Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสายตาของผู้เขียน การเคลื่อนไหวของ “มวลมหาประชาชน” หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา จนถึงกลางเดือนธันวาคม 2556 นั้น ได้กระโดดข้ามเส้นความชอบธรรมที่ออกมาต่อต้าน “เผด็จการเสียงข้างมาก” ไปสู่การเป็นม็อบที่กำลังทำตัวเป็น “เผด็จการเสียงข้างน้อย” โดยไม่แยแสว่า ประชาธิปไตยต้องใส่ใจทั้ง “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” ดังตัวอย่างการต่อสู้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอเมริกันของอาจารย์ ลอว์เรนซ์ เลสสิก ซึ่งผู้เขียนยกตัวอย่างในตอนที่แล้ว

คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) มีความคิดดีๆ เรื่องการปฏิรูปหลายเรื่อง ซึ่งประชาชนทุกกลุ่มน่าจะร่วมกันผลักดันต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อุดช่องโหว่ในกระบวนการถอดถอนนักการเมือง หรือการปรับโครงสร้างตำรวจ

อย่างไรก็ดี “วิธีการ” ที่ กปปส. ยืนยันว่าจำเป็นต้องใช้ ไม่มีทางเลือกอื่น คือ ล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 หา “นายกฯ คนกลาง” ตั้ง “สภาประชาชน” ขึ้นมา “ปฏิรูปประเทศ” 1-1.5 ปี แล้วค่อยคืนอำนาจให้กับนักการเมือง วิธีนี้ผู้เขียนนั่ง-นอน-ตะแคงดูทุกมุมแล้วก็ไม่เห็นจะเรียกว่าประชาธิปไตยตรงไหนได้ เพราะนายกฯ กับสภาแบบนี้ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศได้เลย

ผู้ชุมนุมหลายคนไม่ปฏิเสธว่านี่คือการเสนอให้ “เว้นวรรคประชาธิปไตย” ชั่วคราว โดยอ้างว่า ประชาธิปไตยเป็น “ของตะวันตก” แต่ประเทศไทยมีเอกลักษณ์และบริบทเฉพาะตัว ไม่จำเป็นที่เราจะต้อง “เดินตามก้นฝรั่ง”

มุมมองเช่นนี้เป็นความเข้าใจผิดที่อันตราย โดยเฉพาะในเมื่อยุคนี้ประชากรกว่าสองในสามของโลกในทุกทวีป ยกเว้นตะวันออกกลาง ใช้ชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองที่แตกต่างจาก “อังกฤษ-อเมริกัน” อย่างเช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และทุกประเทศในทวีปอเมริกาใต้ แม้แต่จีน ป้อมปราการท้ายๆ ของระบอบคอมมิวนิสต์ คนจีนเกินครึ่งก็ตอบแบบสำรวจว่า “ชอบแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย” และนักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า รัฐบาลกลางของจีนฟังเสียงประชาชนมากขึ้นมาก และฟังมากกว่ารัสเซียมาก (เช่น การนัดหยุดงานเพื่อประท้วงยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในรัสเซีย แต่ถูกกฎหมายในจีน)

อมาตยา เซน อาจารย์ที่รักของผู้เขียนและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เสนอมานานกว่าสองทศวรรษแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จในโลกสมัยใหม่ไม่ใช่เพราะหลายประเทศ “เห่อฝรั่ง” หากแต่เป็นเพราะประชาธิปไตยสะท้อน “คุณค่าสากล” บางอย่างที่มนุษย์ต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ล้วนแต่ยึดถือร่วมกัน

ก่อนอื่น อาจารย์เซนยืนยันว่า “ประชาธิปไตย” มิได้หมายถึงระบบการปกครองของ “เสียงข้างมาก” เพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งและการเคารพในสิทธิเลือกตั้งจะสำคัญ ประชาธิปไตยจะต้องมีกลไกคุ้มครองเสรีภาพ สิทธิตามกฎหมาย และวางหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถสื่อสารกันได้อย่างเสรี สื่อไม่ถูกรัฐเซนเซอร์หรือบิดเบือน การเลือกตั้งอย่างเดียวอาจบกพร่อง ถ้าหากจัดการเลือกตั้งโดยไม่ให้ทุกฝ่ายในสังคมมีโอกาสนำเสนอข้อเรียกร้องและความเดือดร้อน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีอิสรภาพที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่มีโอกาสได้พิจารณามุมมองที่หลากหลายของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง เมื่อมองจากแง่นี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นระบบที่ต้องบำรุงรักษาและพัฒนาไม่หยุดนิ่ง จะดูแต่เงื่อนไขทางเทคนิค (เช่น มีการปกครองของเสียงข้างมาก) เพียงอย่างเดียวไม่ได้

มุมมองข้างต้นของอาจารย์เซนดูจะสอดคล้องกับ กปปส. ซึ่งมีชนวนอยู่ที่การต่อต้าน “เผด็จการเสียงข้างมาก” แต่อาจารย์เซนชี้ต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยในนิยามข้างต้นนั้นมี “คุณค่าสากล” ซึ่งเรามองเห็นได้จากการลองดูว่า ประชาธิปไตยส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างไร

ประการแรก เสรีภาพทางการเมืองเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของเสรีภาพมนุษย์ และการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองก็เป็นหัวใจของการมี “ชีวิตที่ดี” ของมนุษย์ ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม ไม่ได้เป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและทางสังคมนั้นมีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะถ้าเราไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ก็ยากที่เราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้ ในเมื่อการตัดสินใจทางการเมืองส่งผลต่อชีวิตของเรา (ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ในไทยคือ การที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ในบางพื้นที่)

ประการที่สอง อาจารย์เซนชี้ว่าประชาธิปไตยมีคุณค่าในตัวเองในฐานะ “เครื่องมือ” ที่สร้างหลักประกันว่า ประชาชนทุกกลุ่มจะมีสิทธิร้องเรียน เรียกร้อง และได้รับความสนใจจากนักการเมือง ในประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงความต้องการทางเศรษฐกิจด้วย งานวิจัยชิ้นเอกของอาจารย์เซน ซึ่งนำไปสู่หนังสือคลาสสิก Development as Freedom (การพัฒนาในฐานะเสรีภาพ) และรางวัลโนเบล คือการพิสูจน์ว่า ภาวะทุพภิกขภัย (ขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง) ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นเอกราชและมีสื่อเสรี เนื่องจากทุพภิกขภัยไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐ รัฐที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีสื่อเสรี และไม่มีการเลือกตั้งที่ประชาชนมีตัวเลือก ฉะนั้นจึงไม่เผชิญกับแรงกดดันใดๆ ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ทำให้ประชาชนล้มตายทุกปี

ประการที่สาม ประชาธิปไตยเปิดช่องทางให้ประชาชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการเรียนรู้นี้ก็ช่วยให้สังคมก่อร่างสร้างรูปคุณค่าและลำดับความสำคัญของคุณค่าต่างๆ ที่ยึดมั่นร่วมกัน แม้แต่แนวคิดเรื่อง “ความต้องการ” (needs) รวมถึงการเข้าใจความต้องการทางเศรษฐกิจของประชาชนแต่ละกลุ่ม ก็ต้องอาศัยการอภิปรายสาธารณะ การแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมอง และการวิเคราะห์ - พูดอีกอย่างคือ การจะรู้ได้ว่าคนแต่ละกลุ่มมีความต้องการอะไรบ้าง ความต้องการเหล่านั้นมีรายละเอียดอย่างไรและเร่งด่วนเพียงใด ก็จะต้องให้คนทุกกลุ่มใช้สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของตน เมื่อมองจากมุมนี้ สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักประกันว่าคนจะได้อภิปราย ถกเถียง และคัดค้านในสาธารณะ จึงเป็นหัวใจของการสร้าง “ทางเลือก” ที่มีเหตุมีผลและผ่านการคิดใคร่ครวญมาแล้ว (informed and considered choices)

อาจารย์เซนย้ำว่า กระบวนการอภิปรายสาธารณะนั้นขาดไม่ได้ในการสร้างคุณค่าและลำดับความสำคัญของคุณค่าต่างๆ ที่เราเรียกได้ว่าเป็น “ของสังคม” ของเรา พูดอีกอย่างคือ เราไม่อาจอวดอ้างชุดคุณค่าใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้มาจากการอภิปรายสาธารณะ ว่า “สะท้อนสังคม” โดยรวมได้เลย

ประชาธิปไตยเป็นคุณค่าสากล เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนอยากให้คนอื่นยอมรับว่า ทุกคนเสมอภาคกันตั้งแต่กำเนิดในแง่ของการมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน - กระบวนการหรือวิธีการใดๆ ก็ตามที่มิได้ยึดมั่นในหลักการข้อนี้ ย่อมไม่อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้เลย

คงเป็นเรื่องน่าเศร้า ถ้า “มวลมหาประชาชน” จะภูมิใจในพลังของตัวเองที่สามารถขับไล่รัฐบาลทุนหนาเถลิงอำนาจได้สำเร็จ แต่กลับไม่มั่นใจว่ามีพลังที่จะติดตามตรวจสอบพฤติกรรมซื้อเสียงในช่วงเลือกตั้ง และพฤติกรรมลุแก่อำนาจหลังเลือกตั้ง - ไม่มั่นใจจนยอมเว้นวรรคประชาธิปไตยชั่วคราว

ผู้เขียนคิดว่า บางที่ “ความเป็นไทย” ที่แท้จริง อาจหมายถึงการยก “ความเป็นไทย” เป็นข้ออ้างแบบมักง่าย ในการปฏิเสธคุณค่าอันเป็นสากล

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ความเป็นสากลของประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net