สมาคมนักกฎหมายยื่น กต.ตั้งกรรมการสอบอธิบดีและรองอธิบดีผู้พิพากษาสั่งไม่ให้ประกันคดีม.112

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยื่นจดหมายให้คณะกรรมการตุลาการตั้งกรรมการตรวจสอบการพิจารณาคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 และความผิดปกติในกระบวนการพิจารณาคดีทั้งการเลื่อนฟังคำสั่งและการตั้งเงื่อนไขประกันตัวของศาล จนนำมาสู่การตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของศาลในฐานะ 1ใน 3 เสาหลัก

5 พ.ค.2564 เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) พร้อมกับเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อเมทินี ขโลธร ประธานกรรมการตุลาการ (กต.) ณ สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา

คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมฯ ให้สัมภาษณ์ว่า หนังสือที่มายื่นในวันนี้เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการออกคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เช่นในกรณีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่มีคำสั่งไปในทางเดียวกันถึง 10 ครั้งโดยผู้พิพากษา 3 คน ทั้งที่ระบบปกติของศาลจะเป็นไปตามผู้พิพากษาที่เป็นระดับบริหารของศาลอาญาที่มีกัน 5 คนสับเปลี่ยนกันไป ทำให้ทางสมาคมฯ และสังคมก็ตั้งคำถามว่าศาลเป็นอิสระในการที่จะออกคำสั่งที่จะต้องปฏิบัติตามหลักในพิจารณาคดีหรือไม่ โดยเฉพาะเหตุผลที่อ้างว่าเกรงว่าปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อความผิดในลักษณะเดียวกันอีก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนและนักกฎหมายเข้าใจและยอมรับได้

ในหนังสือที่ยื่นวันนี้ยังได้ระบุถึงชื่อของผู้พิพากษาทั้ง 3 คนที่มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวของพริษฐ์ ได้แก่ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นผู้ลงนาม 3 ครั้ง สันติ บุตรดี ผู้พิพากษาแผนคดียาเสพติด 3 ครั้ง เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีศาลอาญา 2 ครั้ง และลงนามโดยมุขเมธิน กลั่นนุกรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ 1 ครั้ง

“ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่าขัดกับรัฐธรรมนูญกับกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รับรองว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดและระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุดจะปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ แล้วที่ศาลมีคำสั่งว่ากลัวจะไปกระทำความผิดเดียวกับที่ถูกฟ้องอีกซึ่งก็สะท้อนว่าตัวศาลเองอาจจะไม่เชื่อมันในหลักการตามรัฐธรรมนูญ” นายกสมาคมฯ กล่าวถึงการที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของศาลว่าได้เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระของศาลหรือไม่

คอรีเยาะ มานุแช

คอรีเยาะกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาศาลก็เคยพิจารณาไปตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นผู้บริสุทธิ์ในหลายคดีโดยเฉพาะคดีการเมืองล่าสุดอย่างของกลุ่มแกนนำ กปปส. ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้วแต่ศาลก็ยังให้สิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดีได้อยู่ แต่ในกรณีของพริษฐ์ ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแต่ก็ไมได้รับการประกันตัว ซึ่งก็ขอให้ศาลกลับมายืนยันหลักสันนิษฐานว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์และให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยเร็ว

นอกจากนั้น คอรีเยาะกล่าวถึงประเด็นต่อมาที่ศาลมีการสั่งเลื่อนฟังคำสั่งให้ประกันตัวออกไปจากวันที่ยื่นขอประกันซึ่งปกติแล้วศาลจะอ่านคำสั่งจะทำในวันเดียวกันกับที่ยื่นขอประกันตัวโดยจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว อีกทั้งโดยปกติแล้วคดีที่ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อมีการยื่นประกันตัวต่อศาล ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะออกคำสั่งได้เลยโดยไม่ต้องส่งคำร้องให้ศาลชั้นที่สูงขึ้นพิจารณาจะมีการพิจารณาในศาลชั้นที่สูงขึ้นก้ต่อเมื่อศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวแล้วมีการอทุธรณ์คำสั่ง แต่กรณีนี้ศาลชั้นต้นเลื่อนพิจารณาไปแล้วก็ส่งคำร้องให้ศาลชั้นที่สูงขึ้นพิจารณาไปเลย ทำให้กระบวนการเป็นไปโดยล่าช้า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเจอในคดีทั่วไปอื่นๆ

นอกจากสองประเด็นที่คอรีเยาะกล่าวถึงข้างต้นในหนังสือที่ยื่นยังมีประเด็นที่สิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาให้สัมภาษณ์กับสื่ออ้างว่าเหตุที่จำเลยบางคนไม่ได้ประกันตัวเพราะทนายความไม่ได้ยื่นรายละเอียดว่าจำเลยจะไม่ทำอะไรบ้างตามที่ศาลเคนสั่งไป ต่างกับบางคนที่ได้ประกันที่แถลงต่อศาลว่าจะไม่กระทำแบบเดิม

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 กำหนดว่าเงื่อนไขการประกันตัวให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจกำหนด ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายผู้ขอประกันตัวที่จะต้องแถลงหรือนำเสนอต่อศาลและจำเลยยังแถลงแล้วด้วยว่ายอมรับเงื่อนไขที่ศาลจะกำหนด จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของผุ้พิพากษาที่ทำคำสั่งจะกำหนดเงื่อไขตามที่เห็นสมควร การที่อธิบดีศาลระบุเช่นนี้เป็นการโยนภาระให้กับจำเลยทั้งที่เป็นอำนาจและความรับผิดชอบของศาลที่จะกำหนดเงื่อนไข

ทางสมาคมฯ ระบุข้อเรียกร้องไว้ในหนังสือด้วยว่า ขอให้คณะกรรมการตุลาการใช้อำนาจดำเนินการสอบสวนตุลาการที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาและทำคำสั่งในคดีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ รวมถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาด้วยว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมายตามระบบปกติของศาลหรือไม่ และหากพบว่าไม่ขอให้แก้ไขโดยเร็วเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมกลับสู่ระบบปกติ

คอรีเยาะกล่าวถึงข้อเรียกร้องนี้ว่าไม่ได้ต้องการกดดันให้ศาลต้องปฏิบัติอะไรที่อยู่นอกเหนือกฎหมายเพียงต้องการให้ศาลปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น และเชื่อมั่นว่าจะยังมีความกล้าหาญที่จะยืนยันหลักการและความถูกต้อง

“เพื่อยืนยันในความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและยืนยันในความศักดิ์สิทธิ์ของหลักกฎหมายตามที่พวกเราทุกคนในที่นี้จะต้องเชื่อมั่นในหลักการเดียวกัน”

ถึงการยื่นหนังสือในวันนี้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้รับหนังสือและลงเลขรับไว้ ซึ่งเธอก็คาดหวังว่าประเด็นที่สังคมกำลังจับตามองอยู่นี้ศาลก็ถูกตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ ศาลก็ไม่ควรจะเพิกเฉยต่อหนังสือที่ประชาชนส่งมา

“เราคิดว่าคนที่เป็นนักกฎหมายหรือประชาชนก็ดีมีหน้าที่ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย ศาลก็เป็นคนที่นำกฎหมายมาบังคับใช้ สิ่งที่เขาต้องฟังก็คือเสียงสะท้อนของประชาชนว่าการบังคับใช้กฎหมายของเขาเป็นอย่างไร จึงคาดหวังว่าเสียงตอบรับเหล่านี้จะได้รับการตอบรับโดยเร็วและไม่ถูกเพิกเฉยหรือดูเบาเสียงของประชาชน”

ผู้สื่อข่าวถามได้ถามคอรีเยาะว่า ในฐานะที่ศาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกจัดการความขัดแย้งแต่ด้วยท่าทีของศาลที่ออกมาในลักษณะนี้จะสร้างปัญหาอย่างไรหรือไม่ เธอตอบว่าก็เหมือนที่ตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของศาล เพราะก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็มีการออกมาพูดต่อสาธารณะว่าจะดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ศาลที่เป็นเสาหลักเสาหนึ่งในสามเสาหลัก คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ซึ่งองค์กรตุลาการก็ต้องมีอิสระเพื่อถ่วงดุลอำนาจของแต่ละเสาหลัก แต่ก็จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาศาลมีความโน้มเอียงที่จะใช้อำนาจไปในทางที่จะสนับสนุนอำนาจของฝ่ายบริหารทำให้ประชาชนออกมาตั้งคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารหรือไม่

ทั้งนี้ในหนังสือของทางสมาคมฯ ยังได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาดำเนินคดีกับประชาชนไม่น้อยกว่า 81 คดี มีผู้ต้องหาไม่น้อยกว่าา 88 คน ภายใน 5 เดือน เป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เท่ากับเป็นการเชื่อมโยงนำความศรัทธาต่อสถาบันกษัตริยมาใช้โดยมุ่งหมายที่จะลงโทษอาญากับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท