Skip to main content
sharethis

ราจัท แกงกูลี่ (Assoc. Prof. Dr. Rajat Ganguly) นักวิชาการสาขาความมั่นคงศึกษา รัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค ประเทศออสเตรเลีย บรรยายหัวข้อ “ออโตโนมี (Autonomy) และความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: บทเรียนและแนวโน้ม” ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ดำเนินรายการ มีภาคประชาสังคม กลุ่ม องค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนและนักศึกษาที่เข้าร่วมรับฟังกว่า 600 คน

นักวิชาการเชื้อสายอินเดียจากออสเตรเลียกล่าวถึงออโตโนมีโดยตั้งคำถามว่า คุณค่าที่แท้จริงของออโตโนมีควรเป็นเป้าหมายของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือควรเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหา ซึ่งจากการศึกษาพบว่า นักวิชาการจำนวนมากเข้าใจผิดว่าออโตโนมีเป็นเป้าหมายของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีรากเหง้าทางชาติพันธุ์

ดร.ราจัท กล่าวถึงบริบทหรือความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชนกลุ่มน้อยก็คือ รัฐต้องการรักษาอำนาจอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยต้องการปลดปล่อยตนเอง และพบว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีกรณีศึกษาน้อยมากที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งสามารถแก้ได้ด้วยการเจรจา

สิ่งที่สำคัญที่สุดของสิทธิการจัดการตนเองของชนกลุ่มน้อยก็คือ การสร้างความสมดุลทางอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับชนกลุ่มน้อย ซึ่งรัฐไม่ต้องการสูญเสียดินแดนและอธิปไตยเหนือดินแดน ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยต้องการมีอิสระ มีอำนาจระดับหนึ่งในการจัดการตนเอง ดังนั้นออโตโนมีก็คือ รัฐต้องยอมรับสิทธิเหนือดินแดนของชนกลุ่มน้อย หรือ Homeland คือสำนึกต่อบ้านเกิดของชนกลุ่มน้อยต่อดินแดนซึ่งมีอาณาเขตที่แน่นอน มีพื้นที่ที่ชัดเจนของตนเองที่พวกเขาสามารถใช้ชีวิตในบริบทวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ของตนเองได้

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเมอร์ด๊อค กล่าวถึงออโตโนมีว่า ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขสำคัญ 6 ประการคือ ประการที่หนึ่ง การมีแผ่นดินแม่ที่ชัดเจนที่ไม่อาจทับซ้อนกันของวัฒนธรรม ประการที่สองต้องสร้างองค์กรที่จะมาดูแลพื้นที่ออโตโนมี ประการที่สามจะต้องแบ่งแยกอำนาจการบริหารจัดการให้ชัดเจนระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น เช่น ด้านการทหาร การต่างประเทศ เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง ด้านการศึกษา เศรษฐกิจ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นต้น

ประการที่สี่ ต้องมีการตกลงอย่างจัดเจนในเรื่องการแบ่งสัดส่วนรายได้จากการเก็บภาษี ประการที่ห้า ทั้งสองฝ่าย รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต้องสร้างเครื่องมือเพื่อการแก้ไขความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างกัน และประการที่หกจะต้องมีตัวแทนของรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐบาลกลางที่จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีวุฒิสมาชิกจากมลรัฐต่างๆ อยู่ในสภาสูงเป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ของมลรัฐ

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รัฐต้องตระหนักว่า ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ดูแลจัดการตนเอง ในขณะที่รัฐจำเป็นต้องปกป้องบูรณาการของดินแดน ออโตโนในความหมายนี้ คือการยอมรับจุดยืนของทั้งสองฝ่าย นับเป็นเรื่องภายใน ไม่ใช่การแบ่งแยกประเทศ” ดร.ราจัท กล่าว

ในการบรรยายครั้งนี้ ดร.ราจัทได้ยกตัวอย่างกรณีความขัดแย้งจากทั่วโลกเพื่อสื่อให้เห็นถึงกลไกต่างๆ ของแนวทางออโตโนมี เช่น กรณีปากีสถานไม่ยอมรับการเจรจาอันนำไปสู่การเกิดประเทศใหม่ คือบังคลาเทศ ในขณะที่กรณีของอาเจะห์ รัฐบาลยุดโดโยโนยอมรับถึงการมีสิทธิต่อดินแดนและการจัดการตนเองของชนกลุ่มน้อยอันนำไปสู่การเจรจาในที่สุด ในขณะเดียวกัน กรณีประเทศศรีลังกาที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อชนกลุ่มน้อยทมิฬอ้างว่าดินแดนของตนคือทั้งตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ

ในขณะที่กรณีศึกษาจากประเทศอินเดียพบว่า ออโตโนมีอาจจะไม่ใช่บทสรุปของการแก้ปัญหาความขัดแย้งเสมอไป ในกรณีที่รัฐบาลกลางให้อำนาจกับรัฐบาลท้องถิ่นมากเกินไป ก่อให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างอำนาจรัฐหรือการนำไปสู่การคอรัปชั่น ความไม่มีธรรมมาภิบาลในการปกครอง ในอีกด้านหนึ่ง หากรัฐบาลกลางให้อำนาจน้อยเกินไปจะนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ที่ไม่รู้จบ

ในความหมายที่แท้จริง ออโตโนมีไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือหรือทางเลือกในการขจัดการความขัดแย้ง การพัฒนาเศรษฐกิจ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การมีระบบการเมืองที่เป็นธรรม ซึ่งเมื่อคู่ขัดแย้งเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ดีก็ควรนำออโตโนมีมาใช้ หลายกรณีที่การนำออโตโนมีมาใช้แต่ประสบความล้มเหลวเนื่องจากผลประโยชน์ของสาธารณะกลับตกอยู่กับกลุ่มนักการเมือง บางกรณีผู้นำใช้อำนาจนิยมในการปกครอง เข้าถึงทรัพยากรของประเทศมากกว่ากลุ่มอื่น สร้างความร่ำรวยให้ตนเองอย่างรวดเร็ว ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์จากการนำออโตโนมีมาใช้

ดร.ราจัท สรุปบทเรียนจากการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์จากพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลกว่า ท้ายที่สุดแล้วอโตโนมีจะต้องนำไปสู่ธรรมมาภิบาล ผลลัพธ์สุดท้ายของออโตโนมีจะต้องอยู่ที่อิสรภาพ ความเป็นธรรม ความเสมอภาคในความเป็นอยู่ของประชาชน

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net