Skip to main content
sharethis

ASEAN Weekly ตอน วิกฤตในรัฐอาระกัน สู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (คลิกที่นี่เพื่อรับชมแบบ HD)

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่ ของพม่า ซึ่งเกิดจลาจลระหว่างชุมชนชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ขณะนี้ความขัดแย้งซึ่งสะสมมายาวนานดังกล่าวกำลังขยายตัวไปสู่ประเด็นและความขัดแย้งระดับระหว่างประเทศ

โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและในเดือนกันยายนนี้ ตัวแสดงจากภายนอกพม่าจะเริ่มปรากฏตัวและเข้ามามีบทบาทต่อปัญหาในรัฐอาระกันมากขึ้น นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีซาอุดิอาระเบียที่ล่าสุดออกมาประณามรัฐบาลพม่าว่ากดขี่ข่มเหงชาวโรฮิงยาซึ่งเป็นชาวมุสลิม และกษัตริย์อับดุลลาห์แห่งซาอุดิอาระเบียได้บริจาคเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงยา

แม้รัฐบาลพม่าจะพยายามควบคุมสถานการณ์ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน และคาดหมายว่าจะมีการเปิดเผยผลการสอบสวนในวันที่ 17 กันยายนนี้ และให้กระทรวงการต่างประเทศพม่าชี้แจงนานาชาติว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกันไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชน และมีผู้ทำผิดกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ล่าสุดองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation หรือ OIC) ซึ่งมีสมาชิก 57 ชาติ ได้ออกมติประณามฝ่ายรัฐบาลพม่าที่กระทำต่อชาวมุสลิมโรฮิงยา และจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเพื่อให้มีการพิจารณา

ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปยังเรียกร้องให้พม่ามอบสัญชาติแก่ชาวโรฮิงยา และสหภาพยุโรปโดยแผนกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการดูแลพลเมือง ยังบริจาคเงินช่วยเหลือชาวโรฮิงยาและชุมชนอื่นๆ ในบังกลาเทศและพม่า ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออีก 10 ล้านยูโรด้วย

ส่วนในอาเซียน องค์กรมุสลิมเอ็นจีโอในมาเลเซียและหลายประเทศได้ได้ระดมสิ่งของเช่นอาหาร ยา น้ำหนักราว 400 ตัน ผ่านโครงการ "Humanitarian Flotilla to Arakan" เพื่อส่งมอบให้กับชาวโรฮิงยาในรัฐอาระกัน ผ่านทางท่าท่าเรือเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ไปยังท่าเรือเมืองซิตตะเหว่เมืองหลวงของรัฐอาระกัน

ต่อกรณีที่บทบาทของผู้นำฝ่ายค้านอย่างออง ซาน ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เลือกที่จะไม่กล่าวถึงเรื่องความขัดแย้งดังกล่าวจนดาไลลามะ ผู้นำด้านจิตวิญญาณ ของชาวทิเบตพลัดถิ่นได้เขียนจดหมายถึงออง ซาน ซูจี กรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกันนั้น ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวว่า ความขัดแย้งในรัฐอาระกันสัมพันธ์กับการเลือกตั้งพม่าที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้าง ซึ่งออง ซาน ซูจี ต้องผนึกฐานเสียงของตนเอาไว้ ขณะที่ประชากรพม่าทั้งในเขตเลือกตั้งของออง ซาน ซูจี และในพื้นที่อื่นมีทัศนะคติที่เกลียดชังชาวโรฮิงยา ดังนั้นหากออง ซาน ซูจี เล่นบทบาทให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงยาก็จะถูกต่อต้าน

ทั้งนี้ดุลยภาค ตั้งคำถามถึงฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน มีความเข้าใจดีพอแค่ไหนเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้จะเห็นว่าฝ่ายการเมืองในพม่าเลือกที่จะปรับบทบาททางการเมืองไปตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น ออง ซาน ซูจี จู่ๆ ก็เล่นบทจับมือกับอดีตผู้นำในรัฐบาลทหารพม่า เป็นต้น ดังนั้นการปฏิรูปในพม่า และมโนทัศน์ด้านความเป็นธรรมทางสังคมอาจไม่ได้แผ่ซ่านสู่สังคมพม่าอย่างแท้จริง และการเคลื่อนไหวต่อประเด็นเรื่องโรฮิงยาในพม่า อาจมีประเด็นเรื่องการยึดติดกับชาตินิยมและศาสนา และมองชาวโรฮิงยาเป็นคนอื่น นอกจากนี้ปมประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมของพม่า และกระบวนการ "ทำให้เป็นพม่า" (Burmanization) ในช่วงรัฐบาลทหารพม่านับตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลเนวิน ก็มีผลกีดกันชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พม่าออกจากความเป็นพม่าด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มการคลี่คลายความขัดแย้งในรัฐอาระกันนั้น ดุลยภาคประเมินว่า "ชาวยะไข่ในรัฐอาระกันมีความหวาดระแวงชาวโรฮิงยา ทั้งเรื่องปัญหาการใช้ที่ดิน การเพิ่มจำนวนประชากรของชาวโรฮิงยา และความกลัวว่าจะถูกกลืนทางวัฒนธรรมและการรุกรวบพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มต้องช่วยกันแก้ไข โดยชาวยะไข่ต้องคุยกับชาวโรฮิงยา อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีตัวแปรคือ ชาวยะไข่จะจับมือกับชาวพม่าเพื่อให้อำนาจการต่อรองของกลุ่มตนสูงกว่า ขณะที่โรฮิงยาก็ต้องพึ่งประเทศมุสลิมให้ช่วยสนับสนุน อย่างไรก็ตามประเทศมุสลิมบางประเทศก็มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า จึงน่ากลัวว่าความขัดแย้งนี้จะเป็นปัญหาตกค้างที่แก้ไม่รู้จบ แต่คนที่น่าสงสารที่สุดคือคนที่ถูกทารุณกรรมหรือเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมโรฮิงยา หรือชาวพุทธยะไข่ก็ตาม"

 

หมายเหตุ: ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก: คัดลอกและดัดแปลงจาก http://youtu.be/Ua_pCJxcn6Q

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net