Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"บทความนี้จะมีลักษณะของการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามคำถามมากว่าหาข้อสรุป ทั้งนี้ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้าน Hate Speech เลย แต่เนื่องจากยังไม่เห็นผู้เชี่ยวชาญผู้ใดออกมาเขียนอะไรที่จะช่วยไกล่เกลี่ยข้อถกเถียงระหว่างผู้คนมันเป็นไปอย่างไม่ชวนสับสนมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะพยายามชี้ให้เห้นในบทความนี้ว่าการถกเถียงที่เกิดขึ้นมีลักษณะ “เถียงกันคนละเรื่อง” อยู่ไม่น้อย"

ในช่วงนี้บรรดาปัญญาชนและนักกิจกรรมจำนวนไม่น้อยมีการถกเถียงกันในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า Hate Speech ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะทำการระงับยับยั้งหรือไม่ในสังคมไทย1 ผู้เขียนจึงคิดว่าควรจะเขียนอะไรออกมาบ้างตามที่ความรู้ของตนพึงมี ดังนั้นบทความนี้จะมีลักษณะของการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามคำถามมากว่าหาข้อสรุป ทั้งนี้ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้าน Hate Speech เลย แต่เนื่องจากยังไม่เห็นผู้เชี่ยวชาญผู้ใดออกมาเขียนอะไรที่จะช่วยไกล่เกลี่ยข้อถกเถียงระหว่างผู้คนมันเป็นไปอย่างไม่ชวนสับสนมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะพยายามชี้ให้เห้นในบทความนี้ว่าการถกเถียงที่เกิดขึ้นมีลักษณะ “เถียงกันคนละเรื่อง” อยู่ไม่น้อย

 

อะไรคือ Hate Speech ?

Hate Speech ในความหมายกว้างนั้นหมายถึงคำพูดหรือการสื่อสารใดๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่กายใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในกรอบแบบนี้ตั้งแต่การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องยิวของนาซี การปลุกระดมให้เกิดการสังหารหมู่ในรวันดา ไปจนถึงการปลุกระดมที่ส่งให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาจึงถูกนับเป็น Hate Speech ทั้งสิ้น

ปัญญาชนอย่างเกษียร เตชะพีระได้นิยาม Hate Speech อย่างสั้นและกระชับว่าคือว่า “Speech That Kills”2 ผู้เขียนอยากจะตั้งข้อสังเกตประการแรกว่า การพูดหรือการสื่อสารที่ทำให้คนฆ่ากันทันทีทันใดไม่น่าจะจัดเป็น Hate Speech การพูดครั้งเดียวทำให้เกิดการฆ่ากันเลยดูจะเป็นคำสั่งฆ่ามากกว่าที่จะเป็น Hate Speech ซึ่งความต่างนี้สำคัญมากในแง่กฎหมาย ลักษณะสำคัญของ Hate Speech คือมันทำงานผ่านการสะสมเป็นเวลานาน มันเกิดขึ้นซ้ำๆ จนมันทำให้เกิดผลทางการกระทำในท้ายที่สุด

ประการต่อมา Hate Speech ไม่น่าจะใช่คำพูดหรือการสื่อสารที่ฆ่าคนได้โดยตรง มันต้องการตัวกลางในการดูดซึมอุดมการณ์ของ Hate Speech ไปกระทำการ คำพูดที่ฆ่าคนได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเช่น การกล่าวอะไรบางอย่างแล้วคนช็อคหัวใจวายตาย กล่าวอะไรบางอย่างแล้วทำให้คนฆ่าตัวตาย หรือกระทั่งการท่องคาถาแล้วทำให้คนที่โดนคาถาตาย นั้นไม่น่าจะจัดเป็น Hate Speech

ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอว่าโดยทั่วไป Hate Speech นั้นคือคำพูดหรือการสื่อสารที่มีลักษณะดังนี้3

  1. ก่อให้เกิดความเกลียดชัง

  2. นำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพ

  3. ความรุนแรงทางกายภาพต้องเกิดจากผู้รับสารของ Hate Speech

  4. มีลักษณะที่จะต้องสะสมเป็นเวลานานก่อนจะเกิดผล

 

ข้อเสนอแนะในการบัญญัติกฎหมายควบคุม Hate Speech

สัมพันธภาพระหว่างความเกลียดชังกับความรุนแรงทางกายภาพดูจะทำให้ Hate Speech เป็น Hate Speech อย่างน้อยๆ โดยทั่วๆ ไปนั้นแม้แต่ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการควบคุม Hate Speech เองก็ไม่ออกมายืนยืนว่าลำพังการทำให้เกิดความเกลียดชังแบบลอยๆ นั้นควรจะเป็นสิ่งที่สมควรถูกจำกัดทางกฎหมาย4 แต่การกล่าวอ้างที่สำคัญของฝ่ายสนับสนุนการควบคุมก็คือ Hate Speech นั้นนำไปสู่การกระทำที่เป็นความรุนแรงทางกายภาพ นี่หมายความว่า Hate Speech จะเป็น Hate Speech สมบูรณ์ได้ มันต้องเป็นการสื่อสารที่นำไปสู่การกระทำ ไม่ใช่การสื่อความเฉยๆ ซึ่งนี่คล้ายกับมโนทัศน์ Perlocutionary Act ของ J.L. Austin นักปรัชญาชาวอังกฤษ

ผู้เขียนคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างความเกลียดชังที่การสื่อสารก่อให้เกิดกับความรุนแรงทางกายภาพที่จะเกิดจากความเกลียดชังนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้เพื่อจะยืนยันว่าการสื่อสารหนึ่งๆ เป็น Hate Speech โดยเฉพาะถ้าเราต้องการจะให้ Hate Speech มีผลในทางกฎหมาย กล่าวอีกแบบคือการกล่าวหาว่าการกระทำหนึ่งๆ เป็น Hate Speech นั้นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าก่อให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพ

ผู้เขียนเห็นว่าในทางกฎหมาย ผู้กล่าวหาว่าผู้อื่นก่อ Hate Speech ต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าคำพูดนั้นเป็น Hate Speech ไม่ใช่ผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องพิสูขน์ว่าสิ่งที่ตนพูดไม่ได้เป็น Hate Speech ซึ่งนี่ก็เป็นหลักว่า “ผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิสูจน์ว่าผิด” ธรรมดา ผู้เขียนเห็นว่า “ภาระในการพิสูจน์” (burden of proof) ควรจะอยู่ที่ผู้กล่าวหาไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมาย Hate Speech มีลักษณะเป็น “กฎหมายหมิ่นอัตลักษณ์” ที่จะถูกใช้ในการป้ายสีทางการเมืองพร่ำเพรื่อ ทั้งผู้เขียนยังเห็นว่า Hate Speech ควรจะเป็นคดีความทางแพ่งที่มีการยอมความกันได้ไม่ควรจะเป็นความผิดอาญา หรือถ้าจะเป็นความผิดอาญาก็น่าจะมีความพิดเพียงลหุโทษเท่านั้น นอกจากนี้เจ้าทุกข์ของ Hate Speech ก็น่าจะเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลจาก Hate Speech เท่านั้น กล่าวคือมันไม่ใช่สิ่งที่ใครควรจะฟ้องก็ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนผู้หวังดีที่ “คาดเดาว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจาก Hate Speech” ทั้งๆ ที่ตนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งกระบวนการพิสูจน์ และเงี่อนไขสารพัดในการดำเนินคดี Hate Speech ที่ผู้เขียนเสนออาจกินเวลานาน แต่ผู้เขียนไม่คิดว่ามันจะเป็นปัญหา “ความยุติธรรมมาช้าเกินไป” เพราะสิ่งที่ทำให้ Hate Speech เป็น Hate Speech เองก็คือการต้องใช้เวลาในการทำงานของมัน Hate Speech จะทำงานได้ต้องมีการสะสมเป็นเวลานานดังนั้นมันจึงไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วยโดยตัวมันเอง ถ้ามีกฏหมายแล้วปัญหาคือฝ่ายผู้เสียหายที่ปล่อยให้เกิด Hate Speech มาเป็นเวลานานจนมันสุกงอมและทำให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพต่างหาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะต้องเฝ้าระวัง Hate Speech และทำการระงับอย่างเนิ่นๆ และดำเนินคดี ผู้เขียนคิดว่าแนวทางนี้ยุติธรรมกับทุกๆ ฝ่าย ฝ่ายผู้เสียหายก็มีช่องทางปราบปราม และฝ่ายที่อาจถูกกล่าวหาโดยที่ไม่มีความผิดก็ไม่ต้องรับภาระทางกฎหมายที่มากเกินไปเพราะทางผู้เสียหายก็ต้องระมัดระวังการดำเนินคดีของตนเหมือนกัน และผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายก็ไม่สามารถจะเดือดร้อนแทนแล้วแจ้งให้รัฐดำเนินคดีได้

 

ปัญหาการทำให้การปราบ Hate Speech เป็นภาระเร่งด่วนของรัฐ: กรณีการปราบ Hate Speech บนอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ดีก็ยังมีผู้มองว่า Hate Speech ควรจะเป็นความผิดทางอาญาที่รัฐเข้ามาแทรกแซงอย่างจริงจังและเร่งด่วนอยู่ หลายๆ ฝ่ายดูจะเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐจะต้องลงมาควบคุม Hate Speech โดยการยกตัวอย่างเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งใหญ่ๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นของนาซีหรือในรวันดาที่ Hate Speech เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำไปสู่การสังหารหมู่ไปจนถึงยกตัวอย่างงานวิจัยเชิงวิชาการที่ชี้ความเชื่อมโยงกันของ Hate Speech กับการสังหารหมู่เหล่านี้

ณ ตรงนี้ผู้เขียนคงจะข้ามงานวิจัยที่โต้แย้งข้อเสนอเหล่านี้ไปจนถึงข้อโต้แย้งง่ายๆ อย่างหลักฐานเชิงประจักษ์ของสังคมที่เต็มไปด้วย Hate Speech แต่ไม่มีการสังหารหมู่ หรือสังคมที่มีการสังหารหมู่โดยปราศจาก Hate Speech แต่จะมุ่งประเด็นปัญหาในเชิงนโยบายว่า การใช้อำนาจรัฐมาจัดการกับ Hate Speech นั้นจะสามารถป้องกันการสังหารหมู่ได้หรือไม่? อะไรคือต้นทุนที่สังคมต้องจ่ายในการควบคุม Hate Speech ในยุคนี้สมัยนี้?

เท่าที่ผู้เขียนสังเกต แม้แต่ฝ่ายผู้ที่ต่อต้าน Hate Speech เองก็ยังไม่ได้ยกหลักฐานว่าการระงับยับยั้งและควบคุม Hate Speech โดยรัฐจะสามารถป้องกันการสังหารหมู่หรือกระทั่งการก่อความรุนแรงทางกายภาพได้ การพิสูจน์ว่า Hate Speech เป็นส่วนหนึ่งของการสังหารหมู่ กับการพิสูจน์ว่าการกำราบ Hate Speech จะหยุดการสังหารหมู่จะเป็นคนละเรื่องกัน

สมมติว่ามีข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นว่าการกำราบ Hate Speech จะนำไปสู่การป้องกันการสังหารหมู่ได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคือต้นทุนและความเป็นไปได้ของการควบคุม Hate Speech ในยุคสมัยนี้ และสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะยกก็คือการควบคุม Hate Speech บนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นสื่อหลักที่จะมีบทบาทมากในการเผยแพร่ Hate Speech ไปเรื่อยๆ ในอนาคต หรืออีกนัยหนึ่งผู้เขียนเสนอว่าถ้าควบคุม Hate Speech บนอินเทอร์เน็ตไม่ได้ การควบคุม Hate Speech บนสื่อกระแสหลักอื่นๆ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าประสงค์ในการควบคุม Hate Speech แต่แรกซึ่งคือการลดความเป็นไปได้ของความรุนแรงทางกายภาพอันเกิดจาก Hate Speech

คำถามคือเราจะควบคุมการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตอย่างไรในทางเทคนิค? การควบคุมการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เท่าที่ผู้เขียนได้รับรู้มาจากมิตรสหายผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการควบคุมอินเทอร์เน็ตผูกโยงกับสถาปัตยกรรมของอินเทอร์เน็ตในตอนที่มีการวางโครงสร้างอินเทอร์เน็ตของประเทศหนึ่งๆ ด้วยว่ารวมศูนย์หรือไม่ ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแบบรวมศูนย์ที่รัฐสามารถเข้าถึงการไหลเวียนของข้อมูลทั้งหมดก็ได้แก่จีน และ “The Great Firewall of China” หรือระบบการบล็อคอินเทอร์เน็ตอันแทบจะสมบูรณ์แบบของจีนก็เป็นไปได้จากสถาปัตยกรรมนี้ ในรัฐอื่นๆ ทั่วไปสถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ตจะเป็นแบบไม่มีศูนย์กลาง ผู้มีสิทธิอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลที่ไหลเวียนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคือบรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลายหรือที่เรียกกันว่า ISP

มาตรการการสอดส่องอินเทอร์เน็ตได้แก่มาตรการกดดันให้ ISP ทำการสอดส่องเนื้อหาในเครือข่ายว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ดีนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในทางเทคนิค เพราะโดยทั่วไปกฎเกณฑ์การสอดส่องจะเป็นไปได้หลักการหลักการ “อ่าวปลอดภัย” (safe harbour) ซึ่งหมายความว่าทาง ISP ทั้งหลายจะมีภาระที่จะต้องจัดการกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายต่อเมื่อมีการร้องเรียนเท่านั้น ทาง ISP ไม่ได้มีภาระหน้าที่จะสอดส่องให้พบกิจกรรมผิดกฎหมายให้พบแล้วรายงานรัฐ ซึ่งแนวทางนี้ก็ดูจะเป็นการเรียกร้องเกินไปกับ ISP เพราะนอกจากเนื้อหาที่ทาง ISP จะต้องสอดส่องจะมหาศาลที่จะสร้างปัญหาด้านต้นทุนและประสิทธิภาพในการบริการของ ISP แล้ว นอกจากนี้สิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” หลายๆ อย่างนั้นรัฐก็ไม่มีสิทธิจะดำเนินคดีโดยปราศจากเจตจำนงของเจ้าทุกข์ด้วย กรณีของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศก็เป็นตัวอย่างที่ดี

ที่เลวร้ายกว่านั้น การให้สิทธิรัฐในการสอดส่องเนื้อหาทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ตมันยังเป็นการสร้างเครื่องจักรในการสอดส่องกิจกรรมของประชาชนอันสมบูรณ์แบบ ที่นอกจากจะละเมิดความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารโดยสิ้นเชิงแล้ว การให้เครื่องมือแบบนี้กับรัฐก็ดูจะเป็นการปูทางไปสู่โลกแบบนิยาย 1984 แบบกลายๆ นี่เป็นเหตุผลที่หลายๆ คนออกมาต่อต้านนโยบายรับสารพัดทุกรูปแบบที่มีแนวโน้มแบบนี้ ซึ่งค่อยๆ คืบคลานมาในปี 2012 นี้ในโฉมหน้าที่ต่างๆ กันไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามละเมิดลิขสิทธิ์ของ SOPA และ ACTA หรือการผลักดันกฏหมายปราบปรามสิ่งลามกอนาจารย์เด็ก (Child Porn) อันเป็นอาวุธสำคัญในการจำกัด Free Speech หรือการเซ็นเซอร์สารพัดที่แม้แต่โลกตะวันตกเองก็ไม่สามารถทัดทานโดยการอ้างว่าสิ่งลามกอนาจารย์เด็กมีความชอบธรรมได้เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ

การพยายามควบคุม Hate Speech บนอินเทอร์เน็ตให้ได้อย่างเฉียบขาดก็ไม่ได้ต่างจากการควบคุมการติดต่อสื่อสารชนิดอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ตที่อาจเป็นการประเคนอภิมหาเครื่องจักรแห่งการสอดส่องไปสู่มือรัฐ คำถามคือเราพร้อมหรือเปล่าที่จะจ่ายความเสี่ยงทางการเมืองที่จะให้เครื่องมือในการสอดส่องชั้นยอดกับรัฐซึ่งทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตของเราสูญไปเพียงเพื่อเราจะป้องกันไม่ได้มี Hate Speech บนอินเทอร์เน็ต?

พูดง่ายๆ ให้รวบรัดที่สุดคือ เราพร้อมจะเสี่ยงเสียความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตไปเพื่อการลดความเสี่ยงในการเกิดความรุนแรงที่เกิดจาก Hate Speech หรือไม่? เพราะสุดท้ายการให้รัฐเข้ามาปราบ Hate Speech นั้นประชาชนก็ไม่ได้เสียแค่ Free Speech ที่เป็นนามธรรม แต่ยังเสียสิทธิพลเมืองย่อยๆ อื่นๆ ไปจนถึงเสียงบประมาณสาธารณะซึ่งเป็นต้นทุนดำเนินงานปราบ Hate Speech ของรัฐด้วย

และที่จะต้องพิจารณาสุดท้ายก็คือ ถึงเราให้สิทธิอำนาจรัฐในการปราบปราม แต่รัฐจะมีปัญญาปราบปรามหรือไม่? ถ้าเราให้รัฐออกกฎหมายที่รัฐจะไม่มีความสามารถการบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่จะตามมาก็คือการเลือกบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงาน ซึ่งก็เป็นการตอกย้ำวงจรการคอร์รัปชั่นในระบบราชการเข้าไปอีก

 

เชิงอรรถ

1 ผู้เขียนพบว่าจุดเริ่มการถกเถียงน่าจะเกิดจาการพี่เพจ เชิญมาเป็นชาว "คิด" โพสต์รูปภาพที่มีป้ายข้อความว่า “HATE SPEECH Is NOT FREE SPEECH” (ข้อความตามต้นฉบับ) (ดู https://www.facebook.com/photo.php?fbid=460970737287293&set=a.414662268584807.114272.414661088584925&type=1&ref=nf) แล้วก็เกิดมีการโต้แย้งขึ้น หลังจากนั้น “ปัญญาชนสาธารณะ” ส่วนหนึ่งก็เสนอความคิดของตนบนเพจตัวเองแล้วเพจจำนวนหนึ่งก็ได้ทำภาพโควตเพื่อนำเสนอความเห็นของปัญญาชนเหล่านั้น (เช่น เพจวิวาทะ  หรือ เพจ Prachatai) ซึ่งก็ทำให้ข้อถกเถียงขยายต่อไปอีกเรื่อยๆ

3 นี่เป็นนิยามที่ผู้เขียนสังเคราะห์จากสิ่งที่ถูกจัดว่าเป็น Hate Speech ซึ่งต่างจาก “กติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” ที่เสนอว่า “การสนับสนุนให้เกิดด้วยความเกลียดชังทางสัญชาติ, เชื้อชาติหรือศาสนาเพื่อยั่วยุให้เกิดการดูถูกเหยียดหยาม, ความเป็นศัตรู หรือความรุนแรงสามารถถูกจำกัดได้ตามกฎหมาย” (ดู http://prachatai.com/journal/2012/11/43729) ซึ่งตามมาตรฐานแบบนี้ การ “สังหารหมู่” ทั้งหลายในไทยที่วางอยู่บนฐานการออกใบอนุญาติฆ่าบนฐานของ “อัตลักษณ์ทางการเมือง” ก็ยากจะจัดเป็น Hate Speech ตามกติกาสากลฯ เพราะสิ่งที่กติกาสากลคุ้มครองมีเพียงอัตลักษณ์ “สัญชาติ, เชื้อชาติหรือศาสนา” เท่านั้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ปัญญาชนไทยจำนวนมากยากจะเห็นด้วยเพราะพวกเขาก็มองว่า Hate Speech บนฐานของความต่างของอัตลักษณ์ทางการเมืองนั้นนำไปสู่เหตุการณ์อย่างการล้อมปราบนักศึกษาธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 หรือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. ในเดือนพฤษภาคม 2553 นี่คือความแตกต่างในการนิยาม Hate Speech ที่เป็นเรื่องที่เกินเลยไปจากเนื้อหาหลักของบทความนี้

4 ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นยืนยันแบบนั้นผู้เขียนก็กังขาว่าการเมือง (หรือให้ตรงกว่านั้นคือ “ความเป็นการเมือง”) จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะการทำให้เกิดความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมันก็เป็นแก่นสารของเสรีประชาธิปไตยในภาคปฏิบัติอยู่แล้วที่ประชาชนล้วนเท่าเทียมกันในมี “ทางเลือก” และที่ต้องมีระบบการลงคะแนนเสียงก็เพราะประชาชนนั้นเลือกไม่เหมือนกัน ซึ่งในเงื่อนไขแบบนี้การยุยงให้ผู้อื่นเกิดความเกลียดชังทางเลือกอื่นๆ ก็ดูจะเป็นกิจกรรมทางการเมืองปกติในระบอบเสรีประชาธิปไตย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net