Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะจัดให้มี "ราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 18/2522 ในหัวข้อ คนไร้ัรัฐกับการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ" ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) จึงจะยื่นข้อเสนอแนะต่อสิทธิในหลักประักันสุขภาพของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสื่อสารสาธารณะกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสังคมไทยต่อไป

ทั้งนี้ เนื้อหาของข้อเสนอแนะ จะประกอบไปด้วยข้อค้นพบจากงานวิจัย คือโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติในประเทศไทย ที่ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ดำเนินงานร่วมกับคณะนักวิจัย ในนามของ Health 4 Stateless

โดยทีมนักวิจัย ประกอบไปด้วย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, จุฑิมาศ สุกใส นักศึกษาปริญญาโท สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กิติวรญา รัตนมณี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ต.ต.หญิง สุภาพรรณ ขวัญทอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ, เอกสิทธิ์ วินิจกุล เจ้าหน้าที่ศาลปกครอง และบงกช นภาอัมพร นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ที่ปรึกษาคือ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับข้อเสนอแนะ มีดังนี้
1.ขณะที่สังคมไทยตระหนักว่า ระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นระบบบริการที่จำเป็นนั้น โดยหลักการแล้วควรต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม กล่าวคือต้องให้บริการทั้งชุมชนโดยไม่แบ่งแยกหรือข้ามเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงจะมีผลในเชิงประสิทธิภาพของงานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะงานบริการด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ภาพรวมของการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงควรต้องถูกพัฒนาขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ย่อมขึ้นอยู่กับจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงตามข้อเท็จจริงของแต่ละคน ที่มีอยู่จริงกับสังคมไทย อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม คนไทยตามข้อเท็จจริงที่อยู่ระหว่างการแสดงตนและพิสูจน์ตน, กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร, กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ผสมกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว และประเทศไทยมีนโยบายให้คนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาสถานะบุคคลต่อไปได้ ฯลฯ

นอกจากนี้คนกลุ่มนี้ยังมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจต่อสังคมไทย ผ่านการจ่ายภาษีทางอ้อม และแน่นอนว่า ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะต้องร่วมจ่ายในอัตราสามสิบบาทหรือศูนย์บาท ณ จุดรับบริการ (Co-Payment) เสมอไป

2.หากสปสช. ยังคงติดใจสงสัยในประเด็นผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ทางสถาบันฯ ขอเสนอแนะให้ สปสช.ส่งเรื่องหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

3.ขอเสนอแนะให้ สปสช. เข้าร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่ก่อตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพทางเลือก” สำหรับคนต่างด้าวที่ยังไม่มีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการเข้าถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแก่บุคคลดังกล่าว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net