Skip to main content
sharethis

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ช.การช่าง คาดเซ็นสัญญาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ต้นปีหน้า สำหรับโครงการน้ำงึม 2 อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า คาดว่าเดือน ธ.ค.นี้จะสามารถเดินเครื่องได้ ขณะเอ็นจีโอออกโรงค้าน ส่วนวุฒิสภาจัดหารือความจำเป็น ผลประโยชน์ และผลกระทบ นำเสนอข้อมูลโครงการ

 
 
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.53 ข่าวหุ้น รายงานความคืบหน้าโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี ที่จะมีการก่อสร้างในประเทศลาวว่า นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาการก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค.54 รวมทั้งจะเซ็นสัญญาเงินกู้ราว 8 หมื่นล้านบาท จาก 4 สถาบันการเงินใหญ่ เพื่อใช้ลงทุนในโครงการฯ โดยสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB)
 
โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าการก่อสร้างราว 1.7-1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประมาณ 6 พันกิกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี (GWh/year) ทั้งนี้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CK เป็นผู้ได้สัมปทานในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากประเทศลาว ในโครงการดังกล่าว
 
นายปลิว กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้สนใจราว 4-5 ราย เพื่อเข้ามาร่วมถือหุ้น ในโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งมีผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนของ CK ตั้งเป้าจะถือหุ้นประมาณ 30%
 
สำหรับโครงการน้ำงึม 2 อยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า คาดว่าเดือน ธ.ค.นี้จะสามารถเดินเครื่องได้ ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน มี.ค.54
 
ขณะที่ในวันเดียวกันคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้จัดโครงการปรึกษาหารือ เรื่อง “เขื่อนไซยะบุรี: ความจำเป็น ผลประโยชน์ และผลกระทบ?” เพื่อการนำเสนอข้อมูลโครงการเขื่อนไซยะบุรีได้อย่างรอบด้าน และให้สาธารณชนได้เข้าใจและเข้าถึงข้อมูลต่อผลการศึกษาของผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ในแม่น้ำโขง
 
เนื่องจากมีความเห็นที่ว่า บันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้วนั้น เป็นการอนุมัติที่ยังขาดความโปร่งใส ขาดหลักการธรรมาภิบาล ประเทศไทยในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า สมควรที่จะต้องให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในไทยมีสิทธิรับรู้ถึงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมของโครงการนี้ รวมทั้งมีกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคม 
 
นอกจากนี้การศึกษาด้านผลกระทบต่างๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ด้านท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีจะได้รับผลกระทบโดยตรงด้วยเช่นกันนั้น ยังไม่ถูกเปิดเผยแต่อย่างใด อาทิ ผลกระทบต่อการอพยพขึ้นไปผสมพันธุ์และวางไข่ของปลาบึก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธ์ ผลกระทบต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลาชนิดอื่นๆ ประมาณ 262 สายพันธุ์ ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาประมาณ 40 แห่ง ผลกระทบต่อการสะสมของตะกอนในวังน้ำลึกและแก่งต่างๆ ด้านท้ายน้ำลงมาจนถึงจังหวัดหนองคาย 
 
ในส่วนของโครงการนี้จะมีการประมวลข้อมูลและสภาพปัญหาของโครงการเขื่อนไซยะบุรี เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้ดำเนินการต่อ รวมทั้งประสานงานองค์กรสมาชิกและเครือข่าย โดยจะจัดทำสรุปข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ตุ.ค.ที่ผ่านมา พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง นายเจเรมี เบิร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักเลขาธิการ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ลงวันที่ 13 กันยายน 2553 ขอเรียกร้องให้ระงับกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (PNPCA) และยกเลิกโครงการเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งกำลังเป็นประเด็นรณรงค์เพื่อให้หยุดโครงการ โดยกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในภูมิภาคแม่น้ำโขง และระดับนานาชาติอยู่ในขณะนี้ จากหลักฐานมากมายจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง แสดงให้เห็นว่า เขื่อนไซยะบุรี จะเป็นโครงการที่สร้างความเสียหายร้ายแรง และไม่สมควรจะให้เดินหน้าต่อไป
 
 
 
ลำดับเหตุการณ์
 
4 พฤษภาคม 2550         รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กับบริษัท.การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 11 โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง
 
พฤศจิกายน 2551          รัฐบาล สปป.ลาวและบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)ได้ลงนามในข้อตกลงในการพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยข้อตกลงระบุว่าจะทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 ปี ปัจจุบันบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งบริษัทไฟฟ้า ไซยะบุรี จำกัด (Xayaburi Power Company Limited (XPCL) ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 800 ล้านบาท โดยบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวร้อยละ letter-spacing:-.2pt">100 เพื่อให้เป็นบริษัทสำหรับการลงนามในการรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเป็นบริษัทที่ทำสัญญาสัมปทาน กับรัฐบาล สปป.ลาว
 
โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าโครงการรวมประมาณ letter-spacing:-.5pt">1 แสนล้านบาท ปัจจุบันบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) สามารถบรรลุความตกลงเบื้องต้นกับธนาคาร 4 แห่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการปล่อยเงินกู้ร่วมมูลค่ารวม 7.5 หมื่นล้านบาท ให้กับโครงการไซยะบุรี
 
12 มีนาคม 2553           คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,280 เมกะวัตต์ และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวไปร่วมลงนามกับผู้ลงทุน คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เพื่อซื้อไฟฟ้า 1,220 เมกะวัตต์ และมีสัญญาผูกพัน 29 ปี อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย และ color:black">สปป.ลาว
 
 
23 มีนาคม 2553           คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี อันเป็นผลเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553
 
5 กรกฎาคม 2553         การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้นการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี กับ letter-spacing:-.3pt">บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับปริมาณไฟฟ้าที่ขายเฉลี่ย 1,220 เมกะวัตต์ และราคาค่าไฟเฉลี่ย (Levelized tariff) จะเท่ากับ 2.159 บาท/หน่วย (KWh) โดย MOU จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 18 เดือนนับแต่วันลงนามหรือจนกว่าจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟ (Power Purchase Agreement) แล้วแต่ว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน
           
22 กันยายน 2553               รัฐบาล สปป.ลาวได้ส่งโครงการเขื่อนไซยะบุรีไปยังสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการ Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement(PNPCA) ตามที่กำหนดไว้ใน “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน” (ข้อตกลงแม่น้ำโขง) ปี 2538
 
 
 
 
เขื่อนไซยะบุรี
 
รวบรวมโดย โครงการนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
ตุลาคม 2553
 
 
 
เขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี เป็นหนึ่งใน 11 โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก ในพื้นที่แขวงไซยะบุรี ภาคเหนือของลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,280 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนแรกทีมีการยื่นขอใช้กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง [PNPCA] (ดูข้อมูลในเอกสารเรื่อง PNPCA) ที่กำลังเป็นประเด็นการรณรงค์ของเครือข่ายภาคประชาสังคมในหลายประเทศ รวมทั้ง
 
•   เครือข่ายพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) เป็นเครือข่ายภาคประชาสังคมที่รวมทั้งองค์กรระดับสากล (โดยเฉพาะในประเทศผู้ให้ทุนกับรัฐบาลแม่น้ำโขง และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง [MRC]) ระดับภูมิภาค และองค์กรในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทำการรณรงค์โดยการรวบรวมรายชื่อโดยการลงชื่อในโปสการ์ดเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักมาตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงบัดนี้ได้มากกว่า 23,000 รายชื่อ และได้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และยื่นโดยตรงต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแล้ว (รายละเอียดเพิ่มเติม ดูที่ www.savethemekong.org)
 
•   เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ก่อตั้งในปี 2551 มีสมาชิกจากองค์กรภาคประชาชนไทยประมาณ 50 องค์กร และเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย ประกอบด้วยเครือข่ายองค์กรประชาชนทั้งในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีชุมชนริมน้ำ ซึ่งมีประชาชนประมาณ 24,000 คนจาก 5 จังหวัดริมแม่น้ำโขงของประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยเครือข่ายทั้งสอง ได้ยื่นจดหมาย 2 ฉบับ ลงวันที่ 9 กันยายน เพื่อร่วมกันเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ระงับโครงการเขื่อนไซยะบุรี
 
•   เครือข่ายอื่น ๆ ในต่างประเทศ รวมทั้งองค์กรอนุรักษ์ฯ เช่นกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) หรือกลุ่มนักวิชาการ เช่นศูนย์ข้อมูลแม่น้ำโขงออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (AMRC)
 
•   บุคคลในรัฐบาลของประเทศผู้ให้ทุนต่อภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่นล่าสุดวุฒิสมาชิกจิม เวปป์ของสหรัฐอเมริกา ที่มีความเห็นแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์เขื่อนบนแม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 สืบเนื่องมาจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลอเมริกาซึ่งกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคแม่น้ำโขงอีกครั้ง หลังจากการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลบารัค โอบามา
 
 
ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ประเด็นวิพากษ์จากกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวมาเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี มีเนื้อหาที่พอสรุปได้โดยย่อดังนี้
 
 
•   มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติของไทยขาดความโปร่งใส และขัดต่อหลักธรรมมาภิบาล เพราะการเจรจาซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี ทำไปโดยที่ยังไม่มีการเปิดเผยผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลถึงไทยซึ่งเป็นประเทศท้ายน้ำ (แม่น้ำโขงในเขตพื้นที่จังหวัดเลยของไทย เป็นจุดที่อยู่ห่างจากจุดที่เสนอให้เป็นตัวเขื่อนเพียง 200 กิโลเมตร) และในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า การตัดสินใจรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของรัฐบาลไทย เป็นเพียงการตัดสินใจเฉพาะภาคการเมืองกับหน่วยงานของรัฐ แต่ละเลยต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และประชาชน
 
•   ไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีอาจไม่จำเป็น ยังไม่ชัดเจนว่า ไฟฟ้าจากเขื่อนนี้มีความจำเป็นต่อประเทศไทยหรือไม่ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 25 และการประเมินความต้องการไฟฟ้าของไทยยังมีประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งอยู่อีกมาก
 
•   เขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวิถีประมงและระบบนิเวศแม่น้ำโขงโดยรวม เนื่องจากขัดขวางเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขง ซึ่งชุมชนริมน้ำโขงใช้เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติในการหาอยู่หากินมาโดยตลอด รวมถึงปลาบึกและโลมาอิระวดี จากการศึกษาที่เสนอในที่ประชุมที่จัดโดยสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง ระบุว่า ยังไม่มีเทคโนโลยีใดในปัจจุบันที่จะช่วยให้ปลาจำนวนมหาศาลและหลากหลายชนิดในแม่น้ำโขงยังคงอพยพต่อไปได้เหมือนที่เป็นมาหลังการสร้างเขื่อน
 
•   ระดับน้ำในแม่น้ำโขงและพื้นที่ริมตลิ่งเหนือสันเขื่อนจะถูกน้ำท่วมยาว 90 กิโลเมตร ปัญหาของระดับการไหลของแม่น้ำแปรปรวนซับซ้อนยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ต่อประเทศท้ายน้ำทั้งหมดลงไปจนถึงเวียดนาม
 
•   ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ หากสร้างเขื่อนไซยะบุรี ผลผลิตทางการประมงแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งมีมูลค่าถึง 7 พันล้านเหรียญต่อปี จะได้รับผลกระทบทันที และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหลาย สามารถจะทำให้มูลค่าการประมงทั้งหมดลดได้ถึงร้อยละ 70 หากมีการสร้างจริง
 
•   เขื่อนไซยะบุรีจะปิดกั้นการเกิดตะกอนและแร่ธาตุที่สร้างให้เกิดปากแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชอาหารถึงร้อยละ 50 ของประเทศเวียดนาม ในการประชุมแผนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (Basin Development Plan) ซึ่งนำไปสู่การประเมินเกี่ยวกับเขื่อนที่เสนอสร้างบนลำน้ำโขงสายหลัก ประเมินผลกระทบทางลบในเรื่องระบบนิเวศและการไหลของตะกอนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างที่จะมาจากเขื่อนที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของลาว รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรียังต่ำกว่าความเป็นจริง
 
•   ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและความเดือดร้อนของชาวบ้านหลังมีการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนในปี 2536 เป็นต้นมา รวมทั้งการที่ระบบนิเวศแม่น้ำโขงผันผวนผิดธรรมชาติเป็นอย่างมาก ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม การรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าไซยะบุรี จะเป็นการสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนต่อไปอย่างไม่จบสิ้น และจะยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้านริมโขงให้สาหัสยิ่งขึ้นไปอีก
 
•   กระบวนการเพื่อนำไปสู่การผลักดันการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เป็นสิ่งท้าทาย และคำถามใหญ่ต่อความสามารถของทั้งประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และบทบาทหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการ MRC เนื่องจากที่ผ่านมา มีการทำการศึกษาเพื่อการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment [SEA]) โดยทาง MRC เอง แต่ผลการศึกษาที่บ่งชี้ว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจะเป็นอันตรายใหญ่หลวง กลับถูกละเลย และมีการพยายามใช้กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) เข้ามาแทน
 
•   การทำแผนลุ่มน้ำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากนานาประเทศในขณะนี้ โน้มเอียงไปในทางเห็นด้วยกับโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีนทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังสร้าง และอีก 26 เขื่อนที่เตรียมจะสร้างในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง อีกทั้ง 30 เขื่อนในลำน้ำสาขาที่วางแผนจะสร้างในอีก 20 ปีข้างหน้า และเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลัก 11 เขื่อน ซึ่งเชื่อว่าอย่างน้อย 6 เขื่อนจะสร้างโดยมีผลกระทบที่ “พอจะรับได้”
•   คำถามต่อประเทศผู้ให้ทุนต่อประเทศลุ่มน้ำโขง และให้ทุนต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง คือประเทศเหล่านั้นต้องการหรือไม่ ทีจะสนับสนุนโครงการที่จะทำลายความมั่นคงทางอาหารจากผลผลิตการประมงของประชาชนจำนวน 60 ล้านคนในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่ายากจนนี้
 
•   รัฐบาลประเทศแม่น้ำโขงจะต้องพูดถึงประเด็นเขื่อนให้ชัดเจนโดยเร็ว เนื่องจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักจะสร้างความเสียหายข้ามพรมแดนให้กับทุกประเทศ และอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศจากการแย่งชิงทรัพยากรให้รวดเร็ว และหนักหน่วงขึ้น
 
 
 
การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment [SEA]) และกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) กับแผนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอื่นๆ
 
รวบรวมโดย โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
ตุลาคม 2553
 
สำหรับผู้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission [MRC]) ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อเสนอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ควรให้ความสนใจของกระบวนการ 2 กระบวนการที่เกิดขึ้นในเวลาที่ต่อเนื่องกัน คือ
 
1) การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment [SEA]) ซึ่งเป็นกระบวนการวิเคราะห์เชิงระบบเพื่อการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากแผนการต่าง ๆ เป็นการประเมินที่มุ่งให้เกิดความยั่งยืนในทางสิ่งแวดล้อม โดยประเมินผลกระทบทั้งในแง่บวก และแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และเพื่อนำไปสู่ทางเลือกต่างๆ รวมทั้งการเลือกที่จะไม่ทำแผนการนั้น ๆ และประเมินการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระบวนการ SEA นี้แรกใช้ในอเมริกา ต่อมาที่ยุโรป และถูกใช้ประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ทำแผนการและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
 
กระบวนการ SEA ถูกนำมาใช้เป็นกระบวนการภายใต้แผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง (Basin Development Plan) ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก 11 เขื่อน โดยมีการประเมินในประเด็นหลายประเด็น ที่สำคัญคือประเด็นผลกระทบกับการประมงในแม่น้ำโขง โดยเน้นคำถามที่ว่าเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความหลากหลายทางชีวภาพของปลา รูปแบบการอพยพของปลา และจำนวนปลาที่จับได้ในแม่น้ำโขงมากน้อยอย่างไร นอกนั้นยังประเมินในด้านพลังงาน เศรษฐกิจ การไหลของน้ำและตะกอน ระบบพื้นผิวโลก ระบบน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเริ่มทำการศึกษามาตั้งเดือนพฤษภาคม 2552 โดยการจ้างทีมที่ปรึกษา และใช้งบประมาณก้อนใหญ่จากประเทศผู้ให้ทุนของ MRC
 
โดยหลักการแล้ว MRC จัดทำการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) นี้ขึ้น เพื่อ ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับประเทศสมาชิก ก่อนที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายจะเข้าสู่กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องทำหากต้องการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศของตน ตามข้อตกลงการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนปี 2538 อย่างไรก็ตาม ผลการประเมิน SEA ซึ่งมีการเสนอในที่ประชุมที่จัดขึ้นโดย MRC ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2553 ได้แสดงให้เห็นผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบในด้านประมงที่เป็นความสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ รวมทั้งในเชิงรายได้ทางการประมง และผลประโยชน์จากเขื่อน ที่ส่วนใหญ่จะไปยังบริษัทสร้างเขื่อนและรัฐบาล โดยที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า ในแต่ละประเทศ ผลประโยชน์ที่ได้จะกลับไปสู่ประชาชนที่ยากจนมากน้อยเพียงไร ในขณะที่ผลกระทบทั้งหลาย จะเกิดกับประชาชนผู้ใช้ทรัพยากรโดยตรง และในทันที ข้อสรุปดังกล่าว ยังผลให้ตัวแทนจากประเทศไทยและเวียดนามซึ่งพูดคุยกันในกลุ่มย่อยที่แยกตามประเทศในที่ประชุมดังกล่าว เลือกที่จะมีความเห็นให้ระงับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก หรือให้เลื่อนการปรึกษาหารือไปอีก 10 ปี ในขณะที่ลาวเสนอให้ทะยอยสร้างทีละเขื่อน และตัวแทนจากกัมพูชา งดออกความเห็น
 
ความสำคัญของผลการประเมิน SEA คือข้อมูลทางวิชาการที่ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาที่หนักหน่วงที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งทำให้มีกลุ่มนักวิชาการ และองค์กรอนุรักษ์ ติดตามและให้ความสำคัญกับการรณรงค์ในประเด็นเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักมากขึ้น นอกจากกลุ่มภาคประชาชนที่ทำการรณรงค์อยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่องค์กรภาคประชาชนมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือนอกจากรายงานสุดท้ายของกระบวนการ SEA ยังไม่เสร็จสิ้น และข้อมูลดังกล่าว จะยังไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนให้รับทราบโดยทั่วกัน หรือมีความเห็นในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ในขณะนี้ กลับมีการเสนอการสร้างเขื่อนโดยใช้กระบวนการ แจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) โดยรัฐบาลลาวแทรกขึ้นมาในช่วงปลายเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมาอย่างกระทันหัน
 
2. กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) เป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 2538 เป็นระเบียบปฏิบัติว่า ประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของ MRC (Joint Committee) ผ่านทางสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่ประเทศใด ๆ มีความประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากโครงการดังกล่าวมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ ถือเป็นกลไกที่เป็นทางการที่จะช่วยประเทศสมาชิกของ MRC ในการนำเสนอโครงการแต่ละโครงการให้ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศร่วมกันพิจารณาในระดับภูมิภาค (โดยอาจจะตั้งกรรมการร่วม หรือทำงานเป็นรายประเทศ) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้จะมีการใช้กระบวนการ PNPCA ในโครงการเขื่อนในน้ำสาขาของแม่น้ำโขงมาแล้ว แต่เป็นเพียงแต่การแจ้งให้ทราบ ส่วนการหารือล่วงหน้าและการมีข้อตกลงร่วมกัน อย่าเต็มกระบวนการในกรณีเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก เขื่อนไซยะบุรีนี้เป็นโครงการแรกที่มีการเริ่มต้นใช้กลไกนี้
 
กลุ่มภาคประชาสังคมกำลังมีข้อสงสัยในกระบวนการ PNPCA ที่นอกจากจะปฏิบัติโดยเร่งร้อน และไม่สอดคล้องกับกระบวนการนำข้อประเมิน SEA มาพิจารณาอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ โดยให้ประชาชนของตนเองมีส่วนร่วม อีกทั้งการที่ทางสำนักงานเลขาธิการ MRC ละเลยต่อการให้ข้อมูลที่จำเป็นในกระบวนการต่อเนื่องดังกล่าว เป็นกระบวนการที่ชวนให้สงสัยว่า เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกระบวนการทั้งหมด คือการดำเนินการไปตามขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การสร้างเขื่อน มากกว่าการพยายามหาข้อวินิจฉัยถึงความน่าจะสร้างของเขื่อนที่แท้จริง และตรงไปตรงมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ก็อาจจะถือว่าได้หมดความชอบธรรมในการทำภาระบทบาทของตน ในการอำนวยให้การใช้แม่น้ำโขงเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมในหมู่ประเทศสมาชิกตามที่ประกาศไว้ในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ปี 2538 และยิ่งจะเป็นที่สงสัยว่า ประเทศต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง จะมีแนวทางร่วมกันได้อย่างไร ในการใช้แม่น้ำโขง ซึ่งประชาชน 60 ล้านคนได้พึ่งพาอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ยากหิวโหย และความขัดแย้งข้ามพรมแดน
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net