Skip to main content
sharethis

ประมวลงานมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้ที่ ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี จัดโดยกลุ่มนักศึกษาชายแดนภาคใต้ มีคนเข้าร่วมเป็นหมื่น พร้อมประมวลภาพนำเสนอตัวตนความเป็นมลายูมุสลิมปัตตานี วงเสวนายันการรักษาอัตลักษณ์มลายูไม่ได้ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นไทยสูญเสียไป

ถึงความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีคนตายเจ็บอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่มิใช่ว่าไม่มีความพยายามแก้ปัญหาเลย ทั้งภาครัฐไทย ภาคเอกชนหรือแม้แต่ภาคประชาชนเองทั้งในและนอกพื้นที่
 
ในท่ามกลางการสูญเสียนั้น มีความต้องการสันติภาพมากของคนในพื้นที่ พอๆ กับความต้องการนำเสนอตัวตนของคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ด้วยเพราะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มาจาความไม่เข้าในคนพื้นที่หรือไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของภาครัฐ โดยเฉพาะจากอำนาจรัฐในอดีต หรืออาจต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ต้องการนำอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเดียวกับส่วนกลางมาครอบไว้
 
คนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งจึงพยายามนำเสนอตัวเองขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นตัวตนที่แท้จริงว่าพวกเขาคือใคร ในงานมหกรรมสันติภาพชายแดนใต้“PEACE SOUTHEN FESTIVEL” ที่จัดระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ชมรม STP สันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับองค์การบริหาร องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เป็นงานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อเหตุผลดังกล่าว
 
ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากภายในงานที่ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น หรือที่เรียกว่าภาษายาวี ร่วมกับภาษาไทยแล้ว ยังมีการนำเสนอถึงตัวตนของคนมลายูมุสลิมปัตตานี อันหมายถึงยะลา นราธิวาส ส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลาและสตูลด้วย ทั้งในส่วนของงานวิชาการ การจัดนิทรรศการ การเสวนา รวมทั้งการแสดงต่างๆที่มีขึ้น
 
โดยการแสดงภาคเวทีมีทั้งการแสดงปันจสีลัต (pencak silat ) ซิลัต รายุง การอ่านบทกวี (Sajak)โดยนักเรียนโรงเรียนตาดีกา การแสดงรำกริซ Raya Hijau การปาฐกถา(Syarahan) การอ่านบทกวีนิพนธ์   Bahah pantun การแสดงมายากล การแสดงดีเกฮูลู การขับร้องแพลงอานาซีด ซึ่งมีอยู่หลายวง เช่น วง  U-SADS-ST จากม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ วงWarisan จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตย์ วง Intifadah วง Fiklis และ วง Keragan PSU จากม.อ. วิทยาเขตปัตตานี การแสดงรองแง็ง อ่านข่าวตลก (Baca berita nakal) การแข่งขันของนักเรียนตาดีกา ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่
 
ประเด็นไฮไลต์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์มลายูมุสลิมปัตตานี อยู่ที่การเสวนาในหัวข้อ “การรักษาอัตลักษณ์มลายู: อัตลักษณ์ไทยเสียไปหรือไม่” ในวันที่สองของงาน โดยมีนายอะห์มัดสมบูรณ์ บัวหลวง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการดีพเซ้าท์ บุกกาซีน นายอุดม ปัตนวงศ์ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการศูนย์สันติศึกษาและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมเสวนา
 
การเสวนา เริ่มด้วยนายอุดม ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของชนเชื้อชาติมลายู และที่มาของภาษามลายูว่า ภาษามลายูในอดีตใช้ภาษาปาลาวะของอินเดียเมื่อประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว ต่อมาเมื่อประมาณ 700 ปีที่ผ่านมาที่ศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามาในดินแดนมลายู จึงมีการใช้ตัวอักษรอาหรับ แล้วมีการเพิ่มเติมตัวอักษรบางตัวเพื่อให้ครบทุกเสียง จากนั้นเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว เริ่มมีการใช้อักษรโรมันในภาษามลายู ซึ่งมาพร้อมกับลัทธิจักรวรรดินิยม แต่เป็นที่น่าน้อยใจสำหรับคนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่วันนี้พูดมลายูได้ แต่ไม่สามารถอ่านและเขียนได้ เพราะไม่ได้มีการเรียนการสอนในโรงเรียน
 
นายอุดม บอกด้วยว่า คนมลายูมีศาสนาอิสลามเป็นตัวกำกับ โดยภาษามลายูสามารถออกเสียงได้ใกล้เคียงกับภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่ต้องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม แต่ตอนนี้มีความพยายามที่จะให้ใช้ตัวอักษรไทยในภาษามลายู ซึ่งไม่รู้ว่าต้องการอะไร เพราะบางคำออกเสียงได้ไม่ตรง ขณะที่การเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกา ก็เริ่มมีการใช้ตำราภาษาไทยและใช้ภาษาไทยในการสอนด้วย
 
“อัตลักษณ์ความเป็นมลายูนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ดินตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ภาษามีโอกาสหายได้ได้ ยกตัวอย่างที่จังหวัดสตูล ซึ่งเดิมชาวมลายูมุสลิมที่จังหวัดสตูลพูดภาษามลายู แต่ภาษามลายูที่นั่นได้หายไปในระยะเวลา 50 ปีเท่านั้น”
 
ขณะที่พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า การรักษาอัตลักษณ์มลายูไม่ได้ทำให้อัตลักษณ์ไทยเสียไปแต่อย่างใด
 
พล.อ.เอกชัย บอกว่า ตนมองว่าอัตลักษณ์เป็นคุณค่า แต่บางคนมักมองอัตลักษณ์เป็นปัญหา หรือแม้แต่ความคิดที่ต่างกันก็มองว่าเป็นปัญหา เช่น การละหมาด การอยู่รวมกลุ่มกันของคนมุสลิม ซึ่งถ้ามองว่าไม่เป็นปัญหา ก็จะทำให้แก้ปัญหาได้ แต่ถ้ามองว่าเป็นปัญหา มันก็จะเป็นปมที่เขาคิดว่าต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง
 
“เอกลักษณ์ของสังคมไทย ต้องไม่ใช่ความเป็นสังคมเดียว ต้องเป็นสังคมที่หลากหลาย ทำไมราชการไทยใช้ภาษามลายูไม่ได้ ก็เพราะราชการไทยเป็นระบบที่แปลก คือ ไม่เรียนรู้อัตลักษณ์ของคนอื่น แม้แต่ภาษาของคนอื่นก็ไม่รู้เรื่อง เช่น หน่วยทหารของไทยที่ต้องดูแลชายแดน หาทหารที่เข้าใจภาษาพม่าไม่ได้เลย ทั้งกองทัพมีทหารที่เข้าใจภาษาพม่าอยู่คนเดียวเท่านั้น”
 
พล.อ.เอกชัย บอกต่อว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะราชการไทยไปลอกเลียนระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้มีประวัติมายาวนานมากนัก เพราะสหรัฐอเมริกาพยายามไม่เรียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง ซึ่งน่าอดสูมาก เพราะไปแย่งที่ของชนเผ่าอินเดียนแดง หลักสูตรการศึกษาของสหรัฐอเมริกาจึงพยายามที่จะให้ทุกคนเหมือนกัน ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทย
 
แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีกลุ่มชาวม้งที่อาศัยอยู่ที่นั่นและมีความเข้มแข็งมาก จนสามารถท่าจะส่งตัวแทนของตนเป็นวุฒิสมาชิกของกลุ่มตนได้ โดยทำสัญญากันว่าจะต้องผลักดันในสิ่งที่เป็นความต้องการของชาวม้งให้ได้ เช่นเดียวกับอีก 65 เผ่าพันธุ์ที่มีตัวแทนอยู่ในรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา
 
“ดังนั้น สำหรับชาวมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก็ต้องสร้างความเข้มแข็งของตัวเองด้วย ต้องสร้างคุณค่าในอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยการนำประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตัวเองมาเรียงร้อยและนำเสนอออกสู่สาธารณะ” พล.อ.เอกชัย กล่าว
 
ส่วนนายอะห์มัดสมบูรณ์ เล่าว่า ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอให้ภาษามลายูเป็นภาษาท้องถิ่นของชาติไทย ต่อราชบัณฑิตยสภา ซึ่งนับเป็นสัญญาที่ดี
 
แต่ชาวมลายูในประเทศไทยตอนนี้ขาดความเข้มแข็ง เพราะพูดภาษาไทยก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ขณะเดียวการพูดภาษามลายูก็ปนกันกับคำในภาษาไทย ลักษณะเช่นนี้ก็คือการทำลายความเข้มแข็งของภาษาอย่างหนึ่ง
 
ดังนั้นชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ขึ้นมาด้วย เพราะภาษามลายูใกล้เคียงกับภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาของศาสนาอิสลาม จึงทำให้มีผู้นำศาสนาบางคนบอกว่า ภาษามลายูคือภาษาศาสนานั่นเอง
 
ส่วนนายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวว่า วันนี้ควรต้องมีอุทยานภาษาและวัฒนธรรมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แล้ว อย่างเช่นในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีแห่งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ต้องเป็นผู้ผลักดันในเรื่องนี้
 
“พูดถึงคำว่าอัตลักษณ์มลายูนั้น ประกอบด้วย 3 คำ คือ มลายู อิสลามและปัตตานี หมายความว่า คำว่าอิสลาม คือ ศาสนาและจิตวิญญาณของคนที่นี่ ส่วนมลายูก็คือคนที่อยู่ในท้องถิ่นแห่งนี้”
 
ขณะที่คำถามในเวทีก็มีหลากหลายเช่นกันแต่ที่น่าสนใจก็คือมีคำถามที่ส่งตรงมาจากประเทศอียิปต์ด้วย โดยผู้ดำเนินรายการระบุว่า ได้ส่งคำถามผ่านการรับฟังการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตว่าทำไมถึงต้องเรียกชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า แขก และให้ระบุเชื้อชาติมลายูในบัตรประชาชนได้หรือไม่ดังเช่นในอดีต รวมกับอีกหลายๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการรักษาอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่
 
พร้อมๆกับทิ้งท้ายการเสวนาของผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ที่แสดงถึงความเป็นห่วงในอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูมุสลิมปัตตานีที่อาจสูญเสียไป โดยเฉพาะในเรื่องภาษาที่ว่า เมื่อสิ้นภาษาแล้ว เชื้อชาติก็จะสูญสิ้นตามไปด้วย
 
หรืออาจจะเลยไปถึงการสิ้นศาสนาไปด้วยอย่างที่เคยมีการรณรงค์กันกันเมื่อซัก 10 ปีก่อน ก็เป็นได้ เพราะนั่นอาจเป็นมูลเหตุหนึ่งที่สำคัญที่คนในพื้นที่คิดว่ายิ่งต้องรักษาอัตลักษณ์ของตนเอาไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net