ประมงพื้นบ้านท่าศาลา บุก ‘สผ.’ ค้านมติ คชก.เห็นชอบ EHIA ท่าเรือเชฟรอน

ชี้ประเด็นความบกพร่องของมติ คชก.อาจนำมาซึ่งการสูญสลายของทะเล แหล่งอาหาร วิถีประมง และชีวิตของประมงชายฝั่งท่าศาลา ด้าน เลขาธิการ สผ.ยืนยัน คชก.พิจารณารายงานรอบคอบแล้วในทุกด้าน

 
วันนี้ (22 พ.ย.55) เวลา 13.00 น.สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินทางมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เข้ายื่นหนังสือคัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) กรณี “โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย” ของ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนและเพิกถอนมติให้ความเห็นชอบ รวมทั้งในระหว่างการดำเนินการ ให้มีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับไม่ให้มีการนำรายงาน EHIA ดังกล่าว ไปพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาต
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ให้เหตุผลการคัดค้านว่า กระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายผังเมือง ดังนี้ 1.การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ และผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง 2.การดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ที่เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของชุมชนประมง อันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง 3.การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
 
4.การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ   มีข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ และ 5.การพิจารณาเห็นชอบโครงการ ขาดข้อมูลการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ และขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย
 
 
หลังการเข้ายื่นหนังสือ นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยืนยันว่า คชก. ได้พิจารณารายงานโดยรอบคอบแล้วในทุกด้าน ตามรายงานและข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ขณะที่พิจารณา
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการหลายกลุ่มออกมาให้ความเห็นว่ายังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ของพื้นที่อีกจำนวนมาก ที่ คชก.ไม่นำมาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ของโครงการ
 
ด้าน นายสุพร โต๊ะเสน นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าวถึงความเห็นร่วมของเครือข่ายฯ ต่อการตอบคำถามของเลขาธิการ สผ.ว่า แนวทางการต่อสู้ด้วยการนำเสนอข้อมูลวิชาการของพื้นที่ที่ผ่านมา ไม่เพียงพอที่จะทำให้ สผ. หันมารับฟังได้ และไม่เพียงพอที่จะปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารอ่าวท่าศาลา ดังนั้นแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปของสมาคมและเครือข่ายอื่นๆ จะใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน รวมพลังเพื่อการยืนยันเจตนารมณ์รักษาอ่าวท่าศาลาไว้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร
 
ขณะที่ นายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวกับ สผ.ว่า ภารกิจในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องคนท่าศาลาเท่านั้น แต่เป็นการปกป้องแหล่งอาหารให้กับคนทั้งประเทศ สอดคล้องกับวิกฤติอาหารและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การทำหน้าที่ของคนท่าศาลาจึงเป็นการทำหน้าที่เพื่อคนไทยทุกคน
 
“เราไม่ควรทำลายศักยภาพของเราเอง คือความเป็นผู้มั่งคั่งด้านการผลิตอาหาร ในกรณีนี้ สผ.มีสิทธิที่จะดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ หรือจะสนองเจตนารมณ์ของบริษัทข้ามชาติที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั่วโลกก็ทำได้ แต่ท้ายที่สุดเลขา สผ.ก็ตอบประชาชนว่าเลือกที่จะยืนอยู่ข้างบริษัทเชฟรอน ชุมชนจึงต้องใช้แนวทางอื่นในการต่อสู้ต่อไป” นายประสิทธิชัยกล่าว
 
 
 
 
22 พฤศจิกายน   2555
                                                                                                                       
เรื่อง      คัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
 
เรียน     เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
สำเนาส่ง  คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย  1. หนังสือการจัดทำรายงานผลกระทบสุขภาพระดับชุมชน
2. หนังสือแสดงเจตนารมณ์ปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร “ก่อนแผ่นดินจะกลายเป็นอื่น”
3. แผนที่แสดงระบบนิเวศเฉพาะและความสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา
4. เอกสารการศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำอ่าวท่าศาลา
 
ตามที่ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือที่ ทส 1009/10181   ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2555  ถึงนายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช  ประธานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา  และประธานกลุ่มรักษ์กลาย   แจ้งว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ  ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย  ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555  นั้น
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ขอคัดค้านมติความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย  ของ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า กระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการมีความบกพร่องทางวิชาการ  ไม่เป็นไปตามหลักการและแนวทางพิจารณาในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ  ดังนี้
 
1.     การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง
 
ข้อบกพร่องของการพิจารณาตามหลักความพอเพียงของการกำหนดพื้นที่ได้รับผลกระทบ  ซึ่งนอกจากการกำหนดรัศมี 5 กิโลเมตรที่ไม่ครอบคลุมประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่สำคัญแล้ว การพิจารณาขอบเขตของผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตร  ยังมีช่องว่าง เนื่องจากการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาผลกระทบของระบบนิเวศทางทะเล  คุณภาพน้ำทะเล  และขอบเขตพื้นที่ผลกระทบต่อการประมง ได้กำหนดขอบเขตเพียงบริเวณพื้นที่โครงการ,พื้นที่ในระยะ 500  เมตร ออกไปจนถึง3 กิโลเมตรจากแนวชายฝั่ง(บริเวณแนวปะการังเทียม) และเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ทิ้งตะกอนที่อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 10 กิโลเมตร เพียงเท่านั้น  ซึ่งข้อเท็จจริง เมื่อการดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลหรือการประมง ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ จึงหมายถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่ ซึ่งมิได้จำกัดอยู่เพียงรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่โครงการเพียงเท่านั้น การพิจารณาเพื่อกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบของโครงการต้องครอบคลุมพื้นที่ และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด ดังนั้น การพิจารณาขอบเขตพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบตามรายงานจึงไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมต่อพื้นที่ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมง และอาชีพที่เกี่ยวเนื่องจากการจับสัตว์น้ำ คุณค่าการใช้ประโยชน์และคุณค่าระบบนิเวศ ส่งผลให้การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบนั้น ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง
 
2.     การดำเนินโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ที่เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของชุมชนประมง อันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง
 
เนื่องจากพื้นที่อ่าวท่าศาลามีระบบนิเวศเฉพาะ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญของอ่าวไทย ผลผลิตจากทรัพยากรทางทะเลก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวนมาก(รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) การดำเนินโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทำการประมงในอ่าวท่าศาลาอย่างรุนแรง ซึ่งประเด็นผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่ดังกล่าว เป็นสาระสำคัญของการดำรงอยู่ของวิถีชุมชนประมงซึ่งสืบทอดมานานกว่า๑๐๐ ปี อันจะนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมง และอาชีพต่อเนื่องจากการประมง ซึ่งเป็นผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้
 
3.     การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
 
โครงการนี้แม้ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาของเอกชน แต่เป็นการพัฒนาโดยใช้พื้นที่ทั้งบนฝั่ง   และมีการใช้พื้นที่ก่อสร้างในทะเล ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน  แต่ในขั้นตอนของการเลือกที่ตั้งโครงการ  ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่   ดังนั้น  การเสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณา โดยที่โครงการมีการใช้ประโยชน์พื้นที่อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  และขาดการมีส่วนร่วม  ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มิได้มีการตรวจสอบ วิเคราะห์ประเมินผลเสียของการขาดการมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ จึงเป็นการปฏิบัติงานที่ไม่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการได้รับข้อมูลข่าวสารก่อนการดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ   และไม่เป็นการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
 
4.     การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ   มีข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ 
 
ข้อบกพร่องในหลักการความสมบูรณ์ครอบคลุมของการระบุผลกระทบของโครงการ  ไม่นำไปสู่การพิจารณาการประเมินผลกระทบที่สมบูรณ์และเหมาะสม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ขาดการพิจารณาผลกระทบในด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์พื้นที่  ผลกระทบทางสังคม  และสุขภาวะในด้านปัญญา  คือ   ขาดการพิจารณาความเป็นระบบนิเวศเฉพาะที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต  ได้แก่  ระบบพื้นที่ดอนใต้ทะเล ที่เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลที่หลากหลายตามฤดูกาล และเป็นที่ทำกินของชุมชนประมงชายฝั่ง   การล่มสลายของวิถีประมงชายฝั่ง และผลกระทบต่อเนื่องต่อเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากการประมง การล่มสลายของภูมิปัญญาที่สืบทอดมาด้วยการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และวิถีประมงชายฝั่งที่ถือว่า ทะเล คือชีวิต
 
ทั้งนี้ ชุมชนได้เสนอข้อร้องเรียนต่อผลกระทบดังกล่าวและการมีผลต่อความล่มสลายของชุมชน แต่ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ กระทั่งมีมติให้ความเห็นชอบโครงการ มีเพียงเฉพาะการให้ความเห็นต่อผลกระทบที่จะมีการปนเปื้อนในสัตว์ทะเล และความเสี่ยงในการบริโภค โดยมิได้มีการพิจารณาผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน การสูญเสียรายได้และอาชีพประมงและพื้นที่ต่อเนื่อง การสูญเสียวิถีวัฒนธรรม การสืบทอดภูมิปัญญาของชาวประมง
 
นอกจากนี้ ผลกระทบด้านเสียงและความสั่นสะเทือน ซึ่งชาวประมงผู้ใช้ประโยชน์จากคุณค่าของพื้นที่ในปัจจุบัน และจะได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้เสนอว่าเสียงและความสั่นสะเทือนจะส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลอย่างมาก  แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ปรากฏในการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯแต่อย่างใด  ดังนั้น การพิจารณาประเด็นขอบเขตและผลกระทบ ที่เสนอในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จึงขาดความครบถ้วนสมบูรณ์
 
5.     การพิจารณาเห็นชอบโครงการ ขาดข้อมูลการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ และขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย
 
ข้อบกพร่องในหลักการตัดสินใจโครงการ  แม้คณะกรรมการผู้ชำนาญการจะไม่มีอำนาจในการอนุมัติโครงการก็ตาม   แต่การพิจารณาและตัดสินใจเห็นชอบโครงการ  โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการนี้ มีการดำเนินกิจกรรมและการใช้พื้นที่ที่มีการจัดเก็บวัตถุอันตรายโดยมีพื้นที่ส่วนที่เป็นถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล)  คลังเก็บน้ำมันหล่อลื่น   คลังเก็บถังบรรจุสารเคมี  โรงเก็บของเสียอันตราย   และโครงการนี้มีการขนส่งลำเลียงสารกัมมันตรังสี (อิริเดียม-92) และสารที่เป็นวัตถุระเบิด   แม้ว่ารายงานฯจะอ้างว่าเป็นไปตามมาตรฐานการจัดการและการขนส่ง   แต่กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เป็นข้อห้ามในการใช้ประโยชน์ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ ท่าเรือของบริษัทฯจัดเป็นท่าเรือที่ใช้งานเพื่ออุตสาหกรรม มิใช่สาธารณูปโภคที่เป็นบริการเพื่อสาธารณะ
 
ขณะที่ข้อเท็จจริงในพื้นที่และในรายงานการศึกษา ปรากฏว่ายังมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนประมงชายฝั่ง  และมีการทำประมงชายฝั่งอันเป็นวิถีชีวิตและเศรษฐกิจหลักของชุมชน  แต่ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพของโครงการ  ได้ระบุไว้ว่า ผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา  โดยมิได้ระบุข้อมูลที่ครบถ้วนว่า  ผังเมืองดังกล่าวนี้ มีข้อกำหนดห้ามมิให้มีกิจกรรมอุตสาหกรรม  กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันตราย ในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม  การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯดังกล่าว จึงเป็นการพิจารณาที่บกพร่อง และอาจจะนำมาซึ่งการสูญสลายของทะเล แหล่งอาหาร วิถีประมง และชีวิตของประมงชายฝั่งท่าศาลา
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาเห็นว่า การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย  ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีความบกพร่อง ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายผังเมือง และขาดข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา เพื่อมีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของโครงการที่เพียงพอ   อันนำมาสู่การส่งผลกระทบต่อชุมชน  ระบบนิเวศเฉพาะ  แหล่งอาหาร วิถีการประกอบอาชีพประมง และเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่องจากการประมงของประชาชนในพื้นที่อย่างร้ายแรง มติให้ความเห็นชอบรายงานฯดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จึงมีความประสงค์ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ทบทวน และเพิกถอนมติการให้ความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมทั้งในระหว่างการดำเนินการ ให้มีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับมิให้มีการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ไปพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตด้วย
 
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน และโปรดแจ้งความเห็นและผลการดำเนินการตามหนังสือฉบับนี้ เป็นหนังสือมายังสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาด้วย
 
 
ด้วยเจตนารมณ์รักษาทะเลและผืนแผ่นดิน
 
 
ลงชื่อ
 
นายสุพร   โต๊ะเส็น
นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท