Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความนำ

            การก่อการรัฐประหารโดยคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 และจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศแทนรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งในขณะนั้นแล้ว ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) ตามบทบัญญัติมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว การก่อการรัฐประหารครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองในแบบย้อนกลับอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดการชะงักงัน และเกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในสังคมไทยจะได้รับการแก้ไขเยียวยาให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชนคนไทย ที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกันได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันก็ดูประหนึ่งว่านับวันปัญหาจะยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เพราะความแตกแยกในสังคมได้ถูกตอกลิ่มให้ร้าวลึกลงไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นและน่าอัปยศอดสูในรัฐสภา การจัดกลุ่มชุมนุมตั้งเวที ปราศรัยตอบโต้กันนอกสภา การใช้สื่อทุกรูปแบบวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งกล่าวหาใส่ร้ายโจมตีกันอย่างรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติโดยรวม โดยที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างก็อ้างว่าเชื่อมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรมและการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างก็มีบทนิยามของตนเองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

        จากการที่ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ออกมาเสนอแนวคิดให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของทุกฝ่าย โดยหวังว่าอาจจะช่วยให้เกิดการค้นพบแนวทางที่นำสังคมไทยไปสู่การอยู่ร่วมกันได้ของทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ในลักษณะ “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก” โดยทุกฝ่ายยอมรับกติกากลางในการปกครองบ้านเมืองตามหลักนิติรัฐนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตยโดยแท้จริง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐบาลจะลงทุนเชิญอดีตผู้นำทางการเมืองที่มีชื่อเสียงของโลกและผู้เชี่ยวชาญการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมาแสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอื่น ๆ แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จในการเชิญชวนบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เป็นผู้อาวุโสทางการเมือง ผู้นำทางความคิดที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยเสนอแนวคิดในการปฏิรูปการเมืองมาก่อน หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และหัวหน้ากลุ่มการเมืองที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลให้เข้ามาร่วมสังฆกรรมด้วยแต่อย่างใด โดยบุคคลเหล่านี้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีสภาปฏิรูปที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีขึ้น โดยอ้างเหตุขัดข้องต่าง ๆ ในทางส่วนตัวของตนเอง แต่ก็มีบางคนที่ไม่ยอมเข้าร่วม เพราะมองว่าการเสนอให้มีการพูดจากันในเวทีสภาปฏิรูปของนายกรัฐมนตรีเป็นการแก้เกมส์ทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลที่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในฐานะเพลี่ยงพล้ำ เพราะเกิดความผิดพลาดและทุจริตคอรัปชั่นในการดำเนินนโยบายหลายเรื่องของรัฐบาลเอง

        จากท่าทีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนสภาปฏิรูปเช่นนี้ จึงทำให้ความหวังที่จะเห็นการพูดจาหาทางปรองดองกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ลุล่วงไปได้ด้วยดียังคงริบหรี่ที่แม้แต่แสงที่ปลายอุโมงค์ก็ยังแทบจะมองไม่เห็นเอาเสียเลยก็ว่าได้ ทางออกของประเทศไทยในการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อผลักดันระบอบการปกครองบ้านเมืองให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงจึงดูเหมือนว่าจะไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากจะต้องพยายามฝ่าฟันไปในครรลองของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั่นเอง

รัฐธรรมนูญ 2550 : ผลพวงของรัฐประหาร

1 หลักรัฏฐาธิปัตย์และรัฐประหาร

          ตามหลักความคิดของนักนิติศาสตร์ในประเทศที่ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย การโค่นล้มรัฐบาลโดยใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจหรือการทำรัฐประหาร เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย ดังเช่นความเห็นของศาสตราจารย์ Richard Albert ที่ยืนยันว่า “การทำรัฐประหารโดยใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเป็นการปรามาสอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานของหลักเสถียรภาพ ความยินยอมและความชอบธรรม” ส่วนศาสตราจารย์ Andrew Janos กล่าวว่า “การทำรัฐประหารเป็นการทวนกระแสกระบวนการอภิวัฒน์” ในสหรัฐอเมริกาจึงมีกฎหมายห้ามรัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลประเทศใดก็ตามที่เขาสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบของประชาชน ซึ่งต่อมาสหภาพยุโรปก็ตรากฎหมายที่มีผลทำนองเดียวกันออกมาใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

อันที่จริงถ้าจะว่ากันตามตัวบทกฎหมาย การทำรัฐประหารก็เป็นการกระทำความผิดฐานกบฏตามกฎหมายไทยโดยชัดแจ้ง เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3)…………………………………………………..ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต”

อย่างไรก็ตาม ดังเป็นที่ทราบกันดีและอาจถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยอย่างหนึ่งด้วยว่า “หากผู้ใดทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบอบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้ มิฉะนั้น ประเทศชาติจะตั้งอยู่ในความสงบไมได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496)

อนุสนธิจากคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นต้นบรรทัดฐานของหลักกฎหมายไทยว่าด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ได้มีอรรถาธิบายในบันทึกท้ายคำพิพากษานี้โดยศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางนิติศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทยว่า “การปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้น ในครั้งแรกเป็นการผิดกฎหมาย แต่เมื่อผู้กระทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารจนสำเร็จบริบูรณ์ กล่าวคือ สามารถยืนหยัดอำนาจอันแท้จริงของตนได้ โดยปราบปรามอำนาจของรัฐบาลเก่าหรือกลุ่มของบุคคลที่ต่อต้านแพ้ราบคาบไปแล้ว ก็เป็น “รัฏฐาธิปัตย์” มีอำนาจสูงสุดในรัฐ ฉะนั้น จึงอยู่ในฐานะที่จะให้รัฐธรรมนูญใหม่และยกเลิกกฎหมายเดิม บัญญัติกฎหมายใหม่ตามชอบใจได้”

นอกจากจะได้รับการยืนยันความถูกต้องชอบธรรมตามหลักนิติศาสตร์โดยศาลซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจตุลาการแล้ว ประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันมาเพื่อให้การทำรัฐประหารเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายโดยสมบูรณ์ ก็คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้างความผิดและโทษให้แก่คณะผู้ทำการรัฐประหารและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้ถือว่าการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร หรือกระทำตามคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารทั้งหมดเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใดจะนำความไปฟ้องร้องกล่าวหาคณะผู้กระทำรัฐประหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นคดีอาญาหรือแพ่งไม่ได้ทั้งสิ้น การดำเนินการในเรื่องนี้ แต่เดิมจะใช้วิธีการตรากฎหมายในรูปพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดนิรโทษกรรม แต่ภายหลังต่อมาได้มีวิวัฒนาการให้เกิดความศักดิ์สิทธิยิ่งขึ้นโดยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ตนใช้อำนาจของความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จากการทำรัฐประหารยกเลิกไป ซึ่งมีตัวอย่างล่าสุดดังที่ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติมาตรา 36-37 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 และมาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันนั่นเอง

2. ยืนยันความศักดิ์สิทธิโดยตุลาการภิวัตน์

          หลักรัฏฐาธิปัตย์จากการทำรัฐประหารสำเร็จเป็นบรรทัดฐานการวินิจฉัยคดีที่ได้รับการยืนยันโดยศาลไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคตุลาการภิวัตน์ หลักนิติศาสตร์ไทยที่สำคัญหลักนี้นอกจากจะได้รับการยืนยันความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจตีความและวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันรัฐบาลและองค์กรรัฐทุกองค์กรให้ต้องยึดถือปฏิบัติตามแล้ว ยังได้รับการพัฒนาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งในเชิงทฤษฎีและผลผูกพันในทางปฏิบัติของบรรดาประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกโดย คปค. ภายหลังที่ได้ทำรัฐประหารจนเป็นผลสำเร็จในวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 รวมทั้งสถานภาพทางกฎหมายของคำสั่งและประกาศของ คมช.ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ด้วย

ในส่วนที่ยืนยันหลักรัฏฐาธิปัตย์โดยตรง มีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่น ดังต่อไปนี้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2551        

ในหน้าที่ 32 และ 35 นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นส่วนตน ตอนหนึ่งความว่า:

          “เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 เป็นคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ คณะรัฐประหารจึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจสูงสุด คำสั่งของคณะรัฐประหารดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเพื่อประเทศชาติจะตั้งอยู่ได้ในความสงบต่อไป”

คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550 (“คดีที่ดินรัชดาฯ”)  

ในหน้าที่ 8-9 ศาลฎีกา กล่าวว่า

          “เห็นว่า ในการทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศในแต่ละครั้งนั้น ผู้ทำการรัฐประหารมีความประสงค์ที่จะยึดอำนาจอธิปไตยที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งก็คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ มารวมไว้โดยให้มีผู้ใช้อำนาจดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวหรือคณะบุคคลคณะเดียวเท่านั้น มิได้มีความประสงค์ที่จะล้มล้างระบบกฎหมายของประเทศทั้งระบบแต่อย่างใด”

          “แม้แต่อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในอำนาจอธิปไตยก็ยังปรากฏเป็นข้อที่รับรู้กันทั่วไปว่าตามปกติผู้ทำการรัฐประหารจะยังคงให้อำนาจตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่อไปได้ คงยึดอำนาจไว้แต่เฉพาะอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารเท่านั้น”

          “ในการทำปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เช่นกัน เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ”

          “ส่วนศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารมารวมไว้ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนอำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมใช้อำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายต่อไป”

ความเห็นแย้งของผู้พิพากษาศาลฎีกา (นายกีรติ กาญจนรินทร์)

          คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  คดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552 (“คดีนายยงยุทธ ติยะไพรัช”)

         นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้แสดงความเห็นแย้ง ปรากฏความบางส่วนว่า

          “เห็นว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน...นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย”

          “การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย”

          “หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ”

          “ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์”

          “ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์...”

 

หมายเหตุ

เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก Panat Tasneeyanond

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net