Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แดดบ่ายจัดฉายฉานจากด้านหลังตัวปราสาทศีขรภูมิ หรืออีกชื่อเรียก ปราสาทระแงง ซึ่ง ‘ครูธี ธีรภาพ โลหิตกุล’ บอก เล่าว่า เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 เพื่อบูชาพระศิวะ มีลักษณะปนกันระหว่างศิลปะขอมแบบปาปวนและแบบนครวัด ต่อมามีการดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ในราว พุทธศตวรรษที่ 22 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ครูธีลงจากรถตู้โดยสารได้ก็เดินดุ่มๆ เวียนรอบตัวปราสาท มาหยุดยืนนิ่งหันหลังให้ตะวัน แล้วจารึกภาพอย่างช่างผู้ชำนาญการ ข้าพเจ้าเวียนอีกด้านหนึ่งด้วยความประสงค์อยากถ่ายภาพเงาปราสาทในคูน้ำ จนเดินวนมาถึงจุดที่ครูเคยนั่งส่องกล้องอย่างเอาจริงเอาจังก็ต้องร้อง อ้อ..ถึงว่า ครูธีตรงดิ่งมามุมนี้ จึงนั่งกดชัดเตอร์เอาภาพกิ่งก้านอ้อนแอ้นของต้นสำโรงเป็นฉากหน้าปราสาทอย่าง เอาจริงเอาจังเช่นกัน ก่อนถูกเรียกไปฟังไกด์กิตติมศักดิ์ หรือครูธี ให้การศึกษาเรื่องปราสาทศีขรภูมิอย่างออกรส และได้ความรู้ว่า ปราสาทศีขรภูมิมีศิลาทับหลัง และภาพสลักอัปสราตรงหน้าเสากรอบประตูที่สวยและสมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย นอกจากนั้นภาพสลักนกแก้วบนบ่าของนางอัปสรา ยังมีอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในบรรดาปราสาทขอมในเวิ้งเวียนอุษาคเนย์

เมื่อมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวจากผู้รู้เรื่องขอมโบราณดี จึงทำให้ประวัติศาสตร์โบราณสถานอีสานใต้ ซึ่งข้าพเจ้าอ่านผ่านไม่มาก และจดจำยุคสมัยไม่เคยได้ และไปเห็นมาด้วยตาไม่ครบทุกปราสาท กลับกลายเป็นเรื่องราวที่มีชีวิตชีวาและน่าสนใจขึ้นมาก

ก่อนมาถึงปราสาทศีขรภูมิในยามแดดโรยแล้ว ก่อนนั้นคณะเราได้มีโอกาสเยี่ยมชม “สุรินทร์สโมสร” หรือคลับที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สามัญชนคนสุรินทร์ ผ่านภาพถ่าย, วารสารและหนังสือเล่มไว้อย่างน่าสนใจ ต่อด้วย “พิพิธภัณฑ์สุรินทร์” ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก และ ‘ครูสมปอง ดวงไสว’ วิทยากร อีกท่านบอกว่า เป็นความต่อเนื่องลงตัวดี ที่มีโอกาสได้รับรู้ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน สู่เรื่องเล่าเก่าก่อนของเหล่ากษัตริย์เจ้าชีวิต ผู้สามารถขีดเส้นเป็นตายให้อนาประชาราษฎร์

จากนั้น ‘มน’ เพื่อนจากสุรินทร์สโมสรได้พาเราลงพื้นที่บ้านดงมัน ต.คอโค อ.เมืองสุรินทร์ ดินแดนอันเป็นถิ่นเกิดของ ‘น้ำผึ้ง เมืองสุรินทร์’ ศิลปิน พื้นบ้านผู้โด่งดังในแถบถิ่นอีสานใต้ ทั้งยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ศิลปะดนตรีกันตรึมพื้นบ้าน เห็นได้จากมีบ้านครูเพลงอีกหลายท่าน อาทิ ‘ครูธงชัย สามสี’ นอก จากจะเป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรี เป็นครูผู้มีผลงานการแสดง และได้รับรางวัลจากการประกวดในเวทีต่างๆ มากมาย รวมทั้งเป็นผู้แทนประเทศไทยไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านในต่างประเทศหลาย ครั้ง ยังเป็นลูกศิษย์ ‘ครูพูน สามสี’ ครูเพลงกันตรึมและ มโหรีเขมรที่มีความสามารถเป็นเลิศ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีลูกศิษย์ลูกหากว่า 200 คน แต่น่าเสียดายที่ ‘ครูพูน สามสี’ ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อสองปีก่อน ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึงจากผู้ที่รักและศรัทธาครูเพลงว่า ศิลปะกันตรึมโบราณจะขาดไร้ผู้สืบทอด และเลือนหายไปจากการรับรู้ของผู้คน รวมทั้งเราผู้เพิ่งมีโอกาสได้มารู้จัก และมาเยี่ยมเยียนครูพูน สามสี ก็ช้าไปเสียแล้ว จึงมีโอกาสรับฟังแค่เรื่องราวที่ได้กลายเป็นตำนานไปแล้วเท่านั้น

พอลงจากรถตู้ครูสมปอง เห็นลูกศิษย์ครูธงชัยสลักเสลากองกันตรึม หรือสก็วรกันตรึม อยู่ในโรงไม้ข้างบ้าน ก็เดินตรงดิ่งไปขอสัมภาษณ์อย่างกระตือรือร้น ด้วยความที่เพิ่งเคยเห็นคนทำกองกันตรึมเป็นครั้งแรกในชีวิต บวกความเร่งรีบจากเวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัด และย้ำกับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการในภายหลังว่า “พวกคุณอยู่กับของมีค่า อยู่กับวัตถุดิบที่สามารถนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวได้หมด ต่างจากพวกผมที่อยู่กรุงเทพ เรื่องราวของท้องถิ่นที่น่าสนใจแบบนี้ ต้องออกไปแสวงหาเอง” ในวาระของการจัดทำโครงการแบบนี้ แล้วมีโอกาสได้มาลงพื้นที่อย่างบ้านดงมัน ชุมชนที่ร่ำรวยศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือแหล่งกำเนิดอันเป็นต้นทางกันตรึมโบราณ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีของพวกเราทุกคน

กล่าวถึงโครงการบ็องปะโอน โตวตะเซร จุมคะเนีย หรือ พี่น้องผองเพื่อนเรามาเขียนกันเถอะ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2554 ณ สถาบันชุมชนเกษตรธรรมชาติ ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เกิดขึ้นจากความร่วมไม้ร่วมมือของหลายองค์กรพัฒนาสังคมในสุรินทร์ ซึ่งกลุ่มผู้ผลักดันหลักๆ เป็นหนุ่มสาวที่กระจายอยู่แต่ละองค์กร มีศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นสุรินทร์เป็นคีย์หลัก และแหล่งงบประมานส่วนหนึ่ง มีมูลนิธิชุมชนอีสาน, มูลนิธิพัฒนาอีสาน, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, สกว.ท้องถิ่นสุรินทร์ และโครงการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างบูรณาการจังหวัดสุรินทร์ หรือ สสส.บูรณาการสุรินทร์ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลัก มีหนุ่มสาวที่สนใจงานคิดงานเขียน งานถ่ายภาพสารคดี เข้าร่วมโครงการกันอุ่นหนาฝาคั่งกว่า 35 คน

วันแรกของการจัดงานมีการให้แนวคิดทฤษฏี ทักษะวิธีการเบื้องหลังหลักการเขียนสารคดี การถ่ายภาพสารคดี มีครูธีรภาพ โลหิตกุล, ครูสมปอง ดวงไสว, พี่เกน กิติมาภรณ์ จิตราทร และพี่แขก ภคมาศ วิเชียรศรี มาเป็นทีมวิทยากร ก่อนปล่อยน้องๆ ลงพื้นที่ที่บ้านโคกสวาย ต.ท่าสว่าง อ.เมือง และชุมชนศรีบัวราย ในตัวเมืองสุรินทร์ เพื่อหาวัตถุดิบมาเขียนสารคดีกันสดๆ ถือเป็นปฏิบัติการทดลองเขียนจากแหล่งข้อมูลตรงในพื้นที่ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่พี่น้องเราทำงานอยู่

ในช่วงที่น้องๆ ลงพื้นที่ และกุมขมับเพื่อผลิตงานไม่เกิน 3 หน้ากระดาษนั้น ทีมวิทยากรจึงขอโอกาสท่องเที่ยวแบบเอาเรื่องตามแหล่งโบราณสถานสำคัญไม่ไกล จากตัวเมืองสุรินทร์นัก เพื่อหาวัตถุดิบในการผลิตงานของตนต่อเนื่องเช่นกัน ก่อนกลับมานำวิจารณ์ชี้แนะภาพถ่าย และงานเขียนของน้องๆ กันในอีกวันที่เหลือ

พอได้รับคำวิจารณ์แบบเพิ่มกำลังใจไฟฝัน โดยการกดรัว Like เมื่อถูกใจตามแนวที่กำลังนิยมในเฟซบุ๊กให้ผลิตผลงานต่อเนื่อง ‘น้องยุทธฺ ยงยุทธ พงสาลี’ จาก สถาบันชุมชนอีสาน หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับ Like หลายที เล่าว่า “อยากมาเข้าร่วมโครงการตั้งแต่แรก พอมาร่วมก็ดีมากครับ ได้หลักการเขียนสารคดี การถ่ายภาพ ทำให้คิดว่าเราเองก็น่าจะเขียนได้ และถ่ายภาพแต่ละครั้งให้มีเรื่องราวมากขึ้นได้ มาครั้งนี้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่สนใจงานเขียนเหมือนกัน ได้รับฟังคำวิจารณ์งานเขียน ทำให้รู้ว่าจะปรับแก้ตรงไหนอย่างไร ใช้คำแบบไหนไม่ฟุ่มเฟือย จากเวทีทำให้สรุปได้ว่าสถานที่ไหนๆ ก็มีเรื่องราว เพียงแต่เราจะเห็นหรือไม่ และนำเสนอออกมามุมไหนเท่านั้นเองครับ”

อีกเสียงจาก ‘นุช ณัฐกานต์ สิทธิสังข์’ จากมูลนิธิพัฒนาอีสาน ผู้ส่งผลงานเรื่อง “หมอตำแย...หมอแท้แห่งจิตวิญญาณ” ให้ทีมวิทยากรช่วยชี้แนะ แล้วได้รับโหวตให้เป็นหนึ่งเรื่องตัวอย่างดีเด่น ได้รับหนังสือเรื่อง “ด้วยแรงแห่งรัก..โพธาราม” จากครูธีรภาพ เป็นรางวัล เล่าว่า “ปกติไม่มีความมั่นใจว่าตนเองจะเขียนบทความหรือสารคดีได้ แต่เมื่อได้ไปอบรม ได้รับแนวคิด หลักการเขียน แล้วลงพื้นที่ค้นหาประเด็นและพัฒนางานจากพื้นที่ขึ้นมา แล้วได้รับรางวัล 1 ใน 5 เรื่องจากวิทยากร แม้จะรู้สึกงงนิดๆ แต่ลึกๆ ก็ทำให้เรามีแรงและกำลังใจในการพัฒนางานเขียนให้ดีขึ้น ที่สำคัญทำให้รู้ว่า การนำเสนองานในพื้นที่ให้น่าสนใจนั้น ไม่จำเป็นต้องเขียนงานวิชาการเสมอไป อาจจะเป็นเรื่องสั้นที่อ่านแล้วสนุก แต่มีสาระเพราะอิงข้อมูลจริงจากพื้นที่ก็ได้คะ”

จากความมุ่งหมายเบื้องต้นของทีมผู้จัด คือ อยากจุดประกายความฝัน และสร้างบรรยากาศการคิดการเขียน หรือยกระดับการสื่อสารของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ทำงานพัฒนาสังคมในท้องถิ่น สุรินทร์ให้มีพลัง ทั้งยังเพื่อกระชับความสัมพันธ์ หรือให้รู้จักมักคุ้นกันข้ามองค์กร ข้ามเครือข่ายการทำงานมากขึ้นนั้น พอนับได้ว่าบรรลุเป้าหมาย นอกจากผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละท่านจะเกิดแรงบันดาลใจ ทีมวิทยากรยังหนุนเต็มที่เรื่องการรวมเล่มจนน้องๆ ตั้งตัวไม่ทันว่า เราได้กลายมาเป็นนักเขียนไปแล้วหรือนี่? มิหนำซ้ำยังได้รวมเล่มกับนักเขียนสารคดีมีชื่ออีกต่างหาก(ฮ่าไฮ้) นอกเหนือจากนั้น เราหลายคนยังได้กลายมาเป็นกองบรรณาธิการจำเป็นที่มีโอกาสได้ฝึกหัดการทำ หนังสืออีกด้วย

นอกจากจะ(แอบ)หนักใจปนยินดีที่มีโอกาสได้รวมเล่ม และทีมวิทยากรยังเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาและเป็นบรรณาธิการใหญ่ให้ น้องๆ คนหนุ่มสาวสุรินทร์ยังมีกิจกรรมร่วมกันต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการคิดการเขียนในท้องถิ่นให้เฟื่องฟูยิ่งขึ้น เบื้องแรกเชิญทุกท่านแอด “คนหนุ่มสาวสุรินทร์” ได้ที่เฟซบุ๊ก เพื่อแบ่งปันงานเขียน ภาพถ่าย แจ้งข่าวสาร และสอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน นอกเหนือจากนั้นอาจมีวาระการลงเยี่ยมเยียนเพื่อนมิตร มีวงแลกเปลี่ยน มีนัดดูหนัง มีทริปถ่ายภาพ และมีนัดนำเสนอผลงานกัน เมื่อถึงวาระของงาน “ศิลป์ในสวน-ได้สำแดง” ซึ่ง ทีมคุณเต่า หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯเขาจัดกันอยู่แล้วทุกเดือน ณ สวนเฉลิมพระเกียรติเมืองสุรินทร์ ขอเชิญชวนพี่น้องบ็องปะโอนทุกท่าน มาโตวตะเซรจุมคะเนียกัน เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่สื่อ และสร้างเสริมความมุ่งมั่นเรื่องการเขียน การถ่ายภาพ หรือการผลิตผลงานศิลปะไม่จำกัดแขนงของศิลปินหนุ่มสาวแต่ละท่านให้ต่อเนื่อง ยาวนานด้วยเถิด....เพราะอย่างน้อยๆ เมื่อหนุ่มสาวเหล่านี้รู้จักรักการเขียนอ่าน ย่อมดีกว่ากระหายการเข่นฆ่ากันกับเพื่อนบ้านให้เลือดทาแผ่นดิน..สาธุ!

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net