Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลัง “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” เกิดขึ้น แต่พ่อค้าในอังกฤษยังคงใช้ “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” เล่นงานพ่อค้าหนังสือเถื่อนในสก๊อตแลนด์ ในที่สุดศาลสูงได้ตัดสินให้ “การหมดลิขสิทธิ์” มีจริง นำมาซึ่ง “คลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ” เป็นครั้งแรก

บรรดาพ่อค้าหนังสือจากลอนดอนดำเนินธุรกิจผูกขาดการพิมพ์หนังสือที่ผู้เขียนตายไปนานแล้วได้อย่างสะดวกในอังกฤษศตวรรษที่ 18 เนื่องจากศาลอังกฤษนั้น “ไม่เห็นหัว” กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกที่ระบุชัดเจนว่างานจะหมดลิขสิทธิ์หลังการตีพิมพ์ไป 14 ปี และมองว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” อยู่ในระบบกฎหมายจารีตประเพณีอยู่แล้ว ซึ่งนี่ส่งผลให้ศาลปฏิบัติราวกับว่าสิทธิในการพิมพ์หนังสือเป็นทรัพย์สินที่คงทนถาวรและละเมิดไม่ได้เฉกเช่นทรัพย์สินอื่นๆ

อย่างไรก็ดีวิธีคิดแบบนี้ก็ดูจะเป็นความพิลึกพิลั่นที่อังกฤษมีอยู่ที่เดียวในโลก เพราะไม่ต้องไปไหนไกล ขนาดสก็อตแลนด์หลัง “รวมประเทศ” วิธีคิดแบบนี้ก็ไม่ได้ดำรงอยู่

ราชอาณาจักรอังกฤษรวมเป็นหนึ่งเดียวกับราชอาณาจักรสก็อตแลนด์และกลายเป็นสหราชอาณาจักร “เกรทบริเตน” ในปี 1707 ภายใต้ Acts of Union ซึ่งเงื่อนไขของการรวมประเทศคือ แม้ว่าทั้งสองราชอาณาจักรจะมีกษัตริย์ร่วมกัน แต่ทั้งสภาและศาลของสก็อตแลนด์ก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นเอกเทศอยู่ นั่นหมายความว่าสิ่งที่ผิดกฎหมายในอังกฤษ ก็อาจเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในสก็อตแลนด์ก็ได้เพราะทั้งสองพื้นที่มีทั้งระบบนิติบัญญัติและตุลาการคนละชุดกัน กล่าวในศัพท์แสงเทคนิคก็คือมันมีลักษณะพหุนิยมเชิงกฎหมาย (Legal Pluralism) ดำรงอยู่ในเกรทบริเตน

พ่อค้าหนังสือจากลอนดอนนั้นมองว่าพวกพ่อค้าหนังสือในเมืองใหญ่ๆ ของสก็อตอย่างเอดินเบอระเป็นไม้เบื่อไม้เมามานานแล้ว เพราะมองจากมุมลอนดอน พวกพ่อค้าหนังสือนี้เป็น “ไพเรต” ที่ตีพิมพ์หนังสือซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักพิมพ์ในลอนดอนที่ซื้อต้นฉบับมาจากนักเขียนหรือซื้อสิทธิ์ในการผูกขาดการพิมพ์ซ้ำมา ชัยชนะอย่างต่อเนื่องของพ่อค้าหนังสือจากลอนดอนในการอ้างว่าตนถูกละเมิด “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” โดยเหล่า “พ่อค้าหนังสือเถื่อน” ในศาลอังกฤษดูจะสร้างความมั่นใจให้พ่อค้าเหล่านี้ จนทำให้พวกเขาพยายามข้ามมาดำเนินคดีกับเหล่าพ่อค้าหนังสือในเอดินเบอระที่พิมพ์หนังสือจากฝั่งอังกฤษโดยไม่ได้รับอนุญาตมาอย่างนมนานอยู่แล้วก่อนรวมประเทศ

อย่างไรก็ดีเมื่อคดี “ละเมิดทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ขึ้นไปถึงชั้นศาลในสก็อตแลนด์ บรรดาผู้พิพากษาของสก็อตก็ดูจะเห็นร่วมกันเกือบหมดว่าสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ที่พ่อค้าหนังสือจากลอนดอนอ้างว่าตนถือครองอยู่ตามระบบกฎหมายจารีตประเพณีนั้น ไม่เคยมีอยู่ในสารบบกฎหมายจารีตประเพณีของสก็อต ซึ่งสิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือแม้ว่าสก็อตจะใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ แต่สก็อตก็มีจารีตประเพณีคนละชุด จารีตประเพณีทางกฎหมายของสก็อตมีรากฐานอยู่บนกฎหมายโรมันอย่างเข้มข้น และกฎหมายโรมันก็เป็นระบบกฎหมายที่ไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้อย่างชัดเจน [1]

แม้ว่าสำหรับบรรดาผู้พิพากษาอังกฤษในตอนกลางศตวรรษที่ 18 สิทธิอันเป็นนามธรรมเหนืองานเขียนอันนำไปสู่สิทธิในการพิมพ์ซ้ำอันเรียกว่า "ทรัพย์สินทางวรรณกรรม" นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระดับสามัญสำนึกที่ไม่ว่าคดีจะไปอยู่ในศาลชั้นไหนก็ชนะใส แต่ทางด้านบรรดาผู้พิพากษาจากสก็อตนี่การกล่าวอ้างว่ามีทรัพย์สินบางประเภทที่จับต้องไม่ได้อยู่เป็นสิ่งที่ผิดกับสามัญสำนึกด้วยซ้ำ มันเป็นสิทธิอันพิลึกพิลั่นที่ไม่มีที่ใดในโลกจะมีนอกจากอังกฤษ และบรรดาผู้พิพากษาสก็อตเห็นว่าการมี “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” หมายถึงการมีสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์หนังสืออย่างไม่มีวันสิ้นสุด การดำรงอยู่ของสิทธิแบบนี้เป็นภัยต่อการเรียนรู้ และผลที่จะตามมาของภัยทางปัญญานี้มันจะเลวร้ายกว่าการที่พวกคนเถื่อนอย่างพวกกอธและแวนดาลมาบุกเสียอีก [2]

ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องในศาลสก็อตดูจะทำให้พวกพ่อค้าหนังสือลอนดอนไม่กล้าไปอ้าง “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ที่สก็อตอีก และถอยร่นมาสู้ในพื้นที่ของตัวเองต่อไป เพราะอย่างน้อยๆ ตลาดหนังสือของลอนดอนก็ดูจะใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น ถ้าเราจะเอาจำนวนประชากรเป็นตัวชี้วัดขนาดตลาด ในโลกในศตวรรษที่ 18 ลอนดอนเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดแบบที่ทิ้งเมืองใหญ่ๆ ในประเทศอื่นๆ จนไม่เห็นฝุ่นด้วยซ้ำ ดังนั้นแม้ความพ่ายแพ้ในสก็อตแลนด์จะชวนให้เจ็บใจ แต่เอเดินเบอระก็ดูจะเป็นตลาดหนังสือเล็กๆ บ้านนอกเท่านั้นที่ความพ่ายแพ้มันไม่ได้ทำให้โครงสร้างธุรกิจในภาพใหญ่ระแคะระคายเลย

พ่อค้าหนังสือจากลอนดอนระงับการผลิต “หนังสือเถื่อน” จากสก็อตไม่ได้ แต่ที่พวกเขาทำได้คือทำให้หนังสือเหล่านี้ไม่มีที่ยืนในท้องตลาดอังกฤษโดยไล่ฟ้องบรรดาผู้นำหนังสือจากสก็อตเข้ามาขายบนฐานของการอ้าง “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ตามจารีตประเพณีอย่างไรก็ดีปัญหาในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นก็คือการอ้างแบบนี้ขัดกับ “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” เพราะในนั้นมีการระบุชัดเจนว่าสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์หนังสือนั้นมีวันหมดอายุ

ปัญหาที่ชวนให้สงสัยคือถ้ามีคนพิมพ์หนังสือที่ “หมดลิขสิทธิ์” ไปแล้วตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ทางพ่อค้าหนังสือยังฟ้องอีกโดยอ้าง “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ที่ดำรงอยู่แม้ลิขสิทธิ์หมดอายุไปแล้ว ศาลจะว่าอย่างไร? คำตอบคือศาลอังกฤษโดยทั่วไปมองว่า “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ยังถือว่าดำรงอยู่ ดังนั้นผู้ที่พิมพ์งานอันหมดลิขสิทธิ์ไปแล้วก็ยังถือว่าทำผิดกฎหมายอยู่

นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในลอนดอน และพ่อค้าหนังสือลอนดอนก็สามารถยืดอกตราหน้าผู้ตีพิมพ์หนังสือที่หมดลิขสิทธิ์แล้วว่าเป็นโจรหรือ “ไพเรต” ได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ดี “ไพเรต” จากสก็อตคนหนึ่งก็ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง หลังจากเขาลุกขึ้นสู้คดีจนถึงขั้นให้สภาตีความเจตจำนงของกฎหมาย

พ่อค้าหนังสือจากสก็อตผู้นี้มีนามว่า Alexander Donaldson เขาเป็นพ่อค้าหนังสือผู้กว้างขวางที่สก็อตที่ตีพิมพ์หนังสือสารพัดรูปแบบขายรวมทั้งการตีพิมพ์หนังสือที่มีการตีพิมพ์ในลอนดอนซ้ำด้วย (หรือ “ไพเรต” นั่นแหละในสายตาพ่อค้าหนังสือลอนดอน) จนธุรกิจใหญ่โตในสก็อต เมื่อเขาขยับขยายธุรกิจของเขามาที่ลอนดอน เขาก็จงใจจะไปเปิดร้านหนังสือที่กลางลอนดอนเพื่อขายงานที่หมดลิขสิทธิ์ไปแล้วในราคาที่ถูกกว่าที่พวกพ่อค้าหนังสือในลอนดอนอื่นๆ ขายถึง 30-50% [3] ซึ่งเขาก็มองว่าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกก็ประกาศชัดเจนว่าสิทธิผูกขาดหมดไปแล้ว

แน่นอนนี่เป็นการหยามหน้าพ่อค้าหนังสือลอนดอนมาก และ Donaldson โดนฟ้องฐานพิมพ์และขายหนังสือรวมบทกวี The Seasons ของ James Thompson ที่พ่อค้าหนังสือฝั่งอังกฤษอ้างว่าตนถือสิทธิผูกขาดการพิมพ์อยู่ (บทกวีนี้ฮิตช่วงต้นศตวรรษที่ 18 โดยตีพิมพ์จนจบในปี 1730 ส่วนตัว Thompson ตายในปี 1748 ดังนั้นหากจะคิดคำนวณแล้ว บทกวีนี้จะหมดลิขสิทธิ์อย่างช้าที่สุดก็คือปี 1758 หรือหมดลิขสิทธิ์มาเป็นสิบปีแล้วตอนที่ Donaldson โดนฟ้อง) นี่คือจุดเริ่มต้นของคดี Donaldson v Beckett ในปี 1774 ที่จะพลิกโฉมลิขสิทธิ์ไปชั่วกาลนาน

หากจะกล่าวสั้นๆ แล้ว ทางพ่อค้าหนังสือลอนดอนที่เป็น “เจ้าของ” สิทธิ์ในการพิมพ์ The Seasons ก็ได้ไปร้องเรียนกับศาลและศาลก็ได้ออกหมายศาลให้ Donaldson ระงับการขาย The Seasons ซึ่งนี่เป็นกระบวนการปราบปรามหนังสือเถื่อนมาตรฐานของพ่อค้าหนังสือจากลอนดอนในศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ดี Donaldson มองว่าศาลไม่มีสิทธิจะออกหมายศาลแบบนี้ เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกที่ทางสภาออกก็บอกชัดเจนว่างานชิ้นนี้หมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ใครจะพิมพ์ก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย Donaldson เคยเขียนแสดงความไม่พอใจกับการใช้อำนาจของศาลอันขัดกับกฎหมายของสภาไว้ในข้อเขียนทางการเมืองของเขาก่อนที่คดีความจะเริ่มด้วยซ้ำว่า

"ข้าพเจ้าใคร่อยากจะรู้ว่าผู้พิพากษาหรือศาลใดๆ มีอำนาจที่จะจัดการกับกฎหมายของประเทศชาติตามใจชอบ หรือไม่ใส่ใจกฎหมายจากสภาหรือไม่? ถ้าพวกเขามีอำนาจเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ขอกล่าวเลยว่าจะไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพสกนิกรของพระองค์ใดๆ เลย เพราะไม่ว่าพวกเขาจะเคารพกฎหมายหรือไม่ พวกเขาก็ยังมีสิทธิ์โดนลงโทษเช่นเดียวกัน ผู้ออกกฎหมายสามารถจะถอดถอนและแก้กฎหมายได้ แต่การถอดถอนและแก้กฎหมายเหล่านั้นย่อมไม่มีผลย้อนหลัง ถ้าผู้พิพากษาผู้สามารถละเลยกฎหมายได้ หรือสามารถลงโทษผู้มองเห็นการละเลยนั้นได้ พวกเขายอมมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์ เหล่าเจ้านาย และสามัญชน หากผู้พิพากษาทำเช่นนั้นได้จริงๆ มันก็คือจุดจบของธรรมนูญของรัฐ" [4]

นี่เป็นเหตุให้ Donaldson เอาเรื่องไปร้องเรียนกับสภาขุนนางที่สมัยนั้นทำหน้าเป็นศาลสูงด้วยเพื่อให้ทางสภาชี้ให้ชัดว่าข้อกำหนดของ “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” ที่ทางสภาออกมานั้นมีสถานะอย่างไรกันแน่ และการหมดอายุลิขสิทธิ์มีอยู่จริงหรือไม่ในระบบกฎหมายอังกฤษ ผลคือทางผู้พิพากษาของสภานั้นก็ลงความเห็นด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่า “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” นั้นมีผลในการลบล้างสิทธิทางการพิมพ์ใดๆ ที่มีมาก่อนมันทั้งหมด กล่าวคือไม่ว่าจะมีหรือไม่มี “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ในสารบบกฎหมายจารีตประเพณี ภายหลังจาก “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” ก็ให้ถือเอาข้อกำหนดของกฎหมายฉบับนี้เป็นหลัก 

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ในกรณีนี้คือสภาตัดสินว่า “การหมดลิขสิทธิ์” มีอยู่จริง ข้ออ้าง “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ของพ่อค้าหนังสือลอนดอนทั้งหลายที่เคยใช้มาหลายสิบปีตลาดศตวรรษที่ 18 นั้นใช้ไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับ และ “ไพเรต” อย่าง Donaldson ก็ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายเพราะเขาแค่ตีพิมพ์และขายงานที่หมดลิขสิทธิ์แล้ว ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ทุกวันนี้เรียกว่า “คลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ” หรือ Public Domain ซึ่งความหมายของมันคือพื้นที่เสมือนที่รวมงานทั้งหมดในโลกที่ไม่ได้ถูกกำกับให้มีการผูกขาดการผลิตซ้ำด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์อีกต่อไป

การตัดสินของสภานั้นก็เป็นการรองรับสถานะของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกให้เป็นกฎหมายที่มีอำนาจในการควบคุมกำกับการพิมพ์ในสหราชอาณาจักรจริงๆ อย่างไรก็ดีนี่ก็เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้บังคับใช้กับที่ใดในโลกนอกจากเกาะอังกฤษ และอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งอาณานิคมอังกฤษนี่เองที่เป็นตัวแพร่กระจายแนวทางกฎหมายลิขสิทธิ์แบบอังกฤษไปในพื้นที่อื่นๆ ในโลก

ทั้งนี้คงจะไม่ต้องถกเถียงกันให้มากความว่า “ลิขสิทธิ์” มีต้นกำเนิดจากอังกฤษแน่นอน แต่หากจะบอกว่า “จิตวิญญาณ” ลิขสิทธิ์ทั้งโลกเป็นอย่างอังกฤษไปหมดก็ดูจะไม่เที่ยงตรงนักเพราะอย่างน้อยๆ บรรดาประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปก็ไม่ได้มี “จิตวิญญาณ” ลิขสิทธิ์แบบอังกฤษ และจิตวิญญาณที่ต่างกันนี้ก็ดูจะมีแหล่งกำเนิดใหญ่ที่ฝรั่งเศสและโลกภาษาเยอรมัน เพราะถ้าอังกฤษขยายแนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์แบบอังกฤษด้วยอาณานิคมแล้ว แนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์แบบฝรั่งเศสก็คงจะกระจายไปในยุโรปพร้อมๆ กับกองทัพของนโปเลียน และแนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์ของปรัสเซียก็คงจะสถาปนาความเป็นหนึ่งเดียวได้หลังการรวมชาติเยอรมันเป็นสหพันธรัฐ และความเข้าใจว่า “ลิขสิทธิ์” แพร่กระจายเข้าไปในยุโรปได้อย่างไรก็คงจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงที่มาที่ไปของ “ลิขสิทธิ์” ในฝรั่งเศสและโลกภาษาเยอรมันไม่ได้ ซึ่งนี่ก็จะทำให้เข้าใจรากฐานความคิดของลิขสิทธิ์ในภาคพื้นทวีปยุโรปซึ่งต่างจากแนวความคิดเรื่องลิขสิทธิ์ในโลกแองโกลอเมริกันยัน (อดีต) อาณานิคมอังกฤษด้วย

อ้างอิง:

  1. Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004), pp. 182-183
  2. Ronan Deazley, ibid, pp. 185-187
  3. Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 121-123
  4. Donaldson อ้างใน Ronan Deazley, ibid, p. 163
  5. ทุกวันนี้ข้อถกเถียงว่าสภามองว่า “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” มีอยู่ในระบบกฎหมายจารีตประเพณีหรือไม่ก็ยังไม่จบลง แม้แต่นักประวัติศาสตร์กฎหมายก็มีความเห็นไม่ตรงกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net