ความเป็นมนุษย์ที่เราหลงลืม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาใหญ่ของคนไทยในตอนนี้คือ 'เรามองกันแค่มิติเดียว'

ช่วงที่อุณหภูมิทางการเมืองร้อนแรงอย่างในขณะนี้ หันมองไปทางไหนเราก็เห็นแต่การป้ายสี ด่าทอผู้คนด้วยคำหยาบคายต่างๆ นานา ซึ่งใช่ว่าจะมีแต่บนเวที สังเวียนออนไลน์ตามเว็บบอร์ดหรือหน้าเพจต่างๆ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็เต็มไปด้วยผู้คนจากทั้งสองฟากฝั่งของอุดมการณ์ที่มาสาดคำด่าและคำดูถูกมากมาย ราวกับว่าไปเคียดแค้นกันมาแต่ชาติปางก่อน

น่าแปลกใจที่ว่า คำก่นด่าเสียดสีเหล่านั้นที่ออกมาจากปากหรือปลายนิ้วเพื่อพุ่งเป้าโจมตีฝั่งตรงข้าม ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เป็นความรุนแรงที่พวกเขากระทำต่อกันได้อย่างสนิทใจได้อย่างไร ในเมื่อต่างฝ่ายต่างรับรู้แค่เพียงว่า 'เธออยู่คนละพวกกับฉัน' เท่านั้น

มิติทางการเมืองและอุดมการณ์บางอย่างกลายเป็นเปลือกนอกที่ฉาบและตีตราเราแต่ละคนเอาไว้จากความรับรู้ของคนอื่นๆ บางคนไม่เอาเลือกตั้ง เราก็แปะป้ายเขาว่าไม่เอาประชาธิปไตย บางคนอยากเลือกตั้ง เราก็แปะป้ายว่าเค้าเป็นขี้ข้าทักษิณ

พวกเราทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะตีตราคนที่คิดต่างจากเราว่าเป็น 'คนนอก' ที่เราไม่จำเป็นต้องใส่ใจในความเห็นที่แสนจะไร้ค่าไร้ราคาและขาดซึ่งอุดมการณ์ของพวกเขา และนั่นแหละคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเมื่อต่างฝ่ายต่างอยู่บนเวที หรือนั่งอยู่หน้าแป้นพิมพ์ พวกเขาจึงไม่ยี่หระต่อความรุนแรงที่ซัดสาดใส่กันราวกับห่ากระสุน

'เพราะเขาไม่ใช่พวกเรา' ความคิดนี้มีพลังอย่างมหาศาลในการปลุกเร้าความเพิกเฉยต่อความรุนแรง

จริงอยู่ มิติในการรับรู้ความคิดและอุดมการณ์ของคนรอบๆ ตัวเหล่านี้ บางอย่างอาจจะขัดกับความรู้ความเชื่อของเรา หรือแม้กระทั่งหลักการและกฎกติกาสากลที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

สิ่งที่น่าคิดคือ เราจะทำอย่างไรให้ความไม่เข้ากันของอุดมการณ์ทั้งสองมาทำความเข้าใจกันอย่างไม่ต้องด่าทอ และป้ายสีคำดูถูกเหยียดหยามต่างๆ อย่างที่กำลังเป็นอยู่

หากเรามองให้ลึกและละเอียดในความเป็นมนุษย์ ชีวิตของเรามีหลายเลเยอร์มากกว่าแค่เรื่องของการเมือง เรายังมีมิติและบทบาทด้านอื่นๆ อีกมากมายที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นตัวตนของเรา เรายังมีเส้นด้ายบางๆ ของความสัมพันธ์ที่ยึดโยงอย่างสับสนวุ่นวายกับคนรอบๆ ตัว

ซึ่งคนต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่ใช่ว่าจะมีมิติทางการเมืองที่เหมือนกับตัวเราเองไปหมดเสียทุกอย่าง

คนๆ หนึ่ง มีความซับซ้อนในเลเยอร์ของความเป็นมนุษย์ และซับซ้อนในแง่ของบทบาทหน้าที่ คุณแม่วัยห้าสิบบางคนอาจไปเดินขบวนปิดคูหาเลือกตั้ง แต่ในอีกมิติหนึ่ง เธออาจจะมีลูกสาวที่อยากไปเลือกตั้ง นี่คือความน่าสนใจในแง่ของการจัดการความสัมพันธ์ และการยอมรับในมิติของตัวตนระหว่างคนสองคน ที่เชื่อมโยงกันด้วยเส้นด้ายที่แม้แต่กรรไกรที่ชื่อว่าปุ่ม 'unfriend' ก็ไม่อาจตัดมันได้ขาด

หลักคิดสำคัญในการเริ่มต้นที่จะใช้ชีวิตอยู่บนความแตกต่างในสังคมได้อย่างสันติ คือการมองชีวิตของคนที่คิดต่างจากเราในหลากหลายแง่มุม หลากหลายมิติ วิเคราะห์ว่าทำไมเขาถึงคิดเช่นนั้น อะไรเป็นความเชื่อและอุดมการณ์ที่ส่งผลถึงหลักคิดของเขา กระทั่งอาจจะทำความรู้จักในตัวตนของเขา พื้นเพนิสัย หรือการใช้ชีวิต

การทำความเข้าใจในมิติที่ทับซ้อนของคนคนหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้เวลาและความอดทน แต่หากเราเข้าใจและยอมรับความแตกต่างและความเหมือนระหว่างมิติในตัวตนของทั้งเราและเขาแล้ว หนทางสู่การพูดคุยอย่างเข้าใจ ปราศจากความรุนแรงก็คงอยู่ไม่ไกลเกินไปนัก

หากลองตัดมิติในแง่การเมืองที่ฉาบอยู่ในฉากหน้าของคนๆ หนึ่งออกไป เราอาจจะเห็นความเป็นคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้แตกต่างในแง่ของการใช้ชีวิตที่เหมือนๆ กันกับเรา ในบางแง่มุมของชีวิตที่มีความน่ารักและมีความเป็นปุถุชน มีปัญหาชีวิตและพื้นเพที่ไม่วิลิศมาหรา และมีความเป็น 'มนุษย์' เหมือนกับเรา

การตระหนักในความเป็นมนุษย์ของทั้งสองขั้วความคิด คือจุดร่วมที่ทำให้เกิดความเข้าใจกัน และนำไปสู่การถกเถียงพูดคุยอย่างปราศจากความรุนแรงจากมิติทางการเมืองที่สวนทาง

และที่สำคัญ มิติแรกก่อนที่เราจะเริ่มออกค้นหาความเป็นเราจากการใช้ชีวิตกับโลก และเพิ่มเติมเอามิติอื่นๆ มาทับซ้อน นั่นก็คือมิติของความเป็นมนุษย์ มิใช่หรือ?

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท