. ต้องตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัคร

iLaw รายงานว่าผลการเลือก สว. ระดับประเทศอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ในกลุ่ม 17 “กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทํานองเดียวกัน” มีผู้หนึ่งที่ผ่านการคัดเลือก คือ ชาญชัย ไชยพิศ จากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เขียนแนะนำตัวในเอกสาร สว.3 ว่า เป็นข้าราชการบำนาญ และเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นตำแหน่งงานราชการไม่ใช่งานภาคประชาสังคม

แม้ชาญชัยจะแนะนำตัวด้วยว่า เป็นนายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตำแหน่งงานเอกชน แต่ก็ทำอยู่เพียงสามปีระหว่างปี 2564-2566 จึงยังไม่ปรากฏว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครอย่างน้อยสิบปีหรือไม่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้สมัครสว. ตามมาตรา 13(3)

โดยกฎหมายไทยไม่เคยมีคำนิยามของ "กลุ่มประชาสังคม" อย่างชัดเจน แต่องค์การสหประชาชาติเคยให้นิยามของ Civil Society Organisation (CSOs) ไว้ว่า A civil society organization (CSO) or non-governmental organizaiton (NGO) is any non-profit, voluntary citizens’ group which is organized on a local, national or international level.  Task-oriented and driven by people with a common interest, civil society organisations (CSOs) perform a variety of services and humanitarian functions, bring citizens’ concerns to Governments, monitor policies, and encourage political participation at the community level.

แปลสรุปได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคม คือ กลุ่ม "พลเมือง" ที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ องค์กรภาคประชาสังคมทำงานบริการและงานด้านมนุษยธรรมที่หลากลาย เช่น นำความต้องการของประชาชนไปสู่รัฐบาล, จับตานโยบาย, สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชุมชน ฯลฯ ซึ่งตำแหน่งการทำงานในฐานะข้าราชการครูไม่เข้าลักษณะของ CSOs ตามนิยามนี้

หากดูประวัติของชาญชัยตามเอกสารสว.3 ก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครสว.ในกลุ่ม 17 ได้ อย่างไรก็ดี ชาญชัย อาจจะมีกิจกรรมหรือมีงานอื่นที่เข้าร่วมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาครบสิบปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะภาคประชาสังคม แต่ไม่ได้เขียนอธิบายไว้ก็ได้ ซึ่ง กกต. ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ผู้ได้รับเลือกคนนี้มีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถเป็น สว.ในกลุ่มประชาสังคมได้ และชาญชัยมีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานให้ปรากฏว่าตัวเองมีคุณสมบัติ มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ทำงานอย่างไร หากแสดงหลักฐานไม่ได้แล้วก็จะต้องถูกตัดสิทธิ

นอกจากชาญชัยแล้ว ในกลุ่ม 17 ภาคประชาสังคมยังมีผู้สมัครอีกหลายคนที่เขียนแนะนำตัวในเอกสาร สว.3 ไม่ได้ครบองค์ประกอบตามคุณสมบัติที่จะสมัครสว. ในกลุ่มนี้ได้ หรือเขียนไม่เพียงพอให้ประชาชนเข้าใจได้ ซึ่งเมื่อการเลือกเสร็จสิ้นแล้วหลายคนไม่ได้รับเลือก แต่กกต. ก็ยังมีหน้าที่ตรวจสอบย้อนหลัง หากพบว่าสมัคร สว. โดยไม่มีคุณสมบัติก็ต้องดำเนินคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net