Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก วอนหยุดใช้"สื่อ"เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โพลชี้เสรีภาพเสนอข่าวน้อยลง "สุนัย ผาสุก" ระบุ สื่อเลือกข้างได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเป็นวิชาชีพ และไม่แสดงความคิดเห็นเป็นไปในทางยั่วยุ

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนที่จะต้องมีเสรีภาพ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.
ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนประเภทต่างๆ พึงตระหนักว่าท่ามกลางวิกฤติของประเทศในขณะนี้ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะต้องวางเป้าหมายการรายงานข่าว “เพื่อสันติภาพ ความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม” กล่าวคือ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง รวมทั้งเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียม และต้องรายงานถึงสาเหตุของปัญหารวมถึงนำเสนอทางออก

แม้ว่ารัฐธรรมนูญได้ให้หลักประกันในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน แต่การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพด้วย

2.
ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งยุติการใช้สื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน สร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

3.
ขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีความจริงใจในการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐที่ครอบครองคลื่นความถี่ต้องแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปตัวเองให้ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยฝ่ายรัฐบาลต้องยุติการแทรกแซงและใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง

4.
ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจให้กว้างรับฟังความเห็นที่หลากหลายจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับข่าวสารจากสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง

5.
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่า เสรีภาพของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขการกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่อาจยอมรับได้และจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด

นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ที่มีต่อ เสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ณ วันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,251 คน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2553  สรุปผลได้ดังนี้
ประชาชนคิดว่า สื่อมวลชน ณ วันนี้ มีเสรีภาพมากน้อยเพียงใด มีเสรีภาพน้อยเกินไป 30.07% เพราะไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้เต็มที่ นำเสนอได้เพียงบางส่วน, มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน มีเสรีภาพมากพอสมควร 28.10% เพราะสื่อปัจจุบันสามารถเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารได้หลายช่องทาง และสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น อันดับ 3 มีเสรีภาพที่เหมาะสมแล้ว 21.57% เพราะการนำเสนอข่าวสารอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เหมาะสม, มีสมาคม องค์กรที่ควบคุมดูแลการทำงาน อันดับ 4 มีเสรีภาพมากเกินไป 20.26% เพราะอาศัยช่องทางของสื่อในการนำเสนอหรือแสดงความเห็นส่วนตัวมากเกินไป บางครั้งมีการนำเสนอข่าวและภาพที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ
                      
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ประชาชนต้องการให้ “สื่อมวลชน” มีบทบาทอย่างไร 30.19% เป็นตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบเรื่องต่างๆในสังคมอย่างใกล้ชิด /เกาะติดสถานการณ์ 24.98% นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง พร้อมวิเคราะห์หาเหตุผล หาคำตอบหรือหาทางออกให้กับสังคม 20.63% ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่ยึดติดกับผลตอบแทนใดๆ 13.48% มีอิสระในการทำงาน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร และ 10.72% สื่อทุกแขนงต้องช่วยกันรณรงค์ เผยแพร่เอกลักษณ์ วัฒนธรรมอันดีงามของไทยสืบต่อไป 

"สื่อมวลชน" สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร มองว่า เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน /เรียกร้อง /หรือนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม 25.73% ช่วยกันนำเสนอข้อมูล ข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการนำเสนอเพียงเพื่อหวังผลทางธุรกิจ 23.56% สื่อทุกแขนงต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง 20.64% สื่อต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือ หรือ อยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ /ยึดหลักจริยธรรมทางวิชาชีพ 16.19% ยอมรับฟังคำวิพากษ์ วิจารณ์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม 13.88%

ที่สมาคมนักข่าวฯ เวลา 10.30 น. มีการเสวนา " สื่อเสรีร่วมสร้างสันติภาพอย่างไร โดยมีนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กร Human Rights Watch นายเอกพันธ์ ปิณฑวนิช นักวิชาการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล นายสมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอิสระ และนายพนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมกันเสวนา

นายสุนัย กล่าวว่า ในทรรศนะส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้มีปัญหามาจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ขณะนี้สถานการณ์ได้นำพาประเทศไทยมาสู่ความแตกแยก และแพร่แกระจายไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคมและระดับประเทศ เนื่องจากปัญหาได้หยั่งรากลงไปถึงระดับครัวเรือน เห็นได้จากแม้แต่ในครัวเรือนเดียวกันก็เห็นต่างกัน และพร้อมจะใช้กำลังต่อกัน และเมื่อมองย้อนกลับมาที่เวทีราชประสงค์หากมีการสลายไปแล้วปัญหาจะยุติหรือไม่ ตนมองว่าปัญหาจะไม่ยุติ เพราะปัญหาขณะนี้นำมาสู่เงื่อนไขของสภาพสงครามการเมือง ที่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สภาพเช่นนี้มองว่าสื่อมวลชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็นเหยื่อเช่นเดียวกันฝ่ายอื่น เนื่องจากสังคมมีการแบ่งข้างแยกขั้วกันอย่างชัดเจน เแนวทางการนำเสนอของสื่อมวลชนหากไม่ถูกหูถูกใจของผู้ชุมนุมหรือฝ่ายใดก็ตาม ความยับยั้งชั่งใจของคนก็จะลดน้อยลงไปทำให้สื่อกลายเป็นเป้า แม้กระทั่งบนเวทีของผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นสีแดงหรือสีเหลืองก็เคยประกาศขึ้นบัญชีสื่อบางสำนักมาแล้ว  

นายสุนัย กล่าวว่า การเลือกข้างของสื่อขณะนี้เป็นไปใน

2 ลักษณะ คือจากทิศทางนโยบายของสื่อเอง หรืออิทธิพลของเจ้าของ นายทุน และอิทธิพลอุดมการณ์ของตัวสื่อเอง ซึ่งตนมองว่าสื่อสามารถเลือกข้างได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ และต้องมีความเป็นวิชาชีพ ไม่แสดงความคิดเห็นเป็นไปในทางยั่วยุ การปั้นสื่อของตัวเองขึ้นมาโดยต้องไม่รายงานข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อให้ประชาชนเลือกข้างนั้นเป็นการไม่รับผิดชอบ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงสื่อ เพราะเป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญตนไม่อยากเห็นบรรยากาศเช่นนี้เกิดขึ้นจนนำไปสู่การลุแก่อำนาจ โดยอ้างเพื่อรักษาความสงบ แต่รัฐเลือกที่จะปิดกั้นสื่อบางแห่ง ขณะที่สื่อที่สุดโต่งบางแห่งกลับได้รับการยกเว้นไว้ ทั้งนี้ สมาคมวิชาชีพสื่อเองจะต้องมีบทบาทในการตรวจสอบจรรยาบรรณที่มากกว่านี้ ขณะที่ในตัวสื่อเอง หรือนักข่าวในฐานะปัจเจกบุคคลจะต้องนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม เห็นว่าสถานีพีทีวี มีลักษณะของการบิดข้อมูล นำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นจริงอย่างชัดเจน ส่วนสื่อของรัฐอย่างสถานีช่องเอ็นบีที ที่เป็นสื่อ ของรัฐก็เลือกข้าง มีธงของรัฐอยู่ ดังนั้นผู้รับสื่อจะต้องรู้ว่าสื่อที่เรารับเป็นสื่อที่เลือกข้างแล้ว ขณะเดียวกันตนเชื่อว่าการยุบสภา เลือกตั้งใหม่จะถอดชนวนปัญหาได้ แต่ยังรู้สึกเป็นห่วงว่าบรรยากาศการจะออกไปหาเสียงจะไม่สามารถทำได้ เพราะทุกคนพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน  

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากการได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ขณะนี้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นช้าไป ขณะที่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง ยังขาดพื้นฐานทางวัฒนธรรม แต่โดยส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงขั้นสงครามการเมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงการปะทะกันของคน

2 กลุ่ม เนื่องจากความเร่าร้อนในอารมณ์ หรือผู้ที่คัดค้านการชุมนุมเท่านั้น แต่สงครามการเมืองหากจะเกิดขึ้นต้องเป็นการระดมคนจาก 2 ฝ่าย ให้มาปะทะกันแต่ต้องไม่ใช่เพื่อยุบสภา นอกจากนี้ยังเห็นว่าอุดมการณ์ของเสื้อแดงยังไม่ปรากฎ เพราะมีแต่แนวคิด-นโยบายที่ต้องการให้ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่สิ่งที่แฝงอยู่ข้างหลังที่มีการพูดถึงกันคืออาจทำเพื่อทักษิณ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความจริงที่ยืนยันได้ หรือแม้กระทั่งข้อกล่าวหากระบวนการล้มสถาบันก็ตาม ทั้งนี้ ตนขอตั้งฐานความจริงเกี่ยวกับสื่อมวลชนในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าหลายรูปแบบ สื่อไม่จำเป็นต้องมาตรวจสอบกันเอง หรือ ปิดกั้นกัน เช่น วิทยุชุมชน การปิดเป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ของเรา แต่หากตนเป็นรัฐก็จะไม่ทำ  

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า การทำหน้าที่ของสื่อควรทำตัวให้เป็นมืออาชีพ กล่าวคือ 1.จะต้องให้ข่าวสารความจริงอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสอบความจริง 2.เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งเมื่อประชาชนเสพข่าว สื่อต้องตั้งหน้าตั้งตาให้ความรู้ และการศึกษา อย่าพาดพิง เช่นการให้ความรู้เรื่องการชุมนุมโดยอหิงสาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งอหิงสาที่แท้จริงคือต้องสงบตั้งแต่ในใจ ไม่ใช้วาจาที่หยาบคาย เป็นต้น เมื่อให้คววามรู้ไปแล้วต่อไปก็ให้ประชาชนคิดเอง 3.การให้ความเห็น ทั้งนี้มองว่าสื่อสามารถเลือกข้างได้เพราะเป็นเรื่องของเสรีภาพ โทรทัศน์สีแดง เหลือง จะทำอะไรก็ทำได้ แต่ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าตัวเองเลือกข้าง ขณะที่สื่อที่แสดงตัวว่าเป็นอิสระก็ต้องให้ข้อมูลอย่างสมดุล 4. สื่อจะต้องมีเวทีให้กับสาธารณชนทุกฝ่าย เวลานี้เป็นความขัดแย้งของฝ่ายที่สนับสนุนทักษิณ หรือฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดงแล้วแต่จะเรียก และฝ่ายรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ควรให้เขามีเนื้อที่ได้แสดงความคิดเห็น ส่วนกรณีการนำเสนอข่าวของช่อง 11 มองว่ารัฐบาลโชคร้ายที่เป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งตนเชื่อว่าจะดีมากหากรัฐบาลปล่อยให้สื่อมีความเป็นอิสระ เราจะเห็นว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีรายการใหม่เกิดขึ้นหลายรายการ ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่าเพราะอะไร นอกจากนี้ขอเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีที่สื่อโทรทัศน์นำเสนอข่าว และรายงานพิเศษที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเสียชีวิตแล้วนั้น เพราะทำแล้วได้ลูกค้า ได้คนดู แต่อยากให้นักข่าวตามล่าหาข้อเท็จจริงให้ไปที่อูกันดาเลย เพื่อนำข้อเท็จจริงมาเสนอ นอกจากนี้ มองว่าปัจจุบันเนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้สื่อกระแสหลักต้องมีการปรับตัว แต่สื่อต้องไม่ลืมว่าการให้ข่าววสารข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมเพียงพอทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยได้

นายพนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าการปิดสถานีพีทีวีปไม่เกี่ยวกับ กทช. เพราะ กทช.ไม่มีอำนาจไปปิดได้ ทุกวันนี้อำนาจของ กทช.มีอย่างค่อนข้างจำกัด คือ อำนาจการให้ใบอนุญาตชั่วคราวเคเบิลทีวี และวิทยุชุมชนเท่านั้น ส่วนการดูแลเนื้อหาก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นเดียวกัน ซึ่งการดูแลเป็นหน้าที่ของอนุคณะกรรมการฯ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาเพราะไม่มีทีมงาน ทั้งนี้เห็นว่ากรณีของการปิดสถานีพีทีวี เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะปัจจุบันออกอากาศผ่านดาวเทียมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งนี้อยากแนะสื่อควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการสร้างเสรีภาพ และรับผิดชอบต่อสังคม เพราะสื่อมีพลังมากที่จะโน้มนาวต่อสังคมในช่วงวิกฤตการเมืองขณะนี้

 
ที่มาบางส่วน เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net