Skip to main content
sharethis
วานนี้ (23 ส.ค.53) เว็บไซต์เดลินิวส์ มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีสอบถามความเห็นประเด็นรัฐธรรมนูญ กรณีมีความเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เนื่องจากเห็นว่า มติ ก.ตร.กรณีรับอุทธรณ์คำสั่ง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ออกจากราชการ ตามความผิดกรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 
 
โดยในหนังสือรับที่ 435/2553 เสร็จที่ 497/2553 เรื่องขอความเห็นประเด็นรัฐธรรมนูญ ผู้ทำคือคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่2) / ฝ่ายกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน โดยพิจารณาในประเด็นที่ว่า หากนายกฯ จะมีความเห็นแตกตางจากมติ ก.ตร.เนื่องจากเห็นว่ามติ ก.ตร.มีความแตกต่างกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเพื่อเป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 โดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการโดยทั่วไปจะกระทำได้หรือไม่
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เมื่อนายกฯ ได้ออกคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 224/2552 ลงโทษปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการ ตามมติที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาม ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.ตร. ตามมาตรา 105(2) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เมื่อ ก.ตร.ได้มีมติแล้ว และสำนักงาน ก.ตร.ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกฯ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว นายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 72(1) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ จึงมีหน้าที่ต้องยกเลิกคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 224/2552 เพื่อดำเนินการตามมติ ก.ตร. โดยไม่อาจใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ 
 
สำหรับอำนาจของนายกฯ นั้น มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ประกอบกับมาตรา 4(12) แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่อง และการประชุมต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 กำหนดให้นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี หรือมีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา หรือรับทราบได้ ดังนั้น หากนายกฯ เห็นว่ากรณีใดเป็นเรื่องสำคัญ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณารับทราบ ก็สามารถนำเสนอ หรือมีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีได้
 
แต่อย่างไรก็ตาม หากนายกฯ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้เสนอความขัดแย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นว่ากรณีนี้ แม้ว่า ครม.และ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรตามมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญฯ แต่การเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ดังนั้น หากนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีไม่ว่า ครม.จะมีมติประการใด ก็หาได้กลายเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร และไม่ทำให้ ครม.มีฐานะเป็นผู้ร้องตามมาตรา 214 เนื่องจากการดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร.เป็นอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของ ผบ.ตร.ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ครม.ตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่1) เรื่องเสร็จที่ 642-644/2552 ลำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 23/2553 โดยลงชื่อ นางสาววิลลี่ อมราภรณ์ เลขานุการฯ นางสาวสุริศา ไขว้พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย และ นายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net