คุยกับคนเชิญการ์ดงานศพ 'อากง' สู่มือ ศาล ตำรวจ นักการเมือง และกรรมการสิทธิ

 

 

นิธิวัต วรรณศิริ ตัวแทนจากกลุ่มเสรีราษฎรเป็นบุคคลผู้ที่ตระเวนเยี่ยมเยียนนักโทษทางการเมืองและผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นและอย่างสม่ำเสมอ ‘อากง’ ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เขาดูแลใกล้ชิดและมีส่วนร่วมในการฟังคดีแทบทุกครั้ง

หลังการเสียชีวิตของอากง หนุ่มวัยยี่สิบกว่าที่ผูกพันกับอากงเสมือนเป็นญาติของเขาคนนี้ได้ทำการ์ดเชิญร่วมสวดอภิธรรมศพอากงฉบับขยายใหญ่ ตระเวนยื่นให้แก่บุคคลที่เขาเห็นว่า มีส่วนร่วมต่อการกำหนดชะตากรรมของอากงที่ลงเอยด้วยการเสียชีวิตในเรือนจำ

11 พ.ค.55 เขาเดินทางไปรัฐสภาเพื่อนำการ์ดเชิญให้ ‘สมเกียรติ ครองวัฒนสุข’ อดีตเลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเขาเป็นผู้ได้รับข้อความ 4 ข้อความและแจ้งความต่อตำรวจ

อย่างไรก็ตาม นายวิโรจน์ นุ่นสุวรรณ์ ตัวแทนที่ประชุมฝ่ายค้านในรัฐสภาของพรรคประชาธิปปัตย์ เป็นตัวแทนลงมารับการ์ดเชิญโดยระบุว่านายสมเกียติไม่ได้เข้ามาทำงานที่สภาในวันนั้น

วันเดียวกัน เขาและคณะราว 3-4 คนเดินทางไปยังศาลอาญา เพื่อนำการ์ดไปให้กับอีก 3 คือ  ‘ทวี ประจวบลาภ’ อธิบดีศาลยุติธรรม ซึ่งเพิ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าศาลไม่สามารถพิจารณาให้ประกันตัวได้เนื่องจากจำเลยถอนอุทธรณ์ทำให้คดีถึงที่สุดแล้ว

ต่อมาคือ ‘สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ’ โฆษกศาลยุติธรรม ซึ่งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์เรื่อง “อากงปลงไม่ตก” ตอน 1 และตอน 2 ผู้สร้างความฮือฮาด้วยวาทะ “สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก”

และสุดท้ายคือ ‘ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาที่ตัดสินพิพากษาโทษ 20 ปี

ในคราวนี้ สุชาดา แก้วทรงประสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ศาลอาญา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับบัตรเชิญดังกล่าว ต่อมาเว็บไซต์มติชนรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อธิบดีศาลอาญาเตรียมถกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนส่งหรีดให้ "อากง"

ไม่เพียงเท่านั้น นิธิวัตและคณะยังคงวางแผนที่ดำเนินกิจกรรมต่อ โดยในวันจันทร์ที่ 14 พ.ค.นี้ จะนำบัตรเชิญไปส่งถึง ‘พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู’  จาก ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี)  ที่นำกำลังตำรวจเข้าจับกุมตัวอากงนับสิบนาย และ ‘อมรา พงศาพิชญ์’ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยเขาระบุว่าเหตุผลว่า “เป็นเพราะเงียบมาตลอด 481 วัน ที่อากงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และก็ยังคงเงียบต่อมาอีก 5 วัน ที่อากงต้องเสียชีวิตคาเรือนจำ”

000000

ทำไมจึงคิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา มีวัตถุประสงค์อะไร
ในฐานะของประชาชนคนหนึ่งที่ติดตามคดีอากงมาอย่างใกล้ชิด เราเคยร่วมกัน "ขอความเมตตา ขอความเป็นธรรม" กับบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนสุดท้ายเราไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ในทางที่ดีขึ้น จนเราต้องสูญเสียอากงไป

เราจึงคิดว่า ท่านทั้งหลายที่เรานำบัตรเชิญไปให้นั้นคือผู้ที่มีส่วนรับรู้ รับทราบ และเคยกุมกุญแจบางอย่างของชะตากรรมอากงไว้ แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะไม่ใช้สิ่งนั้นในยามที่อากงยังมีชีวิต ภายในงานศพอากง อาจจะนับเป็นโอกาสสุดท้าย หากท่านเหล่านั้นยังมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ มากกว่าการตกเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์อะไรบางอย่างมาทำลายชีวิตชายชราผู้บริสุทธิ์วัย 62 ปีคนหนึ่ง

 

ปฏิกิริยาของคนที่ได้รับการ์ดเชิญเป็นอย่างไร
ไม่มีใครยอมลงมารับด้วยตนเอง ทุกคนส่งตัวแทนลงมา สำหรับนายสมเกียรติ (ครองวัฒนสุข) ผู้แจ้งความอากง ตัวแทนอ้างว่าวันนั้นไม่ได้เข้ามาทำงานที่สภา สำหรับตัวแทนจากศาล บอกว่าผู้บริหารศาลทุกท่านกำลังติดประชุมอยู่ พอยื่นเสร็จบ่ายสองโมงกว่าๆ ก็มีข่าวลงว่า อธิบดีศาลอาญาจะปรึกษากับผู้พิพากษา เจ้าของสำนวนว่าจะส่งพวงหรีดมาร่วมหรือไม่ และโฆษกศาลยุติธรรมที่ได้รับบัตรเชิญด้วยนั้นติดภารกิจอยู่ต่างประเทศจะกลับมาหลังวันที่ 18 พ.ค. ซึ่งงานสวดศพอากงจะเสร็จสิ้นในวันที่16 พ.ค.

อย่างน้อยเราก็ได้เห็นฟีตแบ็คจากศาล ซึ่งหากเป็นช่วงที่ไม่เกิดวิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรมแบบตอนนี้ ผมเดินเข้ามายื่นในศาลแบบนี้คงถูกคดีหมิ่นศาลไปแล้วก็เป็นได้

ต้องการให้คนที่ถูกเชิญมางานจริงๆ หรือเป็นเพียงสัญลักษณ์สื่อสารกับสาธารณะ
ถามว่าอยากให้มารึเปล่า ผมคงตอบแค่ว่า ผมเคยเห็นเขาเหล่านั้น "อยากมีส่วนร่วม" กับ "คดีอากง" ทางหน้าสื่อ อยู่แต่เดิมแล้ว ก่อนอากงเสียบ้าง หลังอากงเสียบ้าง หากพวกเขามีแนวคิดว่าสิ่งที่เขากระทำเหล่านั้นไม่ได้ขัดต่อหลักมนุษยธรรม หรือตกเป็นเครื่องมือของอุดมการณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้ประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเสียชีวิตคาคุก ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่เขาจะมาร่วมหรือไม่มาก็ได้

เอาเข้าจริง ถ้ามาก็อาจโดนชาวบ้านรุมด่า แต่ถ้าหากเป็นผม ถ้าผมมี "ส่วนรวม" ใดๆ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับ "การขังอากงจนตาย" ผมคงยอมไปโดนด่า เพื่อแสดงตนว่าไม่ได้อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่ทำไปตามหน้าที่ พอถึงงานศพ  "ตัวบุคคล" จึงต้องมาร่วมแสดงมนุษยธรรม หากจะโดนใครด่าก็เป็นเรื่องที่เป็นบทเรียนที่ชาวบ้านจะสะท้อนถึงท่านๆเหล่านั้นนั่นเอง

ตัวผมเองแค่มาเชิญพวกท่านในนาม "บุคคล" ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะหัวโขนอะไร ตำแหน่งอะไรก็ตามแต่ ผมไม่ได้จะไปด่าทอ หากแต่ท่านเหล่านั้นก็คือบุคคลที่ "เป็นมนุษย์ขี้เหม็นธรรมดาๆ" เหมือนกับประชาชนอย่างเราๆ ทุกๆคน เช่นกัน อาจจะพอมีจิตใจของมนุษย์อยู่มากกว่าหัวโขนที่สวมใส่อยู่บ้างก็เป็นได้ ก็เท่านั้นเองครับ


เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือตัวบุคคล กิจกรรมนี้มุ่งที่ตัวบุคคลไปไหม?
แน่นอนมันเป็นปัญหาที่ตัวโครงสร้าง และปัญหาหนึ่งของโครงสร้างนั้นคือเรายังแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ระบบอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ เพราะมีกฎหมายหมิ่นศาล และระบบตุลาการก็ไม่มีอำนาจอะไรจะไปตรวจสอบถ่วงดุลได้ และระบบนี้ใช้ตัวบุคคลที่ถูกตีกรอบตามอุดมการณ์อะไรบางอย่างมาใช้เป็น เครื่องมือ และในเมื่อเราแตะที่ตัวระบบอย่างเต็มที่ไม่ได้ ถ้าเปรียบเป็นเครื่องจักร การทำกิจกรรมนี้ก็เหมือนไล่เลาะไล่ตรวจสอบดูฟันเฟืองแต่ละตัว ว่าทำงานแบบฟันเฟืองตายตัวหรือเป็นฟันเฟืองที่มีชีวิตและจิตวิญญาณ รับรู้ความผิดพลาดของโครงสร้างเครื่องจักร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท