Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สลิ่ม คืออะไร?? ผมเคยพยายามเทียบเคียงคำนี้กับภาษาอังกฤษ เพื่ออธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจ ปรากฎว่าหาไม่เจอ คอนเซอร์วาตีฟหรอ? ก็พบว่าไม่ใช่ 
 
ในแง่ของภาษาและการกำหนดความหมาย เราสามารถเข้าใจความหมายของ “คอนเซอร์วาตีฟ” โดยวางมันเทียบเคียงกับ “เสรีนิยม” พวกเรารู้ดี เรามักสร้างอัตลักษณ์หนึ่งจากการสร้างความเป็นอื่น ไม่ใช่ความเหมือน ให้กับอัตลักษณ์แบบอื่น แล้วสลิ่มหละ เราคงจะต้องทำความเข้าใจคำว่าสลิ่ม จากสิ่งที่วางอยู่ตรงข้าม นั่นคือความไม่เป็นสลิ่ม
 
ข้อสังเกตที่สำคัญคือ เกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ คำว่า “สลิ่ม” ถูกใช้โดยคนในเมืองที่มีการศึกษา หรือโดยชนชั้นคอปกขาว เพื่อคนในชนชั้นคอปกขาว  พูดง่ายๆ มันถูกใช้ภายในชนชั้นกลางด้วยกันเอง เราแทบไม่พบคนชนชั้นแรงงานใช้คำนี้เรียกขานกลุ่มเดียวกัน (อาจจะมีกรณียกเว้น ก็สำหรับกลุ่มผู้นำแรงงานหรือกลุ่มที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ ) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
 
แท้จริงแล้ว คำว่า “สลิ่ม” สะท้อนรสนิยมทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง  ไม่ว่าจะคลุมเครือแค่ไหน ผู้พูดมักกำลังสื่อถึงท่าทีหรือจุดยืนทางการเมืองที่ไร้รสนิยมทางการเมืองจากสายตาของผู้พูด
 
นักสังคมวิทยาประดิษฐ์คำว่า “รสนิยม” ขึ้นใช้ครั้งแรกกับคนชั้นกลางที่เป็นสัตว์สังคมทุนนิยมไม่ใช่หรือ ในบริบททางเศรษฐกิจ คนชนชั้นแรงงานมีกำลังทางเศรษฐกิจจำกัด จึงบริโภคเพียงสิ่งที่จำเป็นก่อนเสมอ อันนี้รวมถึงสินค้าทางการเมืองอย่างเช่นนโยบายของพรรคการเมืองด้วย (จะเห็นว่าคนจำนวนมากจึง “รักทักษิณ” เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากนโยบาย ก่อนที่จะรักตัวคุณทักษิณและพรรคมากขึ้นภายหลังจากถูกรัฐประหาร)
 
จะสังเกตเห็นอีกด้วยว่าคนชั้นกลางเจ้าของวาทกรรม “สลิ่ม” นั้นมักเป็นกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับ “โลกภายนอก”หรือสังคมเมืองภายนอกประเทศ โดยเฉพาะสังคมตะวันตกหรือประเทศอุตสาหกรรมอย่างสูง
 
ชนชั้นกลางกลุ่มนี้จึงมักมีบุคลิกลักษณะ ท่าทีและจุดยืนทางการเมืองที่เป็น “สากล” เพราะพวกเขาเชื่อมโยงกับสังคมเมืองทั่วโลกผ่านระบบทุน การค้าและการบริโภคที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์อยู่ทุกวัน รวมถึงพวกเขาพบว่าตัวเองมีความคิดเห็น รวมถึงจุดยืนทางการเมืองใกล้เคียงกับคนชั้นกลางในประเทศอื่น มากกว่าชนชั้นอื่นภายในประเทศตัวเอง
 
อย่างไรก็ตาม ฐานะทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงกับโลกภายนอกผ่านการศึกษาในตะวันตกและระบบทุนก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่จำเป็นเท่านั้น  หากแต่ความเชื่อในเรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน รวมถึงการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบตัวแทนและระบบเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอที่ทำให้พวกเขาต่างจากชนชั้นกลางที่พวกเขาเรียกว่า “สลิ่ม”
 
การสร้าง “สลิ่ม” แท้จริงเป็น political project ของคนชั้นกลางฝ่ายหนึ่งที่ต้องการหาพื้นที่ของตนเองท่ามกลางการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง ท่ามกลางการกำหนดขั้ว การหาพันธมิตรและศัตรู เพื่อบอกให้คนกลุ่มอื่นรู้ว่าพวกเขามีที่ทางตรงไหน  เหินห่างหรือตั้งตระหง่านอยู่เคียงข้างใคร
 
พูดแบบวิชาการ มันจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ภายในชนชั้นกลาง
 
สลิ่มจึงเป็นซับเซ็ตหนึ่งภายในชั้นกลางและมีลักษณะแบ่งแยกมากกว่าจะรวมใครเข้าหากัน นอกจากนี้ เนื่องจากเราสามารถเพิ่มรายละเอียดความเป็นสลิ่มเข้าไปในรายการได้ไม่รู้จบ การแตกแยกย่อยเฉดสีของความเป็นสลิ่มจึงสามารถเกิดขึ้นได้ไม่รู้จบเช่นกัน
 
ประเด็นสำคัญที่ควรจะกล่าวถึงต่อไปก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นกลางกลุ่มนี้กับคนชนชั้นอื่น ก็ยังคงมีลักษณะเป็นแนวดิ่งหรือมี hierarchy ไม่ต่างจากเดิมนัก ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะเกี่ยวข้องกับรูปแบบและผลสำเร็จของการสร้างแนวร่วมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทย แต่ไม่อาจกล่าวถึงได้ในบทความสั้นๆ ชิ้นเดียว
 
 
*ผู้เขียนจึงอยากจะขอเชิญชวนร่วมถกเถียงในประเด็น "สลิ่ม" นี้ ในวันที่ 2 ธ.ค. 54 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ร้าน 9 บรรทัด
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net