"แม่แรม" ชุมชนเดิมในที่ดินพิพาทกับ "ทหาร"

กรณีพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านหมู่ 5 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กับทางราชการ โดยเฉพาะกรมรบพิเศษที่ 5 ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องย้อนไปตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ฝ่ายราชการอ้างโดยเฉพาะหน่วยงานทางทหารอ้างตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินที่ออกสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้เวนคืนพื้นที่ดังกล่าว และล่าสุดกรมบังคับคดีสั่งรื้อถอนบ้านของชาวบ้านในพื้นที่ 3 ราย กำหนดรื้อถอน 12 ก.ย. ขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่าชุมชนของตนไม่ได้รุกป่า สร้างชุมชนมายาวนานอย่างน้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 และหวังให้รัฐบาลใหม่เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้และช่วยเหลือโดยด่วน ผู้อาวุโสในหมู่ 5 ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (จากซ้ายไปขวา) 1. ปู่เหมย อายุ 76 ปี 2. ปู่โมก อายุ 85 ปี 3. ปู่กาบอายุ 79 ปี 4. ปู่ตั๋น อายุ 73 ปี โดยทุกคนเกิดที่นี่ อยากแก่และตายบนที่ของตน (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจาก Chaisiri Jiwarangsan) ใบเหยียบย่ำที่ดิน ออกหลัง พ.ศ. 2479 เป็นหลักฐานการตั้งอยู่ของชุมชนมาอย่างยาวนาน (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจาก Chaisiri Jiwarangsan) สำเนาแบบแจ้งครอบครองที่ดินของวัดอัมพวันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2498 ซึ่งเป็นหลักฐานว่ามีชุมชนนี้มาก่อนค่ายกรมรบพิเศษที่ 5 นานแล้ว (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจาก Chaisiri Jiwarangsan) บันทึกข้อตกลงในวันที่ 1 มิ.ย. 2536 ซึ่งมีข้อหนึ่งที่ระบุว่ากองทัพบกยินยอมบอกเลิกการใช้ประโยชน์ใน บริเวณหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจการสำนักนายกรัฐมนตรี ผบ.รพศ.5 และพยานอื่นๆร่วมกันลงนาม แต่ปัจจุบันในหนังสือจากราชการยังคงเรียกพื้นที่นี้ว่า \พื้นที่ราชพัสดุของกองทัพบก\" (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจาก Chaisiri Jiwarangsan) ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี บังคับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 12 กันยายน 2554 ก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะส่งเอกสารโฉนดชุมชนได้สมบูรณ์เพียง 1 เดือน (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจาก Chaisiri Jiwarangsan) ป้ายประท้วงภายในบริเวณชุมชน (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจาก Chaisiri Jiwarangsan) ชาวบ้านเริ่มจัดการชุมนุมหน้าวัดอัมพวัน (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อจาก Chaisiri Jiwarangsan) \"สำนักงานบังคับคดี\" สั่งรื้อบ้านใน ต.แม่แรม 3 หลังภายใน 12 ก.ย. ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา พนักงานบังคับคดีสั่งให้ชาวบ้านหมู่ 5 ต.แม่แรม 3 รายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง โดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ออกประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 23 ส.ค. 2554 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 778/2546 ระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ และจำเลย คือ นายม่วง ทิศเหนือ นายอุทัย ไหแก้ว นายดวงจันทร์ นันต๊ะ ซึ่งทั้งสามเป็นราษฎรอาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านทุ่งห้า-ป่าม่วง ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยประกาศให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่พิพาท โดยคำสั่งระบุว่า \"เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีหมายบังคับคดีให้ บังคับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่พิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการกำหนดวันรื้อถอนในวันที่ 12 ก.ย. 2554 และวันต่อๆ ไป จนกว่าจะแล้วเสร็จ\" เป็นพื้นที่พิพาทยาวนานนับ 20 ปี ระหว่างทหาร - ชาวบ้าน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านหมู่ 5 ต.แม่แรม กับทางราชการ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 เมื่อมีการตั้งกรมรบพิเศษที่ 5 โดยทหารจะเข้ามาใช้พื้นที่หมู่บ้าน โดยระบุว่าเป็นที่ดินทหารตาม \"พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2483\" ออกในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะที่ชาวบ้านถือว่าเป็นชุมชนอยู่อาศัยกันมายาวนาน โดยมีหลักฐานเป็นวัดอัมพวันในหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ.2473 และชาวบ้านในหมู่บ้านบางรายมีเอกสารใบเหยียบย่ำ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2479 และ สค.1 ที่ราษฎรรายหนึ่งแจ้งการครอบครองต่อทางอำเภอแม่ริมใน พ.ศ.2473 ในปี 2536 ฝ่ายชาวบ้านและราชการเคยเจรจากันจนกระทั่งมีข้อตกลง ระหว่างตัวแทนชาวบ้านหมู่ 5 ต.แม่แรม อ.แม่ริม กับทางราชการโดยมีนายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และพลตรี ยุทธนา เมืองมั่งคั่ง ผบ.มทบ.33 ลงนามด้วย โดยหนึ่งในข้อตกลงได้แก่ \"ทหารรับรองว่าจะไม่คุกคาม ทำลายขวัญ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุที่ให้ชาวบ้านหวาดกลัวอีกอย่างเด็ดขาด\" และ \"เมื่อกองทัพบกยินยอมบอกเลิกการใช้ประโยชน์ในบริเวณที่ดินหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว ทางราชการจะดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 ต่อไป\" (อ่านข่าวย้อนหลัง) เผยมีคำสั่งเวนคืน ขณะชาวบ้านทำเรื่องขอ \"โฉนดชุมชน\" อย่างไรก็ตามกรณีพิพาทเวนคืนที่ดินที่ราชพัสดุระหว่างชาวบ้าน กับ กรมรบพิเศษที่ 5 จังหวัดทหารบกเชียงใหม่ ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเมื่อปี 2550 ก็มีคำสั่งจากกรมบังคับคดีให้จำเลยและบริวาร ซึ่งเป็นชาวบ้าน 3 รายในหมู่บ้านรื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินออกจากที่ดินที่ราชพัสดุ ก่อนที่จะมีการเจรจากัน ณ ที่ว่าการอำเภอแม่ริม ล่าสุดในปี 2554 ชาวบ้านหมู่ 5 ดังกล่าว กำลังดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชน และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2554 ก็ปรากฏว่าเมื่อ 23 ส.ค. ที่ผ่านมาได้มีคำสั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านจัดอาสาสมัครเฝ้ายามหวั่นถูกรื้อถอนบ้าน สำหรับความคืบหน้าล่าสุด หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ รายงานเมื่อ 2 ก.ย. ว่า ชาวบ้านหมู่ 5 ต.แม่แรม ดังกล่าว ได้เตรียมรับมือกรมบังคับคดีสั่งรื้อบ้าน มีการเตรียมจัดเวรยามนำโดยผู้ใหญ่บ้าน ชุด ชรบ. ตำรวจบ้าน และ อปพร. รวมถึงชาวบ้านได้แบ่งกำลังจัดเวรยามตรวจตราเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่หรือคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน หรือนำกำลังและเครื่องจักรกลเข้ามารื้อถอนบ้านที่ถูกคำสั่งให้รื้อถอนจากกรม บังคับคดี หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ รายงานด้วยว่า ชาวบ้านได้รวมตัวกันเรียกร้องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยื่นหนังสือถือนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยนายเมฆ ทิศเหนือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 กล่าวว่าบ้านของตนเป็นอีกหนึ่งหลังที่ถูกสั่งรื้อ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็มาให้กำลังใจไม่ขาดสาย พร้อมหนุนให้สู้ต่อเพราะชาวบ้านเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะบ้านทุ่งห้าป่าม่วงเป็นหมู่บ้านดั่งเดิมที่มีการอยู่อาศัยมาหลายร้อยปี มีถาวรวัตถุคือวัดอัมพวันและมีสถานศึกษาคือโรงเรียนบ้านป่าม่วงเป็นสิ่งยืน ยันได้ถึงความเป็นหมู่บ้านถาวร ตลอดเวลาตั้งแต่ปู่ย่าตายายต่างอยู่อาศัยกันเป็นปกติสุข และเริ่มมีปัญหาเมื่อมีการตั้งค่ายรบพิเศษที่ 5 เมื่อราวปี 2536 ทหารอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของทหาร ชาวบ้านได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่อยมา จนล่าสุดทราบว่ามีการนำพื้นที่ดังกล่าวให้กรมธนารักษ์ดูแล และบังคับให้ชาวบ้านเช่า แต่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นที่ที่อยู่อาศัยมานานเพียงแต่ไม่ได้ยื่นขอเอกสารสิทธิ การที่จะให้ชาวบ้านเช่าจึงไม่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการบังคับคดีฟ้องขับไล่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านยันไม่ได้รุกป่า ห่างอำเภอแค่ 5 กิโลเมตร วอนรัฐบาลใหม่ช่วยเหลือ สิ่งที่จะเป็นทางออกและเป็นความต้องการของชาวบ้านจากที่ประชุมหารือกัน คือต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวจัดทำเป็นโฉนดชุมชน ให้ชาวบ้านดูแลกันเอง โดยกันออกมาจากพื้นที่ที่อ้างว่าเป็นของทหารหรือของกรมธนารักษ์ การออกมาปกป้องหมู่บ้านในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการฝืนคำสั่ง ไม่ได้เป็นการท้าทาย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้อาศัยอยู่ในป่า ไม่ได้รุกป่า เป็นหมู่บ้านที่ถือได้ว่าเป็นเขตเมืองห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ริมไม่ถึง 5 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของ อบต.แม่แรม มีผู้ใหญ่บ้าน มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครบครันทั้งไฟฟ้า น้ำประปาและบ้านทุกหลังคาเรือนมีทะเบียนบ้านยืนยันการอยู่อาศัยจริง มีใบเหยียบย้ำพื้นที่ ซึ่งเป็นต้นแบบของโฉนดที่ยืนยันการถือครองได้ ที่ผ่านมาได้รับงบจากกองทุนหมู่บ้านจนสามารถพัฒนาให้เป็นธนาคารชุมชนแห่งแรกของอำเภอแม่ริมมาแล้ว จึงอยากร้องขอความช่วยเหลือไปยังนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลงมาตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านโดยด่วน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท