Skip to main content
sharethis

ไต่สวนการตาย ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ นัดสุดท้าย พนักงานสอบสวนคดีเบิกความ ชี้เหตุการณ์เดียวกับกรณี “พัน คำกอง” ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเป็นการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ทหาร ทนายขอให้ศาลนำพยานหลักฐานจากคดีดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณา

4 ธ.ค. 55   ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 804 ศาลนัดไต่สวนชันสูตรศพ คดีเลขที่ อช.3/2555  ในคดีที่พนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุเข้าช่องท้องทำให้เลือดออกมากในช่องท้อง เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงค์ ปาก ซ.หมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์ โอเอ ถนนราชปรารภ ช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกับ ‘พัน คำกอง’ ที่ศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่าเป็นการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ทหาร โดยในวันนี้เป็นการไต่สวนนัดสุดท้าย และศาลได้นัดฟังคำสั่ง 20 ธ.ค.นี้

พ.ต.ท.บรรยง แดงมั่นคง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ในฐานะพนักงานสอบสวนคดี เบิกความว่า ช่วงเดือน มี.ค. 53 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) มีการจัดการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ก่อนจะย้ายการชุมนุมมาที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในเวลาต่อมา โดยเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 53 รัฐบาลในขณะนั้นมีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการชุมนุมของ นปช. ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. 53 รัฐบาลได้ประกาศห้ามมีการเข้า-ออกถนนหลายสายในกรุงเทพ รวมถึงบริเวณ ถ.ราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงแยกมักกะสัน

วันที่ 14 พ.ค. 53 ทหารได้ปฏิบัติการณ์กระชับพื้นที่เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณ ถ.ราชปรารภ โดยทหารได้ตั้งกองบัญชาการที่สถานีแอร์พอร์ตลิงค์ มีการนำลวดหนามมาขึงใต้สถานีแอร์พอร์ตลิงค์ และแยกมักกะสัน และยังมีทหารจำนวนหนึ่งยืนรักษาการณ์ด้วย ส่งผลให้บุคคลและรถยนต์ไม่สามารถเข้า-ออกบริเวณดังกล่าวได้

พนักงานสอบสวนคดี เบิกความอธิบายภาพจากกล้องวิดีโอของ คมสันติ ทองมาก ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่นทีวี แสดงให้เห็นว่า รถตู้ที่ขับโดยนายสมร ใหมทอง มาจากทางด้านประตูน้ำมามุ่งหน้าทางดินแดง และเมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นรถตู้คันดังกล่าวจึงได้หยุดลง นอกจากนี้ยังมีภาพที่ทหารนำเปลสนามเข้าไปหามคนขับรถตู้คันดังกล่าวออกมาไว้ที่หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ก่อนที่จะนำคนขับรถตู้คันดังกล่าวขึ้นรถ GMC โดยในรถ GMC ยังมี ด.ช.คุณากรณ์ ผู้ตายในคดีนี้ ซึ่งถูกยิงจากด้านหลังทะลุออกมาที่หน้าท้อง และขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ด้วย โดยต่อมามีรถของมูลนิธิมารับ ด.ช.คุณากรณ์ และคนขับรถตู้ไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ขณะที่รถ GMC นำ พัน คำกอง ไปส่งที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ในภายหลัง

จากการชันสูตรพลิกศพของ พัน คำกอง พบกระสุน .223 ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้กับปืน M16 อยู่ในศพ นอกจากนี้ยังพบกระสุนชนิดเดียวกันในร่างกายของคนขับรถตู้คันดังกล่าวด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ตรวจสอบรถตู้คันดังกล่าว แต่ได้ถ่ายภาพและส่งภาพถ่ายดังกล่าวให้กองพิสูจน์หลักฐาน และทราบมาว่า ทหารมีการใช้ปืน M16 จำนวน 40 กระบอกในบริเวณดังกล่าว แต่ได้ส่งปืน M16 จำนวนกว่า 30 กระบอกมาให้ตำรวจตรวจสอบ ซึ่งไม่พบปืน M16 กระบอกใดมีรอยกระสุนตรงกันกับกระสุนที่อยู่ในร่างนายสมรหรือนายพันแต่อย่างใด

พ.ต.ท.บรรยง เบิกความต่อว่าจากคำให้การในชั้นสอบสวนของตำรวจ อเนก ชาติโกฎิ รปภ.คอนโดมิเนียมไอดีโอ ได้ให้การว่า ตนเองได้ยินเสียงปืนจึงได้วิ่งออกดู และพบศพของ พัน คำกอง นอกจากนี้คมสันติได้ให้การสอดคล้องกันว่า ได้ยินเสียงปืน และเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย

หลังการชุมนุม กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ได้ประกาศให้คดีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.53 ทั้งหมดเป็นคดีพิเศษ ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่คิดว่า การเสียชีวิตของ ด.ช.คุณากรณ์ เกิดจากเจ้าหน้าที่ ศอฉ. จึงได้ส่งสำนวนดังกล่าวพร้อมแสดงความเห็นต่อ DSI แต่ DSI เชื่อว่า การเสียชีวิตของ ด.ช.คุณากรณ์ เกิดจากเจ้าหน้าที่ ศอฉ. จึงได้ส่งสำนวนกลับมาให้ตำรวจทำการสอบสวนใหม่อีกครั้ง โดยมีอัยการเข้าร่วมการสอบสวนด้วย

โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิตได้ชี้ให้ศาลเห็นด้วยว่า ในวันดังกล่าว ทหารได้ใช้บริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงค์เป็นกองบัญชาการ และมีการปิดล้อมบริเวณที่เกิดเหตุอย่างแน่นหนา มีการตั้งบังเกอร์ทั้ง 2 ฝั่งของถนน ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถเข้า-ออกบริเวณดังกล่าวได้ ถ้าไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังมีการปิดป้ายในบริเวณดังกล่าวว่า "เขตใช้กระสุนจริง" อีกด้วย

ด.ช.คุณากรณ์ เสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนความเร็วสูงจากปืน M16 ยิงจากด้านหลังทะลุออกมาด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุของ พัน คำกอง ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดีนี้ ทนายจึงขอให้ศาลนำพยานหลักฐานจากคดีของ พัน คำกอง มาใช้ในการพิจารณาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net