Skip to main content
sharethis
คปสม.ชี้รัฐบาลจากทั้งทหาร-ปชป.-พท.ในระบบการเมืองแบบเก่าประชาชนไม่ต่างอะไรกับผู้ร้องขอ ไม่นำสู่การแก้ปัญหา เสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจประเทศไทยใหม่ เพิ่มสภาพลเมือง จาก 3 อำนาจหลัก บริหาร นิติบัญญัติ  ตุลาการ มีหน้าที่เสนอแผนการพัฒนาประเทศ-กฎหมายภาคประชาชนที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ
 
12 ธ.ค.2556 ไมตรี จงไกรจักร ตัวแทนเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เผยแพร่ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย ของเครือข่าย คปสม. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สัมมนาอย่างเข้มข้นต่อสถานการทางการเมืองที่เกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 8-10 ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีข้อเสนอต่อสังคม ดังนี้
 
 
ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย
โดยเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
 
ความเป็นมา
 
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยการรวมตัวกันของชาวบ้าน ๔๘๐ ชุมชน จาก ๑๘ เครือข่ายย่อยทั่วประเทศ  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านที่ดิน  ที่อยู่อาศัย กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มไร้สัญชาติ  และกรณีปัญหาทรัพยากร เช่นเหมืองแร่ การสัมปทานเหมืองฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ชาวบ้านในพื้นที่ถือว่าเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  การถูกจับดำเนินคดีกรณีชาวเลหากินในทะเล  การถูกไล่รื้อสุสานฝังศพชาวเลเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาการสัมปทานเหมืองแร่ที่ละเมิดสิทธิชุมชน  หรือกรณีของคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาล  การเดินทาง  การศึกษาของลูกหลานเป็นต้น  รวมถึงหลายชุมชนนั้นอยู่ในพื้นที่ของรัฐที่ประกาศทับ เช่น ที่สาธารณะ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชุมชนเหล่านี้ล้วนเป็นชุมชนดั้งเดิมมีการก่อตั้งเป็นชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนานระหว่าง 50-150 ปี
 
ก่อนการรวมตัวกันในนามเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม) สมาชิกเครือข่ายบางกลุ่มต่อสู้กับปัญหามากว่า ๒๐ ปี รวม ๑๐ รัฐบาล  แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขด้วยกระบวนการใช้อำนาจในการปกครองทั้ง ๓ อำนาจ คือ บริหาร  นิติบัญญัติ และตุลาการ ของประเทศ เพราะการใช้อำนาจเชื่อมโยงกัน และมีความสัมพันธ์ของอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนหลังจากเข้าสู่อำนาจแล้ว
 
 
คปสม.เข้าเสนอแนวทางแก้ปัญหาชุมชน และเข้าร่วมการแก้ปัญหามาแล้ว ตั้งแต่รัฐบาล นายกทักษิณ  ชินวัตร  นายก สุรยุทธ จุลานนท์  นายกสมัคร สุนทรเวช  นายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์  นายก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  มีกรรมการกว่า ๕๐ ชุด อนุกรรมการ กว่า ๑๐๐ ชุด และคณะทำงาน กว่า ๒๐๐ ชุดมาแล้ว  แต่ปัญหาทั้งหมดเพียงแค่ทุเลาลง เท่านั้น ชุมชน สมาชิกเครือข่ายฯที่มีปัญหา ยังคงอยู่คู่กับชุมชน เป็นคนผิดกฎหมายที่รัฐออกมาบังคับ ละเมิดสิทธิชุมชน และถูกดำเนินคดีคนจน อยู่ตลอดมา  เพื่อให้ประชาธิปไตยและผู้ใช้อำนาจเพื่อการแก้ปัญหาชุมชน สังคม ทางเครือข่ายฯ จึงสรุปว่า รัฐบาลที่มาจากทั้งทหารปฏิวัติ  พรรคประชาธิปปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย  ในระบบการเมืองแบบเก่าประชาชนไม่ต่างอะไรกับผู้ร้องขอ  และไม่นำสู่การแก้ปัญหาประชาชนโดยตรง  จึงมีข้อเสนอกับสังคมดังนี้
 
๑.ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจประเทศไทยใหม่ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจถ่วงดุลโดยประชาชนโดยตรง คือมีอำนาจบริหาร  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจตุลาการ และสภาพลเมือง เพื่อเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
๒.ต้องปฏิรูประบบรัฐสภาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จากสามส่วน คือ
 
๒.๑ ส.ส.คือผู้แทนกลุ่มอาชีพ  โดยแบ่งกลุ่มอาชีพของประเทศออกเป็นกลุ่ม  และให้ทุกคนลงทะเบียนอาชีพตนเอง  และเลือก ผู้แทนของกลุ่มอาชีพตนเอง
 
๒.๒ ส.ส.คือผู้แทนกลุ่มประเด็น โดยเครือข่ายกลุ่มประเด็นที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับองค์กรต่างๆให้รวบรวมและแบ่งกลุ่มประเด็น และเลือกผู้แทนตนเองตามสัดส่วนตามจำนวนสมาชิก
 
๒.๓ ส.ส.ผู้แทนจากพื้นที่จังหวัด โดยการแบ่งเขตตามสัดส่วนจำนวนประชากร
 
๓.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีระบบการเดินเผชิญสืบ โดยให้ใช้หลักฐานสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หลักฐานความเป็นวิถีชีวิตชุมชนประกอบการพิจารณาคดี  และให้มี พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม
 
๔.ต้องปฏิรูประบบบริหารราชการ โดยการกระจายอำนาจไปสู่จังหวัด โดย ๑.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ยกเลิกราชการส่วนผู้มิภาค ให้คงเหลือเฉพาะรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น ๒.การจัดเก็บภาษีให้เป็นรายได้ของจังหวัดและส่งส่วนกลาง ๓๐ %  ๓.กระจายการบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ทะเลให้จังหวัดจัดการตนเอง และ ๔.ให้ตำรวจเป็นตำรวจท้องถิ่น
 
๕.ต้องปฏิรูปให้มีสภาพลเมืองถาวรที่เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ เสนอแผนการพัฒนาประเทศ หรือกฎหมายภาคประชาชนหรืออื่นๆ ตามมติสมัชชาสภาพลเมือง และ/หรือมีอำนาจวีโต้ หรือคัดค้านนโยบาย แผนการพัฒนา หรือกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง เมื่อผ่านสมัชชาสภาพลเมืองให้ถือเป็นกฎหมาย หรือนโยบายของประเทศที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ
 
 
 
                   
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net