Skip to main content
sharethis

ชะตากรรมคนจนบ้านบาเกะ นราธิวาส ถูกคลื่นซัดบ้านพังเสียหาย 22 หลัง นาทีระทึกหนีตายกันวุ่น เครื่องมือหากินถูกทำลาย ต้องอาศัยมัสยิด/ตาดีกาเป็นที่พักชั่วคราว ยังผวาไม่กล้ากลับไปอยู่ที่เดิม ส่วนใหญ่ยากจนมีรายได้จากการหมักบูดูขาย ไม่มีเงินพอสร้างบ้านใหม่วอนขอความช่วยเหลือ

เวลา 18.30 น.วันที่22 ธันวาคม 2557 เกิดคลื่นทะเลยกตัวสูงขึ้นพัดเข้าถล่มบ้านบาเกะ ม.1 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส เรือนของราษฎรอย่างน้อย 22 หลังพังเสียหาย ชาวบ้านเดือดร้อน 142 คน คลื่นแรงยังได้กัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร

เบื้องต้นทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โคกเคียนจัดให้มัสยิดอาบีบักร บ้านบาเกะและศูนย์อิสลามประจำมัสยิด(ตาดีกา)บ้านบาเกะเป็นศูนย์อพยพช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราว และร่วมกับทหารนาวิกโยธิน ค่ายจุฬาภรณ์ ทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย

จากนั้นมีอีกหลายหน่วยงานเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยมอบถุงยางชีพให้ชาวบ้าน ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส บริษัทรถยนต์ HONDA และTOYOTA, สถานีโทรทัศน์ Yateem TV, White Channal เป็นต้น



หมู่บ้านบาเกะเป็นหมู่บ้านติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและหมักน้ำบูดูขาย ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนหาเช้ากินค่ำ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านหลายรายถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว เมื่อต้องเห็นสภาพบ้านของตนเองที่พังเสียหายในเพียงเวลาอันรวดเร็ว


นาทีระทึกคลื่นซัดหมู่บ้าน

นายอาแซ ดอเลาะ ชาวบ้านที่ประสบภัยจนบ้านพังเสียหายทั้งหลัง เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เวลาประมาณ 15.30 น.วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2557 ตนกับชาวบ้านได้สังเกตเห็นว่าคลื่นในน้ำทะเลเริ่มผิดปกติ มีลมพายุแรงขึ้น จึงได้ช่วยกันอพยพและย้ายสิ่งของบางส่วนไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย

“พอเวลาประมาณ 18.30น.คลื่นก็เริ่มแรงขึ้น พายุก็พัดแรงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นทหารและ อ.ส.เริ่มเข้ามาแล้ว ช่วยกันอพยพและย้ายสิ่งของที่เหลือไปไว้ที่มัสยิด ในขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงประกาศจากมัสยิดว่าให้เด็กเล็ก คนชราและผู้หญิง หนีไปรวมตัวกันที่มัสยิด ให้พวกวัยรุ่น ทหารและอ.ส.ทำหน้าที่ขนย้ายสิ่งของ ทุกคนร่วมกันช่วยกันคนละไม้คนละมือ”

“ช่วงนั้นคลื่นแรงมาก และระดับน้ำท่วมสูงขึ้นและไหลแรง ทำให้โอ่งหมักน้ำบูดูของชาวบ้านกระจายไปคนละทิศคนละทาง ตอนนั้นผมรู้สึกกลัวมากเพราะไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน พอเวลาประมาณเที่ยงคืนน้ำก็เริ่มลด ผมกับญาติพี่น้องได้กลับมาดูบ้านอีกครั้ง รู้สึกใจหายทันทีเมื่อเห็นสภาพบ้านของตัวเหลือแต่ซาก ไม่มีกระเบื้องหลังคา ประตูหลุดออก ทุกสิ่งทุกอย่างพังเสียหายหมด”

“ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่เหลืออะไรแล้ว ได้แต่พร่ำคิดอยู่คนเดียวว่าหลังจากนี้เราจะไปอยู่ไหน พร้อมกับมีน้ำตาไหลลงมาอาบแก้ม”

พอวันรุ่งขึ้นกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าน้ำทะเลจะหนุนขึ้นมากกว่า 3 เท่าจากเมื่อคืน ผมกับชาวบ้านต่างก็ผวากันอีกครั้ง แต่ก็ยังได้ช่วยกันเก็บโอ่งที่หมักน้ำบูดูและซากไม้ที่เหลืออยู่เก็บไว้สร้างบ้านใหม่แต่ยังไม่รู้ว่าจะสร้างได้ที่เดิมหรือเปล่า เพราะตอนนี้รู้สึกกลัวจนไม่อยากอยู่ที่นี่อีกแล้ว

“ขอวิงวอนทางภาครัฐช่วยหาที่พักอาศัยแบบมั่นคงและถาวรให้ด้วย ถ้าจะให้หาเองก็คงไม่ได้หรอกเพราะอาชีพชาวประมงมีรายได้ได้แค่พอหาเช้ากินค่ำพอเลี้ยงครอบครัวได้เท่านั้น”

“ไม่อยากอยู่ที่เดิมแล้ว”

 

ส่วนนางแมะ ดอเลาะ (กะปะห์) หญิงหม้ายวัย 51 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ และต้องรับภาระดูแลลูกและหลานอีก 11 คน เล่าด้วยน้ำตาคลอว่า เย็นวันนั้นหลังจากละหมาดเสร็จได้มองเห็นคลื่นทะเลหน้าบ้านแรงผิดปกติ แต่ไม่ย้ายของหนี จนกระทั่งใกล้เวลาละหมาดมัฆริบในตอนค่ำคลื่นก็ยิ่งแรงยิ่งขึ้น จึงเริ่มอพยพและย้ายสิ่งของเครื่องใช้ไปไว้ที่มัสยิด

จากนั้นคลื่นก็แรงขึ้น ซักพักชาวบ้านให้พวกผู้หญิง เด็กเล็กและคนชราหลบหนีเข้าไปอยู่ในมัสยิด ทุกคนไปอยู่ที่นั่นโดยไม่มีใครกล้าออกมาดูบ้าน พอเวลาประมาณเที่ยงคืนระดับน้ำก็เริ่มลดลง สถานการณ์เริ่มคลี่คลายและสามารถกลับมาดูบ้านได้

ครั้งแรกที่เห็นสภาพบ้านก็ไม่ค่อยตกใจเท่าไหร่ เพราะเสียหายแค่บางส่วน แต่พอเห็นบ้านที่อยู่ตรงข้ามบ้านรู้สึกตกใจและกลัวมากได้แต่ร้องไห้และบอกกับตัวเองว่า จงอดทนไว้ พระเจ้าทรงช่วยเรา เกิดมาไม่เคยเห็นมาก่อน

ที่ผ่านมาลมแรงก็มีบ้างแต่ไม่ถึงขนาดนี้ ยังสามารถอยู่ได้ แต่ครั้งนี้คลื่นลมและน้ำทะเลที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเร็วมาก ไม่ทันตั้งตัวเลย

“ตอนนี้ก็พักอยู่ที่มัสยิดอีกเพราะยังเกรงกลัวอยู่ว่าน้ำจะมาอีกไหม แต่หลังจากนี้คิดว่าไม่อยากจะอยู่ที่เดิมอีกแล้ว เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รู้สึกกลัวมาก ถ้าเป็นไปได้อยากจะขอที่พักแบบถาวรที่ห่างไกลจากทะเลมากกว่านี้”


ต้องพักในมัสยิดไปก่อน

นายเจะอาเระ ดอเลาะ โต๊ะอิหม่ามมัสยิดอาบีบักร บ้านบาเกะ เปิดเผยว่า หลังจากน้ำลดในวันรุ่งขึ้นตนได้ประชุมร่วมกับชาวบ้านมีมติให้ตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากนั้นทางแม่ทัพภาคที่4 พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้เข้ามาเยี่ยมชาวบ้านบาเกะ และตนได้เสนอให้รัฐช่วยจัดหาที่พักอาศัยที่มั่นคงถาวรและปลอดภัยให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ แต่ยังไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะได้ที่พักอาศัยใหม่หรือไม่ต้องรอติดตามต่อไป

นายเจะอาเระ เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวบ้านที่ประสบภัยก็ยังพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพผู้ประสบภัยชั่วคราวที่มัสยิดอาบีบักร และศูนย์การศึกษาอิสลามศึกษาประจำมัสยิด (ตาดีกา) บ้านบาเกะเป็นที่พักพิงชั่วคราว และยังคงต้องเฝ้ารอดูสถานการณ์น้ำอีกต่อไปว่าจะมาอีกหรือไม่


วอนขอที่พักมั่นคงและปลอดภัย

นายเจะอาเระ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าคลื่นจะแรงและน้ำจะขึ้นมาอีกหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาสำหรับชาวบ้านแล้วในตอนนี้ เพราะปัญหาหลักคือชาวบ้านที่บ้านเสียหายส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ไหน? เพราะเชื่อว่าที่เดิมนั้นไม่สามารถกลับไปอยู่อาศัยได้อีกแล้ว

นายเจะอาเระ เปิดเผยด้วยว่า ตอนนี้ทางหน่วยอำเภอได้เข้ามาสำรวจและสอบถามข้อมูลความเสียหายจากชาวบ้านแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงความหวังที่ชาวบ้านยังคงเฝ้ารออยู่ เพราะส่วนใหญ่ต้องการที่พักอาศัยแบบมั่นคงและถาวร แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีรายได้หลักมาจากการทำประมงและหมักน้ำบูดูขาย ซึ่งรายได้แค่นี้คงไม่พอที่จะหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่พักอาศัยได้ จึงต้องขอให้ภาครัฐช่วยเหลือและฟื้นฟูอาชีพให้ชาวบ้านด้วย เพื่อเติมเต็มความสุขให้แก่พวกเขาอย่างแท้จริง

นายเจะอาเระ กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางของอุปสรรคก็ย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ ประโยคนี้สามารถนำมาใช้ได้จริงสำหรับชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ เพราะว่า ในคืนที่เกิดเหตุน้ำคลื่นยกตัวสูงนั้น สามารถได้เห็นถึงความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน โดยทุกคนต่างช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ซึ่งนับได้เป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

หากท่านใดที่มีความประสงค์จะบริจาคและสมทบทุนช่วยเหลือชาวบ้านบาเกะ สามารถติดต่อได้ที่มัสยิดอาบีบักร บ้านบาเกะ ม.1 ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส หรือ ที่โต๊ะอิหม่ามมัสยิดอาบีบักร เบอร์ติดต่อ 083-190-4474

 

 


ข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมชายแดนใต้ 2557


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บรรยากาศสถานการณ์น้ำท่วม และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ 2557

ล่าสุด ! สรุปความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม ปัตตานี ยะลา นราธิวาส | ธันวาคม 2557

ประมวลภาพสำนักทรัพย์สินฯ จับมือมีเดียสลาตันมอบถุงยังชีพที่ปะกาฮารัง

ลุยน้ำท่วมจ่อไมค์ชาวบ้านกับวิทยุที่ยังไม่ตาย

ปัตตานี-ยะลาส่อหนัก น้ำจากเขื่อนจ่อซ้ำเติม ดร.สมพรเผยเจอคอขวดกั้นทางระบายเพียบ

ชายแดนใต้ยังท่วมหนักวอนช่วยเหลือ เขื่อนบางลางรับไม่ไหวต้องปล่อยน้ำทิ้ง

เครือข่ายประชาสังคมระดมขอความช่วยเหลือน้ำท่วม ศอ.บต.ตั้งศูนย์ดูแลผู้ประสบอุทกภัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net