Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ถึงแม้จะไม่มีวอลมาร์ท (Walmart) ในเมืองไทย แต่เราก็คงคุ้นเคยดีกับแบรนด์นี้ในฐานะห้างค้าปลีกสัญชาติอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อันที่จริง วอลมาร์ทดำเนินการทั้งในรูปแบบของร้านค้าปลีกซูเปอร์เซ็นเตอร์ รวมทั้งมีศูนย์กระจายสินค้าของตัวเอง วอลมาร์ทมีธุรกิจใน 27 ประเทศ รวมทั้งจีนและอินเดีย ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ถึง 69 แบรนด์ เช่น ASDA ในอังกฤษ และ Best Price ในอินเดีย หากจะกล่าวว่าวอลล์มาร์ทเป็นธุรกิจในสเกลของโลกก็คงไม่เกินจริงนัก ที่น่าตกใจก็คือ สหรัฐอเมริกาประเทศแม่ของวอลมาร์ท เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่พนักงานไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและสมาคม ขณะที่พนักงานวอลมาร์ทในจีนกลับได้รับการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว
 
ที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากวอลมาร์ทหันมาจ้างคนงานชั่วคราวในโกดังและห้างเป็นจำนวนมากซึ่งเปิดทางให้บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะรับผิดชอบต่อคนงานเหล่านี้ อีกส่วนหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีในหมู่คนงานว่าวอลมาร์ทมีนโยบายที่ “ไม่เป็นมิตร” กับสหภาพแรงงานมายาวนานถึงแม้ผู้บริหารของวอลมาร์ทมักปฏิเสธว่าบริษัทไม่มีนโยบายต่อต้านสหภาพฯ แต่ความพยายามทำลายสิทธิในการรวมตัวและสมาคมของคนงาน ทั้งในและนอกสหรัฐฯ ก็ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง 
 
เช่น ในปี 2548 วอลมาร์ทเลือกที่จะปิดห้างในเมืองคิวเบค ประเทศแคนาดา เมื่อคนงานเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพฯ สำเร็จ เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานขององค์กร American Rights at Work ในปี 2548 เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2541 - 2546 วอลมาร์ทถูกกล่าวหาถึง 288 กรณีว่าทำการแทรกแซงเสรีภาพในการชุมนุมของพนักงาน ในจำนวนนี้ อย่างน้อย 94 ข้อกล่าวหานำไปสู่การร้องเรียนอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ (National Labor Relations Board) ตั้งแต่ความผิดเลิกจ้างคนงานที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับสหภาพ ไปจนถึงการให้สินบนคนงานเพื่อโน้มน้าวให้ปฏิเสธการรวมตัว 
 
ล่าสุด กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา คนงานในส่วนโกดัง (warehouse) ของวอลมาร์ทจำนวนหนึ่งในเมืองลอสแองเจลิสพยายามรวมตัวกันสะท้อนปัญหาสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ภายในโกดังแต่แทนที่บริษัทจะตอบสนองด้วยการปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น กลับตอบโต้ด้วยการตัดชั่วโมงการทำงานของคนงาน จนเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงของคนงานขึ้น ทั้งในโกดังและในห้างโดยการเดินออก (walk-out) จากหน้าที่จนเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของคนงาน 28 แห่ง ใน 12 รัฐทั่วอเมริกาในเดือนตุลาคม และถือเป็นการประท้วงของคนงานวอลมาร์ทครั้งแรกในรอบ 50 ปี
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประท้วงของคนงานโกดังและคนงานในห้างบางส่วนได้ขยายวงกว้างขึ้น สื่อหลายสำนักได้เปิดเผยถึงจดหมายเวียนภายในของวอลมาร์ทที่กำชับไม่ให้ผู้จัดการสาขาลงโทษคนงานที่ทำการประท้วงในครั้งนี้ นักสิทธิแรงงานได้วิเคราะห์ว่าวอลมาร์ทไม่ต้องการเสี่ยงที่จะพิสูจน์ตนเอง เนื่องจากกฎหมายแรงงานของสหรัฐฯ ได้เปิดโอกาสให้คนงานสามารถทำการนัดหยุดงานได้ บนพื้นฐานของเหตุผลว่านายจ้างได้ทำกระทำการด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม (unfair labor practices) ขึ้น ดังนั้น หากวอลมาร์ทลงโทษคนงานกลุ่มดังกล่าวและคนงานเหล่านี้สามารถพิสูจน์ในภายหลังว่าวอลมาร์ทเป็นฝ่ายผิด บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมากให้คนงาน
 
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ากิจการที่มีพนักงานถึง 2 ล้าน 1 แสนคนทั่วโลกอย่างวอลมาร์ทสามารถทำรายได้ของเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2554 (มากกว่าบริษัทน้ำมันอย่างเชลล์และเอ็กซอน) ประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ และกำไรกว่า 1 หมื่นหกพันล้านดอลลาร์ โดยการผลักภาระต้นทุนสินค้าไปให้กับคนงานที่ไม่อำนาจต่อรอง หรือพูดอีกแบบก็คือ วอลมาร์ทเอาค่าแรงที่คนงานเหล่านี้สมควรจะได้ไปอุดหนุนราคาสินค้าในห้างทั่วโลก
 
รายงานของ National Employment Law Project หรือโครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำการศึกษากลยุทธ์การจ้างงานของวอลมาร์ทในเขตรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ เปิดเผยว่าในด้านหนึ่ง วอลมาร์ทสร้างกำไรจากการบริหารระบบการกระจายสินค้า โดยจ้างผู้ประกอบการจัดส่งสินค้าที่จ้างคนงานชั่วคราวอีกทอดหนึ่ง เพื่อทำงานขนสินค้าขึ้นลงจากคอนเทนเนอร์ โดยปกติ คนงานเหล่านี้มักได้รับค่าจ้างเป็นรายชิ้นและมักถูกใช้ให้ทำงานเกินเวลา โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลา รวมทั้งเสี่ยงกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ส่วนแบ่งตลาดที่สูงมากของวอลมาร์ทเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถบีบซัพพลายเออร์ให้ลดราคาสินค้า แต่เพิ่มคุณภาพและความถี่ในการจัดส่งขึ้นเรื่อยๆ 
 
ความได้เปรียบทั้งสองด้านของวอลมาร์ทนั้นกำลังถูกฝั่งคนงานนำกลับมาใช้โจมตีวอลมาร์ทเองในการรณรงค์นัดหยุดงานครั้งใหญ่ ควบคู่กับการรณรงค์ให้ผู้บริโภคที่สนับสนุนคนงานร่วมบอยคอตต์สินค้าของวอลมาร์ทในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายนหรือวัน “แบล็คฟรายเดย์” ที่กำลังจะมาถึง โดยปกติ วันนี้ของทุกปี ห้างใหญ่อย่างวอลมาร์ทจะลดราคาสินค้าจำนวนมาก เพื่อเริ่มต้นเทศกาลจับจ่ายของขวัญแห่งปีก่อนวันคริสต์มาสและปีใหม่จะมาถึง และวอลมาร์ทสามารถทำรายได้มหาศาลในวันแบล็คฟรายเดย์นี้ ดังนั้น หากการรณรงค์ของคนงานได้ผล วอลมาร์ทจะสูญเสียรายได้มหาศาล 
 
การปะทุของความไม่พอใจของคนงานวอลมาร์ททั้งอเมริกา น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าโมเดลที่วอลมาร์ทนำมาใช้นั้นไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะมองจากมุมมองของใครก็ตาม...
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net