ช่างภาพเกาหลีเปิดเผยรูปจากเหตุลอบสังหาร ปธน.เกาหลีใต้ที่พม่าเมื่อ 29 ปีก่อน

นสพ.โชซอน อิลโบ ตีพิมพ์ชุดภาพเหตุลอบวางระเบิดประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ระหว่างเยือนพม่าในปี 2526 ซึ่งไม่เคยเผยแพร่มาก่อน โดยเป็นฝีมือของช่างภาพเกาหลีใต้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ โดยมอบให้ นสพ. นำไปใช้ระดมทุนสร้างอนุสาวรีย์ให้เหยื่อจากเหตุระเบิดดังกล่าว

(ภาพบน) นายคิม ซัง ยอง ช่างภาพที่รอดจากเหตุระเบิดลอบสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระหว่างเยือนพม่าเมื่อ 9 ต.ค. 2526 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ระหว่างให้สัมภาษณ์โชซอนทีวี โดยเขาได้มอบชุดภาพเหตุการณ์ดังกล่าว (ภาพล่าง) ซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อนให้กับหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ (ที่มา: Chosun TV) สามารถชมชุดภาพและการให้สัมภาษณ์ของเขาได้ที่นี่

เหตุลอบสังหาร ชุน ดู ฮวาน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ขณะเยือนพม่าเมื่อปี 2526 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน รวมทั้งรัฐมนตรีเกาหลีใต้ 4 รายด้วย ส่วนประธานาธิบดีรอดหวุดหวิดเนื่องจากมาช้าไม่กี่นาที โดยเหตุการณ์นี้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์ City Hunter ภาคภาษาเกาหลี

เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบของเกาหลีใต้ได้ตีพิมพ์ชุดภาพถ่ายเหตุการณ์วางระเบิดลอบสังหารนายชุน ดู ฮวาน (Chun Doo-Hwan) อดีตประธานธิบดีเกาหลีใต้ ระหว่างการเยือนนครย่างกุ้ง ประเทศพม่าเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ปี 2526 หรือเมื่อ 29 ปีมาแล้ว โดยเป็นชุดภาพถ่ายที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน

โดยชุดภาพถ่ายนี้ถ่ายโดยช่างภาพของทางการเกาหลีใต้ชื่อนายคิม ซัง ยอง (Kim Sang-Yeong) ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ชุน ดู ฮวาน ในขณะนั้นขอร้องให้เขาเก็บภาพถ่ายนี้ไว้เพื่อไม่ให้ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ขุ่นเคือง

ทั้งนี้เหตุการณ์ลอบวางระเบิดประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่สุสานนายพลออง ซาน อนุสรณ์สถานวีรชน ใกล้กับเจดีย์ชเวดากองในนครย่างกุ้ง เมื่อ 9 ต.ค. ปี 2526 เกิดขึ้นในช่วงที่คณะของประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีกำหนดเยือนพม่า และเดินทางไปเคารพสุสานของนายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า เมื่อ 9 ต.ค. ปี 2526 โดยเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน ในจำนวนนี้ 17 คนเป็นชาวเกาหลีใต้ซึ่งมี 4 รัฐมนตรีและทูตเกาหลีใต้ประจำพม่าเสียชีวิตด้วย โดยประธานาธิบดีชุน รอดจากเหตุระเบิดหวุดหวิดเนื่องจากมาถึงสุสานนายพลออง ซาน สายไม่กี่นาที

โดยภาพถ่ายที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบเผยให้เห็นร่างที่เหวอะหวะ มีเลือดไหลนองจากบาดแผลที่ถูกสะเก็ดระเบิด นอนเรียงรายท่ามกลางซากปรักหักพังของอนุสรณ์สถานวีรชน ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีใต้เร่งหาผู้รอดชีวิต

ในรายงานของโชซอน อิลโบ คิมเล่าว่าเห็นรัฐมนตรีในสภาพใกล้เสียชีวิต ในขณะนั้นเขาคิดว่า "พระเจ้า เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร" เมื่อคิดได้อย่างนั้นจึงรีบกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ และหลังจากที่เขามอบกล้องให้กับเจ้าหน้าที่ รปภ. เขาก็หมดสติและมาฟื้นอีกทีในโรงพยาบาล

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ เคยจัดรณรงค์สร้างอนุสาวรีย์ให้กับเหยื่อระเบิด โดยคิมกล่าวว่าจะมอบชุดภาพถ่ายให้กับหนังสือพิมพ์เพื่อใช้ระดมทุน โดยชุดภาพถ่ายที่ปรากฎในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ มีการตีพิมพ์ภาพเป็นสีขาว-ดำ และปกปิดใบหน้าของผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ตามที่ช่างภาพคิม ร้องขอ ขณะที่ภาพสีอื่นๆ มีภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพม่ากำลังประคองนักข่าวชาวเกาหลีหน้าตาโชกเลือด ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

สำหรับเหตุการณ์ซึ่งภายหลังเรียกว่า "Rangoon bombing" นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าสืบทราบต่อมาว่ามีสายลับชาวเกาหลีเหนือสามรายลอบเข้ามาที่ย่างกุ้งทางเรือ และได้รับระเบิดมาจากสถานทูตเกาหลีเหนือในพม่า โดยสองวันหลังเกิดเหตุระเบิด สายลับสองรายถูกจับ อีกรายพยายามที่จะยิงต่อสู้กับทหารพม่าขณะถูกไล่จับกุม จึงถูกยิงเสียชีวิต ทั้งนี้ผู้ถูกจับกุมสองราย มีรายหนึ่งต่อมาเสียชีวิต อีกรายหนึ่งชื่อคัง มิน ชุล ได้โทษจำคุกตลอดชีวิตภายหลังจากสารภาพว่าทำตามคำสั่งของเปียงยาง และต่อมาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับเมื่อปี 2551

โดยตั้งแต่เหตุลอบสังหารดังกล่าว ทำให้พม่าได้ตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ และเพิ่งมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2550 และพม่าได้เริ่มซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ และถูกตั้งข้อสงสัยว่ากำลังจัดหาเทคโนโลยีพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

ส่วนเกาหลีใต้ เพิ่งมีการเยือนของประธานธิบดีลี เมียง บักเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยเป็นการเยือนระดับประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังเหตุการณ์ลอบสังหารดังกล่าว และระหว่างการเยือน ลี เมียง บักได้กล่าวชื่นชมความพยายามของประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่าในการสร้างประชาธิปไตย พร้อมกำชับรัฐบาลของเต็ง เส่งให้ "ระงับกิจกรรมใดๆ" กับเกาหลีเหนือที่พิจารณาแล้วว่าจะละเมิดมติของสหประชาชาติ

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Chosun TV, 2012 Oct 11 http://news.tv.chosun.com/site/data/html_dir/2012/10/11/2012101102559.html

Graphic images of N. Korean 1983 bombing published, Channel News Asia, 11 October 2012  http://www.channelnewsasia.com/stories/afp_asiapacific/view/1230770/1/.html

Rangoon Bombing, Wikipedia http://en.wikipedia.org/wiki/Rangoon_bombing

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท