Skip to main content
sharethis

(22 ธ.ค.53) ที่สำนักงานประชาไท น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (prachatai.com) และนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท ร่วมกันแถลงข่าวความเสียหาย 258 วันของการพยายามปิดกั้นข่าวสารของเว็บประชาไท

จีรนุช กล่าวว่า ประชาไทถูกปิดกั้นโดยคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในวันที่ 8 เม.ย.หรือหลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 วัน หากไม่นับว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน มองในแง่มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับเว็บจะพบว่าจนถึงวันยกเลิกพ.ร.ก.มีความเสียหายเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท คำนวณตามการฟ้องร้องค่าเสียหาย (วันละ 20,000 บาท) ซึ่งประชาไทได้ยื่นฟ้องรัฐบาลและ ศอฉ.ไปแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องระบุว่าเป็นการปิดกั้นเว็บไซต์อำนาจของนายกฯ และรองนายกฯ ตามพ.ร.ก. ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ นอกจากนี้ยังเสียหายต่อชื่อเสียงและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ทั้งในส่วนของเอสเอ็มเอสข่าวและการเปิดรับโฆษณาซึ่งทางเว็บเพิ่งเริ่มต้นโมเดลธุรกิจเหล่านี้เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองให้ยั่งยืน

จีรนุช ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ที่ผ่านมา ศอฉ.มีคำสั่งปิดกั้นเว็บต่างๆ ในลักษณะตามอำเภอใจ จากงานวิจัยของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw.or.th) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ศึกษาพบว่า ศอฉ.มีคำสั่งถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อปิดเว็บไซต์จำนวนหลายหมื่นยูอาร์แอล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปิดกั้นเนื้อหาที่นำเสนอรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการสลายการชุมนุม ซึ่งถือเป็น “การปิดหูปิดตาประชาชน” และยังรวมไปถึงบางเว็บที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว อยากฝากถึงทั้งรัฐบาลและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่าควรยุติการปิดกั้นเว็บทั้งหมดตามคำสั่ง ศอฉ.โดยทันที เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกกฎหมายใดรองรับ

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ยังกล่าวถึงข้อกังวลว่าแม้จะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่สื่อสารมวลชนและสังคมจะต้องตระหนักและร่วมกันเฝ้าตรวจสอบการแปลงโฉมจาก ศอฉ. มาเป็นศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ (ศอส.) โดยอาศัยการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แสดงว่าอำนาจพิเศษตามกฎหมายซึ่งมีลักษณะพิเศษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงของพลเมืองยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ขอบเขตอำนาจของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯไม่ได้ให้อำนาจในการปิดกั้นสื่อ

ชูวัส กล่าวว่า คำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ไม่เพียงแต่ทำความเสียหายให้ประชาไท แต่ยังลิดรอนเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งยังทำลายพัฒนาการของสื่อสารมวลชนไทยด้วย การแถลงข่าวในวันนี้ประชาไทเป็นแค่หนูลองยาที่ออกมาพูด อยากให้เว็บไซต์ต่างๆ ที่โดนปิดกั้น ได้รับผลกระทบจากจากการสั่งปิดออกมา อย่างน้อยก็ทำให้สังคมรู้ว่าเสรีภาพที่เขาพรากไป 8 เดือนมันมีค่ามหาศาลขนาดไหน

บก.บห.เว็บไซต์ประชาไทกล่าวว่า รัฐไทยควรสรุปบทเรียนได้แล้วว่า ประการแรก พรก.ฉุกเฉิน นอกจากทำความเสียหายแล้ว ไม่สามารถปิดกั้นสื่อได้เลย สื่อหลักคุณก็ไม่กล้าปิด สื่อใหม่ๆ ก็ปิดไม่ได้ โดยเทคโนโลยีมันไม่ยอมให้คุณปิด  ประการที่สอง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการปิดกั้นของ ศอฉ. ทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยขยายตัว เนื่องจากข่าวสารจำนวนมากถูกซุกอยู่ใต้ดิน แม้ในแวดวงนักวิชาการเองน้อยคนที่จะสืบค้นข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อการอ้างอิง ถกเถียงกันทางวิชาการ ความจริงอีกด้านของคนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ถูกนำมาพูดคุย เมื่อคนไม่ได้พูดมันก็สะสมเป็นความกดทับภายใน รอวันระเบิด

“ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น และมีนัยยะสำคัญมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยตรง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นปัญหาของความมั่นคงและความสงบสุขของรัฐ และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” ชูวัสกล่าว

ทั้งนี้ ผอ.ประชาไทระบุว่า เว็บประชาไทเผชิญกับการปิดกั้นโดยต่อเนื่อง ในการปิดกั้นทุกช่องทางทางเว็บข่าว เว็บบอร์ด ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทิวป์ สำหรับเว็บไซต์ข่าวเปลี่ยนชื่อเว็บไปทั้งหมด 8 ครั้ง เว็บบอร์ดเปลี่ยนชื่อ 3 ครั้ง ก่อนที่ประชาไทจะตัดสินใจปิดเวบบอร์ดไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ความพยายามปิดกั้นกระทำทั้งโดยการปิดกั้นชื่อเว็บ, การปิดกั้นไอพีแอดเดรส, การปิดกั้นที่เซิร์ฟเวอร์ เป็นเหตุให้ประชาไทต้องย้ายไปใช้บริการเซิร์ฟเวอร์ การจดทะเบียนชื่อเว็บและอื่นๆ เกือบทั้งหมดในต่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันในการที่เว็บจะสามารถเข้าถึงได้ สำหรับยอดผู้เข้าชมนั้น หลังจากถูกปิดกั้นทำให้จำนวนผู้เข้าชมลดลงถึง 2 ใน 3 จากสถานการณ์ปกติ

อนึ่ง วานนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม พร้อมตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ขึ้นมาทดแทนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ต้องยุบเลิกไปโดยสภาพ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อลองเข้าเว็บประชาไทด้วยยูอาร์แอล www.prachatai.com ด้วยอินเทอร์เน็ตทรูและทีโอที พบว่าไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยขึ้นข้อความว่าเป็นการปิดกั้นตามคำสั่งของ ศอฉ. ขณะที่เมื่อเข้าด้วยอินเทอร์เน็ต 3BB สามารถเข้าถึงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net