Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 กรกฎาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาคดี ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 48 ปี ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 43 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 42 ปี พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 45 ปี อดีต รอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ (ทั้งหมดเป็นยศและตำแหน่งขณะฟ้อง) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิ ชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ

ตามโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 จำเลยทั้ง 6 โดยจำเลยที่ 1-3 และ จำเลยที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันเจตนาฆ่า นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ ขณะนำตัวออกจาก สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ด้วยการบีบรัดคอจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต เหตุเกิดที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จากนั้นจำเลยทั้ง 6 ได้ปิดบังเหตุแห่งการตาย โดยร่วมกันย้ายศพจากท้องที่เกิดเหตุ ไปแขวนคอไว้ที่กระท่อมนา บ้านบึงโดน หมู่ที่ 5 ต.แสนชาติ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด จากนั้น ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2548 จำเลยที่ 4-6 ร่วมกันข่มขู่พยาน เพื่อให้การอันเป็นเท็จ โดยให้ระบุว่า ในวันที่ผู้ตายถูกทำร้ายยังพบเห็นผู้ตายที่ตลาดโต้รุ่ง เชื่อว่าพวกจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 กระทำผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษแล้วให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 สถานเดียว จำเลยที่ 5 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7 ปี จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษ จำคุกตลอดชีวิต และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

สำหรับคดีฆ่าอำพรางศพคดีนี้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ทำการ สอบสวน เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตร้องเรียนว่า การเสียชีวิต อาจมีเงื่อนงำ ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติด กระทั่งเกิดคดีในลักษณะของการฆ่าตัดตอนผู้ต้องหาคดียาเสพติดหลายคดี

ทั้งนี้ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2544-2549 รัฐบาลมีนโยบายประกาศทำสงครามยาเสพติด เกิดคดีฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ และในช่วงเวลาดังกล่าวมีประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก โดย 1 ในจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว คือ นายเอ (นามสมมติ)  ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้มีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2549 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอให้รัฐบาลเยียวยาความเสียหายจากการเสียชีวิตให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย

 

 

เรียบเรียงจากมติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net