Skip to main content
sharethis

 

กิตติศักดิ์ ปรกติ อนุกรรมการสิทธิการเมือง ชี้ตำรวจไม่จำเป็นต้องปิดถนนหากไม่มีเหตุฉุกเฉิน แสดงความกังวลต่อการใช้ดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ในการประกาศใช้พรบ. ความมั่นคง ในขณะที่ 'แม่น้องเกด' พร้อมญาติผู้เสียชีวิตเม.ย.-พ.ค. 53 บุกมอบรางวัล 'พิทักษ์ผู้กดขี่ดีเด่น' แก่คณะกรรมการสิทธิฯ

 

17 ธ.ค. 55 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดการประชุมเพื่อหาข้อเท็จจริงในกรณีความรุนแรงในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มสยามพิทักษ์ นำโดยบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีพล.ต.อ. วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. และพล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต และคณะ เป็นผู้แทนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้าพบคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อชี้แจงการใช้กำลังของรัฐในการสลายการชุมนุมในการชุมนุมของกลุ่มสยามพิทักษ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 55 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำและสมาชิกกลุ่มสยามพิทักษ์เข้าร่วมฟังด้วย อาทิ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แซมดิน เลิศบุศย์ บวร ยสินทร เป็นต้น 
 
ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ซักถามข้อเท็จจริงและตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการการปิดถนนเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 55 ว่า เหตุใดตำรวจจึงมีประกาศให้ปิดถนนบริเวณถนนศรีอยุธยาในคืนวันที่ 23 พ.ย. รวมถึงการปิดถนนในบริเวณรอบๆ พื้นที่การชุมนุม ทั้งๆ ที่มิได้มีเหตุฉุกเฉินใดปรากฎชัดเจน โดยอ้างถึงมาตรฐานสากลที่ใช้ในต่างประเทศว่า ถึงแม้ว่าการชุมนุมจะมีการข่มขู่ว่าเป็นไปเพื่อก่อการร้าย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถทำการปิดถนนได้ เพราะถือว่าเป็นมาตรการที่จงใจแปลกแยกและรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรทำได้เพียงแค่การดูแลรักษาความปลอดภัยและตรวจตราเท่านั้น 
 

ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ ซักถามผู้แทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับ
เหตุการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมของกลุ่มสยามพิทักษ์
 
พล.ต.อ. วรพงษ์ ซิวปรีชา ได้ชี้แจงว่า มาตรการการปิดถนนเป็นไปตามการเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย และการควบคุมพื้นที่บริเวณใกล้ที่ชุมนุม เพื่อป้องกันเหตุที่ไม่คาดฝันเช่นการถูกปาระเบิด หรือการเข้ายึดสถานที่ราชการ เป็นต้น นอกจากนี้ เป็นเพราะแกนนำได้ประกาศว่า จะแช่แข็งประเทศไทย และล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตำรวจจึงต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทำให้กลุ่มพิทักษ์สยามที่เข้าฟังการไต่สวนโห่ร้องแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมาก และในภายหลัง แกนนำกลุ่มพิทักษ์สยามกล่าวว่า ต้องการเพียงขับไล่นักการเมืองเท่านั้น มิได้ต้องล้มล้างระบอบการปกครองแต่อย่างใด
 
พล.ต.อ. วรพงษ์ ซิวปรีชา ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทางตำรวจอนุญาตให้ใช้เพียงโล่ กระบอง และแก๊สน้ำตาเข้าใช้ควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำอาวุธอื่นๆ เข้าไปเลย ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมหน่วยพยาบาลร่วมกับกระทรวงสาธารณะสุขเพื่อดูแลผู้บาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ถูกจับกุมจากการบุกรุกของตำรวจก็นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อการรักษาทันที เมื่ออาการดีขึ้นจึงค่อยนำไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ 
 
ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงจำนวนผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวด้วยว่า มียอดผู้บาดเจ็บจากฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งหมด 48 คน จากบาดแผลฟกช้ำ และแก๊สน้ำตา ในขณะที่ฝั่งตำรวจมียอดผู้บาดเจ็บทั้งหมด 94 คน จากการปะทะระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม
 
รองผู้บัญชาการตำรวจ ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมฝูงชนว่า เป็นเพราะในช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย. ตำรวจได้ทำการปิดกั้นถนนบางส่วนเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ผู้ชุมนุมได้พยายามบุกข้ามแนวกั้นเหล็ก ลวดหนาม และแท่งคอนกรีต โดยมีการตัดลวดหนาม และนำรถขับรถชนทับขาตำรวจจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า การใช้แก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือควบคุมมวลชนที่รุนแรงน้อยที่สุด อันตรายน้อยกว่าการใช้น้ำฉีดเนื่องจากมีแรงดัน ซึ่งเป็นหลักที่ยึดตามการอบรมมาจากสหประชาชาติ เขายังย้ำด้วยว่า ก่อนการปาแก๊สน้ำตา ได้ประกาศเตือนฝูงชนแล้วหลายครั้ง
 
ด้านนพ. ตุลย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้แก๊สน้ำตา เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือนวันที่ 7 ต.ค. 51 ซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสียชีวิตจากระเบิดแก๊สน้ำตา และอาจนำไปสู่ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ต่อไป 
 
 
ด้านจอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ได้ชี้ว่า ในความเป็นจริง การใช้พรบ. ความมั่นคง อาจสร้างปัญหามากกว่าเป็นการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการประกาศใช้ ก็ทำให้เกิดความคลุมเครือและเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิด 
 
แม่น้องเกด พร้อมญาติผู้เสียชีวิตบุก 'กสม.' มอบรางวัล 'หน่วยงานพิทักษ์ผู้กดขี่ดีเด่น'
 
ในวันเดียวกัน ราวเวลา 11.30 น. กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเม.ย. -พ.ค. 53 นำโดยพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตบริเวณวัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค. 53 ได้เดินทางมายังอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรตืฯ เพื่อมอบรางวัล "หน่วยงานพิทักษ์ผู้กดขี่ดีเด่น" ให้แก่ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อทวงถามความเป็นธรรมต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 และรายงานความคืบหน้าจากกรรมการสิทธิ ที่ล่วงเลยกำหนดเผยแพร่แล้วกว่า 1 ปี 
 
 
นอกจากนี้ ยังได้ถือป้ายแสดงการคัดค้านการมอบรางวัลผู้อุทิศตนดีเด่นประจำปีโดยคณะกรรมการสิทธิฯ ให้แก่พญ. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) เนื่องจากมองว่าทั้งสองมิได้มีบทบาทสนับสนุนสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด โดยนางพะเยาว์ อัคฮาด กล่าวว่า พญ.พรทิพย์กลับสนับสนุนการทำลายหลักฐานทางนิติเวชศาสตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ซึ่งขัดขวางกระบวนการค้นหาความจริง ส่วนพระมหาวุฒิชัย หรือ ว.วชิรเมธี ก็มีบทบาทที่กล่าวคำสอนไปในทางยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังและฆ่ากันมากกว่า เช่นคำกล่าวที่ว่า "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" จึงไม่เห็นด้วยกับการมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนดีเด่น และต้องการมอบ "โลงจำปาทอง" "หม้อแม่นาค" และ "ลูกฟัก" ให้แก่ ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิฯ พญ. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ตามลำดับ 
 
อย่างไรก็ตาม นพ. นิรันดร์ และศ.อมรา มิได้ลงมาพบตามคำเชิญ นายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จึงได้เข้ามารับเรื่องแทน และกล่าวว่า รายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าด้วยการสลายการชุมนุมปี 2553 จะเร่งทำออกมาให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข้อมูลและผู้เสียชีวิตที่เยอะ จึงต้องการใช้เวลาประมวลข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งนี้ ในวันนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองสิทธิมนุษยชนประจำปี ภายใต้หัวข้อ "เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ความจริงต้องปรากฎ" โดยมีองค์กรสิทธิต่างๆ เข้าร่วมด้วย 
 
 
นางพะเยาว์ อัคฮาดยังกล่าวว่า ที่มาเยือนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการทวงถามความชัดเจนเรื่องอำนาจของคณะกรรมการสิทธิฯ ในการเรียกไต่สวนเพื่อการค้นหาความจริง โดยหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ตนก็ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ดำเนินการค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้อง แต่อมรา พงศาพิชญ์ เคยชี้แจงว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีอำนาจดังกล่าว แต่ในกรณีการสลายชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยาม คณะกรรมการสิทธิกลับดำเนินการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงโดยทันที ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นต้น  
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net