สุรพศ ทวีศักดิ์ :รัฐกึ่งศาสนากึ่งประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้ในทางนิตินัยเราจะบอกตัวเองว่าสังคมไทยปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แต่ในทางวิชาการยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า “รูปแบบ” และ “อุดมการณ์” ของระบอบการปกครองดังกล่าวนี้เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่

เพราะยังเห็นตรงกันไม่ได้นั่นเอง ความขัดแย้งจึงมีมาตลอด 81 ปี นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่น ฝ่ายที่ทำรัฐประหารมักอ้างว่าทำรัฐประหารเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย ฝ่ายนักศึกษา ประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารก็บอกว่าพวกทำรัฐประหารนั่นแหละทำลายประชาธิปไตย นักศึกษาประชาชนต่างหากที่ต้องการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

แสดงให้เห็นว่าระบบการปกครองตามที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มีปัญหาในสาระสำคัญบางประการ ดังที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งข้อสังเกตว่า

ปัจจุบันเราเรียกระบอบการปกครอง หรือ form of government ของเราว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรจะเรียกอีกแบบหนึ่งคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ ...เป็นรูปแบบที่จงใจจะจำกัดความหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะในเชิงสังคมวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทว่าเป็นการจำกัดความหลากหลายในระดับที่ผมเรียกว่า ระดับ existentialist เป็นความหลากหลายในเชิงความเป็นตัวตนของมนุษย์ ใน existential activity หรือ existential diversity โดยพื้นฐานแล้วความเป็นมนุษย์เราคืออะไร ในความคิดผมสิ่งที่เป็นหัวใจของมนุษย์เลยคือ freedom คือ เสรีภาพ ...ถ้ามนุษย์ไม่สามารถจะคิดอะไรที่อยากจะคิดได้ ไม่สามารถที่จะพูดอะไรในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดได้ ก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ฉะนั้น โดยระบอบการปกครองแบบนี้ เนื้อแท้ของมันออกแบบให้จำกัด existence ของเรา

(สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมจริง: เงื่อนไขของการยอมรับความหลากหลาย” ใน เกษม เพ็ญภินันท์, ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมในมนุษยศาสตร์, 2552, หน้า 33-34)

นอกจากนี้ ยังมีข้อถกเถียงต่อไปอีกว่าจริงๆ แล้วรัฐไทยเป็นรัฐศาสนา หรือรัฐโลกวิสัยกันแน่ ถ้าบอกว่าเป็น “รัฐศาสนา” ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะรัฐไทยปัจจุบันไม่ได้ปกครองด้วยหลักศาสนาเหมือนรัฐอิสลาม แต่ถ้าบอกว่าเป็น “รัฐโลกวิสัย” ก็ไม่ใช่อีก เพราะรัฐโลกวิสัย รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพทางศาสนา คุ้มครองไม่ให้มีการใช้ศาสนาละเมิดสิทธิพลเมือง ไม่ปกครอง ไม่ก้าวก่ายกิจการของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง องค์กรทางศาสนาต่างๆ มีสถานะเป็นองค์กรเอกชน ไม่ใช่องค์กรของรัฐ

แต่องค์กรพุทธศาสนาไทย คือ “มหาเถรสมาคม” เป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทยทั้งประเทศ ที่สถาปนาขึ้นแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นองค์กรปกครองสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐ ใช้กฎหมายของรัฐปกครองคณะสงฆ์ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั้น แม้ไม่ได้ใช้หลักศาสนามาเป็นกฎหมายปกครองเหมือนรัฐอิสลาม แต่ก็ปกครองด้วยอุดมการณ์พุทธศาสนา คือ “การปกครองแผ่นดินโดยธรรม” พระมหากษัตริย์ถูกยกย่องว่าทรงทศพิธราชธรรม มีการแต่งตั้งสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการควบคุมพระสงฆ์ไม่ให้สอนพุทธศาสนาไปในทางที่ท้าทายอำนาจรัฐ เช่น กรณีรัชกาลที่ 6 ถอดสมณศักดิ์พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เพราะเทศนาคัดค้านการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนการส่งทหารไทยไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของชนชั้นปกครอง เป็นต้น

เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ที่กำหนดให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ครั้นต่อมาเริ่มใช้ชื่อระบอบการปกครองว่า “ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2492 เป็นต้นมา ย่อมเป็นที่ทราบกันว่าชื่อระบอบการปกครองดังกล่าว เกิดขึ้นโดยการผลักดันของฝ่ายกษัตริย์นิยมที่เอาชนะคณะราษฎรลงได้ โดยการขจัดปรีดี พนมยงค์ด้วยรัฐประหาร 2490 ส่วนหนึ่งของชัยชนะนั้น คือการฟื้นฟูอำนาจบารมีของสถาบันกษัตริย์ โดยการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์ปกครองแผ่นดินโดยธรรม พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรมมีสถานะสูงสุดอยู่เหนือราษฎรทุกคน

ในปัจจุบันสถานะของสถาบันกษัตริย์ยังอยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังคงมีการอ้างอิงอุดมการณ์ทางพุทธศาสนา “ปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” (รัชกาลที่ 4 ทรงใช้อุดมการณ์นี้เป็นครั้งแรกตามทฤษฎี “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ”) ยังคงมีระบบการปกครองคณะสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐ มีระบบสมณศักดิ์ขึ้นต่อพระราชอำนาจ ที่กำหนดให้คณะสงฆ์เทศนาทศพิธราชธรรมสนับสนุนความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ฉะนั้น เราจะทำความเข้าใจระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยที่สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ (แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อย่างไรดี หากจะถือว่าเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” (เสรีประชาธิปไตย) ทำไมสถานะของสถาบันกษัตริย์จึงวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้เหมือนอังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น เช่นเดียวกันเราจะเรียกรัฐไทยที่องค์กรปกครองสงฆ์ขึ้นต่อรัฐ คณะสงฆ์รับสมณศักดิ์จากสถาบันกษัตริย์ มีหน้าที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสถาบันกษัตริย์เหมือนดังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าเป็นรัฐอะไรดี เป็นรัฐศาสนา หรือรัฐกึ่งศาสนา

ความที่ไม่สามารถเป็นรัฐประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัยอย่างอารยประเทศได้ ทำให้รัฐไทย “ติดหล่ม” จะถอยหลังก็ไม่ได้ เพราะโลกสันนิวาส สภาพความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมหมุนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ครั้นจะหมุนตามโลกให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อย่างคนอื่นเขา ก็ถูกฉุดด้วยระบบอำนาจและอุดมการณ์แบบเก่าที่ครอบสังคมอยู่ ทั้งในแง่ “ระบบความนึกคิด” (Ideology) ที่ถูกปลูกฝังผ่านสถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และในแง่ระบบกฎหมาย

ในทำนองเดียวกันจะเป็นรัฐศาสนาก็เป็นไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนาเองที่คณะสงฆ์เป็นอิสระจากรัฐมาแต่โบราณ แต่จะก้าวไปเป็นรัฐโลกวิสัยก็ไม่ได้ เพราะถูกล็อกด้วยระบบเก่า

แต่การอยู่ในสภาพครึ่งๆกลางๆ ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจุดหมาย ก็รังแต่จะทำให้ประชาธิปไตยวิกฤต และพุทธศาสนาวิกฤต จึงจำเป็นที่เราควรตื่นตัวอภิปรายถกเถียงปัญหา “ภาวะครึ่งๆกลางๆ” ดังกล่าวด้วยเหตุผล เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันว่าสังคมเราจะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัยอย่างราบรื่นได้อย่างไร

 

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (12-18 ต.ค.2556)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท